เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
กว่าจะเป็นจูเนียร์รุ่น 12Benjaruck Imsawang
กว่าจะมาเป็นจูเนียร์ 12
  •      ก่อนที่จะลงมือเขียนใบสมัครก็เคยได้ยินข่าวคราวมาบ้างว่าจะเป็นอะทีมจูเนียร์มันยากมากเลยนะ ไหนจะต้องเขียนใบสมัครให้ผ่านตั้งแต่รอบแรกเพื่อมาเวิร์กช็อป แล้วก็ต้องมาชิงตำแหน่งในการมาสัมภาษณ์เพื่อเป็นตัวจริงอีก โหววว งานนี้ไม่ใช่หมูๆแน่-ฉันคิด แต่อะไรก็หยุดฉันไม่ได้ ฉันลงมือเขียนใบสมัครอย่างตั้งใจและทุ่มเทที่สุดในชีวิต ไปสิงอยู่หอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยเพื่อตามล่าหาไอเดียเมนคอร์สมานำเสนอ ถ้านับเล่นๆ แค่ใบสมัครนี่ใช้เวลาไปร่วมเดือนแล้ว คนอื่นอาจใช้เวลาไม่นานขนาดนี้เลยด้วยซ้ำ

         พอถึงวันประกาศผลรอบแรก (รอบเวิร์กช็อป) นาฬิกาบอกเวลา 3 ทุ่มตรง ฉันไล่ดูรายชื่อผู้ถูกเลือกผ่านหน้าเว็บ adaymagazine.com ไล่ดูไปเรื่อยๆ ก็มาสบตาปิ้งๆ กับชื่อของตัวเอง ตอนนั้นอยากกรี๊ดมาก แต่ต้องเก็บอาการไว้ก่อน พอหลังจากส่งอีเมล์ยืนยันการมาเวิร์กช็อปเป็นที่เรียบร้อย ที่เหลือก็แค่รอเวลา...

         และแล้ววันของการเวิร์กช็อปก็มาถึง ฉันตื่นเช้ามาก มากกว่าตอนไปเรียนเสียด้วยซ้ำ ทำธุระเสร็จก็ออกจากหอมารอรถเมล์สาย 15 ไม่นานนักรถก็มาจอดหน้าป้าย พอใกล้ถึงฉันก็รู้สึกว่าตอนนั้นมันดูเช้าเกินไป ฉันเลยลงรถที่สวนลุมฯ แล้วเดินต่อเอา (ไม่น่าเลย ไกลมากกก) กว่าจะมาถึงสถานที่นัดหมายคือที่ สสส. ก็ปาไปจะ 9 โมงแล้ว งานนี้หลงทางรัวๆ ต้องถามทั้งยาม คนแถวนั้น และป้าขายน้ำ (นั่งพี่วินฯ 20 บาทก็จบละ) 

         มาถึงพีคกว่านั้นคือไม่รู้ว่าใครเป็นใคร วันนี้ก็ดันมีหลายงานจัดพร้อมกันอีก ฉันเกือบไปเป็นอาสาจัดยาเข้าโรงพยาบาลแล้วด้วยซ้ำ จนมาทักเพื่อนคนแรก เป็นรุ่นน้องชื่อไนซ์ เรา 2 คนมามึนๆ ทั้งคู่ กว่าจะรู้ว่าจัดงานที่ไหนก็เกือบสายเสียแล้ว 

         เกริ่นซะยาวเลย ข้ามไปถึงตอนวิทยากรเลยดีกว่า...

  •      หัวข้อเวิร์คช็อปประจำปีนี้คือ "contents after tomorrow" (ไม่รู้ว่าเป็นชื่อนี้ทุกปีหรือเปล่า)

         "ความทรงจำครั้งแรกของจูเนียร์"-พี่เอี่ยว-ศิวะภาค เจียรวนาลี ได้ขึ้นมาเล่าถึงจุดประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่าจริงๆ แล้วพี่เขาอยากบอกอะไร

         หนึ่ง พี่อยากเล่าให้ฟังว่าสิ่งที่พี่ทำอยู่คืออะไร
         สอง พี่อยากรู้จักน้องๆ นอกจากแค่อ่านผ่านใบสมัครสุดสร้างสรรค์

         เปิดตัวมาซะขนาดนี้ ก็ไม่รอช้าที่พี่เอี่ยวจะงัดเอาวิธีการแนะนำตัวสุดครีเอตมาให้พวกเราเล่นกัน นั่นคือให้เราเขียนเรื่องเกี่ยวกับตัวเองที่คิดว่าคนอื่นไม่รู้และเรื่องที่เราต้องทำทุกเช้าหลังตื่นนอน โดยจำลองว่าเรากำลังเล่าเรื่องผ่านเฟซบุ๊ค (แต่จริงคือการเอาโพสอิทไปแปะที่ผนังห้อง) แค่นี้ก็คิดหนักแล้วว่าจะเขียนอะไรดี โดยหลังจากแปะพี่เอี่ยวก็เดินไปอ่าน... งานนี้ได้รู้เรื่องที่ไม่เคยคิดว่าจะได้รู้จากเพื่อนจริงๆ
         กลับมาที่ข้อแรกของการจัดงาน พี่เอี่ยวได้เล่าถึง contents ที่ไม่ว่าเราจะทำอาชีพอะไร เนื้อหาก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ เช่น เนื้อหาของหมอคือการรักษาคนไข้ เนื้อหาของครูคือการสอนคน เนื้อหาคือสิ่งที่เราทำ เราจะตื่นเต้นทุกครั้งที่เราจะทำ

    "เราจะต้องสร้างเนื้อหาที่คนอ่านใจเต้นและเราเองก็ใจเต้นแรงทุกครั้งที่อยากจะเล่ามัน"

  • now a day with พี่ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน


         หากเราอยากรู้ว่านิตยสารจะเป็นยังไงต่อไป เราต้องถอยกลับไปดูอดีตก่อนแล้วค่อยมองปัจจุบัน 

         พี่ก้องได้เล่าถึงนิตยสารในรอบทศวรรษต่างๆ ตั้งแต่ปี 2000 ช่วงนั้นนิตยสารวาไรตี้ที่เล่าเรื่องราวหลายหมวดหมู่กำลังเป็นที่นิยม การที่ต้องทำเรื่องให้หลากหลายก็เพื่อที่จะรองรับโฆษณาได้มากขึ้นตามไปด้วย ในอีกแง่มุมหนึ่งคือการบอกว่านิตยสารสนใจอะไร สนใจว่าจะมีคนอ่านไหมหรือสนใจว่าจะมีคนมาลงโฆษณาหรือเปล่า-ส่วนใหญ่สนใจประเด็นหลัง
         พี่ก้องก็เล่าย้อนไปช่วงเกิดต้มยำกุ้ง ความหรูหราฟุ่มเฟือยที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นได้ถูกกระแสต่อต้านว่ามันดู mass คนหันกลับไปใช้ของมือสองที่ดูเท่และคูลกว่า นอกจากเรื่องส่วนตัวที่เปลี่ยนไปแล้ว ก็ยังส่งผลให้เกิดองค์กรหรือสื่อเล็กๆ เกิดขึ้น คนเริ่มหันมาทำหนังสั้น หนังสือทำมือ หรืออะไรก็ตามที่เหมาะกับตลาดเล็กๆ มากขึ้นและ a day เองก็ถือกำเนิดในยุคนั้น
         การก่อกำเนิดของ a day เกิดขึ้นมาจากการอยากพูดในสิ่งที่สื่ออื่นไม่พูดถึง ถ้าจะพูดง่ายๆ คือเล่าเรื่องของคนเล็กและพูดเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจเป็นสำคัญ 
         นอกจากนั้นพี่ก้องก็ได้เล่าถึงภาพรวมของวงการนิตยสารบ้านเราในทุกวันนี้ การได้ยินข่าวคราวของนิตยสารไทยหลายหัวที่ปิดตัวลงไปเรื่อยๆ มันทำให้เราต้องหันกลับมามองที่งานของเรามากขึ้น โดยสาเหตุหลักๆ คือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป คนไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อฆ่าเวลาอีกแล้ว เพราะในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ง่ายกว่า มีการกำเนิดของ web contents ขึ้นมากมาย สั้นกว่า ง่ายกว่า และเร็วกว่า แล้วก็มองว่าวงการนิตยสารจะต้องต่อสู้อย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ สิ่งแรกที่ทำได้คือ การปรับตัวและการรู้ว่าหน้าที่ของนิตยสารคืออะไร ถ้าใครรู้ในจุดๆ นี้ก่อน คนนั้นย่อมถูกเลือกให้อยู่รอดต่อไป

  • "ผู้ต้องสงสัย" by jirabell

         ต้องสงสัยยังไงให้คนอ่าน-อยากอ่าน คนตอบ-อยากตอบ
        
    Q : ทำไมเราต้องสงสัย มันจำเป็นกับชีวิตคนทำ contents หรือ ?
    A : เห็นทีจะต้องตอบว่าใช่ เพราะการสร้างเนื้อหามันเกิดขึ้นมาจากความสงสัยใคร่รู้ของคน พออยากรู้ก็แค่ไปหาข้อมูลไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต สิ่งพิมพ์ หรืองานวิจัย ทุกอย่างที่กล่าวล้วนมีข้อมูลให้ผู้สงสัยสืบค้น นอกจากนั้นถ้าเราสามารถหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้มาสัมภาษณ์จริงๆ มันจะสร้างงานให้มีชีวิตมากขึ้น
         
    Q : แล้วเราควรสัมภาษณ์ใคร ?
    A : การจะให้พื้นที่ในหน้าหนังสือกับใคร แสดงว่าเราต้องชื่นชมคนๆ นั้น มองว่าเขาสำคัญยังไง ที่สำคัญคือเราต้องรู้จักเขาจริงๆ เสียก่อน โดยเราจะเลือกจากเรื่องที่เราอยากจะเล่า ไม่ว่าจะเป็นวงการเพลง ภาพยนตร์ หรือหนังสือ

    Q : เตรียมตัวยังไง ?
    A : อย่างแรกคือเราต้องรู้ว่าคนที่เราอยากสัมภาษณ์ทำอะไรอยู่ เขาเคยให้สัมภาษณ์อะไรไปบ้างแล้ว และเราจะทำยังไงให้บทสัมภาษณ์ของเราไม่เหมือนเล่มอื่น ถ้าจะให้ดี เราควรติดต่อคนที่ใกล้ชิดกับคนๆ นั้นเพื่อให้ได้ประเด็นที่ลึกกว่าคนอื่น

    Q : เตรียมคำถามมากแค่ไหนถึงจะพอดี ?
    A : จริงๆ เราให้ความสำคัญกับการเตรียมประเด็นมากกว่า ถ้าประเด็นที่ดีและแข็งแรง คำถามมันก็จะออกมาไม่สุด (ประเด็นละประมาณ 10 คำถาม)

    Q : เวลาและสถานที่สัมภาษณ์มีส่วนเกี่ยวข้องไหม ?
    A : การเขียนบทสัมภาษณ์แบบเรียบเรียงจะมีบรรยากาศเป็นอารมณ์ร่วม นอกจากนี้ช่างภาพก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้พื้นที่เพื่อถ่ายภาพด้วย

    Q : สัมภาษณ์คนที่มีชื่อเสียง กับ คนที่ไม่เป็นที่รู้จัก คนไหนสัมภาษณ์ยากกว่ากัน ?
    A : สัมภาษณ์ยากทั้งคู่ เพราะแต่ละคนก็มีจุดที่ต่างกัน อย่างคนที่มีชื่อเสียง เราอาจจะเข้าถึงได้ยาก การที่เคยให้สัมภาษณ์มาเยอะแล้วมักจะทำให้การตอบคำถามดูเป็นแบบแผนไปเสียหมด แต่ถ้าเรามองที่คนที่ไม่เป็นที่รู้จัก มันก็ยากตรงที่เราจะดึงจุดไหนขึ้นมาให้คนอ่านอยากอ่าน แล้วถ้าเขาเป็นตัวเองมากเกินไปเราควรจะแก้ไขยังไง

    Q : คำถามที่ดีเป็นอย่างไร ?
    A : การมีจุดร่วมของคำถามเป็นสิ่งที่ดี มันจะทำให้คนตอบอยากตอบ, คนฟัง(คนอ่าน)อยากรู้คำตอบ และคำตอบที่ตอบมีคุณค่า ซึ่งบางอย่างก็เป็นเรื่องของรสนิยม

    Q : เราควรเรียบเรียงคำถามก่อน-หลังยังไง ?
    A : คำถามแรกๆ ผู้ถูกสัมภาษณ์อาจจะยังไม่สนิทใจกับเราดีพอ เราควรใช้คำถามที่สบายๆ คำถามหลังๆ เขาอาจต้องให้ความไว้ใจเราในระดับนึงแล้ว

    Q : เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ถูกสัมภาษณ์พูดความจริง ?
    A : ก่อนอื่นเราต้องคิดก่อนว่าความจริงสำคัญไหม แล้วคนอ่านอยากอ่านความจริงหรือเปล่า คุณค่าจากความจริงมันดีจริงๆหรอ ของแบบนี้เราควรใช้รูปแบบของคำถามทั้ง 3 แบบมาตัดสิน (ข้อมูล ความคิด ความรู้สึก)

    "การฟังเป็นหัวใจสำคัญของการทำบทสัมภาษณ์ หาใช่การพูด" 
    ภิญโญ ไตยสุริยธรรมา ( open conversation )
         
  • MAGAZINE (NOT AS WE KNEW IT) BY BOOKSMITH

         ปัจจุบันนิตยสารต่างประเทศได้ถูกจัดแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ Glossy (Mainstreams) magazine ซึ่งเป็นนิตยสารกระแสหลักที่อยู่มานานมาก และ Independent magazine ที่เป็นกลุ่มของนิตยสารที่ไม่มีกลุ่มจัดจำหน่ายใหญ่ และนิตยสารกลุ่มนี้เองที่ตอนนี้กำลังตีตลาดขึ้นมาจากการปรับตัวในหลายๆ ด้าน 

    3 วิธีที่จะทำให้นิตยสารอยู่รอด...
    - Quality of contents and editing การให้ความสำคัญกับเนื้อหาและใช้ภาษาที่สวยงาม 
    - Design Experience การออกแบบที่โดดเด่น สะดุดตา
    - Innovation and Integration การนำสื่อ online มาผสมผสานกับตัวนิตยสาร

    "Printed media ยังคงอยู่ต่อไปตราบเท่าที่เราให้สิ่งที่คนอ่านต้องการ"
  • เรียนรู้วงการโฆษณา by CJ work


         ถ้าเรามองประเด็นที่ว่าโฆษณาให้อะไรกับเรา คำตอบคงหนีไม่พ้นการส่ง "สาร" ซึ่งสารในที่นี้อาจจะเป็นข้อความ ภาพ หรือเสียงที่สื่อออกมาเป็นความหมายให้เราเข้าใจ แต่ก็ยังคงมีโฆษณาจำนวนไม่มากนักที่สามารถสื่อให้คนดูเข้าใจถึงแก่นแท้ของงานอย่างการเข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริง
         จากผลสำรวจการดูคลิปหรือโฆษณาที่ถูกแชร์ผ่านทางโซเชี่ยลสามารถนำมาจัดอันดับความสนใจของคนได้ 8 หัวข้อคือ รัก โกรธ กลัว แปลก ขำ sex เศร้า ตื่นเต้น (ไม่เรียงลำดับ) ซึ่งถ้ามองดีๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความสวยงามบางอย่างเพื่อสนับสนุนความรู้สึกที่มี และเมื่อเราสามารถสร้างจุดร่วมของคนได้แล้ว ไม่ยากเลยที่เราสร้างโฆษณาให้เป็นที่รู้จักและคนดูจะจดจำได้
  • การทำ a day ไม่ได้โลกสวยอย่างที่คิด by พี่บี

         ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่าโลกสวยจริงๆ ก่อน เพราะถ้าจะโยงการทำ a day ที่เป็นนิตยสารที่สร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์มาอยู่ในกรอบของคำว่าโลกสวยอาจจะไม่เหมาะสมนัก 

    Main course

         ถ้าพูดถึงเมนคอร์สจะนึกถึงอะไรไปไม่ได้นอกจากหน้าปก! เพราะมันเป็นสิ่งแรกที่คนจะตัดสินตัวเล่ม
    และการที่จะเลือกเรื่องใดมาเป็นหัวข้อเมนคอร์สนั้น เรามักจะมองหาเรื่องที่สัมผัสใจคนและคนทั่วไปเข้าถึงได้มากกว่าแค่เรื่องสวยงาม ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้อยู่ที่การนำเสนอเรื่อง คือเราต้องนึกให้ออกว่าเราอยากบอกอะไรคนอ่าน สิ่งนี้เองที่ทำให้เรามองโลกหลายมุมมากขึ้น 

    นี่คือตัวอย่างหัวข้อเมนคอร์สที่มองโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป...

    - เล่มต้นไม้ : มองเห็นว่าคนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้
    - เล่ม Run : มองว่าการวิ่งทุกรูปแบบให้ความหมายกับชีวิต
    - เล่มแสง : มองที่ความหมายของแสงที่เรามองว่าสวยงาม
    - เล่ม Guide to better living : มองว่าภูมิปัญญาแท้จริงนั้นแสนฉลาด
    - เล่มเงิน : มองว่าเงินมีบทบาทกับคนในทุกช่วงชีวิต
    - เล่มนิวยอร์ก : มองว่าการเป็นตัวของตัวเองจึง happy
    - เล่ม Zine : มองเห็นถึงอิสรภาพในการแสดงออกของคนตัวเล็ก
    - เล่มดอกไม้ : ดอกไม้งามอย่างไร อยู่ที่ใครมอง
  • บทส่งท้าย

         ตั้งแต่วันแรกที่คิดสมัครอะจูฯ 12 เรื่อยมาจนถึงวันนี้ คิดไม่ผิดเลยที่ฉันตัดสินใจลงมือร่างความฝันเล็กๆ ของตัวเองกับเส้นทางสายนี้ แม้การเดินทางอาจต้องแลกมาซึ่งเวลาบางอย่าง แต่ถ้ามองในมุมของความรู้สึกที่ได้รับมันมีค่ามากกว่านั้น นอกจากประสบการณ์และความรู้ดีๆ ของวิทยากรจากการเวิร์กช็อปที่เข้มข้นแล้ว มิตรภาพที่เกิดจากคนที่มีจุดร่วมเหมือนกันมันถูกสร้างขึ้นอย่างแน่นหนา ไม่มีอะไรจะพูดมากไปกว่าขอบคุณพี่ๆ ทุกคนมากที่จัดโครงการนี้ขึ้นมา และไม่ว่าผลสุดท้ายจะเป็นยังไง ก็ถือว่าฉันได้ลงแข่งเกมส์ล่าฝันที่สนุกสุดๆ รายการหนึ่งของวงการนิตยสารแล้ว 

    ปล.เวิร์กช็อปวันแรกมีพี่หมี-จิรณรงค์ มาพูดเรื่องการทำอาร์ตด้วยแต่ฟังเพลินจนลืมเก็บประเด็น ส่วนวันที่สองลืมจดค่ะ
    ปล1.หลังกิจกรรมเวิร์กช็อปมีการให้รวมกลุ่มกันคิดงานเสนอลูกค้าด้วย ไม่อยากจะบอกเลยว่า พวกเราชาวกลุ่ม 8 ได้ทำแคมเปญถุงยาง (เปิดโจทย์มานี่อึ้งเลย 555) 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in