โชคดีอย่างยิ่งที่เกิดมาเป็นลูกอีสานและเราก็ภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้กลับบ้าน เทศกาลไหน ๆ ไม่มีที่ไปก็กลับบ้าน บ้านเกิดเราอยู่ จ.ยโสธร แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป ความเจริญแผ่กระจาย ในชนบทห่างไกลสัญญาณมือถือเข้าถึง ถนนลาดยางตัดผ่าน บ้านไม้กลายเป็นบ้านปูน วิถีชีวิตแบบบ้านนากำลังจะเปลี่ยนไป แต่แม่เรายังอยากรักษาไว้ให้เป็นเหมือนเดิม เหมือนตอนที่แม่ยังเป็นเด็ก
เพราะฉะนั้น ผืนนาของครอบครัวเราจึงเป็นนาแบบกึ่ง ๆ เกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง พยายามทำนาดำเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีที่สุด มีบ่อปลา ปลูกต้นมะม่วงตามคันนา มีกอไผ่ให้หาหน่อไม้ (นาในฝันของแม่เลย) ซึ่งข้อดีของการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ คือ ข้าวจะปลอดสาร เม็ดใหญ่รวงโต ดินอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีไส้เดือนดินตัวโต ๆ มีรูปู มีกบมีเขียดให้ตามถ่ายรูปเล่นได้555
เดือนเมษายนของทุกปี ครอบครัวเราจะกลับบ้านกัน และแน่นอนว่าต้องมีภารกิจให้ทำแบบหัวไม่วางหางไม่เว้น หนึ่งในนั้นก็คือ การสาปลา
คำว่า "สา" ปลา เป็นภาษาอีสาน แปลว่า การวิดน้ำออกจากบ่อเพื่อจับปลา ด้วยความที่บ่อนาเราเป็นบ่อเล็ก ๆ และพื้นบ่อเป็นโคลนจึงไม่อาจเหวี่ยงแหจับปลาได้ อุปกรณ์ที่พอจะจับปลาได้จึงมีเพียงสวิง ตะกร้า ถังน้ำ และถ้าจะให้ถนัดที่สุดก็ใช้ “สองมือ” จับปลานี่แหละ (ไม่ใช่จับปลาสองมือนะ)
แม่ไม่เคยซื้อพันธุ์ปลามาปล่อยเลย แต่ปลาในบ่อก็เยอะจนจับไม่ไหวทุกปี มีทั้งปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ ปลาตะเพียน ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาไหล งูก็ยังเคยเจอ!!! (แต่ไม่โดนกัดน้าาา ไม่ต้องเป็นห่วง อิอิ) พอจับปลาได้เราจะแบ่งส่วนหนึ่งไว้ทำกับข้าวไปถวายจังหันพระ (อาหารเช้า) แล้วก็แบ่งเพื่อนบ้านตามสมควร ปลาที่เหลือทำปลาตากแห้ง ส่วนปลาตัวเล็ก ๆ แม่ยัดลงไหหมักปลาร้า แซ่บลืมมม :)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in