หลังจากที่ได้รับมอบหมายงานจากวิชาสังคีตนิยม (Music Appreciation) ให้เข้าชมงานแสดงดนตรี เราก็ได้หางานแสดงดนตรีสดจากหลายที่ ทั้งจากการถามเพื่อนที่เรียนภาควิชาดนตรีของมหาวิทยาลัยอื่น หรือการหางานแสดงอื่น ๆ ในเว็บไซต์สำหรับการจองบัตรเข้าชม แต่เราก็ไม่เจอเลยเนื่องจากเป็นช่วงโควิด-19 ด้วย งานแสดงส่วนใหญ่ที่เราเจอก็จะเป็นงานแสดงดนตรีสมัยใหม่ ซึ่งหลังจากที่เราได้เรียนวิชานี้แล้วเรารู้สึกว่าเราต้องได้เข้าชมงานแสดงดนตรีคลาสสิคซักครั้งในชีวิต เราจึงเลือกที่จะไม่สนใจงานจัดแสดงดนตรีเหล่านั้น จนกระทั่งเรามาเจอกับงาน “Tchaikovski V Concert” เราจึงไม่ลังเลเลยที่จะโทรติดต่อเพื่อสำรองที่นั่งสำหรับตัวเองและเพื่อน ๆ
“Tchaikovski V Concert” จัดแสดงโดย : กลุ่มงานดุริยางค์ซิมโฟนี กองการสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ร่วมกับ ภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มนิเวศสุนทรีย์
แสดงโดย : วง Bangkok Metropolitan Orchestra และ KU String Ensemble
วันที่และเวลาจัดแสดง : วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เวลา 17.00 – 19.00 น.
สถานที่จัดแสดง : หอประชุม ชั้น 2 อาคารจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ราคาบัตร : ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ในวันจัดแสดงนั้นตรงกับวันที่เรามีเรียนที่มหาวิทยาลัยพอดีในช่วงบ่าย แต่โชคดีที่วิชาเรียนเลิกเรียนเวลา 15.00 น. ทำให้เรามีเวลาเพียงพอสำหรับการเดินทาง ซึ่งวิธีการเดินทางก็ไม่ยากเลย หากเริ่มต้นที่รถไฟฟ้าสถานีสยามก็สามารถนั่งไปถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เลย แต่เราเริ่มต้นเดินทางจากรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสามย่าน ทำให้เราเลือกไปลงที่สถานีจตุจักร และเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าไปยังสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหลังจากนั้นเราเลือกใช้วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการไปสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยคือการเรียกวินมอเตอร์ไซค์เพื่อไปยังคณะมนุษยศาสตร์ หลังจากนั้นลงเดินต่ออีกประมาณ 5 นาทีก็จะถึงอาคารจัดแสดง
ในตอนแรกเราแอบกังวลด้วยว่าเราจะไปไม่ทัน เพราะจากในโปสเตอร์ของงานมีการระบุไว้ถึงช่วง Pre-Concert Talks ก่อนเริ่มการแสดงเวลา 16.15 น. ซึ่งเรากังวลมาก สุดท้ายแล้วเราก็ไปถึงตอนประมาณ 16.15 พอดี แต่อันที่จริงแล้ว Pre-Concert Talks เริ่มตอน 16.45 น. ก่อนเริ่มการแสดงประมาณ 15 นาที ซึ่งเราก็โล่งใจมากที่เข้าฟังทัน
บรรยากาศของสถานที่จัดแสดงงานมีขนาดไม่ใหญ่มาก คาดว่าสามารถจุผู้ชมได้ประมาณ 100 คน ซึ่งเราก็คิดว่าเป็นขนาดที่กำลังพอดีเลย ที่นั่งแต่ละชั้นเป็นแบบ slope สามารถมองเห็นนักดนตรีได้อย่างทั่วถึง แต่ในวันนั้นมีการเสริมเก้าอี้ตรงหน้าเวทีเพื่อรองรับผู้เข้าชมที่มากขึ้นประมาณ 2-3 แถว จริง ๆ แล้วผู้จัดได้จัดผังที่นั่งให้ผู้ชมนั่งหนึ่งที่นั่งเว้นหนึ่งที่นั่งเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 แต่เนื่องจากจำนวนผู้เข้าชมที่มากจึงทำให้ที่นั่งในบางแถวมีผู้ชมนั่งจนเต็ม โดยหากได้ติดต่อสำรองที่นั่งไว้จะไม่สามารถเลือกที่นั่งได้เอง ทางผู้จัดเป็นคนจัดไว้ให้ ที่นั่งที่เราได้อยู่ประมาณแถวที่ 5 นับจากด้านบน และอยู่ทางฝั่งขวาของเวที ซึ่งเราก็รู้สึกว่าเป็นที่นั่งที่กำลังดี ไม่ใกล้หรือไกลเวทีจนเกินไป เพียงแค่ไม่สามารถมองนักแสดงที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของเวทีได้หมด ซึ่งเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาเท่าไหร่
การแสดง “Tchaikovsky V Concert” มีด้วยกันสองช่วง ดังนี้
การแสดงในครั้งนี้มีผู้อำนวยเพลง (Conductor) คือคุณสรพจน์ วรแสง ดุริยางคศิลปิน ระดับชำนาญงาน กลุ่มดุริยางค์ซิมโฟนี กองการสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร สมาชิกวงดุริยางค์รอยัลบางกอกซิมโฟนี อาจารย์สอนทรอมโบนให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และยังเป็นผู้ฝึกสอนให้กับวงดุริยางค์โรงเรียนวัดสุทธิวรารามอีกด้วย
เพลงแรกที่นำมาแสดงคือ Finlandia, Op.26 ผลงานของ Jean Sibelius โดยซิเบลิอุสได้ตัดเอา 6 ฉากจากละครเพลงเรื่อง “The Melting of the Ice on the Ulea River” ที่เขาประพันธ์ขึ้นเองมาใช้ในการเฉลิมฉลองสิ้นสุดการชุมนุมในวันที่ 4 พฤศจิกายน โดยให้ชื่อว่า “บทเพลงสำหรับผู้ชุมนุม” ดนตรีปิดท้ายด้วยท่อน “Finland Awakens” (ตื่นเถิดฟินแลนด์) ซึ่งในปีถัดมาซิเบลิอุสได้นำมาปรับปรุงให้เป็นบทเพลงซิมโฟนิกโพเอ็ม (Symphonic poem) ตามคำแนะนำของ Axel Carpelan เพื่อนศิลปินคนสนิทของเขา Carpelan ได้ตั้งชื่อให้ว่า “Finlandia” ผลงานบทนี้เป็นที่นิยมมากจนถือเป็นเพลงชาติเพลงที่ 2 ของฟินแลนด์ และได้ใช้ชื่อนี้หลังจากที่ฟินแลนด์ได้รับอิสรภาพหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1
บทเพลงเริ่มด้วยเสียงของกลุ่มเครื่องลมทองเหลืองที่แสดงถึงความคลุมเครือ ลางร้าย กระตุ้นให้เกิด “พลังแห่งความมืด” ในทางกลับกันสะท้อนให้เห็นความสนุกสนาน ความร่าเริง แต่ส่วนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบทเพลงคือทำนองเพลงสวดที่ขับร้องโดยนักร้องประสานเสียง สื่ออารมณ์ถึงบรรยากาศแห่งความอิสระ ในช่วงท้ายของบทเพลงดนตรีได้แสดงถึงการประกาศชัยชนะและเสรีภาพของฟินแลนด์
ความรู้สึกหลังจากที่เราได้ฟังเพลงนี้ ในช่วงต้นเรารู้สึกว่าดนตรีมีสีที่ออกเทา ๆ หม่น ๆ ให้อารมณ์ที่เศร้าหมอง แต่ก็ให้ความรู้สึกที่ดูลึกลับไปในเวลาเดียวกัน พอถึงในช่วงกลางเพลงดนตรีเริ่มให้ความรู้สึกสนุกสนานมากขึ้น ซึ่งแสดงออกถึงความรู้สึกหลังจากที่ได้รับชัยชนะและความมีเสรีภาพของคนในประเทศได้อย่างดี ส่วนในการแสดงครั้งนี้ไม่มีส่วนที่เป็นการขับร้องโดยนักร้องประสานเสียง แต่จะเป็นการบรรเลงด้วยเครื่องลมไม้แทนในส่วนนั้น ซึ่งก็สื่อถึงบรรยากาศของความมีอิสระ
เพลงที่สองคือ Concerto for Trumpet and Orchestra ผลงานของ Aleksandra Pakhmutova ถูกประพันธ์ขึ้นในปี 1955 และนำออกแสดงครั้งแรกโดยมี Ivan Povlov เป็นผู้เดี่ยวทรัมเป็ต แรกเริ่มเธอประพันธ์สำหรับเดี่ยวทรัมเป็ตกับวงออร์เคสตรา หลังจากนั้นจึงเรียบเรียงสำหรับเดี่ยวทรัมเป็ตกับเปียโนในปี 1978
บทเพลงนี้มีลักษณะเป็นแบบท่อนเดียว เริ่มต้นเพลงจากบทนำที่มีการนำเสนอทำนอง 4 ประโยค แนวทำนอง (Theme) ช่วงเริ่มต้นของบทเพลงมีความลึกลับ ด้วยท่วงทำนองที่ช้าและมีความไพเราะ ทำนองหลักมีส่วนประกอบมากจาก Relative Minor Key ซึ่งเป็นการแสดงถึงบางส่วนขององค์ประกอบทางดนตรีในบทประพันธ์นี้
แนวทำนองของผู้เล่นเดี่ยวนำเสนอการเล่นเสียงต่ำของดนตรีทรัมเป็ต เข้ากันได้ดีกับการบรรเลงของกลุ่มเครื่องสายที่คลออยู่ แม้จะแฝงไปด้วยความเคร่งขรึม แต่อารมณ์ของบทเพลงจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปพร้อมกับการประโคมของวงออร์เคสตราในท่อน Allegro ต่อไป
ศิลปินใช้เทคนิคการใช้ลิ้นแบบ Double-Tonguing และการกดนิ้วอย่างรวดเร็ว (Fast-Paced Finger) เป็นหัวใจหลักของท่วงทำนองในส่วนนี้ ประกอบกับการใช้กลุ่มจังหวะ (Motif) ในแบบ Triplet กับ Quartet ที่นำมาด้วยโน้ตเขบ็ตหนึ่งชั้นประจุด (Dotted Rhythms) สลับไปมาอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการนำเสนอการพัฒนาแนวทำนองไปด้วยเช่นกัน ต่อด้วยการรับส่งต่อแนวทำนองระหว่างผู้แสดงเดี่ยวกับวงออร์เคสตราเพื่อพัฒนาไปสู่ส่วนถัดไปที่แนวเดี่ยวทรัมเป็ตเล่น Motif แบบ Dotted Rhythms บนโน้ตเสียงเรต่ำ (Low D)
ในส่วนถัดไปแนวทำนองจะมีจังหวะที่ช้าลงเล็กน้อย และในช่วง 16 ห้องแรก ทำหน้าที่บทนำโดยใช้ทรัมเป็ตเป็นเสียงชูโรง ท่วงทำนองนี้มีความไพเราะมาก และมีการพัฒนาทำนองที่ยาวกว่าในช่วงบทนำ ช่วงกลางของบทเพลงจะมีทรัมเป็ตเข้ามาบรรเลงเบา ๆ ในตอนท้าย และนำไปสู่อัตราจังหวะที่เร็วขึ้น ซึ่งจะมีการเล่นโน้ตจังหวะขัด (Syncopation) อยู่ตลอดเวลา และตามด้วยความเงียบช่วงสั้น ๆ ก่อนที่เราจะได้ยินโน้ตลาแฟลต (Ab) จากวงออร์เคสตรา และแนวเดี่ยวทรัมเป็ตจะนำเข้าสู่ช่วงทำนองที่ชวนให้เคลิบเคลิ้มราวกับอยู่ในความฝัน ซึ่งจะเป็นทำนองที่มีความแตกต่างจากทำนองอื่นที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง โดยแนวเดี่ยวทรัมเป็ตจะบรรเลงด้วยการใส่อุปกรณ์ลดเสียง (Mute) เพื่อเพิ่มสีสันของแนวทำนองก่อนที่ทำนองใหม่จะแทรกเข้ามาแทนที่ต่อไป
ส่วนของท่อนเร็วนี้ให้ความรู้สึกคล้ายกับการกระเด้งกระดอน โดยใช้ Motif แบบ Dotted Rhythms เป็นหลัก ในส่วนนี้ลักษณะดนตรีจะคล้ายกับดนตรีในรูปแบบ Scherzo (movement ที่มีชีวิตชีวา) โทนเสียงที่สว่างสดใสในบันไดเสียง E Major ส่งผลให้ท่วงทำนองช่วงนี้ฟังดูเบาสบายที่สุดของบทประพันธ์ ทำนองหลักในช่วงต้นเพลงจะหวนกลับมาอีกครั้ง และเมื่อแนวเดี่ยวทรัมเป็ตรับช่วงต่อจากแนวทำนองของวงออร์เคสตรา จะเป็นการเน้นที่ช่วงเสียงสูง แนวทำนองถัดไปจะเชื่อมเข้าสู่แนวทำนองที่สองที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ซึ่งจะเป็นแนวทำนองหลักที่จะนำเข้าสู่ส่วนท้ายของบทประพันธ์ โดยจะมีความต่างจากแนวทำนองเดิมจากการผสมเสียงของวงออร์เคสตราและไดนามิกของเสียง
ท่วงทำนองที่ช้าและไพเราะนี้จะนำเข้าสู่จุดไคลแมกซ์ของบทประพันธ์ พร้อมกับการกลับมาของแนวเดี่ยวทรัมเป็ตที่สง่างามและกล้าหาญ ช่วงท้ายของบทประพันธ์จบลงด้วยอัตราจังหวะที่กระชั้นมากขึ้น และการซ้ำชุดทำนองแบบช่วงคู่แปด (Octave Sequence) อย่างแข็งแกร่งและทรงพลัง
ความรู้สึกของเราหลังจากได้ฟังเพลงบทนี้เรารู้สึกว่าเป็นเพลงที่ให้อารมณ์ที่หลากหลายมากในแต่ละท่อน ดังที่ได้อธิบายไปข้างต้น ส่วนตัวเราแล้วรู้สึกชอบท่อนที่ใช้ Motif แบบ Dotted Rhythms ที่สุด เพราะเป็นท่อนที่ดนตรีดูสนุกสนาน มีโทนสีที่สดใส มีชีวิตชีวา และยังเห็นได้ถึงความสามารถอันน่าทึ่งของศิลปินผู้บรรเลงอีกด้วย
ผู้แสดงเดี่ยว (Soloist) ทรัมเป็ตในบทเพลงนี้คือ ดร.สุรสีห์ ชานกสกุล ศิลปินทรัมเป็ตชาวไทยที่มากความสามารถในหลายด้าน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์พิเศษสอนทรัมเป็ตที่สาขาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงเป็นนักดนตรีในตำแหน่ง Associate Principal Trumpet ของวงดุริยางค์ฟิลฮาร์โมนิคแห่งประเทศไทย (TPO), นักดนตรีสมทบให้กับวง Soul After Six, Bach Trumpet Artist, วิทยากรทรัมเป็ตให้กับวงดุริยางค์เครื่องลมเยาวชนไทย และที่ปรึกษาสมาคมวงโยธวาทิตแห่งประเทศไทย
หลังจากนั้นจะเป็นช่วงพักการแสดง 15 นาที ก่อนจะเริ่มการแสดงสุดท้ายคือบทเพลง Symphony No.5 in E minor, Op.64 ผลงานของ Pyotr Ilyich Tchaikovsky ที่ถูกประพันธ์ขึ้นในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1888 โดยในบทเพลงนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 4 ท่อนด้วยกัน
I. Andante – Allegro con anima
เป็นท่อนที่ดนตรีเริ่มขึ้นอย่างเคร่งขรึมช้า (Andante) ก่อนด้วยคลาลิเน็ต 2 เลาเล่นเสียงต่ำ ไชคอฟสกีได้สร้างแนวทำนองหลักนี้เพื่อเป็นตัวแทนของ “ชะตากรรม” (Fate) ที่กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อดนตรีได้คลี่คลายไประยะหนึ่งก็จะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว (Allegro con anima) เมื่อถึงช่วงนี้ดนตรีจะเร้าให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ต่าง ๆ ที่ปนกันไป โดยเนื้อหาของท่วงทำนองในช่วงนี้นัยว่าไชคอฟสกีได้นำมาจากเพลงพื้นเมืองบทหนึ่งของโปแลนด์ เมื่อมาถึงช่วงสุดท้ายของท่อนแรกนี้ ดนตรีจะจบจงด้วยความรู้สึกหม่นหมองและเหนื่อยหน่าย
II. Andante cantabile, con alcuna licenza
ไชคอฟสกีได้กำหนดให้ดนตรีดำเนินไปอย่างช้า ๆ ในลักษณะแบบการขับร้องเพลง (Andante cantabile) และที่พิเศษขึ้นมาอีกคือเขายังกำหนดให้บรรเลงแบบ con alcuna licenza หมายถึงผู้บรรเลงมีอิสระที่จะถ่ายทอดอารมณ์ของตนเองที่มีต่อบทเพลง โดยยืดให้จังหวะช้าลงหรือหดให้เร็วขึ้นได้ในบางตอน เริ่มแรกของท่อนนี้ฮอร์นจะเดี่ยวแนวทำนองที่ให้ความรู้สึกงดงามชวนฝัน นับได้ว่าเป็นทำนองฮอร์นที่มีความงดงามและละเมียดละไมที่สุดทำนองนึง
III. Valse. Allegro moderato
ดนตรีดำเนินไปในจังหวะเร็วปานกลาง (Allegro moderato) แบบจังหวะวอลทซ์ เป็นท่อนที่มีความสดใส คลายเครียดลงบ้าง แต่ก็ยังคงมีความหม่นหมองเข้ามาสอดแทรกในบางครั้ง โดยเฉพาะแนวทางของกลุ่มเครื่องสายที่จะนำมาซึ่งความรู้สึกดังกล่าว
IV. Finale. Andante maestoso – Allegro vivace
ในท่อนนี้มีโครงสร้างการประพันธ์ในรูปแบบของโซนาตา (Sonata Form) แนวทำนองหลักของท่อนแรกที่เป็นตัวแทนของชะตากรรมได้กลับมาอีก แต่ในคราวนี้ได้กลับมาด้วยความสง่างามผ่าเผยอย่างช้า ๆ (Andante maestoso) จากนั้นดนตรีจะดำเนินไปอย่างเร็ว มีชีวิตชีวา (Allegro vivance) แสดงถึงการต่อสู้ของผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรม และสามารถเอาชนะมันได้ในที่สุด
ระหว่างการแสดงบทเพลงนี้มีกิจกรรมพิเศษเกิดขึ้นโดย ดร.วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ศิลปินที่มีชื่อเสียงในผลงานภาพพิมพ์เทคนิคแม่พิมพ์โลหะ ร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะภาพพิมพ์ระหว่างการบรรเลง และแจกจ่ายผลงานแก่ผู้เข้าชมการแสดงทุกคนเป็นที่ระลึก
เราขอเขียนสรุปความประทับใจทั้งหมดไว้ในส่วนนี้ละกัน นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เข้าชมงานแสดงดนตรีคลาสสิค ซึ่งเรารู้สึกประทับใจมาก เรารู้สึกว่าการฟังดนตรีคลาสสิคมันสามารถฮีลจิตใจเราได้ในระดับหนึ่งเลย ความรู้สึกต่างจากการที่เราไปคอนเสิร์ตปกติมาก ๆ โดยปกติแล้วคอนเสิร์ตที่เราไปมักจะเป็นคอนเสิร์ตของศิลปินที่เราชอบ ซึ่งเราก็ไปเพื่อไปเสพผลงานเขา แต่เหตุผลหลักจริง ๆ ก็คือเราอยากไปเจอหน้าศิลปินแหละ แต่พอมาเป็นคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิค เราไม่ได้รู้จักศิลปินหรือวงที่เรากำลังจะไปดู หรือเพลงที่เรากำลังจะไปฟังมาก่อน แต่พอเราได้เข้าชมแล้วมันเกิดความประทับใจ มันทำให้เรารู้สึกดีที่เราได้เข้าชมการแสดงดี ๆ แบบนี้ เราคิดว่าในอนาคตถ้ามีโอกาสเราก็คงจะหาการแสดงดนตรีคลาสสิคเพื่อเข้าชมอีกซักครั้ง สุดท้ายนี้ก็คงอยากจะขอบคุณวิชา Music Appreciation ที่ทำให้เราได้มีโอกาสหาผลงานดี ๆ แบบนี้เพื่อเข้าชม

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in