เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
สื่อไทยในวิกฤต การเมืองเปลี่ยนผ่าน By พิจิตรา สึคาโมโต้
  • รีวิวเว้ย (364) "Disruption, Disruptive, Disrupt" คำเหล่านี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราน่าจะเคยเห็นหรือได้ยินคำเหล่านี้ปรากฏอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งทางสื่อสังคมออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งตามวงสนทนา ยิ่งกับใครที่มีเพื่อนทำงานในสายสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ด้วยแล้ว เรามักจะพบว่าคำเหล่านี้ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในบทสนทนา หลายครั้งมันปรากฏกายในฐานะของ "ผู้ร้าย" และในหลายหนมันปรากฏกายในฐานนะของ "พระเอก" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวของคำและตัวของมันเอง ล้วนเกิดขึ้นมาจากการประกอบสร้างบางประการที่ผูกสัมพันธ์อยู่บนฐานของความสัมพันธ์แบบ "ดี-ร้าย" กับตัวบุคคลที่กำลังให้นิยาม ความจำกัดคำและกำลังพูดถึงมันอยู่ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ 
    หนังสือ : สื่อไทยในวิกฤต การเมืองเปลี่ยนผ่าน เทคโนโลยีปั่นป่วน
    โดย : พิจิตรา สึคาโมโต้
    จำนวน : 151 หน้า
    ราคา : 140 บาท

    เอาเข้าจริงแล้วความหมายของคำว่า "Disrupt" ตามการให้ความหมายของ MERRIAM-WEBSTER ได้ให้นิยามความหมายของคำดังกล่าวเอาไว้ว่า "to break apart" หรือ "to throw into disorder" เมื่อพิจารณาจากตัวอย่างความหมายทั้ง 2 ความหมายที่ยกมา จะพบว่า "Disrupt" อาจนิยามได้ว่า หมายถึง การกระทำให้ (1) หยุดชะงัก (2) พังทลาย หรือ (3) สั่นคลอนความเป็นปกติสุขอย่างที่เคยเป็นมา เมื่อคำว่า "Disrupt" มาพบเจอกับสื่อทั้งรูปแบบของสื่อเก่าและสื่อใหม่ วงการสื่อย่อมต้องถูกสั่นคลอน ทำให้หยุดชะงัดและหลายสื่อพังทลายลงเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวเพื่อต่อสู้กับกระแสของการ "Disrupt" ได้ นี่เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับวงการสื่อไทยในรอบ 3-5 ปีที่ผ่านมานี้ เราสามารถเห็นได้ว่าสื่อหลายหัว หลายสำนักมีการปรับตัวเองเพื่อต่อสู้กับกระแสของการ "Disrupt" และสื่ออีกหลายสำนักต้องลดขนาดตัวเองลง และอีกหลายหัวต้องปิดตัวลงอย่างถาวร อย่างกรณีของ "คู่สร้างคู่สม" และอีกหลาย ๆ หัวและหลาย ๆ ชนิดสื่อที่เผชิญกับปัญหาดังกล่าว

    แต่ "Disrupt" ไม่ใช่กลไกหนึ่งเดียวที่ยังผลให้สื่อในประเทศไทยขยับเข้าสู่สภาวะวิกฤต ในหนังสือ "สื่อไทยในวิกฤต การเมืองเปลี่ยนผ่าน เทคโนโลยีปั่นป่วน" ที่พัฒนาขึ้นมาจากงานวิจัยชิ้นนี้ ได้นำเสนอแนวคิดในเรื่องของวิกฤตสื่อของไทยว่าแท้จริงแล้วสาเหตุของการเปลี่ยนผ่านของสื่อไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมานอกจากเจอกระแสการปั่นป่วนของเทคโนโลยีแล้วยังมีกลไกที่สำคัญอื่นอีกที่ยังผลให้สื่อไทยเกิดภาวะวิกฤต นั่นคือกลไกของ "การเมือง" ที่เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ทำให้สื่อของไทยเข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่าวิกฤตของวงการสื่อสารมวลชน

    โดย "สื่อไทยในวิกฤต การเมืองเปลี่ยนผ่าน เทคโนโลยีปั่นป่วน" ได้ถอกรหัสแนวทางของการตกต่ำของวงการสื่อไทยเอาไว้ ว่าเกิดจากปัจจัย 3 ประการที่ยังผลให้สื่อเกิดการตกต่ำ อันได้แก่ (1) ความขัดแย้งทางการเมืองที่สุดโต่ง กระทั่งส่งผลให้เกิดกลไกในการควบคุมสื่ออย่างเคร่งครัดโดยรัฐบาล (2) การทำหน้าที่ของสื่อที่เกิดความบกพร่องในเรื่องของการเซ็นเซอร์ตัวเองและการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ฝักฝ่ายทางการเมือง (สื่อเลือกข้าง) และ (3) การปั่นป่วนของเทคโนโลยีดิจิทัลและออนไลน์ (น.132) จากปัจจัยทั้ง 3 ประการดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่ากลไกที่เกิดขึ้นมาจากทั้งภายนอกและภายในอย่างกลไกทางการเมืองและกระแสโลกเองก็ยังผลให้เกิดสภาวะถดถอยของวงการสื่อมวลชนไทยเป็นสำคัญ

    "สื่อไทยในวิกฤต การเมืองเปลี่ยนผ่าน เทคโนโลยีปั่นป่วน" ได้นำเสนอข้อมูลทั้งเรื่องของการเปลี่ยนแปลงและปั่นป่วนในวงการสื่อโดยเทคโนโลยีและกระแสการเมืองในรอบหลาย 10 ปีที่ยังผลให้เกิดกลไกในการควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อ และบทบาทของรัฐในฐานะของผู้มีอำนาจในการควบคุมกลไกต่าง ๆ ภายใต้ข้อความอันไร้น้ำหนักที่ว่าด้วย "เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม" ส่งผลให้ในรอบหลาย 10 ปีมานี้วงการสื่อไทยต้องปรับตัวอย่างยกให้ "สื่อไทยในวิกฤต การเมืองเปลี่ยนผ่าน เทคโนโลยีปั่นป่วน" ได้เก็ยรวบรวมสถิติของสิ่งที่เกิดขึ้นกับสื่อไทยในรอบหลายสิบปี พร้อมทั้งได้อธิบายให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและการถดถอยของสื่อผ่านทฤษฏีทางวิชาการทั้งทางด้านสื่อสารมวลชนและทางด้านรัฐศาสตร์

    อาจจะเรียกได้ว่า "สื่อไทยในวิกฤต การเมืองเปลี่ยนผ่าน เทคโนโลยีปั่นป่วน" ชักชวนให้เราได้ลองเปิดมุมมองความคิดใหม่ ๆ ว่า ที่ในปัจจุบันสื่อไทยกำลังเปลี่ยนแปลงและถดถอยครั้งใหญ่ บางครั้งมันไม่ได้มาจากกลไกของการ "Disrupt" แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่กลไกของการเมืองและระบบการเมืองเอง ก็เป็นตัวที่ทำให้วงการสื่อไทยเดินมาถึงสภาวะวิกฤตดังที่เป็นอยู่ ณ ห่วงเวลานี้เช่นกัน โดยเฉพาะผลจากการกระทำของรัฐบาลที่ "ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in