เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
The Friendly WindMister Tok
#รีวิว 10 อัลบั้มร็อกไทยวัยเก๋าน่าฟัง...ที่ซ่อนไว้ในกองหินดินกรวด



  • “มือของผมไถลนิ้วไปหาแอปสตรีมมิ่งไม่เขียวก็แดง น้ำเก๊กฮวยซ่า ๆ ที่ดื่มตะกี๊นี้ก็ค่อย ๆ แผลงฤทธิ์ไปกับบทเพลงร็อก ทันใดนั้นเอง จิตใจของผมก็เหมือนฟ้าหลังฝนที่ห่าฝนนี้หนักแน่น นุ่มนวล ดุดัน สะใจ จนผมลืมความทุกข์ไปเลยแหละ”


    “พูดถึงเพลงร็อก แน่นอน ไม่มีวันตายอยู่แล้ว”


    จริง ๆ จะปิดบทความนี้ก็ได้นะ แต่…


    ไอ้เราก็เป็นวัยรุ่นตอนปลายอายุ 26 ที่โตมากับเพลงกามิและพี่ตูน แต่ก็กระสันฟังเพลงร็อกเก่า ๆ ตามหนังสือเพลงและยูทูบประสาวัยเบียว “ซึ่งสุดท้ายก็ไม่พ้นกระแสเพลงตลาดข้างต้นจนได้ ใช่ครับ โตมาด้วยกัน”


    ถ้าหากแนะนำศิลปินร็อกไทยแบบจัดเต็มในยุคเพลงรอสายและยังมีคนฟังจนถึงทุกวันนี้ แค่ bodyslam กะลา Clash Retrospect AB Normal Big Ass Potato เท่านี้ก็เต็มอิ่มวัยอินเทรนด์แล้ว


    หรือถ้าจะให้สนุกต้องยุค 90s ยุคที่วงการเพลงไทยมีสีสันมากขึ้น แถมเปลี่ยนผ่านจากสตริงสำอางมาสู่ป๊อปร็อกเข้ม ๆ ผมยาว และ Bubblegum Pop ที่แข่งขันดุเดือดทั้งกู๋และเฮียแบบว่าสนุกสนาน (จนฝั่งสยามสแควร์ต้องมาเล่นด้วยกับ Dojo City วงเกาะอกสะท้านทุ่งสนั่นกรุงในตำนาน) แน่นอน ร็อกไทยตัวเอ้ยุคผมยาวเสื้อหนัง แค่ไมโคร ไฮร็อก หรั่ง ร็อกเคสตร้า เสือ ธนพล พิสุทธิ์ Y Not 7 The Olarn Project หิน เหล็ก ไฟ ไฮดรา คาไลโดสโคป บิลลี่ พงษ์พัฒน์ อัสนี-วสันต์ อิทธิ พลางกูร เท่านี้ก็เกินคุ้มแล้ว


    จนกระทั่งวงการร็อกมาหักเหชนิดโดดจนเข่าเสื่อมกับ “อินดี้/อัลเทอร์เนทีฟ” แค่โมเดิร์นด็อก Crub (วงเก่าพี่อู Day Tripper และพี่รุ่ง Smallroom) พราว ซีเปีย (ตัวแสบประจำยุคเพลงเราโดดกับเพลงสองพยางค์ในตำนาน) เฮฟวี่มด Dezember ดอนผีบิน Growing Pain Wizard มาโนช พุฒตาล และพระเอกจากค่ายใหญ่อย่างโลโซและพี่ป้างยิ่งแล้วใหญ่ (พี่ไท ธนาวุฒิ ก็เช่นกัน เพลงสองพยางค์ในตำนานเช่นเคย)


    ในเวลาเดียวกัน ช่วงยุคเวลาก่อนเข้าปี 2000 จะมีอัลบั้มเพลงร็อกไทยบางบั้มที่งานดี แต่คนพูดถึงน้อยอยู่จำนวนนึง เลยอยากให้ฟังกันสำหรับชาวร็อกที่อยากลองเปิดใจฟังดู เหมือนกับคำว่า Hidden Gem เพชรในตม…ที่คนรุ่นราวคราวเดียวกันอาจจะหลงลืมไปแล้ว หวังว่าบทความนี้คง Remind เพลงดีที่หายไปได้ไม่มากก็น้อยเชียว


    ขออนุญาตตั้ง Disclaimer ไว้นิดนึง

    - เป็นการรีวิวอัลบั้มเพลงที่มีความเห็นส่วนบุคคล  ผิดถูกแย้งกันได้ไม่เป็นไร นานาจิตตัง

    - เกร็ดข้อมูลต่าง ๆ จะอิงตามเครดิตอัลบั้ม และจากสื่อต่าง ๆ ที่เป็นฐานข้อมูลส่วนตัวของผม โดยเฉพาะข้อมูลที่เจ้าตัวบอกเองและมีแหล่งน่าเชื่อถือ “ที่สำคัญ ปราศจากข้อมูลปากต่อปากแน่นอน”

    - จากข้อที่แล้ว “ขออภัยว่าบทความนี้ไม่ใช่บทความวิชาการแต่อย่างใด”


    Let’s Rock!


    -


    1. มิติ - เก่า เก่า (2529)



    นิยามของอัลบั้มนี้คือ “เพื่อชีวิตกลิ่นนิวเวฟ” เป็นอัลบั้มชุดแรกชุดเดียวของวงแต่เพลงน่าฟังทั้งชุด เพลงชุดนี้ถือว่าครบเครื่องตั้งแต่เรื่องสังคมยันความรักประสายุคลูกกวาด 80s กับสมาชิกวงที่ระดับเอ้ ๆ ทั้งนั้นอย่างน้าเอกมันต์ (มือกลอง) อ.วีระ โชติวิเชียร (มือกีตาร์) เปิ๊ด-เถลิงพงษ์ มีมุฑา (มือเบส) อู๊ด-พรชัย วงศ์ชีพ (คีย์บอร์ด / ต่อมาเป็น PD ให้ อลิศ คริสตัน ศิลปิน LGBTQ+ ช่วงยุคปลาย 80s) รัน-สุริยันต์ ชื่อสัตย์ (ต่อมาเล่นให้วงซูซู) และนักร้องนำของวงผู้ล่วงลับ จี๊ด-จรัส บุญกลิ่น


    วงมิติเริ่มต้นจากการเป็นวงดนตรีที่เล่นหนุนหลังแสดงสดให้คุณนุภาพ สวันตรัจฉ์ ชุดแป๊ะแจี๊ยะ ในนามของวง White Support จนได้มีโอกาสทำ Demo ที่ Bedroom Studio ของคุณนุภาพ (ห้องเดียวกันที่อัดเสียงอัลบั้มชุด “ศรัทธา” ของชัคกี้ ธัญญรัตน์) เพื่อเสนอที่แกรมมี่ “แต่ด้วยส่วนแบ่งต่อม้วนที่ไม่ลงตัว เลยไปเสนอค่ายนิธิทัศน์ที่ให้ค่าส่วนแบ่งมากกว่าแทน” จนเป็นงานมาสเตอร์ที่เราได้ฟังกันผ่านมนต์เสียงของห้องอัดศรีสยามในตำนาน (ใช่ครับ นี่ห้องอัดที่เป็นหลักกิโลของเพลงไทยสากลยุค 80s - 90s ที่กางปกเทปแล้วทุกคนต้องเคยผ่านตาแน่นอน)


    เปิดมาก็เล่าถึงชีวิตกับความรักแบบ “เก่า เก่า” ในสังคมที่อัตคัต สวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของชาวนาใน “เหลือกินกันตาย” ปรัชญาชีวิตเจ็บบ้างก็ดีใน “ไม่มีไม่เป็นไร” ปัญหาทุพภิกขภัยทั้งไทยและเทศใน “ทั้งเขาทั้งเรา” โปรเกรสชีฟอ่อน ๆ ใน “ไกล” จนไปถึงความรักเซ่อ ๆ กวน ๆ และท่อนฮุคที่จี้ใจใน “โง่อวดฉลาด” และเพราะรักจึงยอมปล่อยมือใน “ตัดใจ”


    เป็นอัลบั้มร็อก-สตริง-เพื่อชีวิตสไตล์ฝรั่ง (ที่เขาเรียกกันว่า Heartland Rock แบบ The Boss ซึ่งในเมกาก็มีอยู่คนเดียวแหละครับ) ที่เก๋าเสมอ เหมือนกับของใช้แล้วที่เอามาบูรณะและยังใช้ได้ใช้ดีเสมอมา



    2. มายา - เราด้วยกัน (2530)




    อาร์เอสช่วง 6 ปีแรก (คือ 2524-2531 นับตั้งแต่วงอินทนิลจนถึงการมาของน้าอิทธิ พลางกูร ชุดให้มันแล้วไป) เป็นค่ายเพลงที่มีวงสตริงมาร่วมแชร์ส่วนแบ่งการตลาดเพลงรักออดอ้อนจากหลายค่ายร่วมกัน งานที่เป็นตำนานก็เยอะ งานที่ถูกลืมก็มี… “เราด้วยกัน” ของวงร็อกหญิงล้วนชื่อ “มายา” คือหนึ่งในนั้น


    วงนี้เป็นวงรุ่นราวคราวเดียวกับวงผู้หญิง (ตำนานน้ำผึ้งหรือยาพิษ) และได้ออกอัลบั้มกับทางอาร์เอสเพียงชุดเดียว เปิดหัวอัลบั้มด้วยเพลงไวป์ Feminist อย่าง “วีรสตรี” ที่เล่าถึงท้าวสุรนารีได้อย่างสะใจ และเพลงนี้ถ้าได้ยินเมโลดี้นี่คนแต่งจะไม่ใช่ใครที่ไหน ถ้าไม่ใช่เสี่ยวอีสานผู้ยิ่งใหญ่ น้าสีเผือก คนด่านเกวียนนั่นเอง (เครดิตปกเทปเขียนว่า “อนันตทัศน์)” จากเสียงร้องของคุณชมภูนุช ปฐมพร (น้องสาวพี่พรายผู้ชายคาดหน้า) เขียนมาแบบนี้ “ดอกไม้ข้างทาง” ก็เช่นกัน


    เพลงหวาน ๆ เข้ม ๆ สไตล์สตริงก็มีอย่าง “ไม่สำคัญ” เสียงร้องโดยมือกีตาร์วงอย่าง อ้อย-อรสา สีบุญเรือง (ต่อมาได้ร่วมงานกับพี่พรายจนกระทั่งเธอออกเดินทางไกลเมื่อปี 2542)  เพลงนี้ฟังแล้วเหมือนอมลูกอมมินต์ไส้ซ็อกโกแลตเลย (Choco Mint ที่ไม่ใช่ยาสีฟัน แต่เป็นที่สอดไส้ช็อกโกแลตเต็ม ๆ) หรือไม่ก็กินช็อกโกแลตแท่งสอดไส้บิสกิตเจ้านึง (สมมุติว่าเป็นแอลฟี่หรือไม่ก็ทูโทน สมัยขายเป็นกล่องละสามสี่บาท ณ ตอนนั้น)


    โดยสองเพลงหลังเป็นงานปลายปากกาของโปรดิวเซอร์ประจำอัลบั้ม “อ.ปราจีน ทรงเผ่า” (ซึ่งท่านร่วมเรียบเรียงดนตรีคู่กันกับ อ.วิรัช อยู่ถาวร ศิลปินแห่งชาติ) เพลงที่น่าสนใจอีกเพลงก็ “วัยลุ้น” ปลายปากกากวีเพื่อชีวิต วิสา คัญทัพ  และเพื่อชีวิตกลาย ๆ อย่าง “กลับบ้าน”


    แม้ชุดนี้จะไม่ดัง แต่ฟังดี ใครที่มีเทปและแผ่นเสียงวงนี้ เก็บไว้ดี ๆ นะครับ เพราะตามตลาดหายากจริงไม่ติงนัง (พอ ๆ กับวงรุ่นเดียวกันอย่าง “ไมตี้ควีน” ที่บัตเตอร์ฟลายหนุนหลัง) และปกอัลบั้มชุดนี้ออกแบบสวยน่ารักเอกลักษณ์ชัดเจน (มีใครคิดเหมือนผมไหม ว่าอัลบั้มของอาร์เอสยุคปี 2530-2532 ออกแบบสวยมาก) โดยเลย์เอาท์เนื้อเพลงข้างหลังคงได้รับอิทธิพลจากทีม Omnivisions แน่ ๆ เห็นฟอนต์เพทายกับทอมไลท์เอียงขนาดนี้ ชัดเลย (ของพี่ออมนิเขาใช้ตัวเนื้อความเป็นยูเนสโกจ้า บางทีก็ชวนพิมพ์ ซึ่งฟอนต์ที่ว่าสามารถโหลดไปใช้ย้อนความหลังกับฟอนต์ตระกูล JS ตามสบาย)




    -


    3. โดม มาร์ติน - หนุ่มไฟแรง (2536)



    “รถไฟดนตรี” ทุกสำเนียงคือคุณภาพ กับตักศิลาของศิลปินเพื่อชีวิตที่หมุนเวียนนำเสนอผลงานตั้งแต่ยุค 90s เป็นต้นมา รวมถึงแนวเพลงร็อกที่เอากับตลาดของอากู๋และอาเฮียด้วย กับหนุ่มร็อกผมยาวตามสมัยนิยมคนนี้ “โดม มาร์ติน” กับอัลบั้มแรกของเขา “หนุ่มไฟแรง” ที่แค่เปิดผ่างมาก็ “มีใครอยู่ไหม” ได้ใจไปเต็ม ๆ กับคนแต่งที่ใช้นามปากกาว่า “เบ” แล้วตามด้วยเพลงเจ็บ ๆ อย่าง “เหนื่อยเปล่า” และ “หมดสิทธิ์” จากปลายปากกาของ “กวาง” คงเป็นสามเพลงที่ฟังแล้วน่าสนใจไม่น้อยเลย แถมให้อีกดอก “เอาใจไม่เป็น” ปลายปากกาพี่หมูแว่น-สุรพันธ์ ชาญวิชณานันต์ (ในเวลาต่อมาเป็นคนแต่งเพลง “สัญญาก่อนลา” ประกอบละครมนต์รักลูกทุ่งรุ่นศรัญยู-ณัฐริกา ที่สะท้านทุ่งและกรุงเลย)


    ชุดนี้ควบคุมการผลิตโดยพี่เกี๊ย-อนุชา อรรจนาวัฒน์ และมือมิกซ์ประจำรถไฟขบวนนี้อย่างคุณกฤษณะ วงศ์สุข (มือมิกซ์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพี่ปูคำภีร์) กีตาร์โดยพี่หนูเดอะแก๊ง กลองโปรแกรมแน่น ๆ จาก Alesis D4 (ว่าไปสมัยนั้นเพลงร็อกไทยใช้กลองโปรแกรมเยอะจริง แต่ก็นานาจิตตัง…ครับ)


    เป็นอัลบั้มที่ดีเลย และดีเข้าไปใหญ่กับ “กุหลาบไฟ” ที่เชิญมือกีตาร์ระดับตัวเป้งมาร่วมอัดเสียงและแสดงสดในคอนเสิร์ตด้วย สร้างจุดขายและจุดเด่นประจำอัลบั้มชุดต่อมาได้ไม่เลวเลยเชียว (ชุดนี้ผมชอบ “กุหลาบไฟ” และ “น้ำตาหยดสุดท้าย” แรงได้ใจไม่แพ้กัน)


    -


    4. ยูเรเนียม - ปฏิกิริยาร็อค (2535)



    แค่ปกและฟอนต์ที่ใช้อย่าง DB Private และโลโก้ที่ออกแบบมา (รวมถึงลุคผมยาวเสื้อหนังยอดนิยม) ก็รู้ว่า “ร็อกแน่!” เป็นอัลบั้มจากชายคาเอสพี ศุภมิตร ของช่อง 3 ซึ่งขอมาแชร์ส่วนแบ่งจากพี่หนุ่ย-พี่เป้-พี่อ๊อฟ ในสังเวียนเพลงร็อกด้วยคน แค่สองเพลงที่ฟังแล้วคนยุคนั้นจำได้แน่ ๆ คือ “ปฏิกิริยา” กับบัลลาร์ดที่บาดใจกรีดลึกอย่าง “ธาตุแท้” ก็เกินคุ้มแล้วสำหรับวงนี้ ภายใต้การควบคุมผลิตของอาอุกฤษณ์ พลางกูร


    ผมไม่ทราบจริง ๆ ว่าฟีดแบ็คชุดแรกของวงธาตุนี้ดีแค่ไหน แต่ได้ไปต่อชุดที่ 2 “อัด สะ จอ รอ หัน” ซึ่งมีเพลงเก่งประจำชุดอย่าง “สมควรตาย” "ห่วยแตก" "ดักดาน"


    ปรากฏว่าได้รับคำติชมบนกรอบเล็ก ๆ ของนิตยสารสีสัน ฉบับ4 ปีที่ 6 ปี 2536 (ปกมาช่า) ว่า… “ดนตรีดีขึ้นกว่าชุดที่แล้ว แต่กลองน่าจะใช้ตีจริง ๆ เพราะเสียงกลองเครื่องไม่มีอารมณ์ เขียนเพลงยังไม่ดี และไปเน้นชื่อเพลงดิบ ๆ โดยไม่จำเป็น”


    แม้ตัวเพลงจะมันสะใจประสายุคนั้นทั้งสองชุด แต่ชุดสองชื่อเพลงที่ดุดันดึดดูดใจแต่เนื้อหาในเนื้อเพลงอาจจะไม่ได้ดุดันเหมือนชื่อก็เป็นได้ กล่าวคือ ถ้าชุดแรกคือธาตุที่เกิดระเบิดเอฟเฟคขบวนการห้าสี ชุดสองทำได้เต็มที่ก็แค่ประทัดงานเชิดสิงโตเท่านั้นเอง


    นั่นแหละฮะ โดนอาถรรพ์ชุดสองแน่แล้ว




    งั้นขอเขียนอัลบั้มชุดต่อไปนะ เพราะว่าสองวงนี้มีจุดที่เชื่อมกันอยู่


    -


    5. Big Gun - ไอ้ปืนโต (2536)



    วงร็อกเครื่องดนตรีน้อยชิ้นชายคาเดียวกันกับยูเรเนียม ที่ตอนได้ข้อมูลมาเพิ่งทราบว่า “ชื่อวงสองวงนี้มาจากคำว่า MR.BIG กับ Guns N' Roses ใช่ครับวงร็อกตัวเอ้ระดับโลก ตัดทอนต่อกันมาจนเป็นไอ้ปืนโตนี่แหละ) กับฟรอนต์แมนของวงผู้ล่วงลับ เนม-ครองพงศ์ วัชรานนท์ กับงานชุดแรกและชุดเดียวของวง กับลุคกางเกงขาก๊วยและผมยาวสลวยได้ใจ


    เปิดแทรกแรกก็ “เมืองอะไร” ที่ผ่านไป 30 กว่าปี เมืองนั้นก็ยัง…ครับ “ชวนยังไงก็ไม่ไป” และ “ลุกเป็นไฟ” ก็มันดีโยกหัวสนุก บัลลาร์ดเชือดเฉือนอย่าง “ทำลาย” Rock Anthem ของวงอย่าง “Rock 'N Roll” และเพลงที่สะท้อนสังคมวัยรุ่นได้ดีอย่าง “No Smoke” และ “ยาธาตุนักเลง” ที่เล่าถึงพิษภัยของบุหรี่กับเหล้าเบียร์ตามลำดับ เพลงเหล่านี้คือเพลงแนะนำประจำบั้มฮะ


    เพลงที่ว่ามาข้างต้น ต่างคนต่างสลับผลัดกันแต่งคนละเพลงสองเพลงโดย อ.กวาง-กันตภพ พรหมสุนทรสกุล (ผู้เคยฝากผลงานดัง ๆ อย่าง “คิดถึงเธอแทบใจจะขาด”) และพี่ต๋อม-สุวิทย์ สุวรรณรัต (เจ้าของปลายปากกา “หลอกใช้”) ทำดนตรีโดยตำนานกีตาร์สว่านเมืองไทย นกแก้ว-ทรงพล ใยคง ที่ว่ามาข้างต้นเป็นทีมงานประจำอัลบั้มชื่อมัน ๆ แบบนี้ ภายใต้การคุมบอร์ดของ หรั่ง ร็อกเคสตร้า-ชัชชัย สุขาวดี งานออกมาดุดันสะใจชาวร็อกยิ่งนัก


    แต่เสียงวิจารณ์กรอบเล็กของนิตยสารหัวนั้น ฉบับที่ 9 ปีที่ 6 ปี 2537 (ปกพี่หนุ่ยอำพล) บอกว่า “เพลงโดยรวมด้านดนตรี ทำได้ดีในระดับน่าพอใจ แต่เนื้อหากับวิธีการเขียนยังไม่น่าพอใจ เช่นเดียวกับนักร้องนำที่ต้องเคี่ยวให้หนักกว่านี้” (เป็นคำวิจารณ์เล็ก ๆ ในเวลานั้นโดยตรง เหมือนเดิม “นานาจิตตัง-ลางเนื้อชอบลางยา”) น่าเสียดายที่ออกมาเพียงชุดเดียวสำหรับไอ้ปืนโตนี้ 


    เหมือนเป็นปืนใหญ่บาซูก้าในขบวนการห้าสีที่ใช้สักพักแล้วพอเจอตัวโกงที่พลังเยอะก็ต้านทานไม่ไหว แล้วก็ไม่ได้ใช้อาวุธพิฆาตนั่นอีกเลย


    -


    อนึ่ง ทั้งสองวงนี้มีจุดเชื่อมกันคือ ในเวลาต่อมา พี่ปู-อานนท์ ฉายแสงจันทร์ (นักร้องนำ) พี่ต๋อง-สมทบ สมมีชัย (มือเบส ที่ในยุค 80s เขาเล่นหนุนหลัง “ปาร์ค แจกัน” One Hit Wonder เพลง “จะเก็บไว้เพื่อเธอ”) จากวงยูเรเนียม และพี่เอก-อภิสิทธิ์ พงศ์ชัยสิริกุล มือกีตาร์จากวง Big Gun รวมตัวกันเป็นวง Blackhead ที่ยังเดินหน้าสร้างความมันจนถึงทุกวันนี้


    -


    6. Wolfpack (2539)




    “มึงน่ะร้องดีแล้วไอ้เต้ย” เสียงจากอาแหบ-วิทยา ศุภพรโอภาส ผู้บริหารค่ายเอ็มสแควร์ (ในเครือมีเดีย ออฟ มีเดียส์ เจ้าของตำนานเกมลุ้นข้ามโลก คอนเสิร์ตเวทีไท และวาไรตี้บ้านเลขที่ 5) บอกกับมือกีตาร์ของวงฝูงหมาป่าอย่างเต้ย-รณภพ อรรคราช ตอนเสนองานมาสเตอร์ชุดนี้เพื่อทำเทปสตูดิโออัลบั้มชุดแรกและชุดเดียวของวง (หลังจบชุดนี้ก็ทำอัลบั้มอะคูสติก และเพลงประกอบภาพยนตร์ “2499 อันธพาลครองเมือง” มาอีกสองชุด)


    พี่เต้ยจับมือกับพี่อ๋อ-นล สิงหลกะ มือกลองของวง (ทั้งพี่เต้ยและพี่อ๋อเคยทำ “อินคา” มาก่อน) และพี่แบน-วรวิทย์ แสงสีดา (ที่ทำเพลงให้พี่ติ๊ก ชิโร่) มือกีตาร์และคีย์บอร์ด ทำเพลงกันที่ห้องอัด 35 Studio อัดสดทุกชิ้น ในแนวเพลงฮาร์ดร็อกซึ่งสวนกระแสอัลเตอร์เนทีฟในยุคนั้น พร้อมกับชื่อวงที่ได้มาจากเกมคอมพิวเตอร์ในห้องอัดนั้นชื่อ “Wolfpack” และตั้งชื่อวงโดยมือเบสของวงอย่าง หม่อง-ประภาคาร วงศ์ช่างหล่อ  (อ้างอิงจาก ชำแหละโชว์ EP7 - Wolfpack 15 ตุลาคม 2564 ช่องสาระพันธุ์ร็อก) 


    จนกลายเป็นงานที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีทั้งเงินและกล่อง การันตีรางวัลอัลบั้มร็อคยอดเยี่ยมจากเวทีสีสันอวอร์ดส์ครั้งที่ 9 ปี 2539 แค่เพลง(ที่ผมแนะนำ)ในอัลบั้มอย่าง “เธอ (ผู้เดียว)” “ไม่ (ใช่ของเรา)” “คำ (บางคำ)” และ “สู้ (เพื่อตัวเราเอง)” เพลงหลังสุดเป็นเพลงสุดท้ายที่อัดเสียงเพื่อปิดบั้มให้ได้ เป็นงานที่สุ้มเสียงความเป็นร็อกที่สดและสะใจในเวลาเดียวกัน แถมอาร์ตเวิร์คบนปกเทปก็ทำได้สมความเป็นหมาป่าผู้ห้าวหาญจริง ๆ


    ฝูงหมาป่าฝูงนี้ไม่ทำให้ชาวร็อกผิดหวังแน่แท้


    -


    7. I-SCREAM (2539)



    วงร็อกจากฝั่งลาดพร้าวที่ออกอัลบั้มเพียงชุดเดียว โดยมีฟรอนต์แมนอย่างพี่เข้เป็นนักร้องนำ และเสียงกีตาร์ที่กรีดใจถึงสองคนอย่าง “พี่ติ” และ “พี่เอ” ภายใต้การควบคุมการผลิตของพี่เก่ง-สมศักดิ์ พัลลภารักษ์ (มือคีย์บอร์ดที่หนุนหลังพี่หรั่ง ร็อกเคสตร้ายุคที่มาอยู่อาร์เอสแล้ว) ที่ได้รับการมอบหมายให้ปั้นวงนี้ออกอัลบั้ม ในสไตล์เฮฟวี่เมทัลผมยาวสวนกระแสเพลงเราโดดแบบนี้


    แค่แทรคเปิดอัลบั้มอย่าง “ความรัก” ปลายปากกาพี่เจี๊ยบ พิสุทธิ์ (ทั้งคำร้องและทำนอง) ก็เท่แล้ว เท่เข้าไปใหญ่กับบัลลาร์ดบาดใจอย่าง “ไม่อยากหายใจ” ที่ทำนองและดนตรีมาจากพี่หนู มิเตอร์ (แนะนำให้ดูคลิปที่ให้สัมภาษณ์กับทางช่อง Guitarthai พี่แกน่ารักและใจกว้างด้วย) แถมอีกเพลงอย่าง “หนักกว่าทุกครั้ง” ดนตรีโดยพี่เอ-จิตติพล บัวเนียม มือขวาทีของเสือ 


    “เธอ” เพลงรักหวาน ร็อกแน่น ๆ จากปลายปากกาพี่ตี๋ วงชาย-ทนงศักดิ์ ยอดทองเลิศ (ที่เคยแต่งทำนองเพลง “เพียงเธอหลับตา” ให้มอร์กะจายจนเราโดดไปด้วยกัน) และก็มาโดดและโยกหัวกับ “ไม่รู้” ปลายปากกาพี่ก๊อป โปสการ์ด ดนตรีและทำนองโดยพี่หนู มิเตอร์คนเดิม ที่กล่าวมาข้างต้นคือแทรคแนะนำประจำอัลบั้มชุดนี้


    แม้ในแง่ของการตลาดเพลงยุคนั้นซึ่งรู้ ๆ กัน แต่เป็นงานร็อกชั้นดีที่มาเสริมทัพไฮร็อก หิน เหล็ก ไฟ และวงร็อกร่วมรุ่นหลาย ๆ วงเลยทีเดียว


    และฟอนต์เครดิตคนทำงานคือ LC Manop ฟอนต์พาดหัวตัวแคบในตำนาน (ซึ่งได้รับการคืนชีพโดยค่ายคัดสรร ดีมาก ในนามของ Manop Variable ที่ให้สตรีมได้ใน Adobe Fonts) ส่วนตัวเนื้อความในเนื้อเพลงใช้ DB Pradit ซึ่งเข้ากับอัลบั้มร็อกนี้จริง ๆ


    "เหมือนกินไอศครีมรสมะนาวโซดาใช่ไหมครับ"


    -


    8. The Exile (2539)



    เป็นวงร็อกจากประเทศลาว กับอัลบั้มร็อกภาษาไทยชุดแรกและอัลบั้มเดียวของวงชายคาอโศก โดยทำงานบันทึกเสียงสดทุกชิ้นกันที่แคนาดา (ห้องอัด Metalworks Studios) ภายใต้การโปรดิวซ์ของพี่อ๊อด อมตะ-เสรี กลางสาคร (เสียชีวิตแล้วเมื่อปี 2559) และดูแลเนื้อเพลงโดยอัศวินม้าไม้หนึ่งเดียวในไทย The Must-กฤศยศ เลิศประไพ


    เพลงในชุดนี้ดุดัน แค่ “อหังการ์ (คำร้อง : อาทิตย์ สาระจูฑะ)” “มันต้องตาย (คำร้อง : มวลหมู่)” “นาฬิกา (คำร้อง : กฤศยศ เลิศประไพ)” ก็ปลุกพลังเลือดโลหะหนักได้ใจมาก ๆ รวมถึงเพลงจังหวะปานกลางปลายปากกา The Must ตามเคย “ยอมจำนน” และกรีดลึกสุดใจกับ “ปล่อยไปตามสายลม (คำร้อง  มณฑวรรณ ศรีวิเชียร)” โดยทำนองและเรียบเรียงเป็นฝีมือคุณอ๊อด อมตะเอง และทางวงก็มีส่วนร่วมในการโปรดิวซ์ชุดนี้ด้วย


    แม้ผลตอบรับออกมาจะเป็นที่รู้กัน แต่เชื่อเถอะ ชุดนี้ฟังได้ยันเช้าวันใหม่เชียวแหละ


    -


    9. เป้ ไฮ-ร็อก : โฉบเดี่ยว (2541)




    ไฮร็อกคือวงร็อกที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า “พันธุ์ร็อกไทย…เหนือกาลเวลา” ใช่ครับนั่นคือความ iconic ที่ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเดียวกัน หรือรุ่นลูกรุ่นหลานที่เคยได้ยินพ่อแม่ลุงป้าน้าอาเปิดให้ฟังตอนเด็ก นั่นแหละฮะ คือตัวชูโรงของค่ายย่านลาดพร้าวแบบไม่มีใครทาบรัศมีได้ กับงานเพลง 4 ชุด (ตั้งแต่คนพันธุ์ร็อกจนถึง H-IV) ที่เป็นประกัน


    หลังจากที่วงแยกย้ายกันไป พี่เป้ของเราก็ทำงานเดี่ยวออกมา โดย 9 เพลงแรกทางค่ายโอเคแล้ว “แต่ขอเพลงขายอีกสักหนึ่งเพลง” เลยวานให้พี่ต๋องวงทู (สุรพันธ์ จำลองกุล) แต่งให้หน่อยจนเป็นเพลงนี้ที่แรกเริ่มเป็นคีย์ Dm แล้วเพิ่มคีย์เป็น F#m ให้เหมาะกับเสียงร้องของเขา


    ใช่แล้วครับ…ผมหมายถึงเพลงขายเพลงนี้ “ทำไมไม่ทำให้ตาย” อันเป็นเพลงที่ช่วงนึงชาวติ๊กตอกทำชาเลนจ์ร้องเพลงนี้ เสียงสูงปราบเชียนและเป็นที่กล่าวขานกันในงานเดียวชุดแรกของพี่เป้ “โฉบเดี่ยว” คือนิยามของอัลบั้มร็อกสุดมันในยุค IMF


    เพลงแนะนำขอเป็น “เร่เข้ามา” ที่ฟังแล้วเหมือนเรากำลังเล่นรถบั๊มพ์งานกาชาดตามหัวเมืองใหญ่ “SAMURAI” เพลงร็อกที่น่าค้นหาแฝงความร้ายลึกจากปลายปากกาพี่เจี๊ยบ พิสุทธิ์ (อีกแล้ว) และบัลลาร์ดเพราะ ๆ อย่าง “รักเธอที่สุด” ที่เหมือนเป็นการสรุปภาคดนตรีบัลลาร์ดร็อกไทยสไตล์แฮร์แบนด์ตลอดยุค 90s ได้งดงามเลย ปิดท้ายบั้มนี้ด้วยเพลง “สุดขอบฟ้า” ที่ซ่าจนหยดสุดท้ายจริง ๆ


    เป็นงานเดี่ยวที่อย่าได้ตกหล่นเชียวนะ


    -


    10. HOT DOG (2542)




    “ใครว่าหมาบ้าหน้าร้อน…HOT DOG บ้าทุกหน้า ไม่เว้นว่าหน้าไหน”


    คือ Tagline ของอัลบั้มร็อกก่อนหมดทศวรรษ 1990s ชายคาอโศก กับค่ายย่อย Up^G กับฟรอนต์แมนที่เป็นตำนานนักก๊อปปี้โชว์อย่าง “ไมเคิ่น ตั๋ง” ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดในฐานะ Executive Producer อย่างพี่แมว-จิรศักดิ์ ปานพุ่ม และหัวเรือใหญ่แห่งอัพจีอย่าง “ต่อ-แสนคม สมคิด)” ซึ่งแม่ทัพนี้เป็นคนคำร้องทั้งอัลบั้ม และโปรดิวซ์โดยมือเบสของวงอย่าง เสริฐ-ประเสริฐ ศิริสันติธรณ์ และพี่เขียด-ชาญวุฒิ บุญแย้ม (คนนี้คือคนแต่งทำนองเพลง “ไม่สมศักดิ์ศรี” ของไท ธนาวุฒิ และ “ชั่วฟ้าดินสลาย” ของพลพล) ทีมงานคุณภาพยันมือมิกซ์ดาวน์รุ่นลายคราม กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา


    เพลงแนะนำชุดนี้ขอเป็น “เบลออ๊ะเปล่า” “พ่อของนาย (เพลงนี้อารมณ์เหมือนดูอนิเมะแนวโชเนนอย่างคนเก่งฟ้าประทานหรือไม่ก็ดราก้อนบอล)” “ขอลองดี (Tagline ในเพลงนี้บนหลังปกเทปคือ “เขียนไว้ให้เด็กไทยที่ตั้งใจทำดี)” เพลงจี้ ๆ แสบ ๆ คัน ๆ ก็มีอย่าง “สมควร…แล้ว (Tagline บอกไว้ “ไม่ได้ว่าต่อว่าใครที่ใช้ชื่อ สมควร ให้คิดเป็นคำสบถว่า สมควรแล้ว)"


    พลาดได้ไงกับเพลงโปรโมทอย่าง “ลืมเลือน” ที่พี่แมวทำดนตรีให้ (ผมเคยดีูเอ็มวีในยูทูบนานแล้ว เส้นเรื่องอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช ประมาณว่าลืมคนรักเก่าไม่ได้) และเพลงสุดมันอย่าง “ซัดเราถึงตาย” งานชุดนี้เท่จริงไม่ติงนั้ง


    เห็นได้ว่า “ขนาดนักก๊อปปี้โชว์ยังมีผลงาน Original ได้ (แถมได้ทีมงานดีด้วย งานเลยดีตาม) แล้วทำไมเราจะสร้างงานของตัวเองจริงจังไม่ได้”...แบบนี้ไม่น่าสนใจได้ไงคร้าบบบบ (เราสนับสนุนให้สร้างสรรค์ผลงานออริจินัลของตัวเอง เหนื่อยแต่คุ้มค่าและน่าภูมิใจ)


    (และหลังจากนั้นต่อมา ค่าย Up^G ก็เจอขุมทองอย่าง Clash กับ So Cool ที่เป็นไอคอนของวัยรุ่นยุค 2000s อย่างไม่ต้องสงสัย)


    -


    จะเห็นได้ว่า ทั้ง 10 อัลบั้มที่ผมคัดสรรมา จะเป็นอัลบั้มร็อกที่น้าค้นหาเหมือนขุมทรัพย์ในกองหินดินกรวด ถ้าเป็นคนรุ่นหลังอย่างเราก็ฟังได้ คนรุ่นเดียวกันก็ฟังดี พัฒนาหัวใจให้มีดนตรีต่อไปจนลมหายใจสุดท้ายเลยแหละ


    “ว่าแต่ไอ้เราก็ฟังร็อกเพลินซะจนมีกระถางดอกไม้หน้าบ้านลอยมาซะงั้น”


    นายต๊กเองครับ

    5 พฤศจิกายน 2567


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in