เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
booker loggerweawfah
Factfulness - จริง ๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน
  • "ค่าเฉลี่ยเป็นวิธีถ่ายทอดข้อมูลที่รวดเร็ว เป็นประโยชน์ และสังคมปัจจุบันคงไม่อาจอยู่ได้หากไม่มีค่าเฉลี่ยเช่นเดียวกับหนังสือเล่มนี้ที่มีค่าเฉลี่ยมากมายปรากฏอยู่ แต่การทำให้ข้อมูลนำเสนอได้ง่ายไม่ว่าวิธีใด อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้ ไม่เว้นแม้แต่ค่าเฉลี่ย ค่าเฉลี่ยทำให้เราเข้าใจผิด เพราะมันซ่อนการกระจายไว้ในตัวเลขแค่ตัวเดียว"
    (P. 43)



    จริง ๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน.

    ถ้าจู่ ๆ มีใครสักคนมาพูดประโยคนี้แก่เรา เราคงขมวดคิ้ว เอียงหัวด้วยความกังขา และตอบกลับไปด้วยน้ำเสียงที่เหมือนจะคล้อยตามนิด ๆ ว่า "จริงเหรอ?" (เสียงสูง)

    คงเป็นการยากที่จะเชื่อว่าโลกของเราดีขึ้น เมื่อข่าวคราวเรื่องภาวะโลกร้อน หรือ climate change มีมาให้ได้ยินทุกวัน ไหนจะข่าวความยากจนข้นแค้น ภัยพิบัติต่าง ๆ ข่าวเรื่องสัตว์ป่าสูญพันธ์ อาหารไม่เพียงพอ พลังงานกำลังจะหมดจากโลก หรือโรคร้ายใหม่ ๆ การก่อการร้าย ฆาตกรรม ความเหลื่อมล้ำ ผู้ลี้ภัย สังคมสูงวัย ประชากรล้นโลก โดยเฉพาะข่าวการเมืองประเทศแถวนี้ที่นับวันเหมือนจะนับถอยหลังลงทุกที เรื่องร้าย ๆ พวกนี้ให้ไล่ยาวได้เป็นวันก็ยังไม่หมด

    เห็นเช่นนี้แล้วใครจะไปเชื่อว่าโลกของเราดีขึ้นทุกวันกันล่ะ 
    .
    .
    แต่ ฮันส์ โรสลิง เชื่อเช่นนั้น
    และพยายามพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นด้วย
    ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพคนนี้เชื่อมั่นและพยายามอย่างหนักที่จะถ่ายทอดข้อมูลทั้งหมดมาเป็นหนังสือในมือเล่มนี้

    นี่จึงไม่ใช่หนังสือที่พยายามโน้มน้าวเราด้วยถ้อยคำสวยหรูกระทบใจ (แม้ว่าอมรินทร์จะจัดหนังสือเล่มนี้ในหมวด How to ก็ตาม) แต่เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยการจัดหมวดหมู่ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ตัวเลขสถิติที่ถูกทอนลงให้เข้าใจง่าย และการใช้ภาษาเรียบง่ายเล่าเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของโลกใบนี้ 

    นี่จึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือฉบับภาษาอังกฤษ คือ Factfulness 
    หรือที่ ฮันส์ โรสลิง หมายถึง การรู้ข้อเท็จจริง
    เพราะการรู้ข้อเท็จจริง อย่างตัวเลขสถิติไม่กี่ตัวก็สามารถเปลี่ยนมุมมองต่อโลกของเราได้อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ สถิติทั้งหลายที่ปรากฏในเล่มนี้ล้วนทำให้เรา (ผู้อ่าน) ตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก มันทั้งเรียบง่าย สวยงาม และทรงพลังต่อความคิดของเราได้อย่างมหัศจรรย์

    นอกจากนี้ ฮันส์ โรสลิง ยังได้เสนอวิธีการมองโลกในรูปแบบใหม่
    ไม่มีอีกแล้วระหว่าง "ประเทศที่พัฒนาแล้ว" กับ "ประเทศที่ยังไม่พัฒนา"
    ต่อจากนี้โลกในสายตาของเราจะถูกเกลี่ยให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ศาสนา วัฒนธรรม จะไม่ใช่ต้นตอของความแตกต่างอีกต่อไป ช่องว่างมหาศาลที่ถูกเมินเฉยจะถูกชี้ให้เห็นอยู่ตรงหน้า ชัดเจนเสียจนเราปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีดวงตาที่มืดบอดเพียงใดจึงมองไม่เห็น

    และเมื่อมองโลกได้อย่างที่มันเป็นแล้ว
    สิ่งสำคัญต่อมาคือการมอง "มนุษย์" อย่างที่เราเป็น
    ฮันส์ ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์เรามีสัญชาตญาณอยู่ 10 ประการ ที่ทำให้เราเข้าใจโลกผิดมาตลอด

         1. สัญชาตญาณแห่งการแบ่งแยก
         2. สัญชาตญาณแห่งความเป็นลบ
         3. สัญชาตญาณแห่งเส้นตรง
         4. สัญชาตญาณแห่งความกลัว
         5. สัญชาตญาณแห่งขนาด
         6. สัญชาตญาณแห่งการเหมารวม
         7. สัญชาตญาณแห่งโชคชะตา
         8. สัญชาตญาณแห่งมุมมองด้านเดียว
         9. สัญชาตญาณแห่งการตำหนิ
         10. สัญชาตญาณแห่งความเร่งด่วน

    สัญชาตญาณทั้งหมดนี่แหล่ะ ที่ส่วนหนึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีมายาวนาน มันอาจเคยช่วยบรรพบุรุษของเราให้เอาชีวิตรอด แต่ในยุคสมัยนี้ มนุษย์ต้องหัดรู้ทันและเอาตัวรอดจากสัญชาตญาณเหล่านี้เสียเองแล้ว

    ท้ายที่สุด (ด้วยความจริงใจสุดๆๆๆ)

    หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เรามองโลกต่างออกไปจริง ๆ นะ.
    มันให้ความหวัง มันก่อให้เกิดความตื้นตันต่อพลังของมนุษยชาติอ่ะ.
    มันทำให้เกิดคำถามว่า นี่เรามาได้ไกลขนาดนี้จริง ๆ เหรอ 
    และเรากำลังจะดีขึ้นไปเรื่อย ๆ อีกอย่างแน่นอนจริงใช่ไหม

    แนะนำให้อ่านจริง ๆ 

    ป.ล. ตอนต้นของหนังสือจะมีแบบทดสอบความเข้าใจต่อโลก ให้เราซื่อสัตย์ต่อตนเองและทำแบบทดสอบนั้นก่อนที่จะอ่าน คุณจะอ่านหนังสือเล่มนี้ได้สนุกมากขึ้น พร้อม ๆ กับเข้าใจตัวเองไปด้วย

    Factfulness: Ten Reasons We're Wrong About The World
    จริง ๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน
    writer: Hans Rosling
    Translator: นพ.นที สาครยุทธเดช
    อมรินทร์

    [The best stats you've ever seen] Ted Talk ของ Hans Rosling



    เว็บไซท์ https://www.gapminder.org/
    สำหรับไปเยี่ยมชม Dollar street และไปทดลองเล่นกับสถิติ


    ******

    ฮันส์ โรสลิง เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2017
    ขาได้ใช้ชีวิตในระยะสุดท้ายร่างหนังสือเล่มนี้ร่วมกับลูก ๆ และ factfulness ก็คือความพยายามในการถ่ายทอดความรู้ครั้งสุดท้ายที่องค์ความรู้ของเขานั้นยังคงถ่ายทอดต่อมาจนอยู่ในมือเรา ณ ขณะนี้ 
    หวังว่า บทความใน minimore สั้น ๆ นี้ จะสามารถเป็นหนึ่งข้อต่อ
    ในการส่งต่อความรู้ ความประทับใจ
    รวมทั้งจุดประกายพลังแห่งความเชื่อมั่นในโลกใบนี้ได้ต่อไปได้


     



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in