รีวิวเว้ย (320) ใครกันที่บอกว่าพอโตแล้ว เราไม่มีสิทธิที่จะทำตัวเป็นเด็ก หรือกลับไปแสวงหาความสุขแบบเด็ก ๆ ได้อีก (!!!) ทั้ง ๆ ที่ความเป็นเด็กหรือช่วงเวลาแบบเด็ก ๆ มันอาจจะช่วยมห้เราเยียวยาความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากความเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นไปได้ หลายปีมานี้เรามักได้ยินคำพูดของใครหลายคนอยู่บ่อยครั้งว่า "ไม่มีความสุข" "ทุกข์จังเลย" และหลายคนพัฒนาความทุกข์เหล่านั้น กระทั่งในท้ายที่สุดมันกลายเป็นโรคที่หลายครั้งมันทำให้เราเศร้า และกับอีกหลายคนมันได้พรากเอาลมหายใจของคนที่เกี่ยวข้องกับมันจากไปตลอดกาล
บางครั้งบางทีพื้นที่ของวันวาน และพื้นที่ของความเป็นเด็ก ที่ซุกซ่อนอยู่ในส่วนไหนสักแห่งในตัวเรา มันอาจจะช่วยให้เราไม่ทุกข์จนเกินไปนัก ไม่เศร้าจนเกินจำเป็น ไม่แน่นะบางทีพื้นที่ของความ "เป็นเด็ก" อาจจะช่วยให้เราเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ขึ้นได้ โดยที่เป็นผู้ใหญ่ในแบบที่ไม่ละเลยความทรงจำของวัยเด็ก
หนังสือ : หัวแตงโม SLOW BUT GROW
โดย : องอาจ ชัยชาญชีพ
จำนวน : บางอย่างเราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้
ราคา : 285 บาท
"หัวแตงโม SLOW BUT GROW" ก็ยังคงจัดอยู่ในหมวดของหนังสือที่ยากจะกำหนดนิยามให้กับมัน ว่าจะจัดเป็นหนังสือเด็ก หนังสือการ์ตูน หนังสือนิยาย หนังสือบันทึกความทรงจำ หรือว่าจะให้มันเป็นหนังสือไร้สาระ (ตามที่หลายคนชอบบอกเวลาเห็นเราหยิบหนังสือรูปลักษณ์แบบนี้ขึ้นอ่าน) เอาเข้าจริงในทุกนิยามที่ยกมา "หัวแตงโม" สามารถจัดอยู่ได้ในแทบทุกกลุ่ม จะมีก็แต่กลุ่มไร้สาระที่เรากลับมองว่า "สาระ" มันเป็นเรื่องส่วนบุคคล สาระของคนหนึ่งไม่ควรกำหนดนิยามว่าสาระของคนอีกคนหนึ่งนั้น "ไร้สาระ" เพราะมันทำให้เห็นว่า คนคนนั้นชอบ "เสือก" ในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง
"หัวแตงโม SLOW BUT GROW" เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของโลก ทั้งในโลกความจริงและในโลกของจินตนาการ ผ่านหัวแตงโมและผองเพื่อน หลายครั้งหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือ เราก็คิดว่ามันไม่น่าจะมีวันเกิดขึ้นได้จริง แต่เมื่อลองนั่งคิดดูดี ๆ เรากลับพบว่าบนโลกนี้อะไรก็เป็นไปได้นิหว่า ดังนั้น "หัวแตงโม SLOW BUT GROW" อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนังสือคู่มือชีวิตแบบสีสวยและรูปน่ารัก
อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ ว่าหลายครั้งผู้ใหญ่มักหลงลืม กดทับ และทิดทิ้งความเป็นเด็กเอาไว้ เพียงเพราะคำว่า "ผู้ใหญ่" ค้ำคออยู่ "หัวแตงโม SLOW BUT GROW" ช่วยทำให้เราเข้าใจและเปลี่ยนมุมมองในเรื่องของความเป็นเด็กในวัยผู้ใหญ่เสียใหม่ โดยชวนเราตั้งคำถามกลับไปหาคุณค่าบางอย่างของสังคมว่า "แล้วไง" เป็นผู้ใหญ่แล้วจำเป็นต้องละทิ้งความเป็นเด็กอย่างนั้นหรือ (?)
คำตอบที่ได้จากแต่ละบทตอนของหนังสือคือ "ไม่" และหนังสือยังบอกกับเราอีกว่าหลายครั้งปัญหาของผู้ใหญ่แก้ได้ง่าย ๆ เมื่อมองผ่านสายตาของเด็ก ๆ และหลายครั้งปัญหาที่แก้ไม่ได้ เด็กทั้งหลายก็มักจะมองว่าไม่ต้องไปแก้ รวมถึงหากเรามองโลกแบบเด็กบ้างในบางครั้ง เราจะเห็นความสุขได้ง่ายขึ้นกว่าความเป็นผู้ใหญ่ ก็เหมือนกับคำพูดติดปากที่เรามักใช้บ่อย ๆ ว่า "ความสุขของเด็กเล็กเท่าขนม" ซึ่งหมายความว่า เด็กไม่ได้ต้องการอะไรที่มากไปกว่าขนมที่เพียงชิ้นก็ช่วยให้พวกเขามีความสุขไปได้นานแสนนาน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in