불우한 삶 (Bad Life) - 백나라
“My Villain, My Monster, My Lover”
불우한 삶 ชีวิตแย่ๆ ของเรย์มอนด์เริ่มจากตอนที่ฮีหลังจากที่พ่อเสียแล้วแม่ที่เป็นดาราดังรับมาเลี้ยง แต่ไม่ยอมบอกใครว่าเรย์มอนด์เป็นลูก นอกจากนั้นยังขังเรย์มอนด์ไว้ในบ้านอีก 5 ปี จนกระทั่งโดนส่งเข้าไปโรงเรียนประจำในหลืบป่า เรย์มอนด์ได้อยู่ห้องเดียวกับเด็กผู้ชายอีกสามคนบนห้องชั้นบนสุดที่มีแค่สองห้อง เพื่อนร่วมห้องของเรย์มอนด์มีสามคนคือ ชีโมน (Simon) ฮิวจ์ (Hugh) และจอร์จ (George) (แต่ตอนอ่านติดเรียกชีโมนว่าไซม่อน เลยขอเรียกมันชื่อนั้นแทนแล้วกัน) โดยในห้องจะแบ่งเป็นสองห้องนอนแยกลงไป และเพื่อนร่วมห้องของเรย์มอนด์คือไซม่อน ซึ่งเป็นเพื่อนคนแรกที่เรย์มอนด์ไว้ใจที่สุดด้วย
นอกจากรูมเมทสามคนแล้ว อีกห้องหนึ่งของชั้นบนสุดเป็นของ เจโรม ที่จะออกไปขี่ม้าทุกวัน และอยู่ดีๆ วันหนึ่งก็มาหาเรื่องเรย์มอนด์แบบไม่มีสาเหตุ เจโรมถือเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของเรย์มอนด์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลายคนอาจเคยเห็น fan art ของเรื่องนี้หรือเว็บตูนที่เพิ่งออกตอนนี้กำลังดำเนินอยู่ในช่วงที่ตัวละครใส่ชุดนักเรียนอยู่ในโรงเรียน แต่จริงๆ เรื่องนี้แบ่งออกเป็นหลายองก์ลากยาวจากช่วงอายุ 20 ไปจนเกือบถึง 40
ตัวเองเรย์มอนด์เป็นตัวละครที่จดจ่อ ชีวิตต้องมีอะไรให้ obsessed over ตอนแรกเป็นแม่ที่เค้าไม่ชอบสุดๆ เพราะทิ้งพ่อกับตัวเองไปและไม่เคยคิดว่าเป็นลูก จนมาเจอพวกเด็กชั้นบนที่ทุบเรย์มอนด์คนเก่า สร้างคนใหม่ที่ใช้ชีวิตเพื่อรอวันแก้แค้นคนที่ทำให้ชีวิตเค้าเจอแต่เรื่องเฮงซวยไม่จบไม่สิ้น การอยากแก้แค้นของเรย์มอนด์นำไปสู่การรื้ออดีตรูมเมตทั้งสี่คน ไปจนถึงการสาวไปถึงเหยื่อคนก่อนหน้าเรย์มอนด์ และการแก้แค้นของ ‘เหยื่อ’ คนอื่นๆ ด้วย
—
ตอนที่อ่านเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่าต้องออกจาก Echo Chamber แล้วเช็คความเห็นจากหลาย ๆ ด้าน เนื้อหามีความรุนแรงมาก ทั้งการใช้กำลัง การขืนใจ การแบล็คเมล์ และสิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างคือ การเพิกเฉยและส่งเสริมความรุนแรง เมสเสจนี้ถูกเขียนจากปากตัวละครในเรื่องด้วยซ้ำว่า การเพิกเฉยก็คือความรุนแรงอย่างหนึ่ง และสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากในองก์แรกถึงต้นองก์สองคือการที่ตัวละครเรย์มอนด์โดนขืนใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันรุนแรงจนเราหดหู่ ในฐานะทีไ่ด้เรียนด้านวรรณกรรมมาบ้างตอนมหา’ลัย เลยเลือกที่จะปรึกษาเพื่อนรอบตัวว่า ฉากแบบนี้จำเป็นต้องมีในชิ้นงานจริงๆ ไหม และมันถือเป็นการ romanticize หรือส่งเสริมหรือไม่ จากคำตอบของเพื่อน เราอ่านต่อเพราะอยากพิสูจน์ว่าท้ายที่สุดแล้ว การใส่ฉากนี้ลงมามันสมเหตุสมผลพอหรือไม่ และจุดประสงค์ของนักเขียนที่จริงแล้วคืออะไร
แต่อย่างแรกที่รู้ตัวคือ นิยายเรื่องนี้เตือนให้เรารู้สึกว่า นี่เราเป็นอีกคนที่กำลังเพิกเฉยต่อความรุนแรงหรือเปล่า
พออ่านจนจบและย้อนกลับมาดูคำถามนี้ คำตอบส่วนตัวของเราคือ ทุกอย่างที่เรย์มอนด์เจอมาทุบทำลายเรย์มอนด์และส้รางเรย์มอนด์ขึ้นมาใหม่ เป็นเรย์มอนด์ที่ขับเคลื่อนด้วยความจดจ่อและการรอจะแก้แค้น การขืนใจที่ผู้กระทำมองว่าเป็นการหยามศักดิ์ศรีของเรย์มอนด์ พอถึงจุดนึงมันก็ทำลายเรย์มอนด์ไม่ได้อีกต่อไป หากผู้กดขี่มองว่าการบังคับร่วมเพศคือการกดอีกคนให้รู้สึกด้อยกว่า เรย์มอนด์ปฏิเสธที่จะรับค่านิยมนี้และด้อยค่าตัวเองตามไป สำหรับเรย์มอนด์มันเป็นแค่การทำร้ายร่างกาย และบางทีก็เป็นไม้เกาหลังแก้คันก็เท่านั้น มันไม่สามารถทำร้ายเรย์มอนด์ได้อีกต่อไปเพราะเค้าเลือกจะไม่ยอมให้มันบ่อนทำลายและมองว่าตัวเองคือเหยื่อที่อ่อนแอ เค้ามองว่าตัวเองได้รับการกระทำที่ไม่เป็นธรรม และสิ่งที่จะทำคือการแก้แค้น ‘เหยื่อ’ ไม่ใช่คนที่ต้องรับความแปดเปื้อนหรือเจ็บปวดที่โดนยัดเยียด แต่สามารถปฏิเสธการเจ็บปวดอยู่ฝ่ายเดียวและโต้กลับผู้กดขี่ได้เช่นกันว่า สิ่งที่ผู้กระทำทำกับเหยื่อนั้นสร้างความเจ็บปวด เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ และควรต้องได้รับผลของการกระทำของตนเช่นกัน
ตรงส่วนนี้นี่คือความเห็นส่วนตัวและเป็นการตีความของตัวเราเอง วิธีการหรือสิ่งที่นักเขียนเลือกหยิบมาใช้เป็นองค์ประกอบหรือเครื่องมือเล่าเรื่องก็เป็นอย่างหนึ่งที่ผู้อ่านสามารถตัดสินเองได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่กับการใช้ เรามองว่ามันใช้ได้และการเขียนถึงไม่ได้แปลว่าส่งเสริมเสมอไป อย่างในกรณีนี้เองเราก็ตั้งคำถามถึงความจำเป็นของมัน ถึงท้ายที่สุดแล้วเราจะมองว่ามันถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างตัวละครและปมของเรื่อง แน่นอนว่ามีวิธีอื่นอีกมากแต่การจับให้ตัวละครต่อต้านการโดนกดขี่ แทงสวนและไม่ยอมแพ้ ก็ถือว่าองค์ประกอบนี้ถูกเอามาใช้แบบมีจุดประสงค์ ไม่ใช่เพื่อแค่ความสะใจ หรือส่งเสริม อย่างไรก็ตามจุดนี้เป็นแค่ความเห็นส่วนตัว และหลายคนก็อาจจะมีความเห็นที่แตกต่างออกไปได้แน่นอน เราไม่มีเจตนา justify หรือพูดแทนนักเขียนใดๆ เป็นเพียงจะแชร์การตีความของตัวเองเท่านั้น
—
หลายคนที่อ่านไปอาจจะรู้สึกว่า มันเป็นนิยาย BL จริงเหรอ มันจะรักกันได้จริงเหรอ บอกเลยว่า เราเองตอนอ่านก็คิดเหมือนกัน ทำซะขนาดนี้ จะไปรักลงได้ยังไง แต่กลับไปที่จั่วหัวว่า สิ่งที่ผูกตัวละครไว้ด้วยกันคือความแค้น แต่ถ้าอ่านก็จะรู้สึกได้เหมือนกันว่า มันคือความหมกมุ่น (obsessed) และความถูกใจที่ถ้ามันจะเกิดมันก็ห้ามไม่ได้ มีความรักสามเศร้า(ที่ไม่คอ่ยจะรักสามเศร้าเพราะเรย์มอนด์มันโคตรจะลำเอียง)
พระเอกของเรา เจโรม ค่อยๆ เปลี่ยนจาก ตัวร้าย เป็นปิศาจ และคนรักของเรย์มอนด์เมื่อเวลาผ่านไป เบื้องลึกเบื้องหลังของเจโรม การเติบโตและประสบการณ์ที่ต้องเผชิญด้วยกัน ทำให้เรย์มอนด์ได้รู้จักเจโรมที่ลือกันว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์ เจ้าของตาสีเขียวที่เรย์มอนด์มองว่าเหมือนตาของอสรพิษ แต่ในขณะเดียวกันเรย์มอนด์ก็ปล่อยมือจากไซม่อนไม่ได้เพราะความผูกพันธ์ เหมือนเป็น safe space ประหลาดๆ ไซม่อนก็ไม่ได้มั่นคง แต่ก็ดีกว่าเจโรมหน่อย (ถถถถ)
เนื้อเรื่องเล่าผ่านมุมมองของเรย์มอนด์ทั้งหมด (จนถึงภาคพิเศษ) เลยเป็นมุมมองที่ลิมิต รู้เท่าที่ตัวละครเรย์มอนด์รู้ และแน่นอนว่ามีอะไรที่เรย์มอนด์ไม่รู้อีกมาก
เนื้อเรื่องมีหลายส่วนที่ทำให้ตกใจ แต่ถามว่า plot twist แบบตกใจเปิดเปิงเลยไหม ก็ไม่ถึงขนาดนั้น กำลังสนุกและทำให้อยากอ่านต่อเรื่อยๆ เนื้อเรื่องย่อยแบ่งเป็นหลายภาค เหมือนซีรีส์หนังแบบ James Bond แต่พล็อตใหญ่ที่ครอบคือเรย์มอนด์กับการไล่ตามคนที่ไม่ยอมออกไปจากหัวเค้านั่นแหล่ะ เรย์มอนด์อยากฆ่าเจโรมให้ตายด้วยมือตัวเอง และเจโรมก็สัญญาว่าจะตายด้วยมือเรย์มอนด์เท่านั้น
เซ็ทติ้งเป็นโลกตะวันตก ความคิดของตัวละครก็ค่อนข้างมีค่านิยมตะวันตก ช่วง romance ก็จะไม่เจอปมแบบค่านิยมตะวันออก ตัวละครค่อนข้างตรงไปตรงมา มู้ดแบบตะวันตกมาก นักเขียนปล่อยของทั้งการวางเซ็ทติ้งใหญ่ การผูกเรื่องและการเล่นกับความรู้สึกของตัวละคร พอถึงตอน romance ก็เอาอะไรเล็กๆ น้อยๆ มาแสดงถึงความรู้สึกกภาพรวมใหญ่ๆ ได้ดี การเล่าเรื่องของเรื่องนี้จะเหมือนภาพที่มีหมอกคลุมตลอดเวลา ไม่มีการบอกตรงตัว เป็นภาพลางๆ แต่จะมีความรู้สึกที่บอกว่า อันนี้ล่ะ มันคือความรู้สึกนี้ๆ แต่ความรู้สึกที่ชัดที่สุดตอนอ่านคือความเจ็บปวดกับหดหู่ เหมือนคนอ่านติดอยู่ในตัวของเรย์มอนด์ไปด้วย
—
สิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับนิยายเรื่องนี้มากๆ คือลีลาการเขียนและการผูกเรื่อง การสร้างคาแร็คเตอร์ตัวละครและการวางปม การดึงอารมณ์คนอ่านที่ดึงไปจนสุด ขึ้นสุด ลงสุด และการตามตัวละครเผชิญหน้ากับเรื่องต่างๆ เหมือนทำภารกิจ เอาใจช่วยให้เรย์มอนด์สมหวังและเอาชีวิตรอด ใจจะขาดไปกับการพยายามคว้าสิ่งที่ตัวเองเกลียดมากและรักมากที่สุด ถึงตัวละครจะเจออะไรร้ายมากๆ มา แต่รู้สึกว่าคนเขียนเอาตัวเองไปอยู่ในที่ของตัวละครนั้นๆ แล้วเล่าออกมาเก่งมาก อาจจะเป็น irony ที่บทที่แสดงถึงการมี empathy ก็เขียนถึงมาก แต่ก็อาจเพราะเหตุผลนี้ที่ทำให้ตอนเขียนที่ทำให้รู้สึกสงสารตัวเอกถึงทำได้ ‘ถึง’ คือเข้าอกเข้าใจคนอื่นได้ดี นึกถึงใจคนอื่นได้ดีมาก
จากชีวิตที่แย่ และทุกคนตกอยู่ในชีวิตที่เฮงซวย กลายเป็นการเจอคนที่ทำให้รู้สึกว่าอะไรเล็กๆ ในชีวิตแย่ๆ ก็ทำให้มันมีความหมาย และสิ่งเล็กๆ พวกนี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้มีชีวิตมีค่าพอที่จะอยู่ต่อ สิ่งเล็กๆ ในชีวิตประจำวันที่มีความหมายขึ้นมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยกันกับคนสร้างความหมายที่รู้กันแค่สองคน ไม่จำเป็นต้องมีค่าหรือมีอะไรพิเศษ ในท้ายที่สุดเรย์มอนด์ก็ได้เจอที่ขนาดเท่าถ้วยชาในชีวิตแย่ๆ ที่ทำให้เค้าใช้ชีวิตอยู่ต่อได้
ภาพรวมสำหรับคนที่ถามว่า ควรอ่านดีไหม เรื่องนี้จะเหมาะกับเราหรือเปล่า
สิ่งที่อยากบอกคือ
มีนิยายอีกหลายเรื่องที่สามารถดึงอารมณ์ผู้อ่านให้ดิ่งได้โดยไม่ใช่องค์ประกอบแบบที่เรื่องนี้ใช้ ถ้าใครชอบแนว dystopia ตะวันตก ไล่ล่า มีบู๊ๆ ทำภารกิจด้วย รู้สึกว่าลองชิมแล้วชอบก็แนะนำมากๆ เพราะคนเขียนเขียนได้สนุก เป็นจักรวาลใหญ่ที่ลุ้นแล้วลุ้นอีก ตัวละครมีเสน่ห์มาก แต่สำหรับคนที่รู้สึกว่ามันหนักกับใจเกินไป ถ้าข้ามเรื่องนี้ไปก็ไม่ได้พลาดอะไรค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in