รีวิวเว้ย (418) เวลาพูดถึง "สงครามเย็น" เรามักจะนึกถึงอะไร (?) หลายคนคงนึกถึงสงครามที่หยิบเอาหิมะมาปาใส่กัน บ้างนึกถึงสงครามที่เอาปืนฉีดน้ำไล่ฉีดกัน บ้างนึกถึงสงครามที่เกิดขึ้นในแถบขั้วโลก (เพราะมันเย็น) แต่สงครามเย็นไม่ได้มีความหมายถึง "อุณหภูมิ" ของอากาศในแบบที่จับต้องได้ แต่มันหมายถึงสงครามที่เกิดจากสภาวะของความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองของโลกเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริการเป็นผู้มีบทบาทนำ กับอุดมการณ์โลกคอมมิวนิสต์ที่มีโซเวียตและจีนเป็นผู้มีบทบาทนำของค่าย แน่นอนว่านอกจากคำว่า "สภาวะสงครามเย็น" ถูกนำมาใช้แทนคำเปรียบเทียบของความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามโดยไม่ใช้อาวุธและคสามรุนแรงแบบสมัยสงครามโลก แต่ในยุคสงครามเย็นก็ใช่ว่าจะไม่มีสงครามที่ใช้อาวุธระหว่างกันเสียเมื่อไหร่ สมรภูมิสงครามในช่วงเวลานี้เกิดขึ้นภายนอกพื้นที่ของมหาอำนาจโดยแต่สงครามเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เกิดการพิพาทกันของ 2 ขั้วอุดมการณ์ โดยสภาวะสงครามดังกล่าวถูกขนานนามว่า "สงครามตัวแทน" (Proxy War) และด้วยการก่อเกิดขึ้นของสภาวะความขัดแย้งทางอุดมการณ์ที่ดำเนินไปในลักษณะของสงครามเย็นนี้เอง ได้ก่ให้เกิดพัฒนาการและการพัฒนาอะไรหลาย ๆ อย่าง หลาย ๆ ด้านจากโลกทั้ง 2 ขั้ว ไล่ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ง่าย ๆ ไปกระทั่งถึงการขับเคี้ยวกันในเรื่องของการพัฒนาทางด้านอวกาศในโครงการที่ใช้ชื่อว่า Star War (เหมือนชื่อของหนัง) หรือแม้กระทั่งการก่อกำเนิดโครงการสายลับและหนังสายลับต่าง ๆ ก็ได้อิทธิพลของสงครามเย็นเข้าไปเต็ม ๆ ซึ่งนอกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว คุณค่าของสภาวะสงครามเย็นอีกประการหนึ่ง คือ "การช่วยเหลือในด้านการพัฒนา" เพื่อป้องกันการแพร่ขยายของภัยคอมมิวนิสต์ อย่างไทยเองเป็นประเทศที่รับบุญจากการขับเคี้ยวกันของ 2 ขั้วอุดมการณ์ไปเต็ม ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินอุดหนุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เงินช่วยเหลือในเรื่องของการบริหารจัดการความรู้ กองทุนวิจัย และรวมไปถึงเงินที่ใช้พัฒนาบุคลากรในวงการวิชาการ ส่วนใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็เป็นผลจากการใช้ Soft Power ผ่านการศึกษาและการให้ทุนการศึกษาเพื่อให้วงการวิชาการของเรารับเอาแนวคิดแบบจักรวรรดินิยมอเมริกัน มาเป็นกลจักรในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป
หนังสือ : เขียนชนบทให้เป็นชาติ
โดย : เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
จำนวน : 184 หน้า
ราคา : 200 บาท
"เขียนชนบทให้เป็นชาติ" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของวงการการศึกษาวิชา "มนุษยวิทยาและสังคมวิทยา" โดยเฉพาะในขอบข่ายของวิชา "ชนบทศึกษา" อาจจะเรียกได้ว่านิยามหรือการทำให้เป็นชนบทของไทย (สมัยใหม่) ได้รับอิทธิพลมาจากช่วงเวลาของการขับเคี้ยวกันของอุดมการณ์โลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์ โดยที่ในช่วงเวลาดังกล่าวคำว่าหมู่บ้าน และพื้นที่ชนบทได้รับการให้ความสำคัญและให้ความสนใจโดยวงการวิชาการด้านมนุษยวิทยา จากสหรัฐเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะภายหลังการกลายเป็นคอมมิวนิสต์ของเสียดนาม
เนื่องด้วยกลไกของการป้องกันการแพร่กระจายของภัยคอมมิวนิสต์ที่อาจจะเกิดขึ้นในไทย ภายหลังจากที่ประเทศโดยรอบถูกอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ครอบงำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้ได้ถูกให้ความสำคัญในฐานะของ "ที่มั่นสุดท้าย" ที่จะใช้เป็นพื้นที่ในการยันการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่สหรัฐได้ให้การสนับสนุนการตั้งมั่นในครั้งนั้นในทุกวิธีทาง และหนทางของการจัดการองค์ความรู้ในเรื่องของหมู่บ้านชนบท ที่อาจจะกลายเป็นฐานที่มั่นสำคัญของคอมมิวนิสต์ (ตามยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง) ถูกให้ความสำคัญในการศึกษาหาข้อมูลหมู่บ้าน จัดทำแผนที่ ศึกษาพฤติกรรมของคนในหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลทั้งชาวไทยภูเขาและคนในพื้นที่ภาคอีสาน
ด้วยการดำเนินยุทธศาสตร์ในลักษณะนี้ของสหรัฐ ทำให้การใช้องค์ความรู้ทางวิชาการในด้านมนุษยวิทยาเข้ามาจัดการจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการศึกษาภูมิศาสตร์ที่ตั้งของหมู่บ้าน พฤติกรรมของชาวบ้าน วัฒนธรรม ประเพณี และข้อมูลอื่น ๆ โดยละเอียดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลเอาไว้ ปัจจัยเหล่านี้เอง ทำให้วงการการศึกษาด้านมนุษยวิทยาและสังคมวิทยาถูกสถาปนาขึ้นในสังคมไทยในช่วงเวลานั้น เพื่อเป็นกลจักรในการขับเคลื่อนแนวทางในการดำเนินงานของมหาอำนาจอย่างอเมริกาในช่วงเวลาดังกล่าว
โดย "เขียนชนบทให้เป็นชาติ" ได้ทำหน้าที่ในการบอกเล่าเรื่องราว พัฒนาการ ที่มา ที่ไป เบื้อหลังและแนวความคาดหวังแอบแฝงต่อการพัฒนาวงวิชาการทางด้านมนุษยวิทยาของไทยโดยสหรัฐเอาไว้ได้อย่างสนุกสนาน ทั้งเรื่องของการตั้งศูนย์วิจัยชาวเขา ศูนย์วิจัยประชากร การก่อตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาค รวมไปถึงการนำเอางานวิจัยทางด้านมนุษยวิทยาไปใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติการโดยกองทัพและฝ่ายคสามมั่นคง ทั้งของไทยและของสหรัฐ
"เขียนชนบทให้เป็นชาติ" ได้ชี้ชวนให้เราเห็นภาพและทำความเข้าใจถึงวงการวิชาการ ว่าในหลายครั้งวิชาการเองก็แยกขาดออกจากการรับใช้สิ่งหนึ่งสิ่งใด (รัฐ) ไม่ขาดและอาจจะไม่มีวันแยกขาดออกจากกันได้ เพราะเมื่อเราย้อนดูเป้าประสงค์ของการก่อตัวของวิชาการหลาย ๆ แขนง ในหลายครั้งการก่อตัวขึ้นของพวกมันก็มีขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง (รัฐ) เสมอ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in