รีวิวนิยายชุดนักสืบเพนเดอแกสต์กับ Diogenes Trilogy ภาคย่อยในซีรีส์หลักซึ่งเล่าผ่านหนังสือ 3 เล่ม ได้แก่ ศพหมื่นองศา ขอความตายจงร่ายรำ จงตายตกตามอักษร และเล่มแปลไทยล่าสุดที่เพิ่งออกในงานหนังสือเดือนตุลา65 กับ กงล้อจิตอาฆาต
Spoiler Alert! : อาจมีการเปิดเผยเนื้อหาของนิยายดังเรื่อง ศพหมื่นองศา, ขอความตายจงร่ายรำ, จงตายตกตามอักษร และกงล้อจิตอาฆาต
Noted: บทความรีวิวนี้ประกอบด้วยการวิเคราะห์ตีความ การบอกเล่าความรู้สึกและความคิดเห็นของผู้เขียนเพียงผู้เดียว ที่มีต่อนิยายชุดนักสืบเพนเดอแกสต์ ไม่สามารถอ้างอิงได้ว่าผู้อ่านคนอื่นจะรู้สึกหรือคิดแบบเดียวกัน
งานหนังสือที่ผ่านมา (มหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งที่ 27) เรามีโอกาสซื้อหนังสือในชุดซีรีส์นักสืบเพนเดอแกสต์ (Agent Pendergast Series) จากผู้เขียน Preston&Child ลิขสิทธิ์แปลและจำหน่ายในประเทศไทยโดยน้ำพุสำนักพิมพ์มาทั้งหมด 3 เล่มด้วยกัน คือ ขอความตายจงร่ายรำ : Dance of Death (2021*), จงตายตกตามอักษร : The Book of Death (2021*) และกงล้อจิตอาฆาต : The Wheel of Darkness (2022*)
*ปีที่ฉบับแปลไทยตีพิมพ์และวางจำหน่ายครั้งแรก
โดยส่วนตัวเราติดตามซีรีส์ชุดนี้อยู่แล้วตั้งแต่เล่มแรกที่แปลไทยออกมาคือเล่นแร่แปรศพ เรื่อยมาจนถึงสาปนั้นคืนสนอง และศพหมื่นองศา ด้วยความชื่นชอบนิยายแนวสืบสวนสอบส่วนบวกกับการดำเนินเรื่องด้วยตัวละครหลักเก่งๆ และรูปคดีที่ชวนสับสนน่าสงสัย ซีรีส์นี้ตอบโจทย์ทั้งหมดที่ว่ามาเราจึงตั้งใจจะตามอ่านเล่มที่เหลือให้ครบ (ซีรีส์นักสืบเพนเดอแกสต์ทั้งชุดตอนนี้มี 21 เล่ม เล่มล่าสุดเพิ่งออกไปเมื่อปี 2021 นี่เอง ด้านน้ำพุสำนักพิมพ์เริ่มแปลตั้งแต่เล่มสามของซีรีส์เป็นต้นไป ข้อมูลนี้บอกกับเราว่าหนทางยังอีกยาวไกล และการันตีว่าในอีกหลายปีต่อจากนี้คงมีหนังสือให้รออ่านอย่างแน่นอน)
หลังจากที่ถูกปล่อยให้ค้างคากับฉากสุดท้ายในเล่มศพหมื่นองศา แล้วก็รอเล่มถัดไปอยู่เกือบปีได้ พร้อมกับการหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าอีกสองเล่มถัดไป เป็นหนึ่งภาคย่อยของซีรีส์ชุดนี้ที่เรียกว่า Diogenes Trilogy ทางเราก็เลยรอจนกว่าทั้งหมดจะออกมาครบแล้วตามซื้อมาอ่านทีเดียว เพราะการโดนปล่อยให้ค้างอยู่กลางทางนับว่าทรมานมาก แม้จะรู้ดีว่าการรอซื้อพร้อมกันไม่ค่อยส่งผลดีต่อสำนักพิมพ์เท่าไร แต่ด้วยอรรถรสส่วนตัวเลยต้องขอโทษทางสำนักพิมพ์จริงๆ ส่วนกงล้อจิตอาฆาตนั้น ความจริงเป็นเล่มที่อยู่นอกเหนือ Diogenes Trilogy แล้ว เนื้อเรื่องจะเล่าคดีที่คลี่คลายจบภายในตอนเหมือนกับเล่มต้นๆ แต่เราก็รอและซื้อมาพร้อมกันเพราะตอนแรกเข้าใจผิดว่าเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งในไตรภาค เพิ่งจะมารู้ทีหลังว่าต้องนับตั้งแต่ศพหมื่นองศาต่างหาก 5555555
สำหรับ Diogenes Trilogy เป็นไตรภาคที่ประกอบด้วยหนังสือ 3 เล่ม คือ ศพหมื่นองศา, ขอความตายจงร่ายรำ และจงตายตกตามอักษร ไตรภาคนี้มีเส้นเรื่องเล่าถึง ‘อลอยเซียส ไดโอจีนีส’ น้องชายของนักสืบเพนเดอแกสต์ ที่มีความแค้นกับพี่ชายของเขา โดยประวัติไดโอจีนีสตายไปหลายปีแล้ว แต่เพนเดอแกสต์รู้ความจริงว่าน้องชายตัวเองยังใช้ชีวิตอยู่โดยมีเป้าหมายชั่วร้ายบางอย่างที่ต้องทำให้สำเร็จ และเป้าหมายนั้นเกี่ยวข้องกับเขาโดยตรง เพนเดอแกสต์จึงมีหน้าที่ต้องหยุดยั้งแผนการของน้องชายให้ได้ เพื่อการนั้นเพนเดอแกสต์จึงเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่เป็นเวลานานผ่านการเป็นนักสืบของ FBI ไม่ว่าจะเป็นการออกเดินทางตามไขคดีในลักษณะฆาตกรต่อเนื่อง ค้นหาการตายในรูปแบบแปลกๆ ที่หาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ ทั้งหมดเพราะต้องการหาความเชื่อมโยงไปยังไดโอจีนีส
คดีในเล่มศพหมื่นองศาไม่ได้เกี่ยวข้องกับไดโอจีนีส แต่เป็นการเริ่มปูเนื้อหาไปยังเล่มต่อๆ ไป ด้วยการให้ hint บางอย่าง บอกเล่าเค้ารางเกี่ยวกับน้องชายของเพนเดอแกสต์ รวมทั้งการเปิดเผยตัวละครที่จะมีบทบาทในอนาคต โดยคดีหลักของเล่มนี้จะเกี่ยวกับศพที่ถูกเผาไหม้จากภายใน หากแต่สภาพภายนอกกลับดูเรียบร้อย มีเพียงที่เกิดเหตุซึ่งอากาศร้อนกว่าปกติ นักสืบเพนเดอแกสต์จึงเข้าร่วมการสืบคดีที่มีเงื่อนงำนี้ผ่านการเข้าถึงผู้ต้องสงสัยหลายต่อหลายคน และมุ่งตามหาเบาะแสในต่างแดน กับตอนจบที่ค้างไว้เป็นปริศนา
เมื่อเข้าสู่เล่มขอความตายจงร่ายรำจึงเป็นเรื่องของไดโอจีนีสเต็มๆ เริ่มต้นด้วยจดหมายเตือนที่ส่งมายังพี่ชายของตัวเองว่าจะทำอะไรบางอย่างในวันที่ 28 มกราคม พร้อมกับการตายในลักษณะที่ผิดปกติ ผู้ตายทั้งหมดอยู่คนละพื้นที่ รูปแบบการตายก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งตำรวจเองก็หาความเชื่อมโยงไม่ได้ มีเพียงเพนเดอแกสต์เท่านั้นที่รู้ว่าการตายทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเขา ต่อเนื่องไปจนถึงเรื่องราวในเล่มจงตายตกตามอักษร เมื่อแผนการของไดโอจีนีสยังคงดำเนินต่อไปอย่างคาดเดาได้ยาก จนกระทั่งถึงการปิดฉากไตรภาคนี้ลงในที่สุด
หลังจากอ่านจบ ต้องยอมรับจริงๆ ว่าขอความตายจงร่ายรำและจงตายตกตามอักษร เป็นสองเล่มที่เราชอบที่สุดในบรรดาเล่มแปลไทยของซีรีส์ที่มีอยู่ในตอนนี้ โดยแอบเอนเอียงว่าชอบจงตายตกตามอักษรมากกว่านิดหน่อย ความรู้สึกที่เรามีขณะอ่านทั้งสองเล่มคือความสนุกและครบรส เรารู้สึกเต็มอิ่มในแง่ของการไขคดี การทำภารกิจ การก่อเหตุ การหาเบาะแส และตัวตนของ antagonist ซึ่งในที่นี้คือ ไดโอจีนีส ผู้เป็นน้องชายของนักสืบเพนเดอแกสต์ ตัวละครอื่นๆ รวมทั้งการบรรยายเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ
จุดที่เราจับได้ในนิยายชุดนี้ คือนักเขียนจะเล่าหลายสถานการณ์ไปพร้อมๆ กัน ด้วยการตัดสลับตอน สำหรับเราเอง—แน่นอนว่าเราชอบสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคดีเป็นหลัก พอเป็นแบบนี้เราเลยไม่ชอบเวลานักเขียนบรรยายสถานการณ์รองซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีหลักน้อยมากให้เข้ามาขัดจังหวะช่วงไขคดีไปโดยปริยาย สำหรับศพหมื่นองศาซึ่งเป็นเล่มเปิดไตรภาค เราชอบลักษณะคดีในเล่มนี้มากๆ รวมทั้งการไขคดีและการหาเบาะแสเองก็น่าสนใจ จึงทำให้เรากลับมาอ่านบ่อยๆ (อีกเหตุผลที่ต้องอ่านบ่อยเพราะเล่มถัดไปยังไม่ออกสักที) แต่เพราะสถานการณ์รองที่เข้ามาขัดจังหวะ อย่างการบรรยายเรื่องราวของนักบุญคนหนึ่งซึ่งเข้ามาเผยแพร่แนวคิดที่สวนสาธารณะจนเกิดความวุ่นวายในเมืองสลับกับตอนที่เพนเดอแกสต์วิ่งวุ่นเรื่องคดีอยู่ในยุโรป เพราะติดเรื่องการขัดจังหวะตรงนี้เราเลยไม่สามารถยกทั้งสามเล่มใน Diogenes Trilogy ให้อยู่ในระดับเดียวกันได้
ขณะที่ขอความตายจงร่ายรำและจงตายตกตามอักษรแตกต่างออกไป แน่นอนว่ามีการเล่าหลายสถานการณ์ไปพร้อมๆ กันอยู่เหมือนเดิม แต่เราคิดว่าสถานการณ์รองในทั้งสองเล่มนี้มันเชื่อมโยงต่อเนื่องกับเส้นเรื่อง ทุกอย่างมีที่มาและสามารถโยงกลับเข้าหาสถานการณ์หลักได้ โดยไม่มีจุดน่าเบื่อเข้ามาคั่นในช่วงที่ตื่นเต้น จึงเป็นเหตุผลที่เราประทับใจสองเล่มนี้มากกว่าเรื่องอื่น
ต่อมาที่เราชื่นชอบใน Diogenes Trilogy โดยเฉพาะสองเล่มหลัง ก็คือตัวละครซึ่งมีบทบาทหลักอย่างสองพี่น้อง เพนเดอแกสต์และไดโอจีนีส ในเล่มอื่นๆ เราจะเห็นถึงความสามารถของเพนเดอแกสต์เต็มๆ ไม่ว่าจะยากสักแค่ไหน ไม่มีที่มาที่ไปแค่ไหน เพนเดอแกสต์ก็จะจัดการได้ แต่ในตอนนี้เพนเดอแกสต์ต้องเผชิญหน้ากับน้องชายตัวเองที่เก่งกาจพอๆ กัน ไม่แน่ไดโอจีนีสอาจจะเก่งกว่าด้วยซ้ำ เราชอบที่นักเขียนแสดงให้เห็นว่าเพนเดอแกสต์รับมือกับไดโอจีนีสไม่ได้ และคาดเดาอะไรเกี่ยวกับคดีไม่ได้เพราะทั้งคู่มีสถานะใกล้ชิดกันมากกว่า antagonist คนอื่น ที่ก่อคดีโดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีแรงจูงใจมาจากนักสืบเพนเดอแกสต์ เพราะเขาไม่สามารถนำหน้าน้องชายได้จึงเชื่อมโยงไปสู่การขอความช่วยเหลือจากนักวิเคราะห์พฤติกรรมอาชญากรอย่าง ‘อีไล กลินน์’ จากบริษัทเอฟเฟกทีฟ เอนจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในไตรภาคนี้
อีไล กลินน์ วิเคราะห์เพื่อหาแนวโน้มการก่อเหตุและองค์ประกอบความคิดของไดโอจีนีสด้วยการเก็บข้อมูลจากทั้งสองพี่น้อง ตรงนี้ยิ่งน่าสนใจเพิ่มขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เราจะรับรู้แนวโน้มคดีผ่านแนวคิดและมุมมองการวิเคราะห์ของเพนเดอแกสต์เป็นหลัก ด้วยการบรรยายของเพนเดอแกสต์เอง หรือการบรรยายผ่านสายตาของผู้หมวดวินเซนต์ซึ่งติดตามไขคดีร่วมกับเพนเดอแกสต์เองก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลด้วยการทำงานของอีไลจึงน่าติดตาม เพราะเมื่อเป็นเรื่องของเพนเดอแกสต์กับน้องชาย เราจึงได้รู้อีกอย่างว่าเขาเองก็ไม่ได้บอกเราทั้งหมด ไม่ใช่ไม่อยากบอกแต่เพราะเขาเองก็บอกไม่ได้ มีบางอย่างที่เพนเดอแกสต์หลงลืมหรืออาจเรียกว่าถูกผนึกไว้ลึกมากๆ จนทำให้เขาไม่เข้าใจแก่นที่ทำให้ไดโอจีนีสก่อเหตุสักที รวมทั้งเราจะได้เห็นความยึดมั่นในความคิดของตัวเองขั้นสุดจนเกือบจะเรียกได้ว่าความเย่อหยิ่งของเพนเดอแกสต์ที่ไม่ยอมรับความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างตัวเองและน้องชาย (เราคิดว่าตรงนี้ทำให้ตัวละครดูเพนเดอแกสต์ดูกลมขึ้น ดูเป็นมนุษย์มากขึ้น)
จุดที่เราชอบคือการเค้นข้อมูลโดยทีมอีไล กลินน์ ที่ทำให้เรารู้ความลับนั้นไปพร้อมๆ กับตัวเพนเดอแกสต์เอง เรารู้สึกว่าการเปิดปมตรงนี้น่าสนใจมาก เราได้เห็นลักษณะนิสัยของตัวละครเพนเดอแกสต์ และความท้าทายที่ตัวละครดังกล่าวต้องข้ามผ่านให้ได้ พร้อมกันนั้นก็เป็นการอธิบายตัวละครไดโอจีนีส และความสัมพันธ์ของสองพี่น้องไปด้วย
ส่วนเหตุผลที่ทำให้เราเอนเอียงว่าจงตายตกตามอักษรมากกว่าคือการใส่พัฒนาการของตัวละคร ‘คอนสแตนซ์ กรีน’ บุคคลในความดูแลของเพนเดอแกสต์ ซึ่งก่อนหน้านี้เราจะเห็นภาพเธอกับภูมิหลังอันโหดร้าย (จะท้าวความเรื่องของคอนสแตนซ์ กรีน ต้องอ่านตั้งแต่เล่มเล่นแร่แปรศพ และมีข้อมูลบางส่วนสอดแทรกอยู่ในเล่มสาปนั้นคืนสนอง) เธอกำลังจะฟื้นฟูหลายๆ อย่าง ผ่านการเรียนรู้ การอ่านหนังสือและการทำความเข้าใจโลกที่เปลี่ยนไป หน้าที่หลักของเธอมักเป็นการสนับสนุนเพนเดอแกสต์ด้วยทักษะการค้นหาและเก็บรวบรวมข้อมูล
ในเล่มนี้นักเขียนเริ่มบรรยายผ่านมุมมองของคอนสแตนซ์ จนทำให้เราเห็นความรู้สึกและความคิดของเธอเพิ่มมากขึ้น เราเห็นความหวาดกลัว ความวิตกกังวล ความสับสน และความยึดมั่นจนเกือบจะเป็นการกัดไม่ปล่อยที่จะทำทุกวิถีทางให้ตัวเองไปถึงเป้าหมาย ประกอบกับต้นเหตุอย่างไดโอจีนีสและความไม่มั่นคงในสถานะของเพนเดอแกสต์ เกิดจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัวละครนี้มีพัฒนาการมากกว่าที่เคย ในฐานะคนอ่านค่อนข้างคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ใหญ่พอควรเลย ไดโอจีนีสมีความสามารถมากถึงเพียงนั้นแหละ ส่งผลให้เธอกลายเป็นตัวละครสำคัญซึ่งมีบทบาทยิ่งกว่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับเล่มอื่นๆ ที่ผ่านมา และน่าจะส่งผลในเรื่องราวต่อจากนี้ด้วย ฉากที่ประทับใจของคอนสแตนซ์จะอยู่ตอนท้ายๆ ของจงตายตกตามอักษร หลังจากเผชิญหน้ากับไดโอจีนีสโดยตรง เธอเป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องยอมรับว่าสามารถต่อกรกับไดโอจีนีสได้เก่งจริงๆ
แต่ก็มีจุดที่น่าสงสัยที่ว่าบทไดโอจีนีสที่ปูมาว่าฉลาดถึงปานนั้นจะรับมือผู้หญิงตัวคนเดียวลำบากเลยหรือ? ซึ่งก็อาจจะอธิบายได้ว่าไดโอจีนีสประมาทกับคอนสแตนซ์มากเกินไป จะเรียกว่ามองพลาดก็ได้ เพราะเป้าหมายหลักคือจะใช้คอนสแตนซ์โจมตีเพนเดอแกสต์ เลยไม่ทันคิดถึงโอกาสที่เธอจะมาโจมตีตัวเองแทน อีกครั้งนะ มีข้อมูลว่าไดโอจีนีสไอคิวแตะสองร้อยจากคำบอกเล่าของเพนเดอแกสต์ เขาจะพลาดจริงหรือ? อีกหนึ่งเหตุผลเราคิดว่าน่าจะเป็นเพราะไดโอจีนีสโฟกัสกับการแก้แค้นพี่ชายมากเกินไป เมื่อมีตัวละครใหม่เข้ามาในเส้นทางดังกล่าวโดยไม่ทันตั้งตัว แถมยังเป็นตัวละครที่ผิดแผนอีก รวมกับความประมาทในข้อแรก ก็เลยรับมือยากอย่างที่เห็น บวกกับเรารู้สึกว่าไดโอจีนีสฉลาดก็จริงแต่ดันมีจุดอ่อนคือเขาต้องใช้เวลาในการวางแผนที่ซับซ้อน อย่างแผนที่จะโจมตีพี่ชายก็เตรียมมาเป็นสิบปี เมื่อทุกอย่างกระชั้นชิดความเฉียบคมที่เขาเคยมีก็ลดลงไปมาก และขาดไปไม่ได้เลยคือ คอนสแตนซ์ กรีน สามารถเข้ามาโจมตีทุกจุดอ่อนของไดโอจีนีสได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว
เมื่อรวมจากหลายๆ อย่างก็เลยสรุปความรู้สึกได้ว่าเล่มจงตายตกตามอักษรครบรสมากที่สุดจากทั้งหมดในไตรภาค อาจจะเพราะเป็นเล่มจบด้วยจึงสามารถดึงอารมณ์ของคนอ่านได้เต็มที่ด้วยความเข้มข้นของเนื้อหาที่กำลังจะเดินทางมาถึงบทสรุป ขณะที่เล่มศพหมื่นองศาเปิดไตรภาคได้น่าสนใจ และขอความตายจงร่ายรำบรรยายการสืบสวนคดีและปฏิบัติการของไดโอจีนีสได้น่าตื่นเต้น ซึ่งพอมองในภาพรวม Diogenes Trilogy ก็ถือเป็นภาคย่อยที่นำเสนอออกมากได้ดีทีเดียว
สังเกตเห็นว่ามีการเปลี่ยนผู้แปลระหว่างการตีพิมพ์นิยายชุดนี้ ในช่วงเล่มจงตายตกตามอักษร ตอนแรกที่พบว่าชื่อผู้แปลเปลี่ยนไปก็แอบกังวลนิดหน่อยว่าการใช้ภาษาจะเป็นอย่างไร เพราะส่วนตัวก็ชอบสำนวนและลูกเล่นของคุณสายอุษา ที่แปลบทเสียดสีในนิยายได้เจ็บๆ คันๆ ดี แถมยังเป็นการเปลี่ยนนักแปลในช่วงไตรภาคที่เป็นเล่มจบอีก มันจะต่อเนื่องกับสองเล่มก่อนหน้าไหมเนี่ย เราคิดไปแบบนั้น แต่เมื่อได้ลองอ่านสำนวนของคุณขจรจันทร์ก็พบว่าทำได้ดีไม่แพ้กัน และยังคงรักษาโทนภาษาในเรื่องได้ต่อเนื่องไม่ขัดเลย
แต่กับกงล้อจิตอาฆาต เล่มนี้หวนกลับสู่คดีที่จบภายในตอนเหมือนเล่มก่อนๆ ในเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยการเดินทางของเพนเดอแกสต์และคอนสแตนซ์ กรีน ในประเทศทิเบตเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการตั้งจิตและการทำสมาธิในรูปแบบหนึ่ง จนมาเจอกับคดีของวัตถุปริศนาอย่าง “อาโกเชน” ที่ถูกขโมยไปจากอาราม ก่อนคนร้ายจะนำขึ้นเรือเดินสมุทรซึ่งเต็มผู้โดยสารชั้นสูงกับการเดินทางข้ามโพ้นทะเลไปยังมหานครนิวยอร์ก ดูเป็นพล็อตนิยายสืบสวนสอบสวนที่จะน่าสนใจแน่ๆ และนักเขียนก็เลือกนำมาใช้ เพราะรวมเอาความตื่นเต้นของพื้นที่ปิดขนาดใหญ่อย่างเรือเดินสมุทร ความปลอดภัยของผู้โดยสาร ปัจจัยธรรมชาติจากการเดินทางในมหามสมุทรอันกว้างใหญ่เข้าไว้ด้วยกัน
สำหรับการดำเนินเรื่องในเล่มนี้กลับสู่การตัดสลับสถานการณ์ (อีกแล้ว!) ในช่วงท้ายจะสลับระหว่างการดึงนักสืบเพนเดอแกสต์ออกมาจากความคิดที่ผิดปกติและเหตุการณ์ความโกลาหลของการเดินเรือ คุ้นๆ เหมือนในเล่มศพหมื่นองศาเลยทีเดียว
เรื่องที่น่าสนใจในเล่มนี้คือหลังจาก Diogenes Trilogy ซึ่งปิดจบด้วยประเด็นของคอนสแตนซ์ กรีน และประโยคสำคัญจากปากเธอ ในเล่มกงล้อจิตอาฆาตนี้คอนสแตนซ์จึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เริ่มต้นจากการเดินทางของเธอกับเพนเดอแกสต์จนมาเจอกับคดีอาโกเชนที่ทิเบต ซึ่งจากเดิมเราจะเห็นว่าเธอไม่ค่อยออกไปไหนสักเท่าไรแต่นี่เธอกลับร่วมเดินทางข้ามโลกมาด้วย รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการไขคดี ซึ่งเพนเดอแกสต์ให้เธอรับหน้าที่สำคัญมากขึ้น และต้องออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนบนเรือเพื่อสืบหาข้อมูล เรียกว่าเหมือนพลิกคาแรคเตอร์นี้จากหน้ามือเป็นหลังมือเลย ต้นเหตุจะเป็นใครไม่ได้นอกจากไดโอจีนีสจากไตรภาคที่แล้วนั่นแหละ
ในเล่มกงล้อจิตอาฆาตนี้เราก็ต้องพูดตามจริงว่าไม่ค่อยประทับใจเท่าไรในแง่ของการก่อเหตุและคนร้ายสักเท่าไร ในมุมมองเรามันดูเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้มากเกินไป ออกแนวจิตวิญญาณ? หรือไสยศาสตร์? ไม่เหมือนคดีการฆาตกรรมต่อเนื่องด้วยเหตุผลคือต้องการสิทธิ์เพื่อถือครองไวโอลินเก่าแก่ หรือการฆาตกรรมต่อเนื่องจากคนร้ายที่มีความผิดปกติทางจิต แต่ก็พอถูไถไปได้กับการได้เห็นบทบาทของคอนสแตนซ์ กรีน และการเชื่อมเส้นเรื่องของเธอไปในอนาคต
สำหรับคำแนะนำในการอ่านนิยายชุดนักสืบเพนเดอแกสต์ ก็คงจะบอกได้ว่า สำหรับเล่มที่จบในตอนอย่าง เล่นแร่แปรศพ สาปนั้นคืนสนอง หรือกงล้อจิตอาฆาตนั้น จะแยกอ่านเดี่ยวๆ ก็สามารถทำได้ ส่วน Diogenes Trilogy ก็แนะนำให้อ่านต่อกันสามเล่มติดเพราะคดีเชื่อมต่อกัน แต่อย่างไรก็ตามการอ่านให้ต่อเนื่องทุกเล่มโดยเรียงตามลำดับกันมาก็จะเกิดอรรถรสมากกว่า รวมทั้งทำให้เราๆ เข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องราวและตัวละครมากขึ้นด้วย
หลังจากนี้ทางเราก็คงต้องนั่งรอนอนรอเล่มต่อไปในซีรีส์ชุดดังกล่าว โดยหวังว่าจะได้มาเขียนรีวิวนิยายในชุด Agent Pendergast Series เร็วๆ นี้อีกครั้ง
สามารถติดตาม instagram รีวิวหนังสือของเราได้ที่ @addmetoshelf
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in