รีวิวเว้ย (762) "ประวัติศาสตร์ คือ การบันทึกเรื่องราวโดยผู้ชนะ และประวัติศาสตร์มักจะบันทึกเรื่องราวที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้บันทึกประวัติศาสตร์" ประโยคดังกล่าวคือข้อความที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเวลาที่มีการพูดถึงเรื่องของการเขียนประวัติศาสตร์ หรือมีการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นภาพในบางด้านของความจริงที่เก็บซ่อนอยู่เบื้องหลังประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนขึ้นของประเทศหนึ่ง และของสังคมหนึ่ง หลายครั้งประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนขึ้นมาก็ทำหน้าที่เพียงเพื่อ "รับใช้" อุดมการณ์บางอย่างของคนบางกลุ่มก็เพียงเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นประวัติศาสตร์จึงมักมีข้อมูลหรือชุดความจริงที่มากกว่า 1 ชุดเสมอ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของรัฐชาติ บางครั้งเราอาจจะเชื่อไม่ได้เลยว่าประวัติศาสตร์ที่เราเรียนรู้มาตลอดชีวิตเป็นเรื่องจริง หรือเป็นเพียงบันทึกที่จะใช้สร้างความชอบธรรมของคนบางกลุ่มก็เพียงเท่านั้น
หนังสือ : กบฏชาวนา
โดย : รณชิต คูหา แปล ปรีดี หงษ์สต้น
จำนวน : 613 หน้า
ราคา : 700 บาท (ปกแข็ง)
"กบฏชาวนา" หรือในชื่อเต็มว่า "กบฏชาวนา: มูลฐานจิตสำนึกในอินเดียยุคอาณานิคม" งานศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศอินเดีย ในช่วงที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ หรือที่หลายคนเรียกมันว่า "อินเดียในยุคอาณานิคม" ที่หลายครั้งหลายหนประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาของการเจริญงอกงามของลัทธิล่าอาณานิคม มักจะมีการเขียนบันทึกและทำบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ในรัฐอาณานิคมโดยเจ้าอาณานิคม หรือกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์จากเจ้าอาณานิคมอีกต่อหนึ่ง โดยเราจะเห็นลักษณะของการเขียนประวัติศาสตร์แบบ เจ้าอาณานิคมคือพระเอก และเหตุที่เกิดขึ้นในดินแดนอาณานิคมคือความเลวร้ายที่เจ้าอาณานิคมต้องเผชิญ หรือต้องดำเนินการเพื่อปัดเป่า
"กบฏชาวนา" คือหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของ "การกบฏ" ที่เกิดขึ้นในอินเดียในช่วงของการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่แตกต่างกับงานประวัติศาสตร์ ยุคอาณานิคมอื่น ๆ ตรงที่ "กบฏชาวนา" คือการเขียนเรื่องราวประวัติศาสตร์จาก "มุมมองของชาวนา" ผู้ที่ถูกเขียนโดยเจ้าอาณานิคมว่าเป็น "กบฏ"
"กบฏชาวนา" บอกเล่าเรื่องราวของเหตุการณ์ของการกบฏของชาวนาในอินเดียในช่วงเวลาของการตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ที่เป็นการสะท้อนให้เห็นืศนะและการต่อสู่ของ "คนตัวเล็ก" ต่อเจ้าอาณานิคม ที่นอกเหนือไปจากการต่อสู้ของ "คานธี" ในยุคหลังของหลาย ๆ เหตุการณ์กบฏชาวนาในหลายพื้นที่ของอินเดียแล้ว ซึ่งนับเป็นการยืนยันและแสดงให้เห็นว่าภายใต้เงื่อนไขของการครอบงำและความน่ายำเกรงของเหล่าเจ้าอาณานิคมผู้กดขี่ จะยังมีพลังของการต่อต้าน ต่อสู้ ขัดขืน เกิดขึ้นเสมอ และพลังเหล่านั้นหากพายแพ่ก็จะกลาบเป็น "กบฏ" ที่ถูกเขียนเรื่องราวโดยเหล่าเจ้าอาณานิคม (ผู้ชนะ) แต่ภายใต้การกดปราบนั้นก็เป็นการยืนยันให้ได้เห็นแล้วว่าพลังของคนเล็กคนน้อยในสังคมก็นับเป็นพลังที่สำคัญ ที่หลายครั้งมันกลายมาเป็นรากฐานของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ และนำพาไปสู่การสิ้นสุดของบางสิ่งและเริ่มต้นใหม่ของบางอย่าง ต่อให้การต่อสู้เรียกร้องกี่ครั้งก่อนหน้าจะพ่ายแพ้และถูกตราหน้าว่าเป็น "กบฏ" ก็ตามที หากแต่เมื่อถึงเวลารากฐานที่สั่งสมมาจะนำพามาสู่การเปลี่ยนแปลงในจุดสุดท้ายของเส้นทาง เหมือนเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ปรากฎขึ้นใน "กบฏชาวนา" ที่บอกกับเราว่า "ความเปลี่ยนแปลงจะมาถึงได้ในสักวันข้างหน้า"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in