เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ความลับของนางฟ้าSALMONBOOKS
01: (London) กลิ่นของที่แห่งนั้น


  • 1

    ให้คิดถึงกลิ่นที่เหม็นเน่าที่สุดเท่าที่คุณเคยได้กลิ่นมาในชีวิต

    จากนั้นลองจินตนาการว่า คุณต้องสูดดมกลิ่นนั่นอยู่ในจมูกของคุณทั้งวันทั้งคืนทุกวันทุกคืน

    ทั่วทั้งกรุงลอนดอน
    แต่มันเหม็นเน่ายิ่งกว่านั้นอีก
    ทุกลมหายใจเหม็นเน่านั้นอันตราย
    ควันพิษ อากาศเน่า หรือที่ชาวอิตาเลียนเรียกว่า Mail Aira นำเชื้อโรคร้ายมาให้
    ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เชื่ออย่างนั้น เธอจึงออกแบบโรงพยาบาลใหม่ที่เซนต์โธมัส
    ให้มีทางเดินโปร่งระบายอากาศกั้นระหว่างตึก
    เพื่อที่กลิ่นเหม็นของโรงพยาบาลจะได้ไม่สะสมอยู่ในห้องผู้ป่วย
    และเป็นพิษต่อผู้ป่วย

    — ตอนหนึ่งจากหนังสือ Victorian London
    โดย ลิซา พิคาร์ด

    ผมยืนมองแม่น้ำเธมส์ และคิดถึงความเหม็นเน่าในอดีตของมัน

    ใช่! มันเคยเป็นแม่น้ำเน่า มืดดำ น่าสะอิดสะเอียน เพราะองค์ประกอบหลักของแม่น้ำเธมส์คือขี้,

    ขี้มนุษย์!
  • หลายร้อยปีก่อน เธมส์เคยเป็นแม่น้ำสายสะอาด ในนั้นมีแซลมอนและหงส์แหวกว่าย แต่แล้วเมื่อการเพาะพันธุ์ไม้และทำสวนเฟื่องฟูขึ้น สิ่งที่ผู้คนใช้เป็นปุ๋ยสำหรับสวนเหล่านี้คือของเสียจากร่างกายมนุษย์ หรือที่เราเรียกด้วยภาษาสามัญว่า ขี้นั่นเอง

    คนที่เก็บรวบรวมขี้ เรียกว่า Night-Soil Men หรือคนรวบรวมดินในยามค่ำคืน พวกเขาคือคนที่คอยรวบรวมของเสียจากกระโถนของผู้คนในลอนดอน แล้วนำไปใช้ทำเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้

    แม้โดยมากการเก็บรวบรวมขี้จะเป็นไปอย่างเรียบร้อย ทว่าก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป ว่ากันว่า บางครั้งหากคุณออกไป ‘เดินเล่น’ ยามค่ำคืน เป็นไปได้ทีเดียวที่คุณจะโชคร้าย ถูกใครบางคนสาดของเสียในกระโถนจากหน้าต่างบ้านลงมาที่ถนน ถ้าไม่หล่นลงแทบเท้า ก็อาจราดรดลงบนร่างกาย ซึ่งไม่ได้เป็นโชคร้ายสำหรับคุณเท่านั้น แต่ถือเป็นการ ‘เสียของ’ สำหรับ ‘นักเก็บขี้’ ด้วย

    ส่วนผสมสำหรับทำปุ๋ยในสมัยนั้นไม่ได้มีเฉพาะของเสียจากร่างกายมนุษย์ แต่ยังเก็บทุกสิ่ง ตั้งแต่หมาที่ตายอยู่กลางถนน ขี้ม้าหรือขี้วัว รวมถึงผักเน่า เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า นักเก็บขี้เหล่านี้คือผู้ทำหน้าที่ ‘สลายซาก’ ในระบบนิเวศ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Scavenger นั่นเอง

    นั่นคือแม่น้ำเธมส์เมื่อเนิ่นนานมาแล้ว

    มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป

  • 2

    ผมชอบย่าน Southwark ของลอนดอนเป็นพิเศษ อย่างหนึ่งเพราะมันไม่ได้ออกเสียงว่า ‘เซาธ์-วาร์ค’ แต่ต้องออกเสียงแบบสุดแสนจะเป็นอังกฤษทำนองว่า ‘โซธ-เอิร์ค’ โดยให้ตัว ธ นั้นเป็นเสียงที่เอาลิ้นมากระทบฟัน แล้วลากยาวต่อเนื่องมาถึงตัว อ ในพยางค์หลัง ส่วนคำว่า โซ ก็ไม่ได้ออกเสียงว่า โซ แบนๆ ทว่าต้องใส่ความเป็นสระ ‘เอา’ เข้าไปด้วยนิดๆ เพราะฉะนั้นสำหรับผมแล้ว การออกเสียงคำว่า Southwark ให้ถูกต้องถ่องแท้—จึงเป็นดินแดนมหัศจรรย์ที่ไม่มีวันไปถึง

    “สมัยก่อน แถวนี้เป็นย่านอาชญากรรม” ถ้าผมจำไม่ผิด คนที่เล่าเรื่อง Southwark ให้ฟังมีชื่อว่า นีล เขาเป็นมัคคุเทศก์ที่พาผมเที่ยวลอนดอนเมื่อมาที่นี่เป็นครั้งแรกหลายต่อหลายปีก่อนโน้น เขาเคยมาเมืองไทย และน่าประหลาด, เขาบอกว่า เขารักกรุงเทพฯ 

    ขนาดนั้นเลยหรือ—ผมเลิกคิ้วถาม

    “ใช่” นีลตอบ

    เขาทำให้ผมนึกถึงย่านที่ชื่อ Kreuzberg (เอ่อ—ย่านนี้ผมก็ชอบ อย่างแรกสุดเลยเป็นเพราะผมไม่สามารถออกเสียงย่านนี้ได้อย่างถูกต้อง) ในกรุงเบอร์ลิน สมัยก่อน เพียงใครบอกว่ามาจาก Kreuzberg ก็มีนัยทางการเมืองแล้วว่าเป็นพวกขบถ ต่อต้านสังคม 

    Southwark และ Kreuzberg อาจไม่เหมือนกันนัก (นอกเหนือจากการออกเสียงที่ยากเย็นแสนเข็ญสำหรับลิ้นคนไทยอย่างผมแล้ว) เพราะแม้ทั้งสองย่านต่างเป็นเสมือน ‘ย่านนอกรีต’ ของเมือง แต่ลักษณะของความ ‘นอกรีต’ นั้นแตกต่างกันพอสมควร
  • Southwark อยู่ห่างจากลอนดอนเพียงฝั่งแม่น้ำกั้น แต่ก็เหมือนเป็นลูกเมียน้อยของ The City of London มาโดยตลอด กว่าจะได้เข้ารวมกับลอนดอนก็ใช้เวลาเรียกร้องกันเนิ่นนาน ส่วน Kreuzberg นั้นไม่เคยเรียกร้องต้องการเป็นหนึ่งเดียวกับเบอร์ลิน แม้เมื่อเบอร์ลินถูกแบ่งเป็นตะวันออกกับตะวันตก Kreuzberg ก็เป็นย่านที่ยากจนที่สุดของเบอร์ลินตะวันตก เป็นย่านที่ถูกหมิ่นถิ่นแคลน เต็มไปด้วยพังก์ร็อคและอาชญากรรม

    แต่ด้วยจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้ Southwark และ Kreuzberg มีอะไรคลับคล้ายกัน,

    อย่างน้อยก็สำหรับผม

    3

    ในปี 1841 ลอนดอนมีประชากรราวๆ สองล้านคน มีกระโถนสองแสนใบทั้งที่เต็มและล้นปรี่ นักเก็บขี้ได้เงินหนึ่งชิลลิ่งต่อการเทกระโถนหนึ่งครั้ง ในย่านเก่าของลอนดอน ว่ากันว่าตามพื้นนั้นเนืองนองไปด้วยของเสีย ท่อระบายน้ำรับความโสโครกแห่งขี้ไม่ไหวจึงเจิ่งเอ่อท้นอยู่ทุกหนแห่ง จนบางครั้งท่อก็แตกและไหลล้นทะลัก

    แน่นอน ลอนดอนเนอร์ย่อมทนสภาพแบบนี้ไม่ได้ มีการเขียนจดหมายร้องเรียน ฉบับหนึ่งเขียนขึ้นในปี 1840 บอกว่า

    แทบไม่มีท่อระบายน้ำและสิ่งปฏิกูลไหนเลยที่ไม่อุดตัน ทั้งหมดล้วนเต็มไปด้วยทราย เศษผัก และขยะสูงท่วมเข่า นั่นทำให้เกิดโรคมาลาเรียและไข้อันน่าสะพรึงกลัว และทั้งหมดนี้อยู่ห่างจากพระราชวังบัคกิงแฮมเพียงชั่วอีกาบินร้อยหลาเท่านั้น

    จดหมายฉบับนี้ได้รับตราประทับจากเจ้ากรมพิธีการของสำนักพระราชวังว่า Substantially Correct หรือเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องจริง แต่กระนั้นก็ไม่เห็นว่าต้องรีบจัดการอะไร

    ต่อมาอีกหลายปีจึงมีการพัฒนาระบบระบายสิ่งปฏิกูล เช่นในปี 1849 มีการขุดท่อระบายใต้ถนนฟลีทสตรีทให้ลึกลงไปกว่าเดิม เพื่อไม่ให้กลิ่นคลุ้งขึ้นมาด้านบน แต่ไม่ว่าท่อจะไปทางไหน ก็มีรายงานว่ากลิ่นแทรกซอนขึ้นไปตามบ้านเรือนที่อยู่ด้านบน

    ในเดือนมกราคม 1862 The Builder วารสารของเหล่าสถาปนิกและวิศวกรผู้ก่อสร้างอาคาร ได้บรรยายภาพไว้น่าสยดสยองว่า

    บางโอกาสที่น้ำขึ้นสูง เขตที่มีพื้นที่ต่ำจะถูกท่วม ไม่ได้ท่วมด้วยน้ำ ทว่าท่วมด้วยสิ่งโสโครก... สิ่งปฏิกูล ซึ่ง... ถูกปล่อยให้หมักหมมไหลเข้ามาสู่บ้านและถนนของเรา โดยปล่อยแก๊สเน่าเหม็นสุดพรรณนามาด้วย มีสิ่งต่างๆ มากมาย ยิ่งกว่าแค่ของเหลวจากส้วม มีทั้งสิ่งที่ซึมออกมาจากหลุมศพของโบสถ์ ฝนที่ชะลงบนถนน... พาสิ่งต่างๆ มาด้วย... วัสดุโสโครก ขี้ม้าและขี้วัว... ของเสียจากโรงพยาบาล... น้ำล้างปลาและขยะมูลฝอยจากตลาดปลาทั้งหลาย เศษซากจากโรงฆ่าสัตว์ โรงฟอกหนัง ร้านทำกาว ร้านทำเทียน พ่อค้ากระดูกสัตว์ คนขายเนื้อ คนต้มกระดูกสัตว์...ของเสียจากโรงงานเคมี โรงงานแก๊ส โรงงานย้อมสี... หนูตาย หมาตาย แมวตาย และที่น่าเศร้าที่สุดคือซากทารก
  • บางเขตก็เน่าเหม็นกว่าเขตอื่น ชาวสลัมต้องสูดอากาศเน่าหนอนอยู่ในตรอกแคบๆ ที่ซุกซ่อนอยู่หลังร้านรวงสวยงามบนถนน แต่ที่เหม็นที่สุดคือย่านที่อยู่ติดกับ Southwark อันมีชื่อว่า Bermondsey ซึ่งอยู่ทางใต้ของแม่น้ำเธมส์เหมือนกัน ไม่น่าแปลกใจหรอกที่ Bermondsey จะเหม็นเน่านักหนา เพราะมันคือย่านฆ่าสัตว์และฟอกหนังของลอนดอน

    แน่นอน ชาวลอนดอนพยายามพัฒนาปรับปรุงเมืองให้หายเหม็น และแล้วเมื่อถึงปี 1857 ก็มีการใช้โถส้วมแทนกระโถน นักเก็บขี้ต้องตกงาน แต่ผลลัพธ์ก็คือ ทุกสิ่งที่เคยอยู่ในกระโถนและกลายไปเป็นปุ๋ย บัดนี้อยู่ในโถส้วม แล้วโถส้วมทั้งสองแสนใบในปี 1857 ก็ล้วนถ่ายเทลงมายังท่อระบายสิ่งปฏิกูล 

    และท่อเหล่านี้ล้วนทิ้งลงมาในแม่น้ำเธมส์!

    4

    ไม่น่าเชื่อเลยนะว่าเมื่อก่อนแม่น้ำเธมส์จะเน่า—จู่ๆ ผมก็รำพึงออกมาอย่างนั้นเมื่อเดินไปกับนีลตามทางเดินริมแม่น้ำ เธมส์ฝั่งใต้

    นีลเลิกคิ้ว

    “คุณรู้เรื่องนี้ด้วยหรือ”

    เรื่องไหน—ผมย้อนถาม

    “เรื่องแม่น้ำเธมส์เน่าไง” เขาว่า “คุณรู้มาจากไหน”

    “ตอนนั้นผมยังไม่เคยอ่านหนังสือเรื่อง Victorian London ของลิซา พิคาร์ด แต่ไม่รู้สิ ผมจำได้นะว่าสมัยเด็กๆ เคยอ่านข่าวเกี่ยวกับแม่น้ำเธมส์ ทำนองว่าตอนนั้นแม่น้ำเธมส์สะอาดใสแล้ว ซึ่งก็คงแปลความได้ว่าก่อนหน้านั้นมันเน่าไม่ใช่หรือ”

  • “ใช่” นีลบอก “แม่น้ำเธมส์เคยเน่าเหม็นมากที่สุดในปี 1858” เขาหัวเราะ “ลอนดอนเคยมีไฟไหม้ใหญ่ เรียกว่า The Great Fire of London ส่วนแม่น้ำเธมส์ก็เคยมีการเน่าครั้งใหญ่ เรียกว่า The Great Stink of 1858”

    มันเหม็นขนาดไหน—ผมถาม

    “ผมเกิดไม่ทันนะ” เขายิ้ม “แต่ก็คงเหม็นมากนั่นแหละ เท่าที่ผมรู้ เหม็นถึงขนาดคลุ้งเข้าไปในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเลย ตอนนั้นคนอังกฤษมีทฤษฎีที่เรียกว่า Miasma คือเชื่อกันว่า ความเหม็นนั้นไม่ได้เหม็นอย่างเดียว แต่เป็นพิษ เป็นอันตรายต่อร่างกายด้วย เพราะฉะนั้น The Great Stink จึงส่งผลอย่างมาก เลยเกิดความคิดในการปรับปรุงความเหม็นขึ้นมา”

    ไม่น่าเชื่อจริงๆ นั่นแหละ—ผมนึก แล้วสูดสายลมแสนสะอาดของลอนดอนในต้นฤดูร้อน น่าประหลาด ผมมักมาลอนดอนในช่วงนี้ของปีเสมอ ลอนดอนสำหรับผมจึงมักไม่ค่อยเย็นชื้นเปียกแฉะ ทว่ามักสว่างจ้าสดใส และเผยให้เห็นถึงสีสันต่างๆ ของเมือง

    Southwark ก็เช่นกัน ทุกวันนี้มันไม่ได้เป็นย่านที่คนถูกปล้นชิงเป็นปกติอีกต่อไป ไม่ใช่ย่านลูกเมียน้อยเหมือนเก่า ทว่าเป็นย่านที่มีอาคารซิตี้ฮอลล์ตั้งอยู่ แถมยังมีตึก The Shard ซึ่งเคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในยุโรปอยู่ด้วย Southwark ยังเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานหรูๆ เท่ๆ เก๋ๆ มากมาย แม้กระทั่งนิตยสาร Time ของสหรัฐฯ ก็ยังเลือกมาเปิดออฟฟิศอยู่แถบนี้
  • ทุกวันนี้ กลิ่นของ Southwark หอมหวาน มีกลิ่นอาหารจากร้านรวงแถบนี้และกลิ่นของความทันสมัยเอิบอาบ เมื่อมองไปในแม่น้ำเธมส์ก็จะเห็นทั้งลอนดอนบริดจ์และทาวเวอร์บริดจ์แสนสง่างาม อาคารจำนวนมากในแถบนี้เป็นอาคารกระจก จึงสะท้อนแสงของท้องฟ้าให้เราเห็นได้ตลอดวันผมนึกไม่ออกเลยว่า ลอนดอน เธมส์ และ Southwark จะเคย ‘เหม็น’ ได้อย่างไรกัน

    5


    “กรุงเทพฯ ก็เหม็นนะ” นีลบอก “แต่ผมก็ยังชอบ”

    ผมไม่คิดว่าเขาพูดเอาใจผม เพราะเขาไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น

    แต่กรุงเทพฯ ไม่มี Southwark นะ—ผมบอกเขา

    “กรุงเทพฯ จะมี Southwark ได้อย่างไร” เขาถามกลับ

    ผมหัวเราะ ผมไม่ได้หมายความว่าจะให้ยก Southwark ไปอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ผมหมายความว่าเราไม่มีย่านอย่าง Southwark และ Kreuzberg ต่างหากเล่า—ผมบอกเขาไปอย่างนั้น

    เขายิ้ม และแสดงท่าทีว่าเข้าใจ,

    แต่ผมไม่แน่ใจนักหรอกว่าเขาเข้าใจผมจริงๆ หรือเปล่า

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in