เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SEENPoonPun
‘ซงคังโฮ’ กับ 3 บทบาท ‘อิกนอแรนซ์’ ตอน 2 : ทนายความ


  • เข่ียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2021
    **เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์**


    • The Attorney (변호인) ออกฉายในเกาหลีใต้เมื่อ 18 ธันวาคม 2013 กำกับโดย ยางอูซอก

    แม้หนังสัญชาติเกาหลีใต้ทั้ง 3 เรื่องจะสร้างและออกฉายต่างปี แต่เนื้อหาของหนังเหล่านี้มุ่งสำรวจหมุดหมายเดียวกันในประวัติศาสตร์ คือช่วงทศวรรษ 1980 ของประเทศเกาหลีใต้ และไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ หนังทั้งสามได้เล่าขานให้ผู้ชมรับรู้ว่า ก่อนได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันผลิบานเช่นในปัจจุบัน ชาวเกาหลีใต้ล้วนต้องดิ้นรนต่อกรกับอำนาจเผด็จการทมิฬ จนถึงขั้นดับดิ้นสิ้นชีวิตกันมาแล้ว

    จุดร่วมอีกประการที่น่าสังเกตคือ ตัวละครเอกของหนังทั้งสามต่างรับบทโดยคนเดียวกัน คือ ซงคังโฮ (송강호) นักแสดงจากจังหวัดคยองซังใต้ ตัวละครจากหนังทั้งสามของเขาถ่ายทอดให้เห็นบรรยากาศทางการเมืองอันเร่าระอุในเกาหลีใต้ช่วงปี 1980 ผ่าน 3 ชีวิต 3 อาชีพ 3 ชนชั้น ของประชาชน ที่อาจนิยามพวกเขาด้วยศัพท์ปัจจุบันได้ว่า ‘อิกนอแรนซ์’ (Ignorance) หรือ “ผู้วางเฉยทางการเมือง”

    ข้อเขียน 3 เรื่องต่อไปนี้จะสำรวจว่า จาก 3 เส้นทางชีวิตตัวละครของซงคังโฮ จะสามารถให้บทเรียนอะไรกับประชาชนผู้อยู่ท่ามกลางบทพิพาทระหว่างอำนาจเผด็จการและประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงในเกาหลีใต้ แต่รวมถึงไทย หรือกระทั่งทุกแห่งหนทั่วโลก

    และหนังลำดับต่อมาได้แก่ The Attorney


    ทนายความ : ผดุงกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์

    จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อนักกฎหมายเป็นอิกนอแรนซ์?

    -- อาจจะไม่มีอะไรมากนัก โลกก็คงยังหมุนไปในทิศทางเดิม อย่างไรก็ตาม The Attorney พยายามตอบคำถามนั้นผ่านเส้นทางชีวิตของตัวละครที่ซงคังโฮแสดง คือ ซงอูซอก  

    ซงอูซอก เป็นทนายความและอดีตผู้พิพากษาซึ่งแอบอิงกฎหมายเพื่อหาช่องทางทำกิน อาชีพ ‘สุจริต’ ทำให้เขามีรายได้เป็นกอบเป็นกำ และใช้เงินกลบฝังตัวตนในอดีตไปสิ้น จากชายยากไร้ขนาดไม่มีเงินจ่ายค่าอาหาร และมีวุฒิเพียงระดับมัธยม เขาไต่เต้าขึ้นเป็นทนายความผู้มั่งคั่ง กว้างขวาง สนใจเพียงแสวงความสุขสมถะโดยมีความรู้กฎหมายเป็นแต้มต่อ 

    เขาไม่จำเป็นต้องอะไรกับใครทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องการเมืองยิ่งแล้วใหญ่

    กระนั้นในที่สุด เมื่อประธานาธิบดี ชอนดูฮวาน เถลิงอำนาจ กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ถูกบังคับใช้ ทำให้ตำรวจสามารถจับกุมคุมขังผู้มีแนวคิดสังคมนิยมได้เป็นเวลาถึง 50 วันโดยไม่ต้องมีหมายจับ นักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงล้วนตกเป็นเหยื่อของกฎหมายดังกล่าว 

    แต่หมอกฎหมายอย่างซงอูซอกก็ไม่เห็นว่ามันผิดปกติอะไร “จับกุมพวกละเมิดกฎหมายมันผิดตรงไหนกัน พ่อแม่ไม่ได้ส่งพวกมันเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อไปประท้วงสักหน่อย” 

    ความเพิกเฉยของทนายทำให้เพื่อนนักข่าวของเขาระเบิดอารมณ์ “จะหาเงินหรืออะไรก็ทำไป แต่ช่วยสนใจโลกด้วยนะโว้ย” 

    หลังจากนั้นการถกเถียงระหว่างข้อเท็จจริงและความวางเฉยก็เข้าปะทะกันจนได้ไปคนละแผลสองแผล และแน่นอน ทนายความไม่เปลี่ยนความคิด

    กฎหมายล่า 'คอมมิวนิสต์'


    จนกระทั่ง จินอู ลูกชายคนเดียวของป้าร้านเนื้อตุ๋นผู้มีบุญคุณต่อเขาถูกจับตัวไป ด้วยข้อหาว่ามี ‘พฤติการณ์นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์’ เพียงเพราะเขาและเพื่อนอ่าน ‘หนังสือประวัติศาสตร์’ ของนักเขียนชาวอังกฤษ 

    ทนายผู้เคยเชื่อในความ ‘เที่ยงตรง’ ของกฎหมาย เริ่มรู้สึกถึงความ ‘เที่ยงธรรม’ ที่หายไป 

    เขาตัดสินใจสืบหาความจริง จนพบว่ากฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเปิดช่องให้ตำรวจคุมขังและซ้อมทรมานนักศึกษาเหล่านั้นอย่างสาหัสรุนแรงจนแทบจะสิ้นความเป็นคน ทนายความผู้ไม่เคยยืนตรงต่อหน้าศาลจึงผลักตัวเองให้ใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีเปิดโปงกระบวนการอันโหดเหี้ยม และคืนอิสรภาพให้เยาวชนเหล่านี้ 

    แต่อนิจจา ห้องพิพากษาเป็นเพียงลิเกโรงใหญ่ไว้ตบตาประชาชน ซงอูซอกคนเดียวไม่อาจต้านทานกระบวนการ(อ)ยุติธรรมจอมปลอมภายใต้อำนาจเผด็จการ แต่อย่างน้อย เมื่อเขาไม่เพิกเฉยต่อความไม่เป็นธรรม เขาจึงเปลี่ยนจากคนรู้กฎหมาย กลายมาเป็น ‘มนุษย์’ เต็มตัว

    ทนายต้องมีหัวใจและกระดูกสันหลัง

    The Attorney ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงเมื่อปี 1981 ซึ่งเรียกกันว่า “คดีบูริม” (Burim Case) ทนายผู้ว่าความให้นักศึกษาที่ถูกกล่าวหา แม้จะพ่ายแพ้ในชั้นศาล ทว่า 7 ปีต่อมา เขากลับกลายเป็นแกนนำการชุมนุมประท้วงเสียเอง และเมื่อเขาถูกจับกุม ทนายความนับ 100 ทั่วประเทศพร้อมใจกันปรากฏตัวต่อหน้าศาลเพื่อร่วมยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ของเขา 

    ทนายผู้นี้ยังคงเดินหน้ารณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง จนได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของเกาหลีใต้ เมื่อปี 2003 ชื่อของเขาคือ โนมูฮยอน 

    และที่น่าสนใจคือ ในคณะทนายที่ช่วยเขาว่าความให้นักศึกษาคราวนั้น มีทนายความนามว่า มุนแจอิน รวมอยู่ด้วย

    อย่างไรก็ตาม 'กระดูกสันหลัง' ของโนมูฮยอนอาจไม่ได้เหยียดตรงจนวาระสุดท้าย แต่ 'หัวใจ' ของเขากล้าแกร่งพอที่จะชดเชยมันด้วยชีวิตของตนเอง 

    เมื่อปี 2009 โนมูฮยอนถูกสอบสวนบนชั้นศาลในกรณีที่สมาชิกครอบครัวของเขารับสินบน หลังพิจารณาคดี เขาระบุไว้บนเว็บไซต์ส่วนตัวว่า "ผมไม่สามารถเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณค่าที่ทุกท่านควรยึดถือได้อีกแล้ว ผมไม่สมควรจะพูดเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย ความก้าวหน้า หรือความยุติธรรมได้อีกแล้ว"

    หลังจากนั้นเพียง 1 เดือน อดีตประธานาธิบดีที่ถูกขนานนามว่า 'มือสะอาด' ก็พาร่างของตัวเองดิ่งลงสู่หุบเหวด้วยความสูงกว่า 30 เมตร พร้อมความอัปยศครั้งสุดท้าย 

    มุนแจอิน ซึ่งขณะนั้นเป็นทนายความส่วนตัว และอดีตเลขาธิการประธานาธิบดี รายงานว่า "อดีตประธานาธิบดีโนออกจากบ้านเมื่อเวลา 5.45 น. ก่อนกระโดดลงจากหน้าผาเมื่อเวลาประมาณ 6.40 น. ขณะกำลังปีนเขาบงฮา" 

    ในช่วงที่ The Attorney ชนโรงพร้อมกระแสวิจารณ์ด้านบวกท่วมท้น บรรดานักศึกษาผู้ถูกกล่าวหาในคดีบูริมก็อยู่ในช่วงวัย 50 - 60 ปีแล้ว พวกเขาเดินทางมาคารวะสุสานอดีตประธานาธิบดีแห่งประเทศเกาหลีใต้ และอดีตทนายความของพวกเขาด้วยน้ำตานองหน้า

    อันตรายของความวางเฉยทางการเมือง จะช่วยเสริมพลังให้ระบบอยุติธรรมซึ่งทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และอาจถึงขั้นคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ได้ 

    ด้วยเหตุนี้ ทนายความ ซึ่งเป็นชนชั้นที่มีอำนาจอย่างน่าเหลือเชื่อในสังคม สมควรมี ‘มนุษยธรรม’ และ 'ความกล้าหาญ' ติดตัวไว้ เพื่อผดุงให้กฎหมายไม่กลายเป็นอาวุธของใคร 

    ดังที่ทนายชาวไทยคนหนึ่งชื่อ อานนท์ นำภา เคยย้ำถึงบทบาทของกระบวนการยุติธรรมไว้ว่า

    “คือตราชูผู้ชี้เสรีสิทธิ   

    คือศาลสถิตยุติธรรมนำสมัย 

    คือหลักประกันประชาธิปไตย   

    มิใช่อภิชนคนชั้นฟ้า”

    .

    อ้างอิง

    Dong-hwan K. (Jan 22, 2014). Victims of 'The Attorney' visit their forlorn hero. The Korea Times

    Jagernauth K. (Feb 5, 2014). Review: Well Meaning ‘The Attorney’ Undone By Its Own Strident Idealism. Indiewire.

    Rahn K, Si-soo P. (May 23, 2009). Former President Roh Jumps to Death. The Korea Times.

    อานนท์ นำภา. (6 พฤศจิกายน 2553). อานนท์ นำภา:บทกวีถึงมหาตุลาการ. ประชาไท.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in