รีวิวเว้ย (1129) อาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกเอาไว้ว่า "อาหารที่เป็นรสชาติแท้ ๆ ของชาติใดชาติหนึ่งมันไม่มีจริงหรอก เพราะบ้านของแต่ละคนต่อให้ทำอาหารแบบเดียวกันรสชาติของอาหารยังไม่เหมือนกัน บางบ้านเน้นหวานนำ บางบ้านเน้นเค็มนำ แล้วแบบนี้เราจะบอกว่ารสชาติบ้านไหนแท้กว่าบ้านไหนได้หรอ อีกอย่างกับข้าวบ้านเรามันมักจะอร่อยกว่ากับข้าวบ้านคนอื่นเสมอ เพราะเรากินมันด้วยความเคยชิน และสิ่งที่เป็นอนุรักษ์นิยมมากที่สุดในตัวเรา มันไม่ใช่ความคิดหรือสิ่งที่เรายึดถือ หากแต่เป็นอวัยวะเล็ก ๆ อย่าง "ลิ้น" ที่มันอนุรักษ์นิยมที่สุดในตัวตนของคนคนหนึ่ง เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหนเรามักจะคิดถึงอาหารที่บ้าน (บ้านเกิด) เสมอ"
นอกจากเรื่องของลิ้นกับความเป็นอนุรักษ์นิยมแล้ว ความน่าสนใจอีกประการก็อยู่ที่คำในภาษาไทยอย่าง "รสชาติ" ที่หมายถึง ลักษณะเฉพาะของอาหารที่รับรู้ได้ด้วยลิ้น เช่น รสขม รสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม และอูมามิ แล้วการเลือกใช้คำว่า "รส" ผสมร่วมเข้ากับ "ชาติ" ที่แปลว่า "การเกิด/กำเนิด" นั่นอาจจะเป็นการยืนยันได้ว่า "รสชาติ" คือรสของอาหารที่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิดเป็นรสของอาหารที่ลิ้นเราคุ้นชินและยากต่อการเปลี่ยนแปลง นี่ยังไม่นับร่วมความหมายของคำว่า "ชาติ" ในบริบทอื่น ๆ อีก ซึ่งการเลือกใช้คำว่า "รสชาติ" อาจจะมีอะไรที่มันมากมายไปกว่าเรื่องของอาหารก็เป็นได้ เผลอ ๆ อาจจะไปได้ไกลถึงคำว่า "ชาติ (nation)" ก็ได้มั้ง
หนังสือ : รสไทย (ไม่) แท้โดย : อาสา คำพาจำนวน : 228 หน้า"รสไทย (ไม่) แท้" ในชื่อเต็ม ๆ ของหนังสือว่า "รสไทย (ไม่) แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม" ซึ่งเป็นหนังสือที่ถูกปรับปรุงมาจากงานวิจัยเรื่อง "อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม: ประวัติศาสตร์ การกำหนดนิยาม และการเคลื่อนไหลเปลี่ยนผ่านระหวางอาหารอัตลักษณ์ สู่อาหารสร้างสรรค์ร่วมสมัย" (ชื่อวิจัยก็ยาว ชื่อหนังสือก็ยาว) หนังสือ "รสไทย (ไม่) แท้" มุ่งเน้นการแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของอาหาร "ไทย" ภายใต้วิธีคิดของ "การเมืองวัฒนธรรม (Cultural Politics)" (ซึ่งมันไม่เหมือนหรือไม่ใช่สิ่งเดียวกับ "วัฒนธรรมการเมือง (Political Cultural) แต่อย่างใด) หากแต่ถ้าต้องให่นิยาม "การเมืองวัฒนธรรม" แบบสั้นและกระชับเราเองคงให้นิยามมันว่า "การใช้อำนาจทางการเมืองผ่านมิติทางวัฒนธรรม เพื่อแย่งชิงการครอบครองความหมายหรือการกำหนดนิยามในสิ่งนั้น ๆ" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ อาหาร ศาสนา วรรณกรรม หนัง-ละคร เพลง สถาปัตยกรรม ฯลฯ (เอาเป็นว่าใครอยากเข้าใจเรื่องของ "การเมืองวัฒนธรรม" มากขึ้นแนะนำให้ลองอ่าน การเมืองวัฒนธรรมไทย ว่าด้วยความทรงจำ วาทกรรม อำนาจ ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ ดู) เอาเป็นว่า "รสไทย (ไม่) แท้" จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจในเรื่องของการช่วงชิงการกำหนดนิยามของความเป็น "อาหารไทย" และ "รสชาติไทย" ผ่านการย้อนดูประวัติศาสตร์ พัฒนาการ และที่มาที่ไปของความเป็นอาหารไทย และรสชาติของอาหารไทยที่เราเองก็อาจจะเคยกินมันมาแล้วหลายครั้งในชีวิตโดยเนื้อหาในหนังสือ "รสไทย (ไม่) แท้" แบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ ที่ในแต่ละส่วนนั้นจะมีบทความแยกย่อย ที่พาเราย้อนไปหาคำตอบของคำถามในเรื่องของรสชาติแบบไทย และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของรสชาติเหล่านั้น ผ่านเหตุการณ์และบริบทของสังคมจากอยุธยา รัตนโกสินทร์ สยาม กระทั่งถึงไทย ที่เรื่องของรสชาติแบบไทยแท้มีพัลวัตและพัฒนาการมาตลอดช่วงประวัติศาสตร์ โดยเนื้อหาของ "รสไทย (ไม่) แท้" แบ่งออกเป็นดังนี้(1) มีอะไรซ่อนอยู่ในอาหาร?: ทำความเข้าใจ "อาหารไทย" ผ่านมุมมอง "การเมืองวัฒนธรรม" (2) จาก "แม่ครัวหัวป่าก์" ถึง "รสไทยแท้": กระแสการช่วงชิงนิยามอาหารไทยในบริบทร่วมสมัย (3) อาหารไทยภายใต้สนามแห่งการช่วงชิงนิยาม: เส้นทางและตัวแสดงผู้กำหนดนิยามอาหารไทย(4) ถอดรูปทิพย์: อาหารไทยร่วมสมัย กับการผสานร่วม เปลี่ยนร่างแปลงกาย และสิ่งแสดงตัวตนเมื่ออ่าน "รสไทย (ไม่) แท้" จบลง สิ่งหนึ่งที่เราได้รับคือคำถามที่ว่า "คนเราจะแสวงหาความแท้จริงของรสชาติไปทำไม (?)" เพราะในบางครั้งเมื่อเราได้ลิ้มรสชาติของอาหารที่เขาบอกว่ารสชาติที่แท้ เราจะพบว่าบางจาน "แดกแทบไม่ได้" เพราะเราไม่คุ้นชิ้นกับรสชาติในลักษณะนั้น หรือกระทั่งการที่อาม่าเราทำกระเพราใส่ถั่วให้กินมาตลอดชีวิตเราและตลอดชีวิตอาม่า หากวันนึงเดินเข้าครัวไปบอกอาม่าว่า "ม่า ๆ กระเพราเขาไม่ใส่ถัวฝักยาว และไม่ใช้พริกแห้งผัดนะ" เชื่อได้ว่ามื้อนั้นอาจจะได้ออกไปแดกข้าวนอกบ้าน และอาจจะต้องออกไปแดกนอกบ้านอีกหลาย ๆ มื้อ "รสไทย (ไม่) แท้" พาเราย้อนกลับไปถึงจุดที่หนังสือบอกกับเราว่า "มึงจะซีเรียสเรื่องรสชาติไทยแท้ หรือไม่ไทยแท้ไปทำไม ในเมื่อของทุกอย่างมันมีพลวัตของมันทั้งนั้นแหละ" เหมือนคำของ อ.ยิ่งศักดิ์ที่ว่า "กินได้ก็กิน กินไม่ได้ก็ทิ้งไป" ก็แค่นั้นเอง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in