เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บทความทางกฎหมายSakorn Manoromn
สอบวิชากฎหมาย
  • เกริ่นนำ

                       การเรียนกฎหมายให้ได้ประสบความสำเร็จนั้นสิ่งสำคัญนอกจากความรู้กฎหมายแล้วผู้ศึกษากฎหมายยังจะต้องมีทักษะการตอบข้อสอบกฎหมายเป็นอย่างดีด้วยเพราะแม้จะมีความรู้ในตัวบทกฎหมายมากมายเพียงใดหากผู้นั้นไม่สามารถถ่ายทอดออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจและรู้ถึงความรู้ที่มีอยู่ความรู้ของท่านก็หามีประโยชน์แต่อย่างใดไม่ ดังนั้นการฝึกฝนตนเองให้มีความเชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้ของตนออกมาได้อย่างนักกฎหมายจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าเป็นการถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดหรือตัวอักษรก็ตาม

                       เนื่องจากภาษาของนักกฎหมายเป็นภาษาของนักวิชาชีพเฉพาะมีความแตกต่างจากภาษาของชาวบ้านที่ใช้กันอยู่ทั่วไปเพราะภาษากฎหมายเป็นภาษาที่มีการผสมกันระหว่างการใช้ภาษาทั่วไปและภาษากฎหมาย เพื่อให้มีการให้เหตุผลที่สอดคล้องไปในประโยคเดียวกันการศึกษาวิธีตอบข้อสอบกฎหมายนี้จึงมีประโยชน์ในการสร้างทักษะพื้นฐานสำหรับการประกอบอาชีพกฎหมายต่อไปในอนาคตด้วยเช่น เป็นทักษะสำหรับทนายความในการเขียนคำคู่ความ หรือเป็นทักษะสำหรับผู้พิพากษาในการเขียนคำพิพากษาเป็นต้น

                       อย่างไรก็ตามการสอบกฎหมายมีความแตกต่างกับการประกอบวิชาชีพกฎหมายอยู่บ้าง กล่าวคือการสอบกฎหมายนั้นข้อสอบมักจะให้ข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วเป็นวัตถุดิบในการวินิจฉัยข้อกฎหมายแต่ในการประกอบอาชีพนักกฎหมายข้อเท็จจริงมักจะไม่เป็นที่ยุติ นักกฎหมายจะต้องค้นหาข้อเท็จจริงของเรื่องให้ได้ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งก็คือการสอบกฎหมายมักจะเป็นการทดสอบเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งในข้อสอบ ๑ ข้อแต่ในการประกอบวิชาชีพกฎหมายนักกฎหมายจะต้องปรับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกเรื่องเข้าด้วยกันในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

                       ข้อสอบกฎหมายเป็นแบบทดสอบสำคัญที่ผู้สอบจะต้องเรียบเรียงความคิดของตนออกมาเป็นภาษากฎหมายซึ่งข้อสอบกฎหมายนี้แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ ๑.) ข้อสอบทฤษฎี(ข้อสอบบรรยาย)และ ๒.) ข้อสอบอุทาหรณ์ (ข้อสอบตุ๊กตา)

     

    ข้อสอบทฤษฎี

                       เป็นข้อสอบที่ให้ผู้สอบเขียนบรรยายความเข้าใจในเรื่องต่างๆซึ่งข้อสอบทฤษฎีนี้แบ่งประเภทของข้อสอบตามลำดับความยากง่าย จากง่ายไปยากได้ดังนี้๑.) ข้อสอบให้อธิบาย ๒.) ข้อสอบให้เปรียบเทียบ ๓.) ข้อสอบความเห็น ๔.)ข้อสอบกึ่งตุ๊กตา

                       ๑.) ข้อสอบให้อธิบาย ข้อสอบประเภทนี้มักจะถามความหมายหรือให้ผู้สอบอธิบายรายละเอียดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นข้อสอบชั้นเดียว ไม่มีปัญญายุ่งยากซับซ้อนหากผู้สอบมีความเข้าใจในเรื่องนั้นๆอยู่แล้วก็เขียนบรรยายไปตามลำดับความคิดตามความเข้าใจถือว่าเป็นข้อสอบที่ง่ายที่สุดในประเภทข้อสอบทฤษฎี เช่นให้ท่านอธิบายความหมายของหลักสุจริต หรือท่านเข้าใจเรื่องเสรีภาพแห่งการแสดงเจตนาว่าอย่างไร เป็นต้น

                       ๒.) ข้อสอบให้เปรียบเทียบ ข้อสอบประเภทนี้เพิ่มความยากขึ้นมากอีกขั้นตรงที่ข้อสอบจะถามความเข้าใจของสิ่งสองสิ่งหรือกว่านั้นก่อน แล้วให้ผู้สอบวิเคราะห์ว่าสิ่งเหล่านั้นมีความเหมือนหรือมีความแตกต่างกันอย่างไรเช่น ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด และ ข้อสันนิษฐานทั่วไป มีความแตกต่างกันอย่างไร เป็นต้น

                       ๓.) ข้อสอบความเห็น เป็นข้อสอบที่นอกจากจะวัดความเข้าใจของผู้สอบในเรื่องนั้นๆแล้วยังจะวัดความคิดเห็นของผู้สอบด้วยว่าผู้สอบมีความคิดเห็นในเรื่องนั้นๆว่าอย่างไรซึ่งข้อสอบประเภทนี้ผู้สอบมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารทฤษฎีในเรื่องนั้นได้อย่างกว้างขวางแต่ต้องเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างมีหลักการ มิใช่นึกอะไรออกก็เขียนไปเรื่อย

                       ๔.) ข้อสอบกึ่งตุ๊กตา ข้อสอบประเภทนี้เกือบจะคล้ายกับข้อสอบอุทาหรณ์โดยข้อสอบจะแต่งคำถามออกมาเป็นเหตุการณ์สมมุติ แล้วให้ผู้สอบวินิจฉัยผลทางกฎหมาย แต่ลักษณะของคำถามต้องการให้ผู้สอบอธิบายหลักกฎหมายในเรื่องที่ถามอย่างละเอียดก่อนที่จะวินิจฉัยดังนั้น ผู้สอบจะต้องอธิบายทฤษฎีในเรื่องที่ถามให้ละเอียดครบถ้วนเสียก่อนแล้วจึงพิเคราะห์กับข้อเท็จจริงที่คำถามให้มา แล้วจึงสรุปผล

    ข้อสอบอุทาหรณ์

                       ข้อสอบอุทาหรณ์หรือข้อสอบตุ๊กตาคือ ข้อสอบที่สมมุติตัวละครขึ้นมา แต่งข้อเท็จจริงให้เป็นเรื่องราวและถามถึงผลในทางกฎหมายเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้นข้อสอบประเภทนี้จะทดสอบความเข้าใจหลักกฎหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งและทดสอบความสามารถในการปรับบทกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริงในคำถามซึ่งข้อสอบประเภทนี้ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายอย่างแท้จริงเพราะเป็นพื้นฐานสำหรับทนายความในการเขียนคำคู่ความหรือเป็นพื้นฐานสำหรับผู้พิพากษาในการเขียนคำพิพากษา เป็นต้น ดังนั้นในการสอบเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา หรืออัยการผู้ช่วยตลอดทั้งเนติบัณฑิต จะต้องเป็นข้อสอบในลักษณะอุทาหรณ์ทั้งสิ้น ทักษะในการตอบข้อสอบประเภทนี้จึงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่นักศึกษากฎหมายจะพึงมี

                       ข้อสอบอุทาหรณ์หรือข้อสอบตุ๊กตานี้ยังสามารถแบ่งออกได้เป็น๒ รูปแบบ ได้แก่ ๑.) แบบทั่วไป และ ๒.) แบบกึ่งบรรยาย

                       ๑.) แบบทั่วไป เป็นข้อสอบที่ใช้วัดความเข้าใจหลักกฎหมายและการปรับใช้ตัวบทกฎหมายโดยการให้ผู้สอบวินิจฉัยถึงผลในทางกฎหมายของข้อเท็จจริงในคำถามโดยที่ผู้ออกข้อสอบมักจะมีธงคำตอบอยู่แล้วเป็นตัวชี้วัดความถูกหรือผิดของคำตอบที่ผู้สอบตอบมา

                       แต่ก็มีบางกรณีที่ผู้ออกข้อสอบต้องการให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นกรณีเช่นนี้ผู้ออกข้อสอบมักจะไม่มีธงคำตอบตายตัว แต่ผู้สอบต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เข้ากับบทกฎหมายเพื่อให้ได้คำตอบอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาเพียงคำตอบเดียวซึ่งกรณีเช่นนี้มักเป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงที่สามารถปรับบทกฎหมายได้เป็นหลายแนวมาเป็นคำถาม

                       ๒.) แบบกึ่งบรรยาย เป็นข้อสอบที่มีการแต่งตัวละครขึ้นเช่นเดียวกับข้อสอบอุทาหรณ์แบบทั่วไปแต่เป็นข้อสอบที่ผู้ออกข้อสอบต้องการให้ผู้สอบอธิบายหลักกฎหมายเรื่องนั้นๆอย่างละเอียดเกี่ยวกับประเด็นที่ถามแล้วจึงวินิจฉัยปรับข้อกฎหมายนั้นเข้ากับข้อเท็จจริงในคำถาม

    การจับประเด็นข้อสอบ

                       ข้อสอบแต่ละข้อจะต้องมีประเด็นของคำถามกล่าวคือต้องมีเรื่องที่ต้องการให้ผู้สอบทำการวินิจฉัยหรือเป็นเรื่องที่ผู้ออกข้อสอบต้องการวัดความเข้าใจของผู้สอบเมื่อเป็นเช่นนี้การจับประเด็นข้อสอบจึงมีความสำคัญต่อการตอบข้อสอบอย่างมาก เพราะหากผู้สอบไม่ทราบว่าผู้ออกข้อสอบต้องการจะวัดอะไรจากผู้สอบผู้สอบก็ไม่สามารถตอบข้อสอบให้ตรงเป้าหมายของผู้ออกข้อสอบและย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ผลการสอบจะออกมาได้ผลดี

                       ประเด็นของข้อสอบกฎหมายแต่ละข้อมักจะมีอยู่๒ ประเภท ได้แก่ ๑.) ประเด็นหลัก และ ๒.) ประเด็นรอง

                       ๑.) ประเด็นหลักคือประเด็นใหญ่ที่ผู้สอบจะต้องวินิจฉัยชั้นสุดท้ายหลังจากได้วินิจฉัยประเด็นรองที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นหลักมาแล้วซึ่งในส่วนนี้คำถามมักจะเขียนเป็นประโยคคำถามไว้อย่างชัดเจน เช่นให้ท่านวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เป็นต้น

                       ๒.) ประเด็นรอง เป็นประเด็นที่เกี่ยวพันกับประเด็นหลักโดยผู้สอบจำเป็นจะต้องวินิจฉัยประเด็นเหล่านี้เสียก่อนที่จะวินิจฉัยในประเด็นหลักได้ซึ่งประเด็นเหล่านี้คำถามมักจะไม่ตั้งเป็นประโยคคำถามไว้อย่างชัดเจนแต่จำเป็นที่ผู้สอบจะต้องค้นหาเพื่อวินิจฉัยให้ครบถ้วนเสียก่อน มิฉะนั้นจะได้คะแนนไม่ดีในประเด็นหลักนั้น

                       ข้อสอบกฎหมายโดยทั่วไปมักจะมีประเด็นหลัก๒-๓ ประเด็น และแต่ละประเด็นหลักจะมีประเด็นรองอยู่อีก ๒-๓ ประเด็นหรือบางกรณีอาจไม่มีประเด็นรองเลยก็ได้หากเป็นการสอบในระดับพื้นฐาน เช่นระดับปริญญาตรี

    ๑.การจับประเด็นในข้อสอบทฤษฎี

                       ข้อสอบทฤษฎีหรือข้อสอบอธิบายนี้มักตั้งคำถามเป็นประโยคสั้นๆเพื่อวัดความเข้าใจของผู้สอบ ดังนั้นผู้สอบเข้าใจในเรื่องที่ผู้ออกข้อสอบถามอย่างไร ก็เขียนบรรยายออกไปให้หมด ดังนั้นข้อสอบทฤษฎีนี้มักจะมีแต่ประเด็นหลักที่ผู้สอบต้องอธิบาย จะไม่มีประเด็นรอง

                       แต่หากผู้สอบอ่านคำถามแล้วไม่สามารถจับประเด็นได้ว่าข้อสอบนั้นมีประเด็นหลักว่าอย่างไรผู้สอบต้องพยายามนึกถึงข้อสอบนั้นว่าเป็นข้อสอบเกี่ยวกับวิชาอะไรอยู่ในเรื่องอะไรของวิชานั้น และในเรื่องนั้นมีหัวข้อสำคัญๆว่าอย่างไรบ้างแล้วลองพิเคราะห์ดูว่าคำถามอยู่ในหัวข้อนั้นหรือไม่ หากคำถามเกี่ยวพันกับหัวข้อใดก็เขียนบรรยายหัวข้อนั้นลงไปในสมุดคำตอบให้มีใจความใกล้เคียงกับคำถามมากที่สุด

    ๒.การจับประเด็นในข้อสอบอุทาหรณ์

                       ข้อสอบอุทาหรณ์เป็นข้อสอบที่มีการแต่งตัวละครขึ้นเป็นเหตุการณ์ซึ่งข้อสอบลักษณะนี้มักมีตัวละครหลายตัวและมีข้อเท็จจริงพัวพันกันมากทำให้ข้อสอบประเภทนี้มีทั้งประเด็นหลักและประเด็นรองหลายประเด็น ดังนั้นเพื่อให้คำตอบมีความสมบูรณ์ ผู้สอบจะต้องตอบให้ครบทุกประเด็นโดยผู้สอบจะต้องทำเครื่องหมายหรือขีดเส้นใต้ข้อเท็จจริงในคำถามซึ่งข้อเท็จจริงนั้นจะทำให้มีผลในทางกฎหมาย หรือมีความเกี่ยวข้องกับบทกฎหมายส่วนข้อเท็จจริงที่เป็นพลความไม่ต้องทำเครื่องหมายหรือขีดเส้นใต้ซึ่งข้อเท็จจริงที่เราขีดเส้นใต้หรือทำเครื่องหมายไว้นี้มักจะเป็นประเด็นรองที่ผู้สอบจะต้องหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นหลัก

                       เมื่อเราสกัดเหลือแต่ข้อเท็จจริงที่มีผลในทางกฎหมายหรือมีความเกี่ยวข้องกับบทกฎหมายแล้วขั้นตอนต่อมาต้องพิเคราะห์ว่าข้อเท็จจริงเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องบทกฎหมายบทใดหรือองค์ประกอบของกฎหมายข้อใดเมื่อทราบแล้วควรเขียนเครื่องหมายหรือเขียนเลขกำกับไว้ว่าในการเขียนตอบเราจะต้องเขียนตอบประเด็นใดบ้างมีอยู่กี่ประเด็น เพื่อความครบถ้วนของคำตอบ

     

    การเขียนตอบข้อสอบ

                       ๑. การเขียนตอบข้อสอบทฤษฎี การตอบข้อสอบบรรยายนี้จะต้องมีการวางแผนการตอบหรือที่เรียกว่าเค้าโครงการตอบซึ่งเป็นลำดับความคิดและเนื้อหาที่มีความสัมพันธ์กันเอาไว้ก่อนซึ่งเค้าโครงการตอบนี้มีความสำคัญต่อความสมบูรณ์ของคำตอบซึ่งการตอบข้อสอบแบบบรรยายนี้ผู้สอบจะต้องนึกอยู่ในใจเสมอว่าจะต้องเขียนบรรยายให้ผู้ตรวจข้อสอบเข้าใจได้เสมือนกับผู้ตรวจข้อสอบไม่มีความรู้กฎหมายมาก่อนเลยและการตอบข้อสอบแบบบรรยายนี้มิใช่เพียงตอบคำถามสั้นๆเพียงที่คำถามถามมาเท่านั้นการตอบที่สมบูรณ์จะต้องอธิบายหลักกฎหมายหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่คำถามถามด้วยโดยควรเริ่มจากเนื้อหาในภาพรวมเข้าไปสู่เนื้อหาที่เป็นประเด็นสำคัญ

                       เมื่อได้วางแผนในการตอบโดยการกำหนดเค้าโครงการตอบแล้วขั้นตอนต่อมาผู้สอบจะต้องกำหนดสัดส่วนเนื้อหาที่จะเขียนตอบซึ่งการตอบข้อสอบบรรยายนั้นจำเป็นจะต้องกล่าวเพื่อปูทางเข้าไปสู่ประเด็นหลักเสียก่อนหรือที่เราเรียกว่าบทนำ แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรเสียเวลาหรือเสียพื้นที่หน้ากระดาษในการเขียนบทนำหรือการเขียนปูทางนี้มากนักผู้สอบจะต้องตรวจสอบเวลาในการทำข้อสอบและจำนวนข้อสอบให้สอดคล้องกันด้วย โดยเนื้อหาของคำตอบในประเด็นหลักหรือใจความสำคัญควรมีสัดส่วนในคำตอบไม่น้อยกว่าร้อยละ๔๐ ของคำตอบข้อนั้นทั้งหมด

                       การที่จะตอบข้อสอบบรรยายให้ได้คะแนนดีนั้นผู้สอบควรจะต้องยกตัวอย่างอุทาหรณ์ขึ้นด้วยเพราะจะทำให้คำตอบของเรานั้นมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นและหากเป็นเรื่องที่ยากแก่การทำความเข้าใจก็จะทำให้กรรมการผู้ตรวจข้อสอบมีความเข้าใจในคำตอบของเรามากยิ่งขึ้น ดังนั้น การตอบข้อสอบบรรยายนี้ผู้สอบจะอาศัยเพียงการท่องจำเพียงอย่างเดียวไม่ได้เพราะหากผู้สอบไม่เข้าใจในเรื่องนั้นๆ ผู้สอบจะไม่สามารถยกตัวอย่างประกอบได้ดังนั้น ผู้สอบควรเรียบเรียงคำตอบด้วยความเข้าใจของผู้สอบเอง

                       หากเป็นข้อสอบให้เปรียบเทียบก่อนที่ผู้สอบจะทำการเปรียบเทียบความเหมือนหรือความแตกต่างผู้สอบควรอธิบายปูพื้นฐานในเรื่องที่ให้เปรียบเทียบเหล่านั้นเสียก่อนแล้วจึงเปรียบเทียบความเหมือนหรือความแตกต่าง และข้อสังเกตอีกจุดหนึ่งคือต้องอ่านคำถามให้ดีว่าให้เปรียบเทียบในเรื่องอะไรให้เปรียบเทียบความเหมือนหรือความแตกต่าง หรือทั้งสองอย่าง

                       หากเป็นข้อสอบความเห็นผู้สอบควรเขียนถึงความเห็นของนักกฎหมายสำคัญๆอย่างน้อยสองความเห็นที่เป็นความเห็นแตกต่างกัน หรือมีทฤษฎีที่แตกต่างกันและที่สำคัญความเห็นของผู้สอบเองโดยผู้สอบต้องเขียนไปในทางวิจารณ์ความเห็นทั้งสองแนวทางข้างต้น ว่าเห็นด้วยกับแนวทางใดและไม่เห็นด้วยกับแนวทางใดเพราะอะไรโดยยกเหตุผลในทางกฎหมายขึ้นประกอบ

                       ๒.การเขียนตอบข้อสอบอุทาหรณ์ การตอบข้อสอบประเภทนี้ผู้สอบควรอ่านข้อเท็จจริงในคำถามให้ชัดเจนเสียก่อนโดยผู้สอบไม่ควรสงสัยข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น หรือโต้แย่งข้อเท็จจริงในคำถามเมื่อเข้าใจข้อเท็จจริงในคำถามชัดเจนแล้วให้ผู้สอบทำเครื่องหมายหรือขีดเส้นใต้ถ้อยคำที่มีผลในทางกฎหมายหรือเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบของกฎหมายเอาไว้ดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อการจับประเด็นข้อสอบ

                       การเขียนตอบข้อสอบกฎหมายนี้ต้องใช้คำในกฎหมายและไม่ควรใช้คำย่อหรือพยายามใช้คำย่อให้น้อยที่สุดและคำย่อที่ใช้นั้นต้องเป็นคำย่อที่ในวงการกฎหมายใช้กันอยู่ทั่วไป เช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ใช้ ป.พ.พ. หรือ พระราชบัญญัติ ใช้ พ.ร.บ. เป็นต้น

                       การตอบข้อสอบกฎหมายต้องกระชับแต่ชัดเจน ไม่เขียนวกไปวนมา การตอบข้อสอบอุทาหรณ์นี้ไม่เน้นที่ปริมาณของคำตอบว่าสั้นยาวเพียงใดแต่ขึ้นอยู่ว่าผู้สอบสามารถตอบข้อสอบได้ครบถ้วนทุกประเด็นหรือไม่และสามารถปรับใช้หลักกฎหมายได้อย่างถูกต้องเพียงใดซึ่งการวางเค้าโครงการตอบข้อสอบอุทาหรณ์ก็เป็นเรื่องสำคัญโดยการตอบข้อสอบที่ดีควรมีเค้าโครง ๔ ส่วน ดังนี้

                       ๑.) ชี้ประเด็นเป็นการกำหนดประเด็นของคำถามว่ามีประเด็นอย่างไร เช่น ตามปัญหามีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า...ย่อหน้าถัดไปประเด็นต่อไปมีว่า...ย่อหน้าถัดไป ประเด็นสุดท้ายมีว่า ซึ่งการชี้ประเด็นเอาไว้นี้ควรจะกำหนดไว้เฉพาะในประเด็นหลักเท่านั้นส่วนในประเด็นรองสามารถวิเคราะห์ไปในชั้นปรับข้อกฎหมายให้กับข้อเท็จจริงได้เลยโดยไม่ต้องชี้เป็นประเด็นเอาไว้

                       ๒.) หลักกฎหมายเมื่อเราชี้ประเด็นแล้วผู้สอบจะต้องยกหลักกฎหมายที่เกี่ยวกับประเด็นนั้นขึ้นไว้ด้วยซึ่งผู้สอบไม่จำต้องท่องจำเอามาเขียนให้ได้ทุกตัวอักษรแต่ต้องสามารถทำความเข้าใจใจความสำคัญให้ได้และถ่ายทอดออกมาเป็นถ้อยคำตามความเข้าใจของผู้สอบแต่อย่างไรก็ตามต้องไม่เป็นการไปแก้ไขถ้อยคำในกฎหมายหรือกรณีที่ต้องใช้ศัพท์กฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะก็ต้องใช้คำนั้นจะเปลี่ยนแปลงถ้อยคำไม่ได้ เลขมาตราไม่มีความจำเป็นต้องเขียนหากจำไม่ได้แต่ถ้าหากจำได้ก็ใส่ไปจะเป็นการแสดงถึงความแม่นยำ

                       การยกหลักกฎหมายนี้ไม่จำเป็นจะต้องยกมาตรามาทั้งหมดทั้งมาตราหากมาตราหนึ่งมีหลายวรรคและแต่ละวรรคมีใจความที่สามารถแยกกันใช้ออกจากกันได้ เมื่อเราจะยกหลักกฎหมายก็ยกเฉพาะวรรคที่เราจะใช้เท่านั้น

                       ๓.)ปรับข้อกฎหมายให้กับข้อเท็จจริง เป็นขั้นตอนในการวินิจฉัยซึ่งเป็นการพิจารณาหาผลในทางกฎหมายโดยการนำเอาตัวบทกฎหมายเข้าไปปรับกับข้อเท็จจริงทีละข้อๆเป็นส่วนที่แสดงถึงความเข้าใจตัวบทกฎหมาย และทักษะในการคิดวิเคราะห์ และที่สำคัญผู้สอบจะต้องแยกให้ออกว่ากฎหมายมาตราหนึ่งนั้นส่วนใดเป็นส่วนที่เป็นเหตุเงื่อนไขของเหตุ และส่วนใดเป็นส่วนที่เป็นผลซึ่งเราสามารถแยกส่วนดังกล่าวออกมาปรับกับข้อเท็จจริงเป็นทีละประโยคๆไปโดยผู้สอบพิจารณาองค์ประกอบส่วนที่เป็นเหตุทีละองค์ประกอบแล้วปรับเข้ากับข้อเท็จจริงในคำถามที่เข้ากันได้ไปทีละองค์ประกอบ โดยใช้คำว่า"เป็นการ..." เป็นตัวเชื่อมคำและเมื่อองค์ประกอบเข้ากันได้กับข้อเท็จจริงทุกข้อแล้วย่อมจะต้องเกิดผลในทางกฎหมายสำหรับบทบัญญัตินั้นๆ แต่ถ้าไม่สามารถปรับองค์ประกอบเข้ากับข้อเท็จจริงทุกข้อได้ก็จะไม่มีผลทางกฎหมายสำหรับบทบัญญัตินั้นแล้ววินิจฉัยคำตอบสุดท้ายไปโดยระบุเลขมาตราหรือชื่อกฎหมายที่ได้ยกหลักกฎหมายไว้ข้างต้น

                       ผู้สอบไม่ควรลอกคำถามมาทั้งหมดแต่ควรยกเฉพาะข้อเท็จจริงที่จะใช้ในการวินิจฉัยเปรียบเทียบกับองค์ประกอบของกฎหมายเท่านั้นและการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อปรับบทกฎหมายนี้ ควรจะยกขึ้นมาตามลำดับเหตุการณ์

                       ๔.) สรุป เป็นการตอบคำถามในประเด็นหลักหลังจากที่ได้วิเคราะห์เอาไว้โดยการใช้คำว่า "ดังนั้น" แล้วสรุปผลไป

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in