เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บันทึกนิสิตเอกญี่ปุ่น | 日本語専攻学生のノートn__nudee
บันทึกประสบการณ์ล่ามครั้งแรก
  • 「ヌーディーの通訳ノート?」

    วันนี้หนูดีจะมาเล่าประสบการณ์ทำงานล่าม (พาร์ทไทม์) ครั้งแรกให้ทุกคนฟังค่ะ !

    คำแนะนำในการอ่าน : บทความนี้เป็นบทความเล่าประสบการณ์ทำงานล่ามพาร์ทไทม์ของเด็กเอกญี่ปุ่นปี 4 (ปัจจุบันเรียนจบแล้ว) ไม่ได้เป็นล่ามอาชีพค่ะ ขอให้อ่านสนุกๆ เหมือนเป็นบันทึกตอนหนึ่งนะคะ

    บทความนี้เหมาะกับใคร

    1. นิสิต/นักศึกษา บุคคลคนทั่วไปที่สนใจงานล่าม แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง

    2. ผู้ที่อยากรู้ความรู้สึก ประสบการณ์ของคนที่เริ่มก้าวเข้าสู่งานล่ามครั้งแรก


    ※ สำหรับใครที่ไม่มีเวลาอ่านสตอรี ซึ่งรวม 感想 (ความคิด ความรู้สึก) เราไว้ด้วย สามารถข้ามไปอ่านในส่วน まとめ (สรุป) ด้านล่างได้เลยค่า

  • ประสบการณ์ล่ามพาร์ทไทม์ 1 วันเต็ม !

         ตอนที่ทำล่ามครั้งแรกเราอยู่ปี 4 เทอม 2 เป็นช่วงที่ต้องเริ่มมองหาแล้วว่าจะทำงานอะไร ตอนนั้นมีเพื่อนมาประกาศหาล่ามอีเวนท์หนึ่งพอดี ซึ่งมีเงื่อนไขคือต้องได้ N2 เราเพิ่งผ่าน N1 ได้ไม่นาน เลยคิดว่าอยากจะลองทำดูเป็นประสบการณ์ จึงสมัครไปโดยไม่ลังเลค่ะ เนื้อหางานที่ได้รับบรีฟมาในตอนแรกคือประจำบูธอาหารของบริษัทญี่ปุ่น หน้าที่ของเราคือช่วยซัพพอร์ตบูธของบริษัท เช่น ประสานงานกับฝ่ายสถานที่ และช่วยล่ามถาม-ตอบให้กับผู้ที่สนใจชิมผลิตภัณฑ์ของทางบูธค่ะ


         พอพูดว่าเป็นบูธอาหาร ภาพในหัวของเราคือบูธขายอาหาร อย่างในงานอีเวนท์เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น เช่น NIPPON HAKU แต่พอมาทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ปรากฏว่าเป็นงานที่เป็นทางการพอสมควรเลยค่ะ เพราะเป็นงานสัมมนาใหญ่ที่จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมค่ะ ! (เลเวลความตื่นเต้นพุ่งปรี๊ดเลย ใครจะไปคิดว่าจะได้ล่ามครั้งแรกในงานที่เป็นทางการขนาดนี้) งานสัมมนาจัดเต็มวัน เริ่มตั้งแต่ 8:00 - 16:00 น.ค่ะ จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ พิธีเปิดงานในช่วงเช้า และ 試食交流会 ช่วงที่ให้ผู้เข้าร่วมงานชิมผลิตภัณฑ์ของบริษัทจากญี่ปุ่นในช่วงบ่าย ซึ่งงานหลักๆ ของเราก็คือช่วงบ่ายนี่เองค่ะ


         เราได้รับบรีฟข้อมูลล่วงหน้าประมาณหนึ่งสัปดาห์ค่ะ เป็นข้อมูลของบริษัทที่เราได้รับผิดชอบ (เว็บไซต์ของบ.) ผลิตภัณฑ์ที่จะนำเสนอให้ผู้เข้าร่วม และวิธีการนำเสนอค่ะ เราได้ประจำบูธของบริษัทเนื้อวากิว ทางบ.จะทำชาบู ชาบูวากิวใส่ถ้วยเล็กๆ ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาชิมกับซอสต่างๆ ค่ะ โดยสิ่งที่เราเตรียมตัวได้ก็คือ ① อ่านข้อมูลและความเป็นมาของบริษัท (เราอ่านหน้าเว็บทั้งหมด) ดูผลิตภัณฑ์เนื้อวัวไปค่ะ ตอนนั้นเราจดข้อมูลของบ.ใส่ note ในมือถือหมดเลย แล้วก็ ② เตรียมชุดที่จะใช้ในวันจริง ซึ่งทางงานบรีฟมาว่าเป็นเสื้อเชิ้ตคอปก สีเข้มค่ะ ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่โควิดเริ่มระบาดใหม่ๆ จึงต้องใส่แมสก์ระหว่างล่ามด้วย (เอาล่ะ ความยากอีกหนึ่งอย่างคือเราต้องฟังคนญี่ปุ่นพูดผ่านแมสก์ !)


         พอมาถึงเช้าวันจริงเราต้องไปช่วยจัดเรียงของที่บูธในครัว หลังจากทำความรู้จักคนในบริษัทที่เราล่ามให้ครบแล้ว ก็คุยกันเรื่องสถานการณ์ต่างๆ ในไทย และคำถามทั่วๆ ไปสร้างความคุ้นเคยกันค่ะ เนื่องจากบูธเราต้องเสิร์ฟชาบู ชาบู จึงต้องเตรียมเปิดแก๊สเพื่อต้มซุปทิ้งไว้ และแล้วปัญหาแรกก็มาถึง... เราไม่รู้ศัพท์เกี่ยวกับอุปกรณ์ในครัวเลยค่ะ ! เตาแก๊สในครัวกับของญี่ปุ่นไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องแปลขั้นตอนการเปิดเตาแก๊สให้เชฟฟังค่ะ แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ศัพท์คำว่า “แก๊สล่อไฟ” (อย่าว่าแต่ภาษาญี่ปุ่นเลย ภาษาไทยก็เพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรกนี่แหละ) ตอนนั้นสติกระเจิงไปแป๊บนึงค่ะ สุดท้ายแล้วเชฟก็เข้าใจวิธีเปิดแก๊สด้วยภาษามือของเจ้าหน้าที่คนไทยประจำห้องครัวค่ะ (ล่ามไม่ได้ทำประโยชน์ใดๆ เลยค่ะ) หลังจากนั้นก็เดินหาอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ ถามหารหัสไวไฟจากเจ้าหน้าที่ (งานจิปาถะต่างๆ) นอกจากที่เขารีเควสต์เรามาสิ่งที่เราควรทำคือสังเกตว่าเขาน่าจะต้องการอะไรเพิ่มเติม เช่น โบรชัวร์ของบูธน่าจะไม่พอ ควรไปถ่ายเอกสารเพิ่ม ฯลฯ


         พอของครบแล้วทางบริษัทก็อธิบายจุดเด่นของเนื้อวัวฟาร์มตัวเองให้ฟังค่ะ ข้อมูลนั้นเราได้อ่านมาแล้วในเว็บก็เลยไม่ได้จดโน้ตอะไรเพิ่มเติม ตอนนั้นเลยโดนฉะโจทักว่า “ไม่จดโน้ตเหรอ” ถึงได้รู้สึกถึงปัญหาที่สองว่า เราควรจดโน้ตไว้ในสมุดเล่มมากกว่า แล้วก็ตอนที่เขาอธิบายให้ฟัง ไม่ควรอยู่เฉยๆ ค่ะ เพราะจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราไม่ตั้งใจทำงาน และข้อมูลที่อ่านมาจากเว็บนั้นไม่เพียงพอจริงๆ ค่ะ เพราะวันจริงเราได้เจอโบรชัวร์ของบริษัท ! ซึ่งข้อมูลอัดแน่นมาก การจะอ่านและจำในคราวเดียวให้หมดจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถึงตรงนี้เราเริ่มลนขึ้นมานิดนึงค่ะ มีช่วงหนึ่งที่คนในบริษัทต้องไปถ่ายรูปรวมกัน แล้วเราต้องอยู่ประจำบูธคนเดียว แล้วก็เป็นไปตามคาด เราโดนถามด้วยคำถามที่ตอบไม่ได้ คำถามนั้นคือ “วัวของฟาร์มนี้เลี้ยงต่างจากที่อื่นยังไง ระบบที่เลี้ยงเป็นแบบไหน” ซึ่งเราตอบด้วยตัวเองไม่ได้เพราะไม่มีในโบรชัวร์ เลยจดคำถามไว้ก่อน เดาไม่ออกเลยจริงๆ ว่าเราจะโดนถามอะไรบ้าง ถ้าเป็นไปได้ควรคิด Q&A ไว้หลายๆ ด้านนะคะ พยายามคิดว่านอกเหนือจากโบรชัวร์หรือข้อมูลที่เรามี มีคำถามอะไรน่าสนใจอีก


         จบช่วงเตรียมอุปกรณ์ตอนเช้า ต่อไปเป็นพิธีเปิดงานค่ะ ช่วงนี้มีโอกาสได้ฟังพี่ล่ามอาชีพล่ามคำกล่าวเปิดงานและความเป็นมาต่างๆ ตื่นเต้นมากค่ะเพราะได้เห็นพี่ล่ามอาชีพล่ามศัพท์ยากๆ กันสดๆ ไม่มีสะดุดเลย จบพิธีเปิดก็เป็นพักกลางวันค่ะ หลังจากทานข้าวกันเรียบร้อยแล้วก็เตรียมตัวสแตนด์บายที่ครัว


         แล้วช่วงบ่ายซึ่งถือเป็นงานหลักของเราก็มาถึงค่ะ ผู้เข้าร่วมงานแวะมาที่บูธพร้อมๆ กัน ทำให้เจอปัญหาล่ามไม่ทัน พอล่ามคำถามของคนหนึ่งจบ อีกคนที่ยังไม่ทันได้ถามก็เดินออกจากบูธไปแล้ว แล้วก็เจอปัญหาของคนเด๋อๆ แบบเราคือล่ามๆ อยู่แล้วเผลอพูดภาษาญี่ปุ่นใส่คนไทยค่ะ ! (อายมากเลย ?) ส่วนอาชีพของผู้เข้าร่วมงานก็หลากหลายมากค่ะ ทั้งดีลเลอร์จากห้าง ผู้ประกอบการโรงแรม ฯลฯ ดังนั้นคำถามที่แต่ละคนจะถามจึงหลากหลายมากค่ะ (แต่การเตรียม Q&A ไว้ส่วนหนึ่งก็ช่วยได้มากๆ นะ) ได้เจอซีนเจรจาธุรกิจด้วยค่ะ (ผิดกับภาพล่ามประจำบูธอาหารในความเข้าใจตอนแรกลิบลับเลย) ตรงนี้เราล่ามตะกุกตะกักเพราะเตรียมคำศัพท์ในธุรกิจมาไม่ดีพอ รวมถึงศัพท์เกี่ยวกับตำแหน่งบุคคลที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เจอด้วยค่ะ แต่ผู้เข้าร่วมงานใจดีมาก เขาเข้าใจว่าเราเป็นล่ามมือใหม่ก็เลยใจเย็น เอาใจช่วยให้เราค่อยๆ แปลค่ะ (ขอบคุณมากๆ เลยนะคะ) ถึงจะเป็นแค่การแนะนำตัวหรือแลกนามบัตร ถ้าเราล่ามได้ดีและสามารถสร้างความประทับใจให้กับทั้งสองฝ่ายได้แล้วช่วยเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจได้มากขึ้นเราก็จะรู้สึกดีใจมากค่ะ (ผลลัพธ์หลังจากนั้นจะเป็นยังไง ล่ามก็อยากรู้เหมือนกันค่ะ)


         อีกสิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้คือเราควรมี 名刺入れ สำหรับใส่นามบัตรของบริษัทไว้ให้ผู้ที่สนใจด้วยค่ะ จริงๆ มีนามบัตรของบริษัทวางไว้ที่บูธ แต่กรณีที่ผู้ที่สนใจอยู่ไกลบูธหรือหยิบยาก หรือเราเดินไปไกลบูธแต่มีคนถามเกี่ยวกับบริษัท เราจะได้หยิบให้ได้ในทันที ตอนนั้นเราไม่ได้คิดถึงตรงนี้ก็เลยหยิบนามบัตรส่วนหนึ่งมาใส่ไว้ในเสื้อเชิ้ตแทน นอกจากจะทำให้ยับได้แล้วเวลาหยิบออกมายังดูไม่ค่อยดีเท่าที่ควรค่ะ (รอบหน้าจะไม่พลาดเด็ดขาด) นอกจากนี้พี่ล่ามอาชีพยังเดินไปรอบๆ งาน แล้วแวะมาช่วยแปลคำถามที่ยากๆ ด้วยค่ะ (พี่ๆ ได้ช่วยชีวิตนิสิตหัดล่ามไว้ ขอบคุณมากค่า ?)


         พอจบงานผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหลายจะเป็นของใครไปได้นอกจากล่ามค่ะ ฉะโจใจดีมาก แจกพวกผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหลายให้กับสตาฟค่ะ (ฮา) แล้วก็ขอคอนแทคท์เราไว้ เผื่อมีโอกาสมาไทยอีกจะเรียกใช้บริการล่าม เราดีใจมากค่ะ ทั้งที่เรามองเห็นจุดผิดพลาดของตัวเองเต็มไปหมด แต่ฉะโจกับพี่สตาฟที่สถานที่จัดงานอยากให้โอกาสเราในการทำงานล่ามอีก นอกจากจะได้เรียนรู้งานล่ามแล้ว การที่มีคนไว้ใจจะให้โอกาสเราอีกทำให้รู้สึกเต็มตื้นมากค่ะ


    通訳者(のアルバイト)をやってみて良かった!

  • まとめ

    ※​ เนื่องจากเป็นบันทึกประสบการณ์ของเราสิ่งที่อยู่ใน まとめ จึงไม่ใช่วิธีในการทำงานล่ามแต่เป็นวิธีที่เราใช้ในการทำงานล่ามครั้งแรกซึ่งมีจุดที่ยังต้องปรับปรุงนะคะ

    งานที่ล่าม : งานสัมมนา จัดโดยกรมส่งเสริมอุสาหกรรมกับจังหวัดหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น

    (ช่วงบ่ายของงานสัมมนามีการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารให้ผู้ที่สนใจชิม)


    ระดับความเป็นทางการ : ★★


    หน้าที่ : ล่ามประจำบูธให้กับบริษัทเนื้อวากิว


    เนื้อหางาน :

    ① ล่ามประสานงานในครัว

    ② อธิบายผลิตภัณฑ์ให้ผู้ที่สนใจ (คนไทย)

    ③ ล่ามคำถาม - คำตอบ


    การแต่งกาย :

    เชิ้ตสีเข้ม เก็บผมให้เรียบร้อย ใส่แมสก์


    การเตรียมตัว :

    ① อ่านข้อมูลของบริษัทที่รับผิดชอบ (รวมทั้งประวัติการเป็นมา) ผลิตภัณฑ์ 

    ② หาคำศัพท์ที่คาดว่าน่าจะเจอ


    อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ :

    ① สมุดโน้ต + ปากกา

    เราไม่ควรจดด้วยมือถือ และถึงแม้เราจะจำข้อมูลได้ก็ควรจดลงสมุดเล่มค่ะ เพราะถ้าไม่จดโน้ตอาจจะทำให้อีกฝ่ายกังวลใจเรื่องการเตรียมตัวของเราได้ค่ะ ดังนั้นควรพกสมุดโน้ตกับปากกาติดตัวไว้เพื่อให้มี 通訳者の良い姿勢 ค่า

    ② ที่ใส่นามบัตร

    ไว้ใส่นามบัตรของทางบริษัทไว้ให้กับผู้ที่สนใจ กรณีที่ตัวเราอยู่ไกลบูธ หรือหยิบที่บูธไม่สะดวก)

    ③ สติ

    สำคัญมากค่ะ เพราะปัญหาหน้างานที่เจอส่วนใหญ่จะเบาลง ถ้าเรามีสติ !


    ปัญหาที่เจอ :

    ① สิ่งที่นอกเหนือจากการเตรียมตัว เช่น อ่านหน้าเว็บมาหมดแล้ว แต่มีข้อมูลเพิ่มเติมในโบรชัวร์ มีคำศัพท์ที่เราไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นและไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเจอ

    ② ไม่คิดว่าจะได้เจอซีนเจรจาทางธุรกิจ เลยเตรียมตัวมาได้ไม่ดีพอ


    สิ่งที่ต้องปรับปรุง :

    ① นอกจากข้อมูลที่ได้รับมา เราควรตั้งคำถามว่าเราจะได้เจอสถานการณ์แบบไหน เพื่อที่จะได้คาดเดาทิศทางของคำศัพท์ที่เราจะได้เจอได้มากขึ้นค่ะ

    ② ต้องรู้ business manner แม้งานที่เราไปล่ามจะไม่ใช่งานที่เป็นการเจรจาซื้อขายโดยตรงก็ตาม เพื่อไม่ให้เผลอทำอะไรที่เสียมารยาทไปค่ะ

    ③ ทำ Q&A ไว้ล่วงหน้า ลองคิดว่าถ้าตัวเองเป็นผู้เข้าร่วมงานและแวะมาที่บูธ จะตั้งคำถามอะไร แล้วลองถามตอบดูค่ะ ถ้าคำตอบไม่มีในข้อมูลที่เรามีจะได้ถามทางบริษัทไว้ล่วงหน้าได้ค่ะ ถ้ามีข้อมูลในมือแล้วเวลามีคนมาถามจะลดความแพนิกลงไปได้เยอะเลยค่ะ




  • Q&A การทำล่ามพาร์ทไทม์ครั้งแรก

    Q: ทำล่ามครั้งแรกตอนไหน

    A: ปี 4 เทอม 2 (ปี 2020)


    Q: ระดับ JLPT ในตอนนั้น

    A: N1 (ตามเงื่อนไขของงานที่เรารับคือ N2)


    Q: ทำไมถึงลองทำพาร์ทไทม์ล่าม

    A: ตอนนั้นอยู่ปี 4 เทอม 2 แล้วอยากรู้ว่าควรทำงานอะไร อาชีพอะไร เลยลองทำดูค่ะ


    Q: ความรู้สึกตอนตัดสินใจสมัคร

    A: ถ้าไม่เริ่มตอนนี้เราจะไปเริ่มตอนไหน ตอนนี้เราอยู่ปี 4 ยังเป็นนิสิตอยู่ เขายังอนุญาตให้เราทำผิดพลาดได้บ้าง ควรจะเริ่มหาประสบการณ์ไว้ตั้งแต่สมัยยังเป็นนิสิต/นักศึกษา


    Q: กลัวไหม?

    A: กลัวมากค่ะ กังวลไปทุกอย่าง กลัวแปลไม่ได้ กลัวจะทำได้ไม่ดี


    Q: ลองทำล่ามดูแล้วชอบไหม?

    A: ชอบ เพราะงานนี้เราได้ทำอะไรหลายอย่างเลย นอกจากแปลก็ได้ทำงานจิปาถะ เช่น เตรียมอุปกรณ์ทำอาหาร ได้ชิมอาหารด้วย ?


    Q: ทำครั้งเดียวสามารถตัดสินใจได้ทันทีเลยไหมว่าจะทำเป็นอาชีพ

    A: น่าจะแล้วแต่งาน แล้วก็แล้วแต่คนนะคะ สำหรับเรายังตอบไม่ได้ในทันทีว่าจะยึดเป็นอาชีพหลักดีไหม อยากลองทำดูอีกสัก 4 - 5 ครั้งค่ะ แต่น่าเสียดายที่มีโควิด ทำให้ไม่มีอีเวนท์ให้ได้ลองล่ามอีกค่ะ


    Q: คำแนะนำที่อยากบอกคนที่อยากลองทำงานล่าม

    A: อยากบอกทุกคนที่สนใจว่าต้องลองพุ่งชนดูค่ะ ไม่ต้องกังวลว่าจะแปลไม่ได้ ณ ตรงนั้นเราต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ไม่รู้จักศัพท์คำไหนก็อธิบายด้วยศัพท์ที่เรารู้ แล้วจดคำศัพท์ที่ล่ามไม่ได้ไปหาความหมายค่ะ เพราะไม่มีใครหรอกที่จะรู้ทุกอย่างตั้งแต่เริ่มทำงาน ขอแค่มีใจอยากเรียนรู้และพัฒนาตัวเองก็พอค่ะ : )



    ขอบคุณที่อุส่าห์อ่านจนจบนะคะ

    ถ้าบทความนี้เป็นประโยชน์กับใคร แม้จะเล็กน้อย เราก็จะดีใจมากๆ เลยค่ะ 



    ปล.หากมีข้อผิดพลาด ข้อติชม หรือมีพี่ล่ามอาชีพคนไหนผ่านมาอ่านสามารถคอมเมนท์ได้เลยนะคะ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in