เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ไชน์มัสแคต องุ่นญี่ปุ่น ปลูกได้ ทำไร้เมล็ด ที่เมืองไทย วีระพันธ์ โตมีบุญ

องุ่น ไม้เถาที่ออกผลเป็นพวง ชนิดไร้เมล็ด ที่เข้าใจกันว่าเป็นของนอก มีราคาสูงและผู้บริโภคไม่เกี่ยงซื้อนั้น จะรู้ไหมว่า ที่เข้าขั้นพันธุ์ดี หวาน กรอบ ผลใหญ่ ผิวไม่แตกลายงา ต้องชื่อ “ไชน์มัสแคต”(ShineMuscat ) ต้นตระกูลจากแดนอาทิตย์อุทัย แต่การที่องุ่นพันธุ์นี้ จะมีเนื้อล้วน ไร้เมล็ด เคี้ยวได้ไม่ระคายลิ้น ก็ด้วยเทคโนโลยีการตัดแต่งกิ่ง รวมถึงการเก็บเกี่ยวอย่างถูกต้อง ซึ่งค้นพบและศึกษาพัฒนาร่วมกับเกษตรกรชาวญี่ปุ่น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนการถ่ายทอดสู่สมาร์ตฟาร์มเมอร์ที่สนใจ แม้ต้นทางของไชน์มัสแคต จะอยู่ต่างประเทศ ก็ปลูกได้ในประเทศไทยเหมือนองุ่นพันธุ์อื่น เพียงแต่ยังมีเมล็ด จนกระทั่ง ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก เข้าร่วมโครงการวิจัยกับสโมสรโรตารีสากล ที่ต้องการสนับสนุนการพัฒนาการผลิตองุ่นนี้ และนำคณะเกษตรกรจากประเทศไทยไปศึกษาดูงานที่เมืองนากาโน ประเทศญี่ปุ่น ช่วงปลายปี 2562 ทันทีที่กลับมาถึงเมืองไทย เกษตรกรชาวไร่องุ่นกลุ่มนั้น ก็ลงมือนำเทคโนโลยีที่ศึกษามาปรับใช้ทันที จนขณะนี้ เริ่มเห็นผลผลิตและรอจังหวะเวลาอีกเล็กน้อยให้ได้ผลโตตามขนาดที่ตลาดต้องการก็จำหน่ายให้บริโภคได้แล้ว ”เป็นเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นหวงแหน แต่มีบางท่านสนับสนุน เพราะความต้องการบริโภคมีสูง ทั้งมีข้อจำกัดที่ผลิตได้เพียงปีละ1ครั้ง ขณะที่บ้านเรามีสภาพอากาศที่เหมาะสม ทำได้ถึงปีละ 2 ครั้ง” ผศ.ดร.พีระศักดิ์ อธิบาย โดยย้ำว่า ไชน์มัสแคต เป็นองุ่นคุณภาพดี ผลใหญ่ กรอบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางพอๆกับเหรียญ 10 บาท รสหวานระดับ 17-20 บริกส์ (ค่าดัชนีความหวาน 1 บริกส์ (Brix)เท่ากับน้ำตาลซูโครส 1 กรัมในสารละลาย 100 กรัม) การผลิตองุ่นไชน์มัสแคตให้ได้ผลพึงประสงค์ ทั้งขนาด รสชาติ ไร้เมล็ดต้องเริ่มตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก ให้มีระยะระหว่างแปลงห่าง 3 เมตร ลำต้น ห่างกัน 12 เมตร สำหรับเถาเลื้อย แต่ละต้น กำหนดให้มีกิ่งที่จะให้ผลต้องห่างกัน 50 ซม. ระยะห่าง รวมถึงการวางตำแหน่งของกิ่ง ก็เพื่อผลต่อการขยายพันธุ์ การดูแลตั้งแต่ระยะแรกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว องค์ความรู้จากงานวิจัยที่ถ่ายทอดแก่เกษตรกรในการพัฒนาผลผลิต ได้แก่ การตัดแต่งกิ่ง การควบคุมทรงพุ่ม การให้ปุ๋ยน้ำ เทคนิคการทำให้ไร้เมล็ดโดยการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโต (จิบเบอเรลลิกแอซิก+CCU+สเตปโตมัยซิน) ซึ่งเป็นสารที่ใช้กันเป็นปกติและไม่มีผลเสียตกค้างเพราะกว่าจะเก็บเกี่ยวก็อีกหลายเดือน ”ที่สำคัญ อยู่ที่การตัดแต่งช่อผล ซึ่งจะสัมพันธ์กับคุณภาพของผลและกายภาพของผลเช่นให้สีสวยงาม สม่ำเสมอ ไม่กร้าน มีผลขนาดใหญ่ ได้ช่อขนาดใหญ่ ไม่มีเมล็ด รสชาติหวานตามต้องการ โดยการตัดแต่งช่อดอกทำไร้เมล็ด จากช่อที่มีดอกจำนวนมาก ต้องตัดแต่งให้เหลือเพียงปลายแค่ 3.5-4ซม.และไว้ผล 35-50ผลต่อช่อเท่านั้น” ซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องปรับตัว เคร่งครัดกับข้อนี้ ที่เคยเสียดายเก็บช่อดอกงามๆไว้ ก็ต้องตัดออกเพื่อจะได้ผลโตเต็มที่ เป็นพวงใหญ่ เกษตรกรที่ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นกับ ผศ.ดร.พีระศักดิ์ และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีกลุ่มแรกจำนวน 10 ราย จาก จ.พิษณุโลก เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และตาก ซึ่งกลับมาลงมือปฏิบัติจริง ก็ทำให้ได้เห็นปัญหาและปรับแก้ไข เกิดเป็นองค์ความรู้ ที่จะจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตการจัดการโรคและแมลง เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวองุ่นไซน์มัสแคตเพื่อการพาณิชย์ และการประเมินคุณภาพองุ่นกับเกษตรกรที่สนใจต่อไป วัชราภรณ์ หรั่งนางรอง เจ้าของไร่องุ่นฮักริมปิง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ หนึ่งในเกษตรกรที่ร่วมคณะศึกษาดูงานการวิจัย พัฒนาการผลิตองุ่นไชน์มัสแคต ระบุว่า ไร่ของเธอปลูกองุ่นจำหน่าย รู้จักสายพันธุ์นี้ และสนใจที่จะพัฒนาให้เป็นผลไม้ไร้เมล็ด ซึ่งจะได้ราคาสูงกว่าทั่วไป และทันทีที่กลับมา เธอก็ลงมือปลูกทันที 40 ต้นและขยายเพิ่มเป็น100กว่าต้น เวลานี้ ผลผลิตไชน์มัสแคตในไร่องุ่นฮักริมปิงเริ่มออกผลงามๆให้เห็นแล้ว เมื่อกลางเดือน ธค.63 แม้ยังโตไม่เต็มที่ ก็ยังวัดความหวานได้ถึง 17 บริกส์แล้ว คาดว่าอีก 2 เดือนจะตัดจำหน่ายได้ ใครสนใจจะลองชิม ลองชม โทรคุยกันที่ 0891113296 องุ่นจากไร่ฮักริมปิง ไม่เหมือนไม้ผลชนิดอื่นที่ต้องเผชิญปัญหาราคาและตลาดรับซื้อ เพราะมีแหล่งจำหน่ายปลีกที่จัดอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งยังเป็นไร่องุ่นที่ได้ลูกค้าที่เยี่ยมชมสวนที่เปิดต้อนรับตลอดเวลา จากนั้นก็กลายเป็นลูกค้าที่จองผลผลิตชนิดออกผลเมื่อไหร่แจ้งให้ทราบก็จะสั่งให้ส่งไปทันที การได้ผลผลิตคุณภาพดี ปริมาณที่เหมาะสม ปลอดภัย เป็นที่ต้องการของตลาด จำหน่ายได้ในราคาสมเหตุสมผล คือสุดยอดปรารถนาของเกษตรกรและภาครัฐ แต่จะถึงจุดนั้นได้ รัฐและเกษตรต้องมีเป้าหมายเดียวกัน ทั้งต้องพร้อมให้การสนับสนุนด้านการวิจัยอย่างจริงจัง เป็นระบบ เพื่อความสำเร็จที่ภาคภูมิไปด้วยกัน

ALL POSTS
Views