เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Films speak for mepuroii
ทำไมตัวตลกถึงไม่ตลกอีกต่อไป : ความเป็นมา จิตวิทยาและภาพยนตร์

  • หลายครั้งที่เห็นภาพตัวตลกแล้วสิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดคือ "น่ากลัว" ทั้งที่ตัวเราเองแทบไม่ได้มีโอกาสเจอตัวตลกตัวเป็น ๆ และไม่ได้มีความหลังฝังใจอะไรกับพวกเขาเลย เมื่อลองไปถามเพื่อนและคนรอบข้างดู ก็เห็นได้ว่าหลายต่อหลายคนก็มีความรู้สึกในแง่ลบกับตัวตลกเหมือนกัน ทำไมกัน ทั้งที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "ตัวตลก" แต่ทำไมตัวตลกถึงไม่ตลกอีกต่อไป มันเกิดขึ้นเพราะอะไรและมันเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร



    --- คำเตือน : บทความนี้มีภาพตัวตลกจำนวนมาก ---



    ตัวตลกมีประวัติที่ยาวนาน

    นานแสนนานมาแล้ว เมื่อ 2500 ปีก่อนคริสตกาล ในอียิปต์โบราณมีตัวตลกปิ๊กมี่เป็นผู้ให้ความบันเทิงแด่ฟาโรห์ ประเทศจีนสมัยก่อนก็เช่นกัน ในราชวงศ์โจว มีตัวตลกตัวหนึ่งที่ชื่อว่า "Yu Sze" เขาเป็นตัวตลกชื่อเสียงโด่งดังที่คอยให้ความเพลิดเพลินแด่ฉินซีฮ่องเต้ผู้สร้างกำแพงเมืองจีน หรือกระทั่งในสมัยโรมันเองก็ไม่น้อยหน้า มีตัวตลกมากมายหลากหลายแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Sannio, Moriones (ที่มาจาก moron) หรือ Stupidus (ที่มาจาก stupid) 

    ตัวตลกมีประวัติที่ยาวนานจนสามารถเขียนหนังสือออกมาได้เป็นเล่ม ๆ แต่ตัวตลกยุคใหม่ที่เรารู้จักกันนั้น หลายคนเชื่อว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากตัวตลกที่โด่งดังของอังกฤษในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เขามีชื่อว่า "โจเซฟ กริมัลดิ" (Joseph Grimaldi)


    ตัวตลกซึมเศร้า


    Andrew McConnell Stott ผู้เขียนหนังสือ "The Pantomime Life of Joseph Grimaldi" เล่าว่า กริมัลดิเหมือนเป็นรากฐานของตัวตลกทั้งหมดที่เกิดขึ้นในภายหลัง เขาเปรียบเสมือน Homo erectus ในวิวัฒนาการของตัวตลก ตัวตลกของโจเซฟ กริมัลดิเองนี่แหละที่เป็นสาเหตุว่าทำไมในบางครั้งตัวตลกจึงยังถูกเรียกว่า "โจอี้" 

    กริมัลดิโด่งดังมากในยุคนั้น เขาทำให้ตัวตลกเป็นนักแสดงหลักของละครใบ้และเปลี่ยนภาพลักษณ์ภายนอกโดยอาศัยเครื่องแต่งกายและเมคอัพ สมัยก่อนตัวตลกเพียงแค่ทาแก้มให้มีสีแดงเรื่อ ๆ เหมือนกำลังเมาเท่านั้น แต่กริมัลดิได้ปรับชุดแต่งกายเสียใหม่ เพิ่มความแปลกตาและสีสันที่สดใสเข้าไป เขาระบายหน้าด้วยสีขาวและแต่งแต้มสีแดงบนแก้มทั้งสองข้าง ตบท้ายด้วยผมทรงโมฮอร์คสีฟ้าโดดเด่น 

    กริมัลดิใช้ร่างกายในการแสดงได้เก่งกาจ ไม่ว่าจะกระโดดสูงหรือกลับหัวยืน เขาก็ทำได้หมดและเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้เป็นอย่างดี ทว่าชีวิตจริงของกริมัลดิกลับไม่ได้ตลกเหมือนตัวตนที่เขาสร้างขึ้นมา เขามีพ่อที่มีภรรยาหลายคน เมื่อกริมัลดิแต่งงาน ภรรยาของเขาก็เสียชีวิตระหว่างคลอดลูก ต่อมาลูกชายติดเหล้าจนเสียชีวิตตามไปในวัย 31 ปี ซ้ำร้ายร่างกายที่บอบช้ำด้วยร่องรอยการตีระหว่างการแสดงตลกแบบเจ็บตัว (slapstick comedy) ยังทำให้เขาต้องทนทุกข์กับความเจ็บปวดและทุพพลภาพก่อนวัยอันควร 

    เขาเผชิญเรื่องราวสะเทือนใจมามากแต่กลับพูดอย่างติดตลกว่า "ฉันโศกเศร้าตลอดเวลาตอนกลางวัน แต่ฉันทำให้คุณหัวเราะได้ตอนกลางคืน" 

    กริมัลดิเสียชีวิตจากการติดเหล้าเมื่อปี 1837
     

    ตัวตลกผู้เกรี้ยวกราด


    ในขณะนั้น ประเทศฝรั่งเศสก็มีตัวตลกชื่อดังเช่นกัน ทุกคนต่างเรียกกันว่า "ปิเอโร่ (Pierrot)" เบื้องหลังใบหน้านั้นมีนามว่า Jean-Gaspard Deburau เขาระบายหน้าด้วยสีขาว ทาปากสีแดง และมีคิ้วสีดำสนิท ขณะที่กริมัลดิมีชีวิตที่น่าเศร้าแต่ Deburau นั้นมีพฤติกรรมที่ชั่วร้าย เมื่อปี 1836 เขาฆ่าเด็กชายคนหนึ่งที่ส่งเสียงด่าเขาริมถนนโดยการใช้ไม้ค้ำยันทุบตีจนเสียชีวิต ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าตัวตลกในยุคแรกนั้นต่างเป็นคนที่มีปัญหาซุกซ่อนอยู่ภายใต้ใบหน้าภายนอกที่ยิ้มแย้ม


    ทูตตัวตลก


    ช่วงกลางยุค 1960s ในอเมริกามีรายการโทรทัศน์ที่กำลังโด่งดัง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของตัวตลก "คลาร่าเบลล์" และ "โบโซ่" ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ จนเมื่อปี 1963 แมคโดนัลล์ก็ได้สร้าง "โรนัลด์ แมคโดนัลด์" ออกมาเป็นทูตการค้าให้กับแฮมเบอร์เกอร์ของบริษัท ซึ่งได้คนแสดงโบโซ่มาแสดงให้ ตัวตลกจึงกลายเป็นทูตการค้าให้กับแบรนด์


    ฆาตกรตัวตลก


    ความน่ากลัวเริ่มต้นเมื่อ จอห์น เวย์น เกซี่ (John Wayne Gacy) ใช้ตัวตลกเป็นเครื่องมือในการฆาตกรรมต่อเนื่องจนได้รับฉายาว่า "ฆาตกรตัวตลก (The Killer Clown)" 

    เกซี่มาในคราบตัวตลกที่ใช้ชื่อในวงการว่า "โพโก้ (Pogo)" เบื้องหน้าเขาคือชายหนุ่มอาชีพรับเหมาก่อสร้างที่ชอบช่วยเหลือสังคมโดยการแต่งตัวเป็นตัวตลกเพื่อไปเยี่ยมเยียนเด็กตามโรงพยาบาล ทว่าเบื้องหลังเขามีจิตใจที่ผิดปกติ เกซี่ล่วงละเมิดทางเพศเด็กหนุ่มจำนวนมากและได้พรากชีวิตเด็กหนุ่มไปกว่า 33 คนภายในระยะเวลา 6 ปี (ระหว่างปี 1972-1978) โดยเขาเคยสารภาพว่า "คุณก็รู้...ตัวตลกมักรอดพ้นจากฆาตกรรม" 

    เกซี่ถูกประหารชีวิตในปี 1994


    หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ ภาพลักษณ์ตัวตลกก็เปลี่ยนแปลงไป คนเริ่มไปดูละครสัตว์น้อยลง ระมัดระวังคนแปลกหน้ามากขึ้น และภาพยนตร์หลายเรื่องก็นำตัวตลกมาใช้ในทางลบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวตลกเป็นสิ่งที่น่ากลัวและซ่อนความลับเลวร้ายเอาไว้ภายใต้ใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ความหวาดกลัวนั้นยังส่งผลต่อสุขภาพ ถึงขั้นมีการบัญญัติโรค Coulrophobia หรือโรคกลัวตัวตลกในแนวทางการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชเลยด้วยซ้ำ

    เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา หลายคนคงจำปรากฏการณ์ Clown Sightings ที่แพร่กระจายไปหลายประเทศผ่านโซเชียลมีเดียได้ คนจำนวนหนึ่งออกมาแต่งตัวเป็นตัวตลกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแกล้งประชาชน โดยมีจุดประสงค์ตั้งแต่ทำเพื่อความสนุกจนกระทั่งจงใจทำร้ายร่างกาย เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนเป็นจำนวนมาก


    ทำไมเราถึงกลัวตัวตลก

    ความรู้สึกอึดอัดและหวาดกลัวที่เกิดขึ้นจากการพบเห็นตัวตลกไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเอง มันมีที่มาที่ไป

    Uncanny valley effect

    Uncanny valley effect เป็นทฤษฎีที่กล่าวว่า "เมื่อสิ่งมีชีวิตมีความคล้ายมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าด้วยหน้าตาหรือท่าทาง จะสามารถกระตุ้นให้มนุษย์รู้สึกกลัวขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผลได้" การตอบสนองนี้เกิดจากส่วนลึกด้านอารมณ์ของมนุษย์ 

    มาซาฮิโระ โมริ นักออกแบบหุ่นยนต์ได้อธิบายไว้ว่า เมื่อหุ่นยนต์มีความเหมือนมนุษย์มากขึ้น เราจะมีความรู้สึกด้านบวกและเห็นอกเห็นใจ แต่เมื่อความเหมือนเข้าใกล้ถึงจุดหนึ่ง มนุษย์จะเกิดความรู้สึกตรงกันข้ามขึ้น ต่อมาเมื่อหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์มากจนแทบแยกไม่ออก มนุษย์ก็จะกลับมาเกิดความรู้สึกทางบวกขึ้นอีกครั้ง 

    บริเวณที่เกิดจุดผันกลับถูกเรียกว่า "Uncanny valley" ซึ่งเป็นบริเวณระหว่างลักษณะและท่าทาง "ไม่เหมือนมนุษย์" และ "เหมือนมนุษย์" จากการทดลองพบว่าซอมบี้และซากศพก็ทำให้เกิด uncanny valley เช่นกัน

    กลับมาที่ตัวตลกกันบ้าง ที่จริงแล้วตัวตลกก็คือมนุษย์ แต่ทำไมเราถึงกลัว? สาเหตุก็เกิดมาจาก uncanny valley effect นี้เอง เมื่อตัวตลกแต่งหน้า ใส่หน้ากาก ยิ้มแย้มตลอดเวลาและสวมใส่ชุดแปลกประหลาด สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดใบหน้าที่ผิดเพี๊ยนไปจากใบหน้าปกติที่ควรจะเป็นของมนุษย์ นอกจากนี้ตัวตลกยังแสดงท่าทางไม่เหมือนมนุษย์ทั่วไปอีกด้วย

    Steven Schlozman จิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดบอกกับ Vulture ว่า 

    "เมื่อคุณเห็นรอยยิ้ม สมองก็จะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี แต่คุณจะยิ้มตลอดเวลาไม่ได้ เพราะถ้าคุณยิ้มตลอดเวลา ต้องมีบางอย่างไม่ปกติแล้ว ผมว่ามันก็เหมือนตัวตลกนั่นแหละ ลองคิดถึงหน้าของ Javier Bardem ใน No Country for Old Men สิ นั่นแหละที่ทำให้มันน่ากลัว"

    ดังนั้นถึงแม้ว่าภายในของตัวตลกเหล่านั้นจะเป็นมนุษย์ แต่ลักษณะภายนอกและท่าทางที่ปั้นแต่งขึ้นมานั้นทำให้พวกเขามีความแตกต่างจากคนทั่วไปและส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้


    ความไม่แน่นอนของตัวตลก


    เวลาไปดูโชว์ตามที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะโชว์สัตว์ กายกรรม หรือบัลเล่ต์ เราต่างรู้อยู่แล้วว่าเราจะได้ดูอะไร โลมากระโดดน้ำ สิงโตลอดห่วง นักกายกรรมปีนป่ายบนเส้นเชือก หรือการเต้นบัลเล่ต์ประกอบเพลง ทว่าการไปดูตัวตลกกลับไม่เป็นเช่นนั้น แม้ตัวตลกจะเป็นนักแสดงธรรมดา ๆ คนหนึ่ง แต่กลับพบว่าเราแทบคาดเดาการกระทำของเขาเหล่านั้นไม่ได้เลย และอะไรที่คาดเดาไม่ได้ล้วนตื่นเต้นและน่ากลัวเสมอ

    นำไปสู่การศึกษาหนึ่งที่พบว่า พฤติกรรมที่ไม่แน่นอนทำให้สมองส่วนอะมิกดาลา (สมองที่กระตุ้นความรู้สึกกลัว) ทำงานมากขึ้น ดังนั้นเราจึงหลีกเลี่ยงคนเมาหรือคนจรจัดเพราะพวกเขามีพฤติกรรมแตกต่างจากคนทั่วไปบนท้องถนน เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไรบ้าง


    ความหวาดกลัวในวัยเด็ก

    ภาพ : https://www.flickr.com/photos/loufi/31692794/

    ความกลัวก่อกำเนิดมาตั้งแต่เรายังเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการกลัวความมืด กลัวคนแปลกหน้า กลัวสัตว์หรือกลัวการอยู่คนเดียว ความกลัวเป็นส่วนหนึ่งของสัญชาติญาณในการป้องกันตัวของมนุษย์และเป็นธรรมชาติของพัฒนาการที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เกิด 

    ความกลัวในวัยเด็กนั้นแตกต่างกันในแง่ปริมาณ ความถี่และระยะเวลา ส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง เป็นแค่ชั่วคราวและตามช่วงอายุ สาเหตุของความกลัวเหล่านี้แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางครั้งเกิดจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งมากระตุ้น บางครั้งเกิดจากการเลี้ยงดู หรือบางทีก็เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ

    ยกตัวอย่างอาการหวาดกลัวที่พบบ่อยตามช่วงอายุ ซึ่งความกลัวเหล่านี้จะล้อไปกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย (หมายเหตุ : อายุอาจเหลื่อมกันได้บ้าง) 

    วัย 2-4 ปี : กลัวเสียงดัง คนแปลกหน้า การถูกทิ้ง

    วัย 4-6 ปี : กลัวความมืด สิ่งที่จินตนาการขึ้น เช่น ผี สัตว์ประหลาด

    7 ปีขึ้นไป : ความกลัวเริ่มลดลงและใกล้เคียงกับโลกความเป็นจริงมากขึ้น เช่น กลัวเลือด กลัวโรงเรียน การเจ็บป่วย ความตาย

    นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่าเด็กกลัวตัวตลกเป็นอันดับที่ 12 จากทั้งหมด 40 อันดับ (โดยมีแมงมุมอยู่อันดับแรกและความมืดอยู่อันดับที่ 2)

    ส่วนใหญ่ความกลัวเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เมื่อใดก็ตามที่มันมากเสียจนรบกวนการใช้ชีวิตหรือทำให้พัฒนาการของเด็กผิดปกติไป เมื่อนั้นจึงควรไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางรักษาต่อไป


    ตัวตลกในภาพยนตร์

    จากการค้นคว้าของสตีเฟ่นในปี 2016 โดยการรวบรวมภาพยนตร์จาก IMDb และ wikipedia พบว่ามีภาพยนตร์ทั้งหมด 298 เรื่องที่มีตัวตลกเป็นตัวละครหลัก ภาพยนตร์ที่เก่าที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 1916 เป็นภาพยนตร์ใบ้ชื่อ The New Clown จุดพีคของภาพยนตร์เหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1928 แต่เทรนด์นี้คงอยู่ได้ไม่นานนัก จนกระทั่งช่วงปี 2000 เป็นต้นไป แนวโน้มภาพยนตร์ที่มีตัวตลกก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่า 54 เปอร์เซ็นต์

    กราฟแสดงจำนวนภาพยนตร์ที่มีตัวตลกในช่วงปี 1916-2016


    แล้วตัวตลกเริ่มไปปรากฏตัวในภาพยนตร์แนวสยองขวัญตั้งแต่เมื่อไร?


    สตีเฟ่นพบว่าตัวตลกเริ่มเป็นสัญลักษณ์ของความน่ากลัวในแวดวงภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา โดยเกือบครึ่งหนึ่งของภาพยนตร์ตัวตลกในช่วงนั้นเป็นแนวสยองขวัญและเขาคาดว่ามันจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 


    กราฟแสดงเปอร์เซ็นต์ภาพยนตร์สยองขวัญที่มีตัวตลกในช่วงเวลาต่างๆ


    ตัวอย่างภาพยนตร์

    He Who Gets Slapped (1924)


    ภาพยนตร์ใบ้จากอเมริกาของ Victor Sjöström ที่สร้างจากละครเวทีรัสเซียชื่อเดียวกัน เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ถูกขโมยผลงานวิจัยไป เขาโดนตบหน้าท่ามกลางฝูงชนจากคนที่ขโมยผลงานและสูญเสียภรรยาให้แก่ชายคนนั้นไปพร้อม ๆ กัน ชีวิตพลิกผันทำให้เขาต้องมาทำงานเป็นตัวตลกในละครสัตว์และนำเรื่องขายหน้าของตัวเองมาเล่นเป็นเรื่องขำขันในทุก ๆ วัน ต่อมาเขาวางกลอุบายเพื่อแก้แค้นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครล่วงรู้ 

    He Who Gets Slapped เป็นภาพยนตร์ที่เปิดเผยเบื้องหลังอันดำมืดของใบหน้าที่แต่งแต้มด้วยรอยยิ้มของตัวตลก


    The Man Who Laughs (1928)


    The Man Who Laughs ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มี "ตัวตลก" อย่างที่เราเข้าใจกัน มันเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงชายคนหนึ่งซึ่งบังเอิญโชคร้ายเป็นลูกชายของลอร์ดที่มีปัญหาการเมืองกับกษัตริย์ในขณะนั้น พ่อของเขาถูกฆ่าตายแต่เรื่องราวกลับไม่จบเพียงเท่านั้น เขายังถูกกรีดมุมปากทั้งสองข้างเป็นทางยาวจนเกิดเป็นรอยยิ้มที่ไม่มีวันหุบเพื่อที่จะได้ "หัวเราะให้กับความโง่เขลาของพ่อตลอดไป"

    เมื่อโตขึ้น เขามีความคิดที่จะแก้แค้นกษัตริย์องค์นั้น ต่อมาเขาได้เข้าไปทำงานกับคณะละครสัตว์ ตกหลุมรักสาวตาบอดคนหนึ่งและวางแผนแก้แค้นไปพร้อม ๆ กัน แต่เนื่องจากเขามีใบหน้าที่ฉีกยิ้มอยู่ตลอดเวลา ใครจะคาดเดาได้ว่าเขาคิดอะไรอยู่กันล่ะ

    The Man Who Laughs สร้างภาพตัวตลกที่ไม่ได้ใส่หน้ากากหรือแต่งหน้าแต่งตัวแบบที่พบเห็นกัน แต่ใช้รอยยิ้มผิดธรรมชาติเพื่อบ่งบอกถึงการเป็นตัวตลก


    Poltergeist (1982)


    ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สตีเวน สปีลเบิร์กเป็นผู้เขียน แต่กำกับโดยโทบี ฮูเปอร์ ตัวตลกในเรื่องนี้ไม่ได้มาในรูปแบบมนุษย์ แต่เป็นตุ๊กตาตัวตลกที่จะมาเขย่าขวัญทุกคน 

    เหตุการณ์เริ่มต้นในคืนหนึ่งเมื่อโทรทัศน์เปิดขึ้นมาเองตอนกลางดึกและลูกสาวของครอบครัวที่อาศัยอยู่ไปได้ยินเข้า หลังจากนั้นเหตุการณ์แปลกประหลาดมากมายจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงตึงตังที่ดังขึ้นเอง หรือข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกเคลื่อนย้ายไปมา วิญญาณอาฆาตที่ตามหลอกหลอนครอบครัวนี้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อพรากชีวิตไปจากพวกเขา

    ภาพยนตร์เรื่องนี้โด่งดังจนมีภาคต่อถึง 2 ภาคและถูกนำกลับมาสร้างซ้ำอีกครั้งในปี 2015 นอกจากนี้ Poltergeist ยังมีเรื่องราวล่ำลือเกี่ยวกับอาถรรพ์ที่คร่าชีวิตนักแสดงไปหลายคนอีกด้วย


    Killer Klowns from Outer Space (1988)


    ผลงานแนวไซไฟ/ตลก/สยองขวัญเรื่องนี้ (หรือพูดง่าย ๆ ว่าหนังสยองขวัญตลกร้าย) เป็นผลงานชื่อดังของพี่น้องตระกูล Chiodo 

    ตัวตลกในภาพยนตร์ปรากฏกายในรูปแบบของสิ่งมีชีวิตนอกโลกหรือ 'เอเลี่ยน' นั่นเอง เอเลี่ยนที่หน้าตาเหมือนตัวตลกเหล่านี้มายังโลกโดยมีจุดประสงค์เพื่อเข่นฆ่ามนุษย์ด้วยวิธีการแปลกประหลาดหลากวิธี และจับตัวมนุษย์ไปทำเป็นขนมสายไหมเพื่อเก็บไว้ยังชีพ 

    หลังเข้าฉาย Killer Klowns from Outer Space ได้รับคำชมไปไม่น้อยและนักวิจารณ์หลายคนยกให้เป็นหนังคัลท์สุดคลาสสิกที่ควรรับชมดูสักครั้ง


    Stephen King’s It (1990)


    มาถึงจุดพีคที่สร้างปรากฏการณ์กลัวตัวตลกไปทั่วทุกมุมโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นมินิซีรีส์เรื่อง IT ที่สร้างจากนิยายของสตีเฟ่น คิงอย่างแน่นอน แม้ซีรีส์นี้จะมีเพียง 2 ตอนแต่ก็กวาดไปได้เกือบ 30 ล้านวิวเลยทีเดียว

    ทิม เคอร์รี่รับบทตัวตลกที่ชื่อ "เพนนีไวซ์" เขามักปรากฏกายพร้อมกับลูกโป่งที่จะพาคุณล่องลอยไปด้วยกันและนำไปสู่ฆาตกรรมอันแสนโหดเหี้ยม จนกระทั่งเด็กกลุ่มหนึ่งที่ถูกเรียกว่า "The Losers Club" ได้เจอกับตัวตลกเพนนีไวซ์เข้าและตัดสินใจที่จะทำลายมัน 

    IT ได้ถูกนำกลับมาสร้างใหม่ในรูปแบบภาพยนตร์ในปี 2017 นี้ ผู้รับบทเพนนีไวซ์คนใหม่คือบิล สการ์สการ์ด สามารถสัมผัสความหลอนได้ 7 กันยายนนี้ทุกโรงภาพยนตร์



    American Horror Story: Freak Show - Monsters Among Us (2014)


    มาถึงตัวตลกในยุคใหม่กันบ้าง ซีรีส์ชื่อดังอย่าง American Horror Story ก็หยิบเอาตัวตลกมาใช้เช่นเดียวกัน ตัวตลกนี้คือ Twisty the Clown และเขาก็ชอบฆ่าคนไม่แพ้กัน 

    ทวิสตี้มีส่วนผสมของเพนนีไวซ์จาก IT และ Leatherface จาก The Texas Chainsaw Massacre แถมยังมีคนคาดเดาว่าตัวละครนี้น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของจอห์น เวย์น เกซี่ ฆาตกรตัวตลกสุดอำมหิตนั่นเอง


    The Dark Knight (2008) : Joker


    แม้หลายคนจะเรียกโจ๊กเกอร์และตัวตลกในความหมายเดียวกัน ทว่าโจ๊กเกอร์ไม่ใช่ตัวตลก เรื่องนี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องเสียทีเดียว แต่จะหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจมาบอกกล่าวกัน 

    เมื่อมองย้อนกลับไปถึงแรงบันดาลใจของตัวละคร "โจ๊กเกอร์" คู่อริสุดเหี้ยมของแบทแมนนั้น กลับพบว่านักวาดการ์ตูนได้แรงบันดาลใจในการวาดตัวละครนี้มาจาก The Man Who Laughs หนึ่งในภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ ที่มีการอ้างอิงถึงตัวตลก


    "แกรู้ไหมว่าฉันได้รอยแผลเป็นนี้มาจากไหน?"

    โจ๊กเกอร์พูดประโยคข้างต้นไว้ในภาพยนตร์ ถึงแม้สุดท้ายแล้วจะไม่ได้ข้อสรุปว่าตกลงเขาได้รอยแผลเป็นนี้มาจากไหน แต่รอยดังกล่าวที่เห็นก็คือบาดแผลที่หลงเหลือไว้เป็นรอยยิ้มอันน่าสะพรึงกลัวเหมือนกับตัวละครใน The Man Who Laughs ไม่มีผิด 

    ด้วยรอยยิ้มที่แทบจะฉีกถึงรูหู ภาพลักษณ์ของตัวละคร พฤติกรรมอันแสนโหดเหี้ยมและฝีมือการแสดงที่เหนือชั้นของฮีธ เลดเจอร์ เราจึงได้ภาพวายร้ายที่ทุกคนไม่มีวันลืมมาจนถึงทุกวันนี้




    สุดท้ายแล้วการที่ตัวตลกถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของความโหดร้ายอาจเกิดมาจากตัวอย่างที่เราเห็นกันมาตั้งแต่อดีต ผสมกับสื่อต่าง ๆ ในโลกปัจจุบันที่ให้ข้อมูลในเชิงลบมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตัวตลกทุกคนไม่ใช่ฆาตกรและพวกเขายังสร้างประโยชน์ให้สังคมได้อีกมาก ยกตัวอย่างเช่น Hospital clowning หรือการใช้ตัวตลกในการบรรเทาทุกข์ผู้ป่วย โรงพยาบาลในนิวเดลี มีกลุ่มคนที่เรียกว่า Clownsellor (มาจาก Clown + counsellor = ตัวตลกผู้ให้คำปรึกษา) มาช่วยผ่อนคลายบรรยากาศในโรงพยาบาลและช่วยให้เด็กที่เจ็บป่วยมีรอยยิ้ม นอกจากนี้เมื่อปี 2016 ในขณะที่มีเหตุการณ์ Clown Sightings ยังมีคนออกมารณรงค์ "Clown Lives Matter" เพื่อให้คนเลิกมองภาพตัวตลกเป็นฆาตกร พวกเขาตั้งใจจะเดินขบวนรณรงค์เมื่อปลายปีที่แล้วแต่น่าเสียดายที่ต้องเลิกล้มไปเพราะมีการขู่ทำร้าย 

    ความโหดร้ายกลายเป็น stigmata ที่ติดแน่นกับคำว่า "ตัวตลก" และคงไม่หายไปง่าย ๆ เชื่อว่าหลายคนอาจทำใจลำบากที่จะเห็นตัวตลกแล้วเกิดความเชื่อใจ 100% แต่อย่าลืมว่าตัวเราเองก็มีทั้งด้านที่ดีและไม่ดี ทุกอย่างมีสองด้าน(หรือมากกว่า)เสมอ เพราะฉะนั้นอย่าตัดสินด้วยอคติหรือยึดติดกับด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป





    ขอบคุณทุกคนที่อ่านมากๆๆๆเลยนะคะ
    หวังว่าจะได้ประโยชน์และตอบคำถามได้บ้างนะ
    ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมหรือสงสัยก็ทักมาได้เลยค่ะ

    Twitter : @puroii


    ___________________________________


    อ้างอิง

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in