เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
Downtown Ayutthaya By กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่
  • รีวิวเว้ย (1214) เรา ๆ ท่าน ๆ อาจจะได้เห็นข่าวเรื่องของการเป็นเจ้าภาพในการจัดกีฬาของประเทศกัมพูชาที่มีความพยายามในการตัดกีฬาบางชนิดออก เอากีฬาบางชนิดเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬา "มวย" อย่างมวยไทยที่ในครั้งนี้กัมพูชามีความพยายามจะเปลี่ยนออกและเอากุนขแมร์เข้าไปแทนที่ รวมถึงเกิดข้อถกเถียงและข้อพิพาทต่าง ๆ ตามมาอย่างไม่ขาดสายในเรื่องของการเคลมมวย (อย่าผวน เตือนแล้วนะ) และอีกสารพัดเคลมว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นมาจากกัมพูชาโดยเฉพาะจากการเฟื้องฟูของเขมรสมัยพระนคร (ซึ่งก็นานแสนนานมาแล้ว) กระทั่งกิจกรรมการเคลมของกัมพูชากลายมาเป็นมีมตามหน้าสื่อออนไลน์ต่าง ๆ มากมาย อาทิ เคลม Iphone เคลมบอกพรีเมียร์หลีก เคลมท่ากระโดดน้ำ และอีกสารพัดมีมที่เกิดขึ้นตามกันมาไม่หวาดไม่ไหว แต่ถ้าเรามองปรากฏการณ์นี้ผ่านมิติของประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม บางครั้งเราอาจจะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องตลกร้าย เพราะในท้ายที่สุดแล้วก่อนการเกิดขึ้นของพรมแดนรัฐชาติสมัยใหม่ การเคลื่อนย้ายของผู้คนในแต่ละภูมิภาคเป็นเรื่องปกติ การเคลื่อนไหลของวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาและอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกอันหนึ่งคือ "สยาม" ในช่วงสมัยอยุธยาที่มีคนต่างชาติต่างภาษาเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กันจนกลายเป็นพื้นที่ของความหลากหลายและเป็นรากฐานของหลายสิ่งหลายอย่างที่สืบต่อมากระทั่งปัจจุบัน
    หนังสือ : Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัฒน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์
    โดย : กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่
    จำนวน : 328 หน้า

    "Downtown Ayutthaya" ในชื่อภาษาไทยว่า "ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัฒน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์" เป็นหนังสือที้ว่าด้วยเรื่องของสยามสมัยอยุธยาที่ถูกเขียนขึ้นโดยนักวิชาการที่ทำเรื่องราวของผู้คนในสมัยอยุธยามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และผู้เขียนร่วมอีกตัวหนึ่งได้แก่ "โมโมทาโร่" ซึ่งเป็นแมวเหมียวของผู้เขียน ที่ทำหน้าที่ในฐานะของผู้เขียนร่วมให้กับ "Downtown Ayutthaya"

    สำหรับเนื้อหาของ "Downtown Ayutthaya" คือความพยายามในการบอกเล่าเรื่องราวของ "ผู้คน" กลุ่มต่าง ๆ ที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในพื้นที่ของอยุธยาในช่วงเวลาที่อยุธยาเป็นราชธานีหนึ่งของสยาม และเป็นพื้นที่ที่เปิดให้กับผู้คนหลากกลุ่ม หลายชาติ หลากภาษา เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ผ่านทั้งกิจกรรมทางการค้า ศาสนา การสงคราม กระทั่งถึงกิจกรรมทางเพศ ซึ่งในหนังสือ "Downtown Ayutthaya" ผู้เขียนได้พยายามชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายในสังคมสยามในสมัยอยุธยา ที่หลากหลายทั้งผู้คน เชื่อชาติ ศาสนาและการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ

    เนื้อหาของ "Downtown Ayutthaya" แบ่งออกเป็น 5 บท ที่บอกเล่าความแตกต่างของกลุ่มคนแต่ละกลุ่ม ป่านการจัดกลุ่มของผู้คนที่มาจากหลากหลายพื้นที่ให้รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและง่ายต่อการอ่าน อีกทั้งผู้เขียนยังได้ปูพื้นฐานในเรื่องของความแตกต่างหลากหลายของสังคมอยุธยา อันนำมาสู่การเป็นสังคมในลักษณะของสังคมพหุวัฒนธรรม โดยเนื้อหาของ "Downtown Ayutthaya" แบ่งเป็นบทต่าง ๆ ดังนี้

    01 ต่างด้าว ต่างชาติ ต่างแดน รวมกันเป็นมนุษย์อยุธยา

    02 ชุมชนต่างชาติ & ชาวอุษาคเนย์

    03 ชุมชนต่างชาติที่มาจากข้างทิศตะวันออก

    04 ชุมชนต่างชาติที่มาจากข้างทิศตะวันตก

    05 บทสรุปและส่งท้าย

    เมื่ออ่าน "Downtown Ayutthaya" จบลง สิ่งหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ทิ้งไว้ให้กับผู้อ่าน คือ คำถามในเรื่องของความสำคัญและความจำเป็นสำหรับการหาคำตอบในเรื่องของความแตกต่างหลากหลาย ว่าในท้ายที่สุดแล้วการจะหาคำตอบว่า "อะไรแท้" และอะไรเป็นต้นตำหรับของอะไร โดยเฉพาะในภูมิภาคและสังคมที่มีการเคลื่อนไหวของผู้คน และมีความเคลื่อนไหลของวัฒนธรรมอยู่ตลอดเวลาอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ เท่ากับว่าเราจะจัดการความแตกต่างเหล่านั้นอย่างไรในปัจจุบัน เพราะในอดีตนั้น "Downtown Ayutthaya" ได้บอกให้ฟังแล้วว่าสยามจัดการกับความแตกต่างหลากหล่ายเล่านั้นอย่างไร

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in