เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือbooky70
รีวิวหนังสือ THE JUDGEMENT : ชาติ กอบจิตติ
  • ฟ้าสีเทาและแสงทึมๆของฤดูฝนยิ่งเพิ่มพูนความหม่นหมองในใจมากขึ้นไปอีก หากต้องการอ่านอะไรหม่นๆเพื่อตอกย้ำซ้ำเติมความหม่นหมองของชีวิต หนังสือเล่มนี้เป็นอะไรที่เราอยากให้ท่านลองพิจารณา


    คำพิพากษา

    ยังจะตั้งคำถามอีกทำไม เมื่อท่านมีคำตอบในใจชัดเจนแล้ว

    ผู้เขียน : ชาติ กอบจิตติ

     

    จำนวนหน้า (เฉพาะเนื้อหา): 336 หน้า 

    เหมาะกับใคร? : มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้

    ระดับความยาก (ยิ่งมากยิ่งต้องใช้พลังในการอ่านเยอะ) : 2/10

    ระดับความสนุก : 10/10

    ระยะเวลาในการอ่าน :อ่านรวดเดียวจบคิดว่าประมาณ 2 ชั่วโมง / อ่านแบบค่อยๆซึมซับประมาณ 3 ชั่วโมง

    จุดสังเกตในหนังสือ : ตำบลเล็กๆ/หมู่บ้านแห่งหนึ่ง,ไฟฟ้า,งานบุญ,สมทรง,สัปเหร่อไข่,ครูใหญ่,ไอ้ฟัก


    ความเห็น :

    นอกจากอาจารย์รงค์ วงษ์สวรรค์แล้ว อาจารย์ชาติ กอบจิตติก็เป็นอีกคนที่ทำให้คนสมาธิสั้นอย่างเราสามารถอ่านนิยายไทยรวดเดียวจบได้ อาจด้วยสไตล์การเขียนของที่สั้นกระชับ ไม่ประดิษฐ์คำหรือตกแต่งคำให้สลวยเกินจึงทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างเน้นๆเนื้อๆเหมือนกับนิยายฝรั่ง เรียบง่ายแต่พลังทำลายล้างกลับสูงมากจนอ่านไปจนต้องถึงกับอุทานคำผรุสวาทไปเพราะมันกระแทกใจเราเหลือหลาย จริงๆคือเล่มนี้ซื้อมานานมากแล้ว อ่านไปได้ครึ่งเรื่องก็อดใจไม่ไหวไปดูหนัง ‘ไอ้ฟัก’ (2004) เสียก่อน ซึ่งตัวหนังก็ทำออกมาได้ดีมาก  แต่ก็พบว่าตอนจบนั้นต่างกันนิดหน่อยทว่าก็ไม่ได้ถือว่าทำลายต้นฉบับ

    หนังสือถูกเขียนไว้ในปี พ.ศ. 2524 ดังนั้นจึงถือว่าเราอ่านช้าไป 36-37 ปีเลยทีเดียว แต่อย่างที่บอกเอาไว้ข้างต้นว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกยุคทุกสมัยเลยจริงๆค่ะ มันทำให้ตัวเราได้ตระหนักรู้เลยว่านี่แหละวรรณกรรมระดับชาติมันต้องแบบนี้ ดีใจจริงๆที่มันถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาต่างๆให้ใครต่อใครได้อ่านกันทั่วโลก คงไม่มีอะไรให้พูดมากนักเกี่ยวกับเล่มนี้เพราะคงมีคนรีวิวเป็นร้อยเป็นหมื่นคนแล้ว แต่จะขอยกวรรคตอนหนึ่งที่ตนชื่นชอบมาเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้ สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านแล้วกันนะคะ เป็นส่วนหนึ่งของตอนที่ชาวบ้านรู้ข่าวว่าฟักถูกพวกคนหนุ่มในหมู่บ้านซ้อม อ.ชาติ ได้แบ่งคนเป็น 3 ประเภทดังนี้

    • พวกแรกพูดถึงเหตุการณ์ในคืนวันนั้นราวกับว่าพวกเขาได้ครอบครองกรรมสิทธิ์ชีวิตของฟักไว้เรียบร้อยแล้ว คนในจำพวกนี้แม้ไม่ได้ลงมือทำเอง แต่เพียงได้นึกคิด ได้พูดจาถึงคนอื่นในแง่ร้ายบ้าง ก็เป็นสุขอย่างหนึ่งแล้ว...

             “สมน้ำหน้ามัน!”

             “คนห่าๆพรรค์นี้ จะไปสงสารมันทำไมกัน!”

    • แต่ก็มีคนอีกจำพวกหนึ่งที่ไม่ทุกข์ร้อนกับเรื่องราวของคนอื่น ไม่สนอกสนใจกับสิ่งรอบข้างเท่าใดนัก ต่างดำเนินชีวิตไปตามวิถีทางของเขา ในอาชีพในหน้าที่ของแต่ละคน ต่อเรื่องที่ฟักโดนดักซ้อมพวกเขาไม่คิดแยแส ไม่ร่วมดีอกดีใจด้วย ใครมาเล่าให้ฟังก็เฉย ไม่แสดงความเห็นอันใด ไม่มีความสงสารเมตตามาให้กับฟัก เรื่องต่างๆที่เกิดขึ้น ตราบใดที่ยังไม่เข้ามาพัวพันกับตัวเอง ก็จะไม่มีใครเป็นเดือดเป็นร้อน คนจำพวกนี้ต่างมีความคิดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งว่า :

             “มันไม่ใช่เรื่องของกู”

    • ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสงสารเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นพื้นฐาน สงสารผู้ที่ตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ เห็นใจผู้ที่ถูกกระทำ ต่อเรื่องของฟักที่ถูกดักซ้อม บางคนได้แต่นึกสงสารอยู่ในใจ แม้ว่าจะไม่มีใครได้ล่วงรู้ความจริงว่าฟักยังไม่ได้แม่เลี้ยงเป็นเมียก็ตาม พวกเขาเห็นใจโดยคิดว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน แต่ไม่มีใครกล้าลงมาแตะต้องช่วยเหลือฟักได้ พวกเขาต่างเกรงกลัวกันว่าจะตกเป็นเป้าสายตาของคนส่วนใหญ่ในตำบล จึงได้แต่นึกสงสารกันอยู่เงียบเชียบว่าไม่น่าทำรุนแรงกันถึงขนาดนั้นเลย.

    เรื่องแบบนี้ ประเด็นการถูกลั่นแกล้ง ถูกตัดสินโดยศาลเตี้ยเช่นนี้มีให้เห็นกันอยู่ทุกวัน หากในยุคสมัยนี้ก็คงหนีไม่พ้นการกลั่นแกล้งหรือตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก คำถามก็คือ ใน 3 ประเภทนี้ คุณจัดอยู่ในประเภทไหน? 



    สัญญะและความหมาย :

    • ตำบลเล็กๆ/หมู่บ้านแห่งหนึ่ง : อ่านมาตั้งแต่ต้นจนจบเราไม่พบว่าอาจารย์เขียนชื่อหมู่บ้านนี้เลยสักครั้ง ซึ่งในความเข้าใจของเรา อาจารย์คงอยากจะสื่อว่าไม่ว่าที่ไหน แห่งหนตำบลใดๆในโลกใบนี้ก็สามารถบังเกิดเรื่องฟักๆแบบนี้ได้ทั้งนั้น
    • งานบุญ :ไม่รู้ทำไมทุกครั้งที่มีงานบุญ (ซึ่งมีแทบตลอดทั้งเรื่อง) ผู้คนในหมู่บ้านจะต้องพูดนินทาแต่เรื่องฟักและสมทรงในทาง 18+ อยู่เสมอ ไม่ก็พูดจาด้วยถ้อยคำร้ายๆในแบบที่ทำให้คนอ่านแคลงใจได้เลยว่าบุญกุศลที่คุณทำไปเนี่ยมันจะช่วยคุณทันไหมชาตินี้ ขนาดอยู่ในเขตวัดเขตธรรมทานก็ยังวิพากษ์วิจารณ์ร่างกายของสมทรงสนุกปากแล้วบอกว่า “เป็นกูหน่อยไม่ได้” นี่มันเข้าทำนอง ‘มือถือสาก ปากถือศีล’ หรือไม่?
    • สัปเหร่อไข่ : อันนี้ก็เป็นอะไรที่พีคมากสำหรับเรา ในนิยายได้เปรยๆตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วว่าฟักไม่ชอบสัปเหร่อไข่แต่ไม่ได้บอกเหตุผลเอาไว้ กระทั่งวันที่ต้องไปทำเรื่องเผาศพพ่อจึงต้องไปหาสัปเหร่ออย่างช่วยไม่ได้ จึงมีการเปิดเผยเหตุผลว่าที่ฟักไม่ชอบสัปเหร่อไข่เพราะรังเกียจอาชีพสัปเหร่อที่เป็นงานสกปรก มีแต่น้ำหนองของศพ ตอนบวชเรียน พวกเณรกับพวกเด็กวัดถึงกับต้องสืบกันเลยว่าอาหารอะไรที่สัปเหร่อไข่เอามาทำบุญตักบาตรน่ะอย่าไปกินเพราะรู้สึกขยะแขยง แต่พอทุกอย่างตาลปัตรตั้งแต่พ่อตายแล้วตัวฟักถูกนินทาว่าใช้เมียคนเดียวกับพ่อ ถูกชาวบ้านรังเกียจ ทว่ากลับมีเพียงสัปเหร่อไข่คนเดียวที่เชื่อเขา ฉากนี้เป็นอะไรที่ทำให้จุกเลยจริงๆค่ะ เหมือนเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขหนึ่งเดียวของฟักในเรื่องเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็มีความสุขไปหมดเพียงเพราะคำพูดคำเดียวของสัปเหร่อไข่ที่ว่า “ข้าเชื่อเอ็ง”
    • ครูใหญ่ : สำหรับตัวครูใหญ่นั้นเรียกว่านี่เป็นประเด็นเดิมๆ ประเด็นซ้ำๆที่เราสามารถพบเห็นกันได้ทั่วไปจนรู้สึกเหนื่อยหน่าย พะอืดพะอมกับประเด็นนี้มากเท่าไหร่แต่มันก็ไม่มีทีท่าว่าจะจางหายไปจากโลกนี้ได้เลยจริงๆ คนเรามักตัดสินกันที่ชนชั้นฐานะ มองกันเพียงเปลือกนอกอย่างที่อาจารย์ชาติได้บรรยายไว้ว่า พวกเขาสนใจแต่ “เกร็ด” มิใช่ “แก่น”นั่นล่ะ ยังไงเสียคนที่มีภาพลักษณ์ดีกว่า การศึกษาสูงกว่าหรือมีภาพลักษณ์ที่ตรงกับอุดมคติของสังคมมากกว่าก็ต้องชนะภารโรงขี้เมาอย่างฟักอยู่วันยันค่ำ
    • ไอ้ฟัก : ไม่รู้อาจารย์ตั้งใจรึเปล่าที่ตั้งชื่อฟักแบบนี้ แต่สำหรับเราที่อ่านเล่มนี้มาตั้งแต่ต้นจนจบก็พบว่า อืม.. ชีวิตฟักนี่มันF*CKจริงๆ
    • สมทรง :ทีแรกเราเกือบละเลยตัวละครสมทรงไปแล้วเพราะเราเพิ่งอ่านเล่มนี้จบรวดเดียวตั้งแต่ตี 5.15 ถึง 8.22 น. คืออ่านจบเร็วจนคิดว่าตัวเองคงเก็บรายละเอียดไม่ได้หมดแน่ๆ แต่หลังอ่านจบก็เหมือนกับนางสมทรงเข้ามาวนเวียนอยู่ในหัวตลอด นี่เป็นตัวละครที่ถูกสร้างมาเพื่อเปรียบเทียบกับฟักรึเปล่า?
    • ฟักที่เป็นแบบอย่าง เป็นที่ รักใคร่ของคนในหมู่บ้าน เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ชีวิตขึ้นอยู่กับผู้คนในชุมชนเล็กๆแห่งนี้ ตัวเราเองที่เป็นคนต่างจังหวัดก็เข้าใจประเด็นนี้ดีเหมือนกัน สังคมต่างจังหวัดจะแตกต่างจากสังคมเมืองตรงที่‘ทุกคน’ จะต้องรู้เรื่องของ ‘ทุกคน’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านหมด ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเพื่ออะไรเหมือนกันแต่เหมือนมันเป็นกฎที่มีมาช้านานเป็นพันๆหมื่นๆปี เป็นกฎที่ไม่รู้ว่าใครตั้ง ไม่รู้ว่าเริ่มมาจากไหนและไม่รู้ด้วยว่าจะกำจัดมันออกไปได้ยังไง เรารู้สึกว่ามันเป็นเหมือนความอยากรู้อยากเห็นที่มาในรูปแบบการสอบถามสารทุกข์สุขดิบ อ้างความห่วงใยและอยากจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งข้อดีก็มีแต่ข้อเสียก็มาก แล้วฟักก็เป็นส่วนหนึ่งของกฎนี้ ถูกบังคับให้ทำตามโดยธรรมชาติ หากทำตัวไม่ดีหรือผิดแผกไปจากขนบเล็กน้อยก็กลายเป็นขี้ปากชาวบ้านเสียแล้ว และเรารู้สึกว่าในหัวเค้าคิดแต่เรื่องนี้ทั้งเรื่องเลย ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าที่ 336 ตายไปยังคิดอะคิดดู
    • ซึ่งเทียบกับนางสมทรงที่เป็นผู้หญิงสติไม่สมประกอบ จึงดำเนินตนได้อย่างอิสระตามใจฉัน ไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และไม่ถูกถ้อยคำนินทาว่าร้ายเหล่านั้นทำลายเอาง่ายๆ ไม่ปล่อยให้มันมาผูกยึดตัวเราให้ต้องดำดิ่งลงสู่ห้วงนรกในใจ ไม่ใยดีว่าใครจะดูถูกตนว่าอย่างไร เพียงดำเนินชีวิตไปตามครรลองของตนที่ตนยึดมั่น ตามแต่ที่ตนพอใจ นางก็ยิ้มได้ และสมทรงเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความสุขเพียงหนึ่งเดียวในเนื้อเรื่องอันหม่นหมองบัดซบนี้เสียด้วยซ้ำ
    • ไฟฟ้า : ไฟฟ้าถูกพูดถึงในตอนต้นเรื่อง ทั้งไฟฟ้า ทั้งถนนที่ครูใหญ่พยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อให้ตัดผ่านหมู่บ้าน จะได้นำความเจริญเข้ามาสู่หมู่บ้านอันมืดมิดนี่เสียที แต่กระนั้นในตอนจบ แม้หมู่บ้านนี้จะสว่างวาบกระจ่างตาเพราะแสงไฟเรืองรองสักแค่ไหน ทว่าจิตใจของผู้คนในหมู่บ้านแห่งนี้ก็ยังมืดดำไม่มีวันเปลี่ยนแปร แม้ความเจริญใดๆก็มิอาจแก้ไขจิตใจที่ชำรุดนี้ได้เลย.

    เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย :

    • ส่วนตัวเป็นคนไม่อ่านนิยายไทย ไม่ใช่เพราะไม่ชอบหรอกนะคะ แต่เป็นคนสมาธิสั้นและความสามารถในการตีความศัพท์จากไทยเป็นไทยนั้นช่างน้อยนิด คือถ้านักเขียนใช้ศัพท์สวยหรือศัพท์ยากกว่าระดับสามัญขึ้นไปนิดหน่อยเราจะแย่ละ ตัวเราจึงถนัดนิยายแปลที่ใช้ภาษาไทยง่ายๆมากกว่า แต่เล่มนี้คืออ่านแล้ววางไม่ลงจริงๆค่ะ จนทำให้ตัวเองรู้สึกว่าพลาดมากๆที่ไม่อ่านนิยายไทยเลย คำพิพากษาจึงถือเป็นนิยายไทยเล่มแรกของเราแล้วก็เป็นเรื่องแรกที่รักเลย ทั้งเจ็บทั้งจุกเหมือนถูกความจริงมาตีแสกหน้า ที่บอกว่าแรกเพราะของอาจารย์รงค์ที่เราอ่านนั้นเป็นเรื่องสั้นและยังอ่านไม่จบ แต่จากนี้ไปจะเริ่มอ่านนิยายไทยให้มากขึ้นแน่นอนเพราะได้ตระหนักอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่านักเขียนไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก
    • คำพิพากษา ได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่นแห่งชาติปี 2524 และรางวัลซีไรต์ในปี 2525 และเล่มที่เราถืออยู่เป็นเล่มที่ถูกพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 48 (บ้าไปแล้ว!!!!)
    • คำพิพากษา ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น มาเซีย เยอรมันและฝรั่งเศส
    • อ.ชาติยึดอาชีพนักเขียนเพื่อเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว โดยท่านเคยกล่าวไว้ว่า "ผม ‘เลือก’ ที่จะเป็นคนเขียนหนังสือ ผมให้มันทั้งชีวิต เอาทั้งชีวิตแลกกับมัน" 
    • และเหตุผลที่เราบอกว่างานของอาจารย์ชาติอ่านง่ายเพราะให้ความรู้สึกเหมือนนิยายต่างประเทศ จริงๆแล้วมันมีที่มาที่ไปอยู่จริงๆด้วย เพราะนิยายเรื่องคำพิพากษานี้มีวิธีเขียนแบบไทยร่วมกับสากล ซึ่งมีนักวิชาการวรรณกรรมนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับผลงานของ กุนเทอร์ กราสส์ นักเขียนชาวเยอรมันซึ่งได้รับ รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม และ เค็นซะบุโร โอเอะ นักเขียนญี่ปุ่นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเช่นกัน
    • นักวิจารณ์บางคนชี้ให้เห็นว่านิยายเรื่องนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับโศกนาฏกรรม (Tragedy) ของกรีก บางท่านเห็นว่าอ.ชาตินำเอาปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ของ ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre) มาประยุกต์ใช้ใหม่อย่างน่าชมเชย นอกจากนี้ยังกล่าวว่านวนิยายเรื่องเวลาเป็นพัฒนาการของนวนิยายไทยที่มีลักษณะเป็น “นว-นวนิยาย” (nouveau roman) ซึ่งมีลักษณะร่วมกับวรรณกรรมสากล จึงกล่าวได้ว่าผลงานของชาติ กอบจิตติ มีความสำคัญต่อพัฒนาการนวนิยายไทยและต่อการนำวรรณกรรมไทยเข้าร่วมกระแสวรรณกรรมสากล ดังจะเห็นได้จากผลงานของเขาหลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศอย่างต่อเนื่องหลายภาษา และได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งจากนักวิจารณ์ไทยและนักวิชาการต่างประเทศ (ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก https://th.wikipedia.org/wiki/ชาติ_กอบจิตติ)
    • ปัจจุบัน อาจารย์ชาติ  กอบจิตติกับภรรยา ได้ใช้ชีวิตเงียบๆอยู่ในไร่ที่อำเภอปากช่อง  จังหวัดนครราชสีมา  และทำงานประพันธ์เป็นอาชีพเพียงอย่างเดียว นอกจากเรื่องสั้นและนวนิยายแล้วในระยะหลังยังเขียนบทความและบทภาพยนตร์เพิ่มขึ้นด้วย
    • ภาพยนตร์ ไอ้ฟัก The Judgement (2004) กำกับโดย พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ (ผู้กำกับเดียวกันกับ ‘มะหมาสี่ขาครับ’) และนำแสดงโดย ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์ (ไอ้ฟัก) และ บงกช คงมาลัย (สมทรง) จำได้ว่าตอนเด็กที่เห็นตัวอย่างหนังยังคิดว่ามันเป็นหนังตลกอยู่เลย แล้วก็ใช่จริงๆ นี่มันตลกร้ายของชีวิตชัดๆ


     

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in