รีวิวเว้ย (671) ช่วงหลายปีมานี้เรามักได้ยินคำว่า "วิกฤติ" อยู่ในหลากหลายบทสนทนา รวมถึงมันยังไปโผล่อยู่ต่ามที่ต่าง ๆ มากมายหลายแห่ง โดยเฉพาะเมื่อการเกิดขึ้นของ COVID-19 ก็ยิ่งทำให้คำว่า "วิกฤติ" ผุดขึ้นในสังคมบ่อยครั้งพอ ๆ กันกับคำว่า "สวัสดี" ในภาษาไทย เมื่อเราพิจารณาจากความหมายของคำว่าวิกฤติเราจะพบว่ามันมีความหมายในลักษณะของคำวิเศษว่า "อยู่ในขั้นล่อแหลมต่ออันตรายเช่น การเมืองอยู่ในขั้นวิกฤติ, มักใช้แก่เวลาหรือเหตุการณ์ เป็นวิกฤติกาล หรือ วิกฤติการณ์, อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ เช่นมุมวิกฤติ จุดวิกฤติ" ซึ่งหลังจากหาความหมายตามที่ต่าง ๆ เราก็พบว่ามันยังคงไม่เข้าใจอยู่เช่นเคย แต่หากจะให้ลองสรุปออกมาเป็นข้อความสั้น ๆ ตามความเข้าใจของเราเอง อาจจะกล่าวได้ว่า "วิกฤติ" คือช่วงเวลาที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่บางสิ่งหรือบางสถาณการณ์ที่อาจจะดีหรือร้ายก็ได้ เมื่อเป๋นเช่นนั้นเวลาที่ใครพูดถึงคำว่า "วิกฤติ" มันอาจจะไม่ได้แย่หรือเลวร้ายเสมอไป หากเราตั้งรับ ปรับตัว แก้ไข ภาวะวิกฤติเหล่านั้นได้ทัน แต่ในสังคมไทยแล้วโดยส่วนใหญ่ "วิกฤติ" มักนำพาไปสู่ "ความชิบหาย" ทั้งที่อาจจะควบคุมมันได้ตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำไป
หนังสือ : ปัญญา {ฝ่า} วิกฤติ
โดย : ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
จำนวน : 310 หน้า
ราคา : 450 บาท
"ปัญญา {ฝ่า} วิกฤติ" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของการขยายความคำว่า "วิกฤติ" ให้มันมาลงจังหวะกับช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของ "สยาม-ไทย" ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ช่วงก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ การเปลี่ยนแปลงพระมหากษัตริย์ของสยาม-ไทย การปฏิรูปการปกครอง 2445 การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กระทั่งเรื่องราวของการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่อาจจะเรียกได้ว่าแต่ละช่วงของเหตุการณ์ต่าง ๆ นับเป็นช่วง "วิกฤติ" ของสยาม-ไทย
นอกจากนั้น "ปัญญา {ฝ่า} วิกฤติ" ยังได้นำเอาบริบททางช่วงเวลาของสยาม-ไทย ที่เกิดขึ้นในช่วงประวัติศาสตร์มาสวมลงกับบริบททางประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์ในระดับโลก อาทิ สงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจในช่วง ค.ศ. 1929 หรือที่คนทั่วโลกขนานนามว่า The Great Depression ที่เหตุการณ์เหล่านี้ต่างส่งผลกระทบในระดับของภาพกว้างและภาพรวมในระดับโลก ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นนับเป็นหนึ่งในผลกระทบของวิกฤติที่ส่งแรงกระทำมาถึงสยาม-ไทย ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับเหตุการณ์ในระดับสากล
ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า "ปัญญา {ฝ่า} วิกฤติ" นับเป็นหนังสือที่ฉายให้เห็นภาพของความสำคัญ และความสัมพันธ์ของ "วิกฤติ" ของสยาม-ไทย ที่ไปผูกโยงอยู่กับบริบทสากล
ข้อสังเกตุประการหนึ่งของเราที่มีต่อ "ปัญญา {ฝ่า} วิกฤติ" อาจจะสรุปออกมาได้ดังนี้ หลังจากที่อ่าน "ปัญญา {ฝ่า} วิกฤติ" ของ ภิญโญ จบลง มันทำให้เราคิดขึ้นมาได้ว่า หนังสือของ "ภิญโญ" ถูกออกแบบและถูกเขียนขึ้นมา ไม่ใช่สำหรับคนที่ไม่มีพื้นความรู้พื้นฐานบางประการในการอ่าน
อย่างเล่มปัญญาฯ ก็ผูกโยงเอาหลายอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งไม่ต่างจากชุดหนังสือก่อนหน้า แต่อาจจะหนักข้อกว่าตรงที่หนังสือชุดปัญญาฯ มันตัดข้ามกันไปมาระหว่าง "สยาม" กับ "สากลโลก" ภายใต้กรอบวิธีเล่าหลักที่ว่าด้วยเรื่องของการ "Disruption" เมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คือการ "Disruption" ของ "สยามประเทศ"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in