รีวิวเว้ย (699) สมัยเด็ก ๆ (2000s) เรามักได้ยินผู้ใหญ่หลายคนพูดว่า "การเมืองเป็นเรื่องสกปรก" และผู้ใหญ่เกือบทุกคนที่เราพบเจอก็จะมีทัศนะในแบบที่ว่า "อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง" สืบเนื่องมาจากการมองการเมืองเป็นเรื่องไม่ดี เลวร้ายและมองว่ามันเป็นสิ่งสกปรก กระทั่งในช่วงเวลานั้นมีคำเรียกแทนองค์กรทางการเมือง อาทิ อบต. ก็มีคำเรียกแทนว่า อาจบาดเจ็บถึงตาย หรือ อมทุกบาททุกสตางค์ โดยคำเหล่านั้นคือการสะท้อนทัศนะของการมองสิ่งที่ถูกเรียกว่า "การเมือง" ในสองลักษณะนั่นคือลักษณะแคบ คือ การมองว่าการเมืองเทียบเท่ากับหน่วยงานทางการเมืองหรือหน่วยทางการเมืองในความรับรู้อย่าง นักการเมือง พรรคการเมือง การเมืองท้องถิ่น นายก รัฐมนตรี สมาชิสภาผู้แทนราษฎร สิ่งเหล่านี้คือการสะท้อนทัศนะในเรื่องของการเมือง "อย่างแคบ" ในลักษณะแรก ในลักษณะต่อมาคือการขยายมิติในการมองการเมืองลักษณะแคบไปสู่การมองการเมืองผ่านมิติของ "ความเลว" ทำให้ในช่วงเวลาที่เราเติบโตขึ้นมา การเมืองจึงถูกทำให้เป็น "เรื่องไกลตัวและเลวทราม" ที่มิควรเอาตัวเข้าไปเกลือกกลั้ว ทั้งที่ในความจริงแล้วความหมายของการเมือง มิได้จำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะเพียงในนิยามดังกล่าวตามที่เราเคยถูกผู้ใหญ่หลายคนบอกให้เข้าใจ หากแต่การเมืองมันมีมิติที่ซับซ้อน หลากหลาย ไหลเลื่อนและครอบคลุมกว้างไกลกว่านั้นมากมายนัก
หนังสือ : การยึดมั่นในอาชีพการเมือง
โดย : มักซ์ เวเบอร์ แปล กมลรัตน์ ศิลประเสริฐ
จำนวน : 168 หน้า
ราคา : 200 บาท
"การยึดมั่นในอาชีพการเมือง" เป็นหนึ่งในหนังสือที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของการนิยามการเมืองที่แตกออกเป็นหลายลักษณะดังที่ำด้กล่าวไปก่อนหน้า ไม่ใช่เพียงเพราะว่าการเมืองคือเรื่องของคนดี คนเลว โครงสร้าง หรือไม่โครงสร้างแต่เพียงเท่านั้น หากแต่การเมืองกระจายตัวอยู่ในหลากอณูหลายพื้นที่กว่าที่เราเคยเข้าใจกัน
"การยึดมั่นในอาชีพการเมือง" เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของ "การยึดมั่นในอาชีพการเมือง" ตามทัศนะของ "มักซ์ เวเบอร์" นักวิชาการ นักคิด นักการเมือง และอีกหลาย ๆ นัก ที่นับได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ส่งอิทธิพลต่อวงการการศึกษาสังคมศาสตร์ ที่ได้มีการหยิบยกเอากรอบคิดและวิธีการศคกษาที่เวเบอร์ได้วางรากฐานไว้มาใช้ในการสร้างคำตอบ แสวงหาความเข้าใจในหลากหลาบปรากฎการณ์ในการศึกษาสังคมศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องของ การบริหารระบบราชการ (Bureaucracy) และ การครอบงำ (Domination) ซึ่งยังคงมีอีกหลายทฤษฎีที่เป็นผลงานของเวเบอร์ที่ส่งผลต่อวงการวิชาการ
หนังสือ "การยึดมั่นในอาชีพการเมือง" นับเป็นอีกหนึ่งการสะท้อนทัศนะของเวเบอร์ที่มีต่อการมองในเรื่องของอาชีพการเมือง ว่าแท้จริงแล้วอาชีพการเมืองจำเป็นและเหมาควรที่จะมีการดำเนินการ ขั้นตอน และจุดมุ่งหมายของอาชีพการเมืองอย่างไร และบรรดาผู้ประกอบอาชีพการเมืองทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องยึดมัน เข้าใจ และเชื่อถือในสิ่งใด ซึ่งการ "การยึดมั่นในอาชีพการเมือง" ของเวเบอร์อาจจะไม่เคยมีขึ้นเลยในนักการเมืองของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่นักการเมืองในระบบของไทยอาจจะไม่ได้มีอาชีพการเมือง หากแต่มีอาชีพเป็นข้าราชการโดยเฉพาะทหารมาก่อน เมื่อเป็นเช่นนั้นการจะให้คนเหล่านั้นเชื่อถึง "การยึดมั่นในอาชีพการเมือง" คงเป็นเรื่องตลกสิ้นดี เพราะนักการเมืองไม่อาชีพบางคนยังมีเซลล์สมองแค่ 84,000 เซลล์อยู่เลย น้อยเสียยิ่งกว่าสัตว์เลื้อยคลานเสียอีก
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in