- มนต์รักทรานซิสเตอร์ ออกฉายในไทยเมื่อ 28 ธันวาคม 2001 กำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง
- La La Land ออกฉายในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 9 ธันวาคม 2016 กำกับโดย Damien Chazelle
ทั้ง มนต์รักทรานซิสเตอร์ และ La La Land (นครดารา) แม้จะดูห่างไกลทั้งยุคสมัยและสัญชาติ แต่หนังทั้งสองเรื่องก็ล้วนมีจุดร่วม คือต่างหยิบยืมกลวิธีดำเนินเรื่องของหนังเพลงยุคคลาสสิก เพื่อสร้างความหวนรำลึกถึงอดีต
จุดร่วมอีกประการที่น่าสังเกต ได้แก่การถ่ายทอดเส้นทางชีวิตของตัวละคร ที่ดิ้นรนเพื่อ 'ความรัก' และ 'ความฝัน' เหมือนกัน แต่ด้วยจุดจบที่ต่างกัน เรื่องราวของนักฝันจากสองซีกโลกสะท้อนได้หลายสิ่งอย่างที่ไกลและกว้างกว่าเพียงหน้าจอภาพยนตร์ นี่คือสิ่งที่ข้อเขียนนี้จะกล่าวถึงต่อไป
รักสิ้น-ฝันสลายในเมืองใหญ่
หากมองที่เนื้อหา หนังทั้งสองคงจะจัดหมวดหมู่อยู่ในแนวหนังรัก (Romance) ได้อย่างไม่เก้อเขิน โดยมีจุดร่วมคือต่างก็เป็นหนังรักที่ตัวละครมี “ความฝัน” เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ และในบางแง่ ทั้งสองเรื่องอาจอณุโลมให้ผู้ชมทึกทักเอาได้ว่า กำลังมุ่งฉายให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับบริบทของ “เมือง” ที่แวดล้อม กล่าวคือ ทำให้เห็นว่าเมืองสามารถกลายเป็นบททดสอบของมนุษย์ผู้มีความรัก-ความฝันได้อย่างไร
หนังสือ หลอน รัก สับสน ในหนังไทย ที่ศึกษาภาพยนตร์ไทยในช่วงสามทศวรรษ ตั้งแต่ พ.ศ.2520-2547 ได้กล่าวถึง มนต์รักทรานซิสเตอร์ ว่าไม่ได้เพียงแสดงถึงความรักแบบโรมานซ์เท่านั้น หากยังเผยให้เห็นโลกทัศน์ที่สัมพันธ์กับสังคม คือ “ความเป็นเมือง ชนบท และโลก” โดยหนังสะท้อนว่าเมืองคือ “แหล่ง” หรือพื้นที่สร้างปัญหาแห่งรัก อันจะเห็นได้จากหนังในหลายระดับ
ตั้งแต่ แผน ตัวเอกของเรื่อง เดินทางจากบางน้ำไหล เข้าเผชิญโชคในกรุงเทพฯ เทคนิกการเล่าเรื่องก็เปลี่ยนไป จากสีสันสดใส ใช้เสียงเพลงลูกทุ่งช่วยดำเนินเรื่อง ไปจนถึงการแสดงที่เน้นความตลกโปกฮา ก็กลายสภาพเป็นแสงสีหม่นทึม สุ้มเสียงและท่วงทำนองของหนังเริ่มหนักหน่วงและขรึมเครียดขึ้น
ในทางกลับกัน ชนบทกลับกลายเป็นภาพแทนค่าสิ่งสวยงาม ใสซื่อบริสุทธิ์ ปราศจากความชั่วร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับบริบทสังคมไทยในทศวรรษที่ 2540 ชนบทได้กลายเป็นพื้นที่พักฟื้นใจกายของชาวไทยชนชั้นกลางหลังช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ดขั้นรุนแรง ดังเช่นฉากจบของ มนต์รักทรานซิสเตอร์ พยายามถ่ายทอดความผาสุกแบบสมถะของคู่รัก หลังประสบเคราะห์กรรมลำบากมาจากเมืองหลวง
ผู้ชมชนชั้นกลางอาจอมยิ้มเอ็นดูให้กับฉากที่ สะเดา นางเอกของเรื่อง ตัดสินใจเข้าเมืองเพื่อตามหา แผน ชายคนรัก จากนั้นจึงกรอกน้ำฝนใส่ขวดพลาสติกใหญ่ เธอเปรยกับพ่อ “เอาน้ำฝนไปฝากมันดีไหมพ่อ น้ำฝนเมืองกรุงมันคงไม่ค่อยอร่อยนะ” ชายชรากระแทกเสียง “เมืองน่ะสกปรกจะตายห่าไป มันจะอร่อยได้ยังไง”
แต่ในที่สุดน้ำฝนนั้นก็ส่งไปไม่ถึงมือชายคนรัก ซ้ำร้ายยังหล่นร่วงลงพื้น ถูกรถยนต์แล่นทับจนขวดแตกยับเยิน สะท้อน “ความเจริญ” แห่งเมืองกรุงที่บดขยี้น้ำใสใจจริงของ “คนบ้านนอก” ไม่ต่างจากความฝันจะเป็นดาวเด่นของแผนที่ถูกบดขยี้เช่นกัน และปฏิเสธไม่ได้ว่าคือสังคมเมืองเหลื่อมล้ำและไม่ปรานีคนจนนั่นแหละ ที่กระทืบความฝันของแผนเสียจนแหลกราญ
ในหนังสือ หลอน รัก สับสน ในหนังไทย ยังเสนอโลกทัศน์หรือการประกอบสร้างความหมายของรักในภาพยนตร์ด้วย ความรักใน La La Land น่าจะเข้าเกณฑ์ของ “อุดมการณ์โรมานซ์แบบตะวันตก” อันพัฒนามาจากปัจเจกชนนิยม หรือคนสองคนที่เป็นผู้กำหนดและขีดเส้นความรักให้กับตัวเอง อุดมการณ์ดังกล่าวมองว่าความรักนั้นเหนือกว่าอุปสรรคใดๆ แต่บางครั้งความรักก็อาจเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล่ำต่อเงื่อนไขข้อจำกัด เช่น ครอบครัว วัย ภพ ชาติ ชนชั้น เพศสภาวะ
และในบริบทของ La La Land ความรักของ Sebastain และ Mia ก็แพ้พ่ายต่อ “ความฝัน” ของทั้งคู่นั่นเอง กระนั้นก็ตาม สารัตถะของหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้บูชาความรักดุจพระเจ้า ตรงกันข้ามกลับเชิดชูความใฝ่ฝันของตัวละครว่ามีคุณค่ายิ่งกว่า ดังเพลงเอกที่ Mia ขับร้องในช่วงสำคัญของเรื่อง “And here's to the fools who dream, Crazy as they may seem...”
หนังหมายจะถ่ายทอดว่า 'ความรักมักจะต้องสูญไป และความเจ็บปวดจะหวนคืนมา เมื่อเราบูชาความฝันเป็นสรณะแห่งชีวิต' ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ชาวไทยให้ทรรศนะไว้ว่า
“ไม่น้อยกว่าครึ่งเรื่องแรกของ La La Land หรือในช่วงเวลาโรแมนซ์ระหว่างพระเอกนางเอกก่อตัวและยังคงหวานชื่น บรรยากาศก็ช่างเพลิดเพลิน บางเบา ...และนับเป็นห้วงเวลาที่ให้ความรู้สึกเจิดจรัสและอิ่มเอม จากนั้นหนังก็พาผู้ชมไปสู่น่านน้ำที่เชี่ยวกรากและเต็มไปด้วยแรงกระเพื่อม อันได้แก่ การดิ้นรนกระเสือกกระสนของตัวละครแต่ละคนในการถักทอความฝันให้กลายเป็นจริง”
หนังเรื่องนี้จึงไม่ได้ต้องการมอมเมาให้ผู้ชมหลงเพลินไปกับภาพลวงตา ทว่าสะท้อนโลกแห่งความจริงและสิ่งที่ต้องสูญเสียไป
และแน่นอน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หนังมี Los Angeles หรือ L.A. เป็นฉากหลัง เอาเข้าจริงแล้ว นครแห่งรัฐ California นี้อาจจะเป็นอีกตัวละครหลักของหนังเลยก็ว่าได้ ดังที่ผู้กำกับ Chazelle เล่าว่า
“เมืองนี้มีความงดงามเหมือนบทกวี เพราะมันคือเมืองที่สร้างขึ้นโดยผู้คนที่มีฝันอันเกินเอื้อม และล้วนทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อฝันนั้น ...สำหรับผมแล้ว ต่อให้ฝันจะไม่กลายเป็นจริง แต่นั่นคือความสวยงามของ Los Angeles เมืองนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่เข้ามาล่าฝัน หลายคนถูกมองว่าสติแตก หรือใช้ชีวิตอยู่ใน la la land ผมอยากสร้างหนังเพื่อเป็นการคารวะเล็กๆ น้อยๆ แด่พวกเขาเหล่านั้น”
และแน่นอน เขาตั้งใจมอบความหวัง พร้อมกับปลอบประโลมใจบรรดานักฝันไปด้วย
จากกรุงเทพฯ สู่ Los Angeles ฝันเราไม่เท่ากัน
จุดจบที่สวนทางกันของ มนต์รักทรานซิสเตอร์ และ La La Land สะท้อนให้เห็นโลกทัศน์อันแตกต่าง ซึ่งต้องยอมรับว่าบริบททางสังคมวัฒนธรรมมีส่วนสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่าท้ายที่สุด ฝันก็เป็นจริงได้ใน Los Angeles แม้ว่าตัวละครเอกทั้งสองจะสูญเสียความสัมพันธ์ แต่นครแห่งดารานี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้เสียสละได้ติดปีกโบยบิน Sebastian ได้เปิดร้านสมใจฝัน และ Mia ได้เป็นดาวจรัสฟ้าสมดังใจ ก่อนจะมาแลกสายตากันอย่างขมขื่นในตอนจบ แต่ในขมนั้นยังปนหวานเมื่อต่างได้ลิ้มรสฝันที่เป็นจริงแล้ว
ต่างจากกรุงเทพฯ ที่แม้ว่าแผนจะใจรักเพียงไหน อุตส่าห์เสี่ยงหนีทหารมาประกวดร้องเพลงวงดนตรี แต่ถ้าไม่มี “ตูด” หรือ “นม” ยังไงก็ขายไม่ออก ได้แต่จับเจ่าเป็นจับกังอยู่ชั่วชีวิต หรือต่อให้ดวงดีจับพลัดจับผลูได้แจ้งเกิด ก็ยังจะเสี่ยงโดนผู้อยู่เหนือกว่าล่วงละเมิด เหยียบย่ำศักดิ์ศรีอยู่ร่ำไป สภาพเหมือน ‘นกปีกหัก’ ของแผนที่ร่อแร่มาตายรังเหมือนจะตอกย้ำความจริงบางอย่างของสังคมไทย
แผนคือคนชนชั้นล่างที่ไม่เหมาะกับสังคมเมืองอย่างสิ้นเชิง แม้จะพยายามไต่เต้าก็ยังตกต่ำอยู่นั่นแล้ว เนื่องด้วยความเหลื่อมล้ำของสังคมเมืองนั้นสูงไกลเกินบันไดจะป่ายปีน พื้นที่ของความสำเร็จมีอยู่จำกัด และสงวนไว้สำหรับผู้มีต้นทุนหนุนนำเท่านั้น
คงไม่เกินไปหากจะสรุปว่า มนต์รักทรานซิสเตอร์ คือหนังเกี่ยวกับชนชั้นล่าง สร้างโดยชนชั้นกลาง เพื่อเป็นคำเตือนให้ชนชั้นล่างรู้สำนึกถึงที่ทางของตนเอง อย่าเผยอตัวเข้ามาไขว่คว้าลาภเคราะห์ในเมือง เดี๋ยวจะชอกช้ำเหมือนไอ้แผน
ตัวละครของทั้งสองเรื่องเจ็บปวดและสูญเสียก็จริง แต่ La La Land ยังมอบชีวิตใหม่ให้ตัวละครได้ขยับขยายและเติบโต ขณะที่ มนต์รักทรานซิสเตอร์ ไสส่งให้ตัวละครหอบเอาบทเรียนกลับบ้านและรู้จักพอใจกับสถานะเดิมของตน
ยิ่งตอกย้ำว่าระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ กับ Los Angeles ช่างห่างไกลกันเหลือเกิน
.
อ้างอิง
กำจร หลุยยะพงศ์ และ สมสุข หินวิมาน. หลอน รัก สับสน ในหนังไทย : ภาพยนตร์ไทยในรอบสามทศวรรษ (พ.ศ. 2520-2547) กรณีศึกษาตระกูลหนังผี หนังรักและหนังยุคหลังสมัยใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ศยาม, 2552
ประวิทย์ แต่งอักษร. (5 มกราคม 2560). วิจารณ์หนัง LA LA LAND โดยอ.ประวิทย์ แต่งอักษร. Hamburger Magazine.
Smith N. M. (Sep 8, 2016). Damien Chazelle on La La Land: 'Los Angeles is full of people chasing dreams'. The Guardian.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in