ความรู้สึกหลังดู “คิมจียองเกิดปี ‘82”
*บันทึกความรู้สึกหลังดูเฉยๆ ไม่ได้รีวิวหรืออธิบายแนวคิดหรือเบื้องหลังสังคมอะไรในเรื่องทั้งนั้น และพูดจาแบบไบแอสมากๆ จากมุมมองของผู้หญิงที่ใช้ชีวิตในสังคมชายเป็นใหญ่คนหนึ่ง*
ก่อนขึ้นปี 2020 เรารู้สึกว่าเราแคร์หลายเรื่องเยอะไปใน 2019 ฉอดก็ฉอดไม่หมด ตามก็ตามไม่ไหว สุดท้ายเลยไม่ทันประเด็นอะไรเลย แล้วได้คำพูดเตือนสติจาก Hasan Minhaj จากรรายการ Patriot Act ว่าเราควรให้ของขวัญตัวเองด้วยการ “เลือกสนใจ” ประเด็นสังคมแค่เรื่องสองเรื่องพอ แล้วเบลอเรื่องที่เหลือไปก่อน ให้คนที่ “เลือกสนใจ” เรื่องเหล่านั้นตื่นตัวแทนเราไป
เอาเป็นว่าหนึ่งในเรื่องที่เรา “เลือกจะสนใจ” ในปีนี้คือความเท่าเทียมทางเพศละกัน
และใช่ หลังจากนี้ลงไปคือการฉอดสังคมโดยยกประเด็นมาจากหนัง
ก่อนจะฉอด อยากบอกว่า คนที่อยากเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์/ความเจ็บปวดของเพศหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ เรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ถ้าใครมาด้วยใจที่เปิดกว้างและอยากทำความเข้าใจ แนะนำให้ลองไปดูค่ะ
ก่อนอื่น เข้าใจเลยว่าทำไมมีคนบอกว่าเป็นหนังวัดใจ แฟนผู้ชายผู้หญิงไปดูแล้วบางคู่เลิกกัน มันวัดใจตรงที่ นี่คือหนังซึ่งแสดงให้เห็นถึง “ประสบการณ์ของผู้หญิงภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่” ที่ผู้ชายอาจจะไม่เคยได้รับรู้หรือไม่เคยเจอการนำเสนอที่ “อัดหน้า” ขนาดนี้
อนึ่ง ไม่ได้จะบอกว่าผู้ชายไม่เจอความลำบากภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ แน่นอนว่าผู้ชายก็ได้รับผลกระทบ (จะพูดจากสิ่งที่มีการนำเสนอในหนังด้านล่าง) แต่ที่จะพูดในโพสท์นี้คือความรู้สึกหลังจากดูหนังที่นำเสนอ “ประสบการณ์ของผู้หญิง” ผ่านมุมมองของ “ผู้หญิงคนหนึ่ง (เราเอง)”
เรื่องนี้ดูแล้วร้องไห้หนักมาก เหนื่อยที่สุดคือต้องร้องไห้ไม่ออกเสียงนี่แหละ มันร้องไห้เพราะความกดดัน เพราะเราเข้าใจส่วนหนึ่งว่าชีวิตแบบนั้นมันเป็นยังไง ว่าผู้หญิงต้องเจอกับแรงกดดันแบบไหนบ้างในสังคมชายเป็นใหญ่ แล้วเราโดนปิดปากแค่ไหนจากทั้งผู้ชาย(กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากแนวคิดชายเป็นใหญ่)และผู้หญิงด้วยกันเอง (กลุ่มที่เคยชินกับการใช้ชีวิตในสังคมชายเป็นใหญ่และไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง)
คิมจียองชีวิตในสังคมที่ผู้หญิงทำงานได้ แต่ก็ยังโดนคาดหวังให้เป็นแม่และภรรยาที่ดี และคุณค่าของเธอกับผู้หญิงอีกหลายคนถูกตัดสินด้วยปัจจัยแค่นั้น ถึงจะทำงานดีแค่ไหน ถ้าไม่ใช่แม่ที่ดี ถ้าไม่ใช่เมียที่ดี เธอก็ไม่มีค่าในสายตาใคร ผู้ชายที่ “ทำงานเก่ง” แต่ทำงานบ้านไม่ได้เป็นผู้ชายปกติ ในขณะที่ผู้หญิงที่ “ทำงานเก่ง” แต่ทำงานบ้านไม่ได้จะเป็นผู้หญิงที่ล้มเหลว เป็นผู้หญิงที่มีข้อบกพร่อง
ความเศร้าคือประเทศเราก็ยังมีคนที่มีแนวคิดแบบนั้น
ลองนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแห่งหนึ่งในประเทศเราที่บอกว่า “สตรีทุกท่านมีดีเอ็นเอความเป็นแม่และภรรยา จงหาให้พบและใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม” มันเป็นคำพูดที่ทำให้เห็นว่าผู้ชายที่มีอำนาจในสังคมนี้ให้คุณค่าผู้หญิงแค่ไหน เขามองแค่ว่าเรามีความเป็นแม่และภรรยา และเราสามารถใช้ได้แค่สิ่งเหล่านั้นในการทำประโยชน์ให้สังคม ทำไมผู้หญิงถึงไม่ใช่เพศที่ “มีความสามารถ มีพลัง มันสมอง และความเข้มแข็ง จงใช้ให้มันเป็นประโยชน์กับสังคม” มันน่าคิดไหม ทำไมต้องเอาเรื่องความเป็นแม่มาเป็นประเด็นเวลาพูดถึงประโยชน์ของเพศหญิงที่มีต่อสังคม—มันกลับมาที่เดิม เพราะชายที่เป็นใหญ่ในสังคมต้องการให้เพศหญิงเป็นแค่นั้น
และอีกประเด็นที่มีการแตะในเรื่องคือ “งานบ้าน” จะเห็นได้ว่าสังคมมีการกำหนดพื้นที่ของผู้หญิงเอาไว้ “ในครัว” “ในบ้าน” งานบ้านต้องเป็นของผู้หญิง ผู้ชายทำไม่ได้ และอย่างกระนั้นเลย ถ้าเราจะพูดเรื่องนอกบริบทหนัง ผู้หญิงทำงานบ้าน ซักผ้าทำอาหารแล้วยังตากชั้นในของตัวเองสูงกว่าของผู้ชายไม่ได้ก็มี บางบ้านไม่ให้ผู้หญิงซักผ้ารวมกับผู้ชายเพราะเรา “ต่ำกว่า” ทั้งๆ ที่เพศหญิงต้องทำงานบ้าน-ซึ่งเชื่อเถอะ ไม่ใช่อะไรง่ายๆ เราก็ทำแบบจียองหรือแม่บ้านมืออาชีพทุกคนไม่ได้-แล้วยังโดนลดคุณค่า แล้วใครๆ ก็บอกว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำ ไม่มีคำขอบคุณ ไม่มีคำที่แสดงถึงการรับรู้ถึงความเหนื่อยยาก ทำไมผู้ชายที่ทำงานบ้านถึงนับเป็นผู้ชายที่ “ประเสริฐ” เพราะสังคมมันหล่อหลอมมาให้รู้สึกว่างานบ้านเป็นงานของ “ผู้หญิง” และผู้ชายที่ “ลดตัว” ลงมาช่วยผู้หญิงนั้นย่อมเป็นผู้ชายที่ดี ซึ่งก็กลับมาที่เดิม สังคมแบบนั้นมองว่าผู้หญิงอยู่ต่ำกว่าผู้ชาย และถ้าเธอทำงานบ้าน มันไม่ใช่เพราะเธอรักหรือแคร์คนในครอบครัว แต่เป็นเพราะ “นั่นคือหน้าที่เธอ”
ถ้าเกิดเป็นผู้หญิงยุคเก่าที่ไม่รู้สึกรู้สาและชินกับการโดนทรีทเป็นรองสามี ผู้หญิงก็คงไม่เจ็บ แต่คำถามคือ ทำไมผู้หญิงถึงต้องทรมานแค่เพียงเพราะเราอยากมีคุณค่าและทางเลือกในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
แดฮยอน(สามีจียอง)คือผู้ชายที่ดีที่เป็นเหยื่อของสังคมชายเป็นใหญ่ แนวคิดชายเป็นใหญ่กดทับผู้หญิง แล้วยังจำกัดเพศชายเอาไว้ในกรอบการคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ผู้ชายต้องหาเงินเข้าบ้าน ต้องเข้มแข็ง ห้ามอ่อนไหว ห้ามร้องไห้ แต่ผู้ชายไม่ใช่มนุษย์หรือ ทำไม “ลูกผู้ชายต้องไม่เสียน้ำตา” ทั้งๆ ที่การร้องไห้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน ผู้ชายเหนื่อยกับการหาเงินไม่ได้หรือ ผู้ชายอยากพักบ้างไม่ได้หรือ ทำไมผู้ชายที่เลี้ยงลูกหรือทำงานบ้านถึงเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ทำไมสังคมต้องบังคับไม่ให้ผู้ชายอ่อนไหวในเมื่อ “มนุษย์ทุกคน” มีความเปราะบางในแบบของตัวเอง ทำไมสังคมต้องกำหนดว่าผู้ชายไม่จำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับการบ้านและการเลี้ยงลูกในเมื่อบ้านคือที่อาศัยของทุกคนและผู้ชายเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำลูก
และมองย้อนสังคมเราอีกทีก็จะพบว่า สังคมต้องการแรงงานใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนประชากรที่แก่ตัวลง แต่สังคมไม่เอื้อให้การมีลูกเป็นเรื่องง่าย เราไม่ให้ผู้ชายลาเลี้ยงลูกเท่าผู้หญิง เรากีดกันและตีตราผู้หญิงที่มีลูก เรามองว่าผู้หญิงมีลูกเป็นภาระ คนเลี้ยงลูกในที่สาธารณะเป็นเรื่องน่ารำคาญ และเราก็มาเดือดร้อนกับสถานการณ์สังคมสูงอายุและเด็กเกิดน้อย อยากจะบอกสังคมว่าเธอเลือกเถอะ ถ้าไม่พัฒนาความเป็นอยู่ของครอบครัวที่มีลูก ถ้าไม่เอื้อให้ผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วม ถ้าไม่เลิกสร้างความลำบากให้ผู้หญิงที่มีลูก เราจะชิบหายกันหมด
สิ่งที่คุยกับเพื่อนหลังดูหนังจบคือ “ทุกคนเป็นเหยื่อของสังคมชายเป็นใหญ่” ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไร ชาย หญิง หรืออื่นๆ หรือไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม และถ้าคุณไม่รู้สึกว่าคุณได้รับผลกระทบการที่ผู้หญิงโดนกดทับไม่ให้มีคุณค่าและการที่ผู้ชายโดนจำกัดในกรอบความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แปลว่าคุณคือ “ชายที่เป็นใหญ่” แปลว่าคุณมีคนที่ซัพพอร์ทการใช้ชีวิตของคุณอยู่เบื้องหลัง คุณไม่เดือดร้อนกับสิ่งเหล่านี้ได้เพราะคุณมีชีวิตที่ดีพอจะไม่คับข้องทางจิตใจ การเงิน และสังคม ซึ่งนั่นคือ privilege มันคือสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน และนั่นคือสิ่งที่คุณควรระลึกเอาไว้
ผู้หญิงก็เป็นคน เราไม่ได้เลือกเกิดมาเป็นผู้หญิง คุณค่าของเราไม่ได้อยู่ที่การเป็นแม่หรือเป็นเมีย เราเป็นคนคนหนึ่ง มีนิสัย มีความสามารถ มีหลายอย่างที่อยากเป็น มีสิ่งที่อยากทำ พื้นที่ของเราไม่ใช่ในครัวหรือในบ้าน และเรามี “ความเป็นไปได้” ในแบบของเราที่ไม่ใช่แค่การแต่งงานมีลูกแล้วเป็นแม่บ้าน — และผู้ชายที่มีปัญหากับความเป็นจริงเหล่านี้ ขอให้ลองกลับไปทบทวนตัวเองอีกทีว่าทำไมถึงรับไม่ได้ คุณกำลังมองโลกด้วยอคติแบบไหนอยู่
และเราไม่ได้มีปัญหากับผู้หญิงที่ “เป็นแม่บ้านเพราะอยากเป็น” ถ้าคุณอยากเป็นด้วยความเต็มใจและพยายามทุกวันเพื่อทำงานของคุณให้ดี —คุณสุดยอดมากๆ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่เราบอกว่าผู้หญิงมีสิ่งที่อยากเป็นและอยากทำ มี “ความเป็นไปได้” ในแบบของเรา เราหมายความว่าผู้หญิงก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเป็นแม่บ้านด้วย และควรจะได้รับความเคารพในทางเลือกและอาชีพของเธอ รวมไปถึงสมควรได้รับคำขอบคุณ/ค่าตอบแทนสำหรับสิ่งที่เธอทำด้วย
และสำหรับคนที่รับไม่ได้ที่ได้รับรู้เรื่องความลำบากและตะเกียกตะกายของเพศหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ ต้องมาดิ้นบอกว่าผู้หญิงควรอยู่ในที่ตัวเอง ก็... เอาเถอะ ไม่อยากบรรยายคนด้วยคำหยาบ
สุดท้ายนี้ ปิตาธิปไตยเฮงซวย
และขอความเจริญจงเกิดแค่คนที่เห็นปัญหาและไม่โอนอ่อนไปตามกระแสของมัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in