เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
เหตุอยู่ที่ท้องถิ่น By เอนก เหล่าธรรมทัศน์
  • รีวิวเว้ย (1193) รีวิวเว้ย × สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    สมัยเรียนปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย อาจารย์หลายท่านมักพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า "ระบบที่คงทนถาวรมากที่สุดในประเทศไทย นับแต่ครั้งอดีตมาคือระบบราชการ" ระบบที่อยู่คู่กับสยามมานับตั้งแต่การปฏิรูปประเทศในช่วง พ.ศ. 2445 ในรูปลักษณ์ของ "ระบบราชการสมัยใหม่" และระบบดังกล่าวก็มีอายุยืนยาวมานับร้อยปี โดยที่โครงสร้างของระบบมีความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ความท้าทายและพลวัตของโลกที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ บนโลกใบนี้ก็แทบไม่สะทกสะท้านกับโครงสร้างของระบบราชการไทยเลยแม้แต่น้อย อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงครั้งที่ดูจะใหญ่หน่อยคือในช่วงเวลาของการ "ปฏิรูประบบราชการ" ในยุคของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และนับจากวันนั้นกระทั่งวันนี้ระบบราชการไทยก็ดูจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ระบบดังกล่าวกำลังเผชิญความท้าทายอย่างใหม่โดยเฉพาะเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างของประชากร แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่ากระทั่งในเวลานี้ (2566) ระบบราชการก็ยังดูเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
    หนังสือ : เหตุอยู่ที่ท้องถิ่น
    โดย : เอนก เหล่าธรรมทัศน์
    จำนวน : 102 หน้า

    หนังสือ "เหตุอยู่ที่ท้องถิ่น" เป็นหนังสือที่ถูกพิมพ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยมีที่มาจากหนังสือ "เหตุอยู่ที่ท้องถิ่น: ปัญหาการเมืองการปกครองระดับชาติอันสืบเนื่องจากการปกครองท้องถิ่นที่ไม่เพียงพอ" ที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2539 และหนังสือ "เหตุเกิดที่ท้องถิ่น" ที่ปรับมาจากหนังสือเล่มดังกล่าวก็ถูกตีพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2547 โดย "ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    การตีพิมพ์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2557 เนื้อหาของ"เหตุเกิดที่ท้องถิ่น" ก็ยังคงรักษาเนื้อหาจากการตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2539 เอาไว้ดังเดิม เนื่องจาก "ท้องถิ่นไทย" ยังคงอยู่ในลักษณะที่คล้ายและใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ "เหตุเกิดที่ท้องถิ่น" ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2539 ถึงแม้ปัจจุบัน (2566) ท้องถิ่นไทยอาจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ปัญหาและความท้าทายที่เป็นผลสืบเนื่องยาวนานที่ถูกตั้งข้อสังเกตไว้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ก็ยังคงยืนเด่นอย่างชัดเจนเช่นเคยมา ดังข้อความของผู้ที่ปรากฏอยู่ใน "เหตุอยู่ที่ท้องถิ่น" ที่ว่า

    "แต่ปรากฎว่าราชการภูมิภาคของสี่กรมนี้ (กรมธนารักษ์, กรมสรรพสามิต, กรรมสรรพากร และกรมบัญชีกลาง) ต่างคนต่างทำงานไปโดยแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แม้ทุกคนจะอยู่กระทรวงเดียวกัน การขอความร่วมมือจากกันและกันหรือเพียงขอข้อมูลจากกันและกันก็ทำได้ไม่ง่าย ..." (กรมาธิปไตย, น.35) ซึ่งเราจะเห็นว่าปัญหาดังกล่าวที่เคยถูกเขียนถึงเมื่อปี พ.ศ. 2539 กระทั่งปัจจุบัน (2566) ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่คู่กับระบบราชการของไทย และที่แย่ไปกว่านั้นคือโครงสร้างของปัญหาในระบบราชการดังกล่าว ยังถูกถ่ายทอดผ่านระบบราชการมาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน อันนำมาซึ่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลให้ระบบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และปัญหาในเรื่องของ "การกระจายอำนาจ" ของรัฐไทยที่ไม่แน่ใจว่าจะเรียกการกระจายอำนาจได้หรือไม่ทั้งในทางปฏิบัติและในทางทฤษฎี

    สำหรับเนื้อหาของ "เหตุอยู่ที่ท้องถิ่น" แบ่งออกเป็นบทต่าง ๆ ดังนี้

    (1) เกริ่นนำ

    (2) กรมมาธิปไตย

    (3) การปกครองท้องถิ่น

    (4) การทำให้ราชการและการปกครองสนองตอบต่อการเมืองมากขึ้น

    (5) เครือข่ายฝักฝ่ายระดับจังหวัด

    (6) บทปิดท้าย

    เมื่ออ่าน "เหตุอยู่ที่ท้องถิ่น" จบลง คำถามที่ตามมาเมื่ออ่านจบ คือ การถามหาความสมเหตุสมผลของการใช้ระบบราชการส่วนกลางและภูมิภาคในฐานะของกลไกในการ "กำกับดูแล" องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการมอบแนวนโยบายจากส่วนกลางเพื่อให้ท้องถิ่นดำเนินงานโครงการต่าง ๆ นั้น ในลักษณะแบบนี้ ระบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระบบการกระจายอำนาจของสังคมนี้ เมื่อไหร่ถึงจะเดินไปถึงวันที่ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตัวเองได้อย่างเต็มระบบ และท้องถิ่นสามารถจัดทำบริการสาธารณะที่ตอบสนองต่อประชาชนในแต่ละท้องถิ่นได้ตรงตามความต้องการ ในเมื่อระบบราชการยังคงทำหน้าที่ "กำกับดูแล" (ในเครื่องหมายคำพูด) อยู่เช่นนี้ ดังที่เคยเป็นมาในครั้งอดีต หากแต่เปลี่ยนรูปและเปลี่ยนคำเรียกให้ดูเป็นการกระจายอำนานมากขึ้นนิดนึง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in