เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
หลังชั้นหนังสืออ่าน-คิด-เขียน
หลังชั้นหนังสือ ตอน "หญิงคนชั่ว" ของ ก.สุรางคนางค์




  • หลายคนอาจเคยได้ยินและรู้จักคำว่า "หญิงขายบริการ หรือ โสเภณี" แต่อาจจะไม่คุ้นหูนักกับการเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "หญิงคนชั่ว" #หลังชั้นหนังสือ ตอนนี้จะชวนคุยถึงนวนิยายเรื่อง หญิงคนชั่ว (2480) ของ กัณหา เคียงศิริ หรือที่เรารู้จักกันดีในนามปากกา ก.สุรางคนางค์กันค่ะ
    .
    พบกับ Podcast ที่จะนำพาคุณผู้ฟังไปสัมผัสเรื่องราวของ "รื่น" ตัวละครหลักของเรื่องที่ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นหญิงชั่ว พร้อมๆ กับการชวนคิดไปกับคำถามมากมายระหว่างการสนทนาว่า แท้จริงแล้ว "รื่น" ชั่วช้าเช่นชื่อที่เรียกขานจริงหรือไม่ ? แล้วเหตุผลใดที่ทำให้คนทั้งคนต้องจำยอมประกอบอาชีพที่คนทั้งสังคม ณ ขณะนั้นตีตรา และนำไปสู่การตั้งคำถามว่า การที่คนในสังคมตัดสินว่าคนกลุ่มใดต้องดีหรือชั่วนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วจริงหรือ?
    .
    สร้างสรรค์ผลงานโดย...ศศิธร รัฐวร ฐิตารีย์ นิลรัตน์ และพุทธิดา เสมสาร (กราฟิก) 
    นิสิตภาควิชาภาษาไทย อักษรฯ จุฬาฯ
    .
    ผลงานสร้างสรรค์จากรายวิชา "วิวัฒนาการวรรณกรรมไทย" ปีการศึกษา 2563
    เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง 
    .
    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558
    .
    บรรณานุกรม
    - ก. สุรางคนางค์.(2547). หญิงคนชั่ว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม. 

    - นุสรา มะลิรัมย์. หญิงคนชั่ว : ความชั่วที่เลี้ยงความดี. สืบค้น 16 เมษายน 2564, เข้าถึงได้จาก https://www.gotoknow.org/posts/688266.
    .
    ขอบคุณที่มาภาพ
    - ภาพปกนวนิยายเรื่อง หญิงคนชั่ว (ปรับแต่งจากต้นฉบับ), จาก
    https://www.gotoknow.org/posts/688266. 

    - ภาพวาดสีน้ำกรุงเทพ ช่วง พ.ศ.2480 โดย นายธนากร (ปรับแต่งจากต้นฉบับ),จาก
    https://images.app.goo.gl/RxPivMPa8LY....
    .
    ขอบคุณที่มาของชื่อรายการ "หลังชั้นหนังสือ" ซึ่ง "ณัฐวุฒิ จันทะลุน" เป็นผู้ริเริ่มค่ะ

  • สะท้อนย้อนคิดหลังการฟัง Podcast

    "หญิงคนชั่ว" ของ ก.สุรางคนางค์ (1)



    “อาชีพโสเภณึคือความชั่วจริงหรือ” นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้ยินวลี “ความชั่วที่หล่อเลี้ยงความดี” ที่ผู้แต่งพยายามย้ำอยู่หลายครั้งในเรื่อง หญิงคนชั่ว และเมื่อได้ลองพิจารณาจากลักษณะของตัวละครโสเภณีอย่าง "รื่น" และตอนจบที่แสดงให้เห็นว่ารื่นเป็นแม่ที่ดีแล้วนั้น ก็ได้คำตอบว่า โสเภณีอาจเป็นความชั่วจริง แต่ความชั่วในที่นี้ไม่ใช่ความเลวร้ายของจิตใจหรือการกระทำ หากแต่หมายถึงสิ่งใดก็ตามที่ไม่ตรงตามกรอบศีลธรรมสมมติของสังคม 

    “แล้วทำไมความชั่วจึงหล่อเลี้ยงความดี” สำหรับคำถามนี้ นอกจากคำตอบตามการวิเคราะห์ใน Podcast แล้ว ยังอาจตอบได้ด้วยการทำความเข้าใจว่า “ความดี” ที่ถูกหล่อเลี้ยงโดยความชั่วนี้เป็นเพียงสิ่งสมมติของสังคมเช่นเดียวกับ “ความชั่ว”   ความดีนี้ไม่ใช่ความดีงามบริสุทธิ์ แต่เป็นเพียงกรอบศีลธรรมสมมติที่ผู้มีอำนาจในสังคมกำหนดขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเท่านั้น และเพื่อให้กลไกของศีลธรรมสมมตินี้สมบูรณ์ สิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องทำ นอกเหนือจากการกำหนดว่าสิ่งใดเป็น “ความดี” แล้ว ยังต้องกำหนดว่าสิ่งใดเป็น “ความชั่ว” ด้วย เพราะความชั่วเหล่านี้จะเป็นภาพเปรียบเทียบให้ความดีเด่นชัดและทรงพลังมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในบางครั้งเมื่อมี “ความชั่ว” เป็นตัวเปรียบเทียบแล้ว การกระทำอื่น ๆ ที่แม้จะไม่ได้เป็น “ความดี” ก็อาจได้รับการยกระดับทางศีลธรรมขึ้นมาด้วย

    ในเรื่อง หญิงคนชั่ว และในสังคมไทย การที่อาชีพโสเภณีถูกตีตราว่าเป็นอาชีพของคนชั่วนั้นก็เพราะสังคมต้องการกดคนกลุ่มนี้ให้กลายเป็น “ความชั่ว” เพื่อให้ “ความดี” ซึ่งหมายถึงการกระทำตามกรอบศีลธรรมสมมตินี้สูงส่งขึ้น  นอกจากนี้ ยังทำให้การกระทำอื่น ๆ ที่อาจเรียกว่า “ชั่วน้อยกว่า” กลายเป็นความดีขึ้นมาได้ด้วย เห็นได้จากในเรื่อง หญิงคนชั่ว เมื่อรื่นได้ฝากหนูอี๊ดไว้กับสามีภรรยาคู่หนึ่ง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะโกงเงินค่านมจากรื่น แต่พวกเขาก็ยังตีตราว่ารื่นเป็นหญิงคนชั่วและมองว่าพวกเขามีศีลธรรมมากกว่า ซึ่งเป็นเพราะพวกเขามีตัวเปรียบเทียบเป็น “ความชั่ว” ที่สุดอย่างโสเภณีนั่นเอง

    ผู้เขียนได้มีโอกาสฟังบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิตของคุณวรินทร วัตรสังข์ หรือ คุณแอนนา หญิงข้ามเพศที่เป็นอดีตโสเภณีและเป็นแม่ในครอบครัว LGBTQ  เธอได้กล่าวถึงการแอบทำอาชีพโสเภณีในประเทศไทยว่าอาจถูกต้องเพียงเพราะเป็นช่องทางให้ผู้มีอำนาจสามารถเก็บส่วยได้เท่านั้น กรณีที่คุณแอนนากล่าวถึงนี้จึงคล้ายกับการกระทำของสามีภรรยาในเรื่อง หญิงคนชั่ว เพราะทั้งผู้มีอำนาจและคู่สามีภรรยาต่างทำผิด แต่เมื่อมีตัวเปรียบเทียบอย่างโสเภณีแล้ว การกระทำของพวกเขาก็มีศีลธรรมสูงกว่าไปโดยปริยาย

    ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=LYcLObTkfMI

    คุณแอนนายังให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสาเหตุของการต้องเป็นโสเภณีอีกว่าเป็นเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจที่บีบให้เธอต้องทำงานใช้หนี้แทนคนในครอบครัว กรณีของคุณแอนนาจึงไม่ต่างกับโสเภณีอย่างรื่นที่ถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องเป็น “หญิงคนชั่ว” เพื่อนำเงินมาดูแลตนเองและลูก

    วรรณกรรมเรื่อง หญิงคนชั่ว โต้กลับคำตัดสินของสังคมที่มองว่าการเป็นโสเภณีนั้นเป็นเพียงทางเลือกและผู้ที่เลือกเป็นโสเภณีนั้นเป็นผู้ที่รักสบาย เพราะวรรณกรรมเรื่องนี้นำเสนอเหตุผลที่ตัวละครรื่นต้องจำใจเป็นโสเภณี คือเพื่อนำเงินมาจุนเจือตนเองและลูก โดยเธอไม่สามารถเลือกทำอาชีพอื่นได้ เห็นได้จากการที่รื่นอยากเปิดร้านขายผลไม้แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะหากไม่ทำงานเป็นโสเภณีวันนี้ เธอก็จะไม่มีเงินทันใช้ในวันต่อไป


    ขอบคุณที่มารูปภาพ: http://www.45cat.com/record/mr108

    หญิงคนชั่ว ยังนำเสนอชีวิตของรื่นในมิติที่หลากหลายมากกว่าการเป็นโสเภณีคนหนึ่ง คือนำเสนอโสเภณีในฐานะปัจเจกชนที่มีชีวิต จิตใจ และอารมณ์ที่หลากหลายอย่างแท้จริง ตัวละครรื่นนั้นเริ่มจากการเป็นหญิงสาวที่มีความฝันและความหวังในอนาคตที่สดใสกับคนรักอย่างวิชัย แต่หลังจากที่เธอถูกหลอกและถูกสถานการณ์บีบบังคับให้เป็นโสเภณีนั้น ความฝันอันบริสุทธิ์ของรื่นก็ค่อย ๆ พังทลายลงไปพร้อม ๆ กับสภาพร่างกายและจิตใจของเธอ ประเด็นนี้จึงอาจคล้ายกับวรรณกรรมที่กล่าวถึง “เมียเช่า” อีกเรื่อง อย่างเรื่องสั้น I เขียน Letter ถึงเธอ Dear John ​(2559) ของวิกรานต์ ปอแก้ว ที่นำเสนอสภาพจิตใจของ "พร" ที่ค่อย ๆ แตกสลายและเฉยชากับความรักมากขึ้นทุกครั้งที่คนรักของเธอตายจากไป 


    ขอบคุณที่มารูปภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=LvFG-GSkfRU


    วรรณกรรมเรื่อง หญิงคนชั่ว จึงเป็นวรรณกรรมที่โต้กลับสังคมที่มักตัดสินอาชีพโสเภณีว่าเป็นอาชีพของคนรักสบายด้วยการแสดงให้เห็นด้านที่ทุกข์และลำบากของการเป็นโสเภณี ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ  ในวรรณกรรมหลายเรื่องที่กล่าวถึงชีวิตของโสเภณี ตัวละครโสเภณีมักเปลี่ยนชื่อหลังเริ่มเป็นโสเภณี เช่น ในเรื่อง หญิงคนชั่ว ที่ตัวละคร หวาน ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น รื่น หรือในวรรณกรรมอีกสิบกว่าปีให้หลังอย่าง หลายชีวิต ที่ตัวละคร รื่น ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น พรรณี  ซึ่งหากพิจารณาจากเนื้อเรื่องของวรรณกรรมทั้งสองเรื่องแล้ว การเปลี่ยนชื่ออาจหมายถึงการสละทิ้งตัวตนเดิม ความฝันอันบริสุทธิ์ และความหวังในชีวิตที่สวยงาม เพื่อก้าวสู่ความทุกข์ทรมานของการเป็นหฺญิงคนชั่วในโลกที่โหดร้ายก็ได้

    จากที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนเห็นด้วยกับผู้จัดทำ Podcast ว่า สารที่วรรณกรรมเรื่องนี้ต้องการสื่อกับผู้อ่านก็คือ “การไม่ตัดสินคนจากภายนอก” โดยสื่อสารผ่านการนำเสนอชีวิตของโสเภณีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่ไม่ใช่ภาพเหมารวมของสังคม เพื่อแสดงให้เห็นว่าโสเภณีไม่ใช่ความชั่วร้ายที่ทำลายความดีงามของสังคม  แต่เป็น “ความชั่ว” ที่ถูกสังคมสร้างขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยง “ความดี” สมมติหรือศีลธรรมอันดีงามของสังคม

    ปัญหาโสเภณีในประเทศไทยอาจไม่มีวันเปลี่ยนไป เพราะโสเภณี ไม่ว่าจะเป็น "รื่น" ใน หญิงคนชั่ว ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ 2480  "พรรณี" ใน หลายชีวิต ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ 2494   "พร" ใน I เขียน Letter ถึงเธอ Dear John ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ 2558 และ(อดีต)โสเภณีในปัจจุบันอย่างคุณแอนนา  ก็ยังถูกปัญหาเศรษฐกิจบีบบังคับให้เป็นโสเภณีหรือเมียเช่า  และยังถูกคนในสังคมเหยียดหยามว่าเป็น “หญิงคนชั่ว” เช่นเดิม จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในอีกหลายปีข้างหน้า อาจจะยังมีวรรณกรรมเกี่ยวกับปัญหาโสเภณีเรื่องใหม่ที่มีเนื้อหาไม่ต่างกันเลยกับวรรณกรรมเรื่อง หญิงคนชั่ว 


    เรื่อง: ธนพงษ์ เมืองศิลปศาสตร์ เขียนขึ้นขณะอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
    .
    เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง 
    .
    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558



  • สะท้อนย้อนคิดหลังการฟัง Podcast

    "หญิงคนชั่ว" ของ ก.สุรางคนางค์ (2)




    เมื่อได้รับฟัง PODCAST หลังชั้นหนังสือ: ชวนคิดกับนวนิยายเรื่อง “หญิงคนชั่ว” ทำให้เราเกิดการตั้งคำถามขึ้นในหลาย ๆ ประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ผู้แต่ง กำลังพยายามจะสื่อสารกับผู้อ่านหรือผู้รับสาร เราสงสัยว่าผู้แต่งมีวัตถุประสงค์ในการแต่งเพื่อตีแผ่สังคมในมุมมองของโสเภณีว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ใคร ๆ ก็ขนานนามว่า “หญิงคนชั่ว” อย่างที่สังคมดูถูกและรังเกียจ หรืออีกนัยยะหนึ่งก็เพื่อเป็นการเรียกร้องสิทธิว่าอาชีพโสเภณีควรได้รับการยอมรับมากขึ้น  หรือเพียงแค่เป็นการแต่งเพื่อให้เห็นว่า แม้จะมีการตีแผ่และสะท้อนภาพชีวิตของตัวละครที่เป็นโสเภณีให้เห็นว่าไม่ได้มีแค่ด้านเดียว แต่สุดท้ายแล้วในโลกแห่งความเป็นจริงประกอบกับบริบทสังคมในสมัยนั้นผู้คนก็ยังคงไม่ยอมรับอาชีพโสเภณีอยู่ดี ไม่ว่าผู้ที่ประกอบอาชีพนี้จะมีเหตุจำเป็นในการประกอบอาชีพ ทั้งเต็มใจหรือไม่เต็มใจ เช่น ถูกล่อลวงมาให้ขายบริการ แต่เมื่อได้ขึ้นชื่อว่าเป็นโสเภณีแล้ว ก็จะถูกตราหน้าว่า “หญิงคนชั่ว” อยู่วันยังค่ำ 

    ท้ายที่สุดแล้วจะเห็นว่า ผู้แต่งก็ได้เขียนจุดจบให้ตัวละครที่เป็นโสเภณีต้องตายอย่างน่าสงสาร ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นคนที่มีจิตใจดีหรือกลับตัวได้แล้วก็ตาม ซึ่งนิสิตคิดว่าผู้แต่งอาจจะมีวัตถุประสงค์ในการแต่งทั้งสองเงื่อนไขดังกล่าว คือพยายามจะให้ผู้อ่านมองคนให้เท่าเทียมกันมากขึ้นโดยปราศจากอคติส่วนตัว หรือมองคนให้เป็นคน อย่างที่มนุษยชาติสมควรจะมีไมตรีจิตต่อกันและไม่ควรตัดสินคนจากภายนอก แต่ด้วยบริบทและกระแสของสังคม การโน้มน้าวหรือเรียกร้องให้ทุกคนเข้าใจคงเป็นเรื่องยาก และเกรงว่าอาจถูกกระแสตีกลับจากสังคมได้ หากจะแต่งให้ตอนสุดท้ายหรือบั้นปลายชีวิตของโสเภณีจบด้วยความสุขที่สมหวังหรือประสบความสำเร็จ  ผู้แต่งเลยเลือกที่จะแต่งตอนจบเช่นนี้ แต่ก็ไม่ได้จบด้วยความสูญเสียหรือความทุกข์ทรมานมากไปเสียทีเดียว เพราะจากเรื่องจะเห็นได้ว่า รื่นได้ตายจากไปอย่างหมดห่วง เพราะรื่นไม่ได้อยู่เพื่อตัวเองมาตั้งแต่แรกแล้ว สิ่งที่รื่นห่วงมากที่สุดก็คือลูกของเธอ ดังนั้น การที่วิทย์หรือก็คือพ่อของลูกได้นำลูกไปเลี้ยงดูแทนเธอ ก็เท่ากับว่าเธอนั้นหมดห่วงแล้ว แม้ว่าสุดท้ายเธอจะต้องตายจากไปอย่างลำพัง

    เราคิดว่าผู้แต่งมีแนวคิดในการแต่งที่หลักแหลมมาก กล่าวคือแต่งตอนจบอย่างที่สังคมสมัยนั้นต้องการ แต่ได้สอดแทรกส่วนสำคัญคือการดำเนินเรื่องที่ผู้แต่งได้พาไปเห็นมุมมองใหม่ ๆ ที่หลาย ๆ คนอาจไม่เคยทราบหรือสัมผัสมาก่อนเกี่ยวกับชีวิตและความยากลำบากของโสเภณี และสะท้อนคุณค่าความดีของจิตใจที่ยังมีปรากฎอยู่ในหมู่ของหญิงคนชั่วที่ถูกประณามว่ามีชีวิตอันไร้ค่าตามทัศนะของสังคมที่มีค่านิยมแห่งความรังเกียจเป็นตัวชี้วัด โดยหยิบเอาชีวิตเล็ก ๆ ในมุมมองหนึ่งมานำเสนอเพื่อเป็นการสวนกระแสความคิดของคนส่วนใหญ่  นำมาสู่การย้อนถามทัศนะต่อสังคมว่า เหมาะสมหรือไม่กับการที่โสเภณีจะถูกเรียกขานว่าหญิงคนชั่ว โสเภณีชั่วจริงหรือ? เป็นความชั่วจากตัวบุคคลหรือเป็นความชั่วที่ถูกตีตราจากอาชีพด้วยอคติกันแน่ และจากการที่ตัวละครมีจุดจบเช่นนั้น เรารู้สึกเห็นใจที่ชีวิตของเขาต้องมาพบเจอกับเรื่องอะไรเช่นนี้หรือคิดว่าก็สมควรแล้วเพราะเขาเป็นโสเภณี?  จะเห็นได้ว่าผู้แต่งได้จงใจแต่งเพื่อทิ้งปมให้ผู้อ่านได้มีการคิดวิเคราะห์เองอย่างแยบยล ผู้แต่งคงไม่ถึงขั้นที่จะสามารถไปเรียกร้องสิทธิให้กับโสเภณีได้ เนื่องจากในสังคมสมัยนั้น (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2) เป็นสังคมที่เคร่งครัดต่อบรรทัดฐานเชิงอุดมคติ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการรักนวลสงวนตัวของผู้หญิง ทัศนะของสังคมที่มีต่อโสเภณีจึงเป็นทัศนะในเชิงลบอย่างรุนแรง ยังคงไม่เปิดกว้างและยอมรับอาชีพโสเภณี แต่ก็สามารถเป็นกระบอกเสียงหนึ่งให้กับโสเภณีได้ เป็นการท้าทายความรู้สึกของคนในสังคมยุคนั้น อาจไม่ใช่การยอมรับหรือเห็นควรไปเสียทุกอย่าง แต่อย่างน้อยก็ควรเห็นค่าในความเป็นคนในกลุ่มคนเหล่านี้ 

    นวนิยายเรื่องนี้ทำให้เราได้คิดว่า ความดีเลวนั้นอาจมีอยู่ในตัวใครก็ได้ ไม่สามารถตัดสินได้จากภายนอก หญิงคนชั่วหรือหญิงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหญิงชั้นต่ำอาจมีจิตใจที่ดีงาม และหญิงผู้ดีหรือหญิงชั้นสูงอาจมีจิตใจที่ต่ำช้าก็ได้ ไม่เพียงแค่ในหญิงคนชั่วหรือหญิงชั้นสูงเท่านั้น แต่เป็นกับมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่ว่าใครจะดีหรือชั่วไปเสียหมด แต่ปะปนกันไปขึ้นอยู่แต่ละตัวบุคคล จึงไม่ควรพิจารณาจากภายนอก เพราะที่สำคัญแล้วคือจิตใจและความคิดภายใน ส่วนตัวแล้วคิดว่า "รื่น" ก็เป็นตัวละครที่เทา ๆ จะกล่าวว่าชีวิตของเธอนั้นถูกชักจูงและล่อลวงไปโดยวิชัยเลยทำให้ต้องการเป็นโสเภณีและมีจุดจบเช่นนี้อย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่เลือกที่จะไปก็คือตัวของเธอเอง ซึ่งเธอก็มีความผิดที่เธอได้ทิ้งครอบครัว รวมถึงการขโมยเงินจากครอบครัวไป การถูกหลอกจึงเป็นผลที่เธอได้รับ แต่เธอก็ได้สำนึกผิดและตระหนักเสมอมาว่าตัวเองเป็นคนชั้นต่ำ ความเจียมตัวจึงปรากฏอยู่ในทุก ๆ พฤติกรรมและความคิดของเธอ นำมาสู่คำถามที่ว่า ความเจียมตัวนั้นเป็นผลมาจากความสำนึกผิดเองจากสิ่งที่ทำผิดพลาด จึงต้องเจียมตัวและยอมรับคำดูถูกดังกล่าว หรือเป็นความเจียมตัวที่สังคมยัดเยียดเพราะอาชีพโสเภณี?  

    ส่วนตัวคิดว่าการโดนหลอกลวงมาให้เป็นโสเภณีนั้นก็ถือว่าเป็นผลที่เธอได้รับแล้ว เพราะเธอก็ไม่ได้ทำด้วยความเต็มใจ แต่การที่เธอต้องเจียมตัวด้วยนั้นไม่ใช่เพราะการทำผิดพลาดของเธอ เธอสามารถจะไปแต่งงานกับวิทย์ก็ได้เพื่อเริ่มชีวิตใหม่ หรือเธอสามารถจะหนีไปและประกอบอาชีพใหม่ก็ได้หลังจากถูกหลอกมาแล้ว โดยที่ไม่ต้องเจียมตัวหรือเกรงกลัวว่าผู้คนจะมองอย่างไร เพราะเราก็มีสิทธิเลือก แต่ด้วยสังคมที่ดูถูกและไม่ยอมรับโสเภณี จึงเป็นการยัดเยียดให้เธอต้องเจียมตัว กลับกันหากสังคมยอมลดความอคติ เข้าใจและยอมรับอาชีพโสเภณีมากขึ้นแล้ว เธอก็ไม่จำเป็นจะต้องไปคิดว่าจะไปทำให้ชีวิตของสามีและลูกตกต่ำลงไปด้วยเพราะอาชีพโสเภณี เพราะชีวิตหลังจากนี้มันควรขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและตัวบุคคลมากกว่าที่จะยึดติดกับอคติว่าเธอเป็นหรือเคยเป็นโสเภณี เธอก็เป็นเพียงคน ๆ หนึ่งที่มีความรักที่ยิ่งใหญ่และมั่นคงต่อความรัก ซึ่งความมั่นคงดังกล่าวก็ได้สะท้อนแสดงออกผ่านการยินดีรับผิดชอบต่อลูกที่เกิดมาอย่างอดทนและต่อสู้กับความลำบากในทุกรูปแบบ 

    เรื่อง:   นัฐธิดา หลวงแนม 
    เขียนขึ้นขณะอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
    .
    เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง 

    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558





เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in