รีวิวเว้ย (537) หลายคนเคยพูดเอาไว้ว่า "สังคมไทยไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา" ความไม่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว คงจะไม่ได้หมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและความเจริญขึ้นของเมืองแต่ละเมืองในแง่ของ "วัตถุ" ที่สามารถจับต้องได้ หากแต่สิ่งที่ "ไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย" ในรอบหลายปีของสังคมไทย คงหนีไม่พ้นเรื่องของสังคมไทยในมิติของสิ่งที่เป็นนามธรรม อย่าง การปกครอง ประชาธิปไตย การรัฐประหาร ความไม่สงบ ความเหลื่อมล้ำ ชนชั้นทางสังคม และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่เราก็ยังคงทนอยู่กับมันมาได้ตั้งหลายสิบปี เผลอ ๆ สังคมของเราอาจจะอยู่กับมันมานานแล้วเป็นเวลาหลายร้อยปีก็อาจจะเป็นไปได้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ "ความไม่เปลี่ยนแปลง" ดังกล่าวกำลังถูกสั่นคลอน ตั้งคำถาม ท้าทาย และถูกทบทวนอีกครั้งด้วย "คนรุ่นใหม่" ของสังคมนี้ ที่เราอาจจะเรียกสภาวะของอาการดังกล่าวได้ว่าอาการ "ตาสว่าง" ที่ก่อให้เกิดการท้าทายและตั้งคำถามถึงความสำคัญและความสมเหตุสมผลของสิ่งบางสิ่งในสังคมไทย ของของบางอย่างที่เกาะกุมและกัดกินสังคมไทยมาอย่างเนินนาน และเมื่อไม่นานมานี้ สังคมไทยกำลังค่อย ๆ ลืมตาตื่น และทุกคนที่กำลังตื่นขึ้น ก็กำลังเผชิญกับอาการ "ตาสว่าง" ด้วยกันแทบทุกคน น่าสนใจว่านับจากนี้ไป เบื้องหลังที่หลอกลวงและปิดตาคนในสังคมอยู่จะทำเช่นไร เมื่อสิ่งใด ๆ ที่คาดคิด อาจจะถูกตั้งคำถามและท้าทายมากยิ่งขึ้น จากสังคมที่กำลังลืมตาตื่นขึ้น และค่อย ๆ เห็นภาพที่ถูกทำลางเลือนอย่างชัดเจนมากขึ้นในทุก ๆ นาทีที่กำลังผันผ่านไป
หนังสือ : ตาสว่าง
โดย : แปล นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ
จำนวน : 224 หน้า
ราคา : 395 บาท
หนังสือเรื่อง "ตาสว่าง" ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่าจะเรียกหนังสือเล่มนี้ว่าหนังสืออะไรดี (?) ระหว่างหนังสือนิยาย หนังสือนิยายภาพ หนังสือการ์ตูน หรือหนังสือนิยายที่มีภาพประกอบออกไปในแนวของภาพการ์ตูน ซึ่งการหานิยามให้กับอะไรบางสิ่งหรือของบางอย่าง มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พึงคิดว่าจะกระทำก็จะทำได้ทันทีทันใด
"ตาสว่าง" จัดเป็นหนังสือที่อยู่ในชนิดของสิ่งพิมพ์ที่บอกไปในตอนต้น ซึ่งใครจะนิยามอย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่ความน่าสนใจจริง ๆ ของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การบอกเล่า โดยที่หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทย ผ่านวิธีการบอกเล่าด้วยชีวิตของคนที่อาจจะนิยามได้ว่าเป็น "คนเสื้อแดง" เป็นตัวดำเนินเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้
โดยที่ผู้เขียน ได้ถ่ายทอกมุมมองของเรื่องเล่าของ "ตาสว่าง" ผ่านแนวทางของการศึกษาทางด้านสังคมวิทยา ทั้งจากการสัมภาษณ์ การเก็บข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ การรวบรวมหลักฐานที่ถูกบันทึกเอาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ เพื่อนำมาสร้างเป็นเรื่องราวของอาการ "ตาสว่าง" ของหนังสือเล่มนี้
ด้วยรูปแบบของการตีแผ่ชีวิตของ "คนธรรมดา ๆ" คนหนึ่งของสังคมต่างจังหวัด ที่เดินทางเข้ามาหางานทำให้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ และเส้นทางชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงและพลิกผันอยู่ตลอดเวลา จนอาจจะเรียกได้ว่ามันคือภาพแทนของคนต่างจังหวัดที่ต้องเข้าเมืองมาเพื่อต่อสู้ดิ้นรนหางาน หาเงิน เพื่อส่งกลับไปให้กับครอบครัวของตนเองในต่างจังหวัด อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ ยังได้เอาชีวิตของตัวเอกมาทาบทับลงในเหตุการณ์ต่าง ๆ ทางการเมืองของไทย ที่กลายมาเป็นปัจจัยที่กำหนดสภาพการเมืองไทยอยู่ในปัจจุบันนี้ด้วย ทั้งเรื่องของการรัฐประหาร การยึดอำนาจ การกราดยิงประชาชน และในท้ายที่สุดก็นำพามาสู่เรื่องของการตั้งคำถามถึงเรื่องของคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ว่าในท้ายที่สุดแล้วในทึกการต่อสู่ ดิ้นรน เรียกร้องต่าง ๆ นั้น ต่างแลกมากด้วยเลือดเนื้อ น้ำตา และชีวิตของคนไทยที่หลายครั้งถูกมองว่าเป็นเพียง "หมากและเบี้ย" ในกระดานอำนาจของคนบางกลุ่มก็เพียงเท่านั้นเอง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in