เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
central europe 2019themoonograph
DAY2.5 : Sisi ผู้หญิงที่ควรรู้จักก่อนไปออสเตรีย

  • จากที่เราได้เกริ่นถึงชื่อของผู้หญิงคนนี้ไปหลายครั้งในโพสต์ก่อน ๆ หน้าว่าเป็นบุคคลที่ต้องรู้จักก่อนไปเที่ยวออสเตรีย (หรือจริง ๆ ถ้ายังไม่ได้ไปเราก็อยากให้ได้ลองทำความรู้จักกับเธออยู่ดี T_T) ครั้งนี้เราจะมาเล่าประวัติของเธอให้ฟังกันค่ะ โดยข้อมูลทั้งหมดที่จะนำมาเล่า เป็นข้อมูลที่เราได้จากการหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตก่อนไปเที่ยว รวมกับข้อมูลที่ได้จากการเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ ตลอดทริป

    จะขอเล่าแบบไม่ค่อยติดราชาศัพท์นะคะ เพื่อความสะดวกในการเล่าและความง่ายต่อการเข้าใจ 

    Empress Elizabeth of Austria (จักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งออสเตรีย) หรือที่คนข้างในวังจะเรียกชื่อเล่นของเธอกันว่า "Sisi" เป็นอัครมเหสีของ Emperor Franz-Joseph I of Austria (จักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย) ทั้งคู่อภิเษกสมรสกันตั้งแต่ครั้งยังอายุน้อย

    ตั้งแต่เด็ก Sisi รักการขี่ม้า เล่นผาดโผด ชมธรรมชาติ เธอใช้ชีวิตอย่างมีอิสระมาโดยตลอด ครอบครัวของเธอค่อนข้างเข้มงวดเรื่องการจัดหาคู่ครอง ตอนนั้นแม่ของ Sisi ได้วางตัวให้ดัชเชสเฮเลน (พี่สาว) แต่งงานกับ Emperor Franz-Joseph I แต่พอได้มาเจอตัวกัน ฝั่ง Emperor Franz-Joseph I กลับสนใจในตัว Sisi มากกว่า ตามคำบอกเล่า หลายคนพูดกันว่า "เป็นเหมือนกับรักแรกพบ" และก็ขอแต่งงานกับ Sisi แทนที่จะเป็นดัชเชสเฮเลน ตอนนั้นจักรพรรดิอายุ 23 ปี ดัชเชสเฮเลนอายุ 18 ปี และ Sisi อายุเพียงแค่ 15 ปีเท่านั้น

    Emperor Franz-Joseph I (ซ้าย) - Empress Elizabeth/Sisi (ขวา)

    แม่ของจักรพรรดิอย่างเจ้าหญิงโซฟี ไม่ชอบ Sisi มาก ๆ เพราะลูกชายของตนกลับเลือกเธอทั้ง ๆ ที่รู้จักกันเพียงไม่กี่วัน และทั้ง ๆ ที่ได้วางตัวให้คู่กับดัชเชสเฮเลนเอาไว้แล้ว หลังแต่งงานกัน Sisi ก็ถูกกลั่นแกลงต่าง ๆ นานา โดยแม่ของจักรพรรดิและดยุกกับดัชเชสอีกหลาย ๆ คน แต่ก็มีคนเข้ามาช่วยเหลือมากเช่นเดียวกัน รวมไปถึงตัว Emperor Franz-Joseph I เองด้วย Sisi เคยพูดว่าตั้งแต่เธอเข้ามาที่วัง เธอถูกโซฟีจับตามองอยู่ตลอดทั้งวัน จ้องจะจับผิดไม่ว่าเธอจะทำอะไรก็ตาม แค่ขยับนิดหน่อยก็มองตามแล้ว ตามมาจนถึงในห้องเธอเลยด้วยซ้ำในบางที

    Sisi และ Emperor Franz-Joseph I มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน เป็นผู้ชายหนึ่งคน และผู้หญิงอีกสามคน ซึ่งลูกชายของทั้งคู่ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นมกุฎราชกุมาร คือจะได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิต่อจากพ่อ (Emperor Franz-Joseph I) นั่นเอง แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อลูกสาวคนแรกเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก และลูกชายคนเดียวของทั้งคู่ถูกพบเป็นศพพร้อมกับคนรัก หลังการตรวจสอบพบว่าทั้งคู่ฆ่าตัวตายด้วยปืน (จริง ๆ ตรงนี้บางคนเชื่อว่าทั้งคู่อาจจะถูกฆาตกรรม สาเหตุพ่วงเกี่ยวกับการเมืองด้วย ใครสนใจลองหาอ่านเพิ่มเติมได้ "Mayerling Incident") Sisi เสียใจกับเหตุการณ์นี้มาก และนับตั้งแต่นั้นมา เธอก็สวมแต่เสื้อผ้าสีดำจวบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต (ซึ่งจริง ๆ ตรงนี้มีคนมาแย้งนะคะ มีหลักฐานว่าบางครั้งเธอก็ไม่ได้ชุดสีดำ แต่ส่วนมากก็เน้นใส่ดำหมดอยู่ดี)

    ภาพถ่ายครอบครัว

    Sisi ในชุดสีดำ
    กลับมาที่ตัว Sisi เองบ้าง การได้แต่งงานกับ Emperor Franz-Joseph I ตามที่หลายคนเล่าต่อ ๆ กันมา เป็นการแต่งงานที่นำพาชีวิตคู่อันแสนไม่มีความสุขมาให้กับเธอค่ะ ตัวจักรพรรดิดูจะรัก Sisi มาก แต่ความรู้สึกของเขาไม่ได้ถูกตอบกลับ หรือถึงตอบกลับ ก็ไม่ได้อยู่ในระดับเท่า ๆ กัน ตอนที่เข้าชมพระราชวังเชินบรุนน์ จะมีห้องหนึ่งที่เป็นห้องทำงานของจักรพรรดิ ภายในห้องจะมีรูปวาดของ Sisi วางเต็มไปหมด ตามข้อมูลที่ได้รับมา จักรพรรดิต้องตื่นขึ้นมาทำงานตั้งแต่เวลาตีสี่ของทุกวัน และกลับไปพักผ่อนเวลาดึก ๆ ตลอด ทานอาหารก็ทานในห้องทำงาน ทุกอย่างทำในห้องทำงานหมด เรียกได้ว่าทำงานหนักมาก ๆ แต่ห้องทำงานของท่านก็ไม่ได้มีแต่กองเอกสารและงานที่ต้องทำ กลับมีรูปของ Sisi วางเอาไว้มากมาย นี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้หลายคนเชื่อว่าจักรพรรดิรัก Sisi มากจริง ๆ 

    คำถามคือ แล้วทำไม Sisi ถึงไม่รักพระองค์กลับบ้าง?

    ระหว่างการเข้าชม มีประโยคหนึ่งของ Sisi ที่ Audio Guide เล่ามาแล้วทำให้เรารู้สึกจุกไปไม่น้อย

    "Marriage is an absurd institution. One is sold as a fifteen-year-old child and makes a vow one does not understand and then rues for thirty years or more and cannot undo."
    "การแต่งงานเป็นธรรมเนียมที่ไร้สาระ คนคนหนึ่งถูกขายขณะที่เป็นเด็กอายุสิบห้าปี และให้คำสาบานในสิ่งที่ตัวเองก็ไม่เข้าใจ ค่อยรู้สึกเสียดายอีกสามสิบปีต่อมาหรือมากกว่านั้น โดยไม่สามารถแก้ไขอะไรได้"

    เราเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าคำพูดเหล่านี้ออกมาจากใจของ Sisi เองหรือไม่ แต่ถ้าให้ลองมองในมุมคำพูดนี้ ก็พอที่จะเข้าใจเธอได้นะคะ เคยได้มีอิสระ ใช้ชีวิตอย่างที่ตนชอบมาโดยตลอด แต่จู่ ๆ วันหนึ่งก็ต้องแต่งงาน มาทำหน้าที่เป็นจักรพรรดินีของทั้งอาณาจักร แล้วไม่ใช่แค่อาณาจักรเดียวด้วยเพราะตอนนั้นออสเตรียกับฮังการียังรวมกันอยู่ (ตำแหน่งของเธอคือจักรพรรดินีแห่งออสเตรีย และราชินีแห่งฮังการี-โครเอเชีย-โบฮีเมียค่ะ) นอกจากนี้ยังต้องแบกรับความรับผิดชอบมากมาย ไม่ได้มีอิสระตามที่เคยมี ทั้งที่เธอก็ยังเป็นเพียงเด็กอายุไม่เท่าไรเอง ไหนจะถูกกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานาอีก และก็เหมือนกับที่เธอได้พูดเอาไว้แหละค่ะ ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้

    นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีก่อนที่มกุฎราชกุมารจะฆ่าตัวตาย จักรพรรดิ Franz-Joseph I ก็ได้พบกับ Katharina Schratt นักแสดงหญิงชาวออสเตรีย เธอได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทและคนรู้ใจของพระองค์ และความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ยืนยาวตลอดชีวิตของพระองค์เลยก็ว่าได้ หลายคนเชื่อว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคู่ของพระองค์กับ Sisi เริ่มเปราะบางลงเรื่อย ๆ จนหลังจากที่ลูกชายคนแรกและคนเดียวของทั้งคู่เสียชีวิต ความสัมพันธ์ของทั้งสองที่เปราะบางอยู่แล้วก็ยิ่งเปราะบางมากเข้าไปใหญ่ จนเกือบแตกหักกันไปเลย

    ในช่วงเดียวกับที่เธอเสียลูกชายไป พ่อ พี่สาวอย่างดัชเชสเฮเลน และแม่ของเธอ ก็จากไปในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีพร้อม ๆ กันทั้งหมด นับว่าเป็นอะไรที่ยากสำหรับ Sisi มาก ๆ ที่จะต้องรับมือกับความเศร้าเสียใจทั้งหมดที่ถาโถมเข้ามา หลังจากนั้นเธอก็เริ่มไม่อยู่ที่เวียนนากับจักรพรรดิ ออกเดินทางไปประเทศต่าง ๆ ในแถบยุโรปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นับว่าการเดินทางไปที่ต่าง ๆ ของเธอนี้ เป็นวิธีที่จะช่วยเยียวยาและรักษาจิตใจจากการสูญเสียคนรักได้ค่ะ

    อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเล่าเมื่อกล่าวถึง Sisi คือรูปลักษณ์อันสวยงามของเธอ Sisi ออกกำลังกายอย่างเป็นประจำเพื่อรักษาหุ่นให้เข้ารูปอยู่เสมอ (จนหลายคนมองว่าเธอผอมเกินไปด้วยซ้ำ) อีกทั้งยังมีผมที่ยาวมากเหมือนกับราพันเซลด้วย เวลาสระผมทีต้องใช้เวลากว่าสามชั่วโมงเพื่อสระให้สะอาด และมีแชมพูสูตรส่วนตัวที่ผสมขึ้นให้เหมาะกับผมเธอโดยเฉพาะ จุดที่น่าสนใจคือในระหว่างที่เธอกำลังสระผมอยู่นั้น เธอไม่ได้ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยนั่งอยู่เฉย ๆ แต่กลับใช้เวลาสองถึงสามชั่วโมงมาเรียนภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสที่เธอสามารถพูดได้อย่างคล่อง ภาษากรีก และภาษาฮังการี และน้อยครั้งเท่านั้นที่เธอจะออกมาข้างนอกให้ผู้คนได้ยลโฉมความงาม ดังนั้นเมื่อใดที่เธอออกมา ประชาชนทุกคนต่างก็เฝ้าคอยมารอรับเสด็จกัน

    จนเมื่อปี 1898 Sisi ได้เดินทางไปที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นการไปพักผ่อนกับนางกำนัลคนสนิทเฉย ๆ เท่านั้น แต่ในระหว่างที่เธอกำลังเดินเลียบทะเลสาบเจนีวา จู่ ๆ ก็มีชายคนหนึ่งพุ่งตรงเข้ามา ปักมีดลงบนอกและหลังจากนั้นไม่ถึงชั่วโมง Sisi ก็หมดลม นับเป็นการลอบปลงพระชนม์ค่ะ ชายคนนั้นมีชื่อว่าลุยกิ ลูเชนี ตอนแรกเขาตั้งใจที่จะลอบปลงพระชนม์ดยุกท่านหนึ่งของฝรั่งเศสที่ไปเจนีวาในช่วงเวลานั้นพอดี แต่ดยุกดันกลับไปก่อน แล้วเห็นในหนังสือพิมพ์ของเจนีวาบอกว่ามีผู้หญิงสวยงามคนหนึ่งที่เป็นจักรพรรดินีของออสเตรียมาเที่ยวที่เจนีวาพอดี เขาเลยพุ่งตรงมาที่ Sisi แทน ด้วยเหตุผลที่ว่า จะฆ่าพระบรมวงศานุวงศ์เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น ภายหลังลุยกิ ลูเชนีถูกศาลสั่งให้จำคุกตลอดชีวิต แต่หลังจากนั้นราวสิบปี เขาก็ได้ฆ่าตัวตายภายในห้องขังค่ะ

    ภาพถ่ายภาพสุดท้ายของ Sisi

    เมื่อจักรพรรดิทราบข่าว พระองค์ก็เสียใจมาก และใช้ชีวิตต่อมาเรื่อย ๆ จนตัวพระองค์เองก็จากโลกนี้ไปด้วยอาการปอดบวม ในช่วงที่พระองค์อาการทรุดหนักและจวนจะสิ้นพระชนม์ คนสนิทของพระองค์ได้ถามเกี่ยวกับ Sisi และพระองค์ก็ตอบกลับมาว่า 

    "You do not know how much I love this woman." 

    ซึ่งก็คือ "คุณไม่รู้หรอกว่าฉันรักผู้หญิงคนนี้มากขนาดไหน" นั่นเอง หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ หลานชายอย่างจักรพรรดิชาร์ลที่ 1 ก็ขึ้นครองราชย์ต่อ ผู้ที่จะเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของออสเตรีย กษัตริย์องค์สุดท้ายของฮังการี และกษัตริย์องค์สุดท้ายของโบฮีเมีย ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยชนวนอันเกิดมาจากการลอบสังหารอาร์ชดยุก Franz-Ferdinand ที่หลาย ๆ คนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี

    เรื่องราวของ Sisi และจักรพรรดิ Franz-Joseph I ก็จบลงเพียงเท่านี้ แต่ความสัมพันธ์และชีวิตคู่ของทั้งสองก็ยังคงเป็นปริศนาให้กับคนรุ่นหลังต่อมาเรื่อย ๆ และจะเป็นปริศนาเช่นนี้ต่อไป เพราะบุคคลที่กุมความลับและความรู้สึกทั้งหมดอย่าง Sisi ก็ได้จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับแล้ว

    สองสถานที่หลักที่สามารถเข้าไปฟังเรื่องราวและดูนิทรรศการที่จัดขึ้นเกี่ยวกับ Sisi ได้คือที่พระราชวัง Hofburg และพระราชวัง Schönbrunn ในเวียนนา ประเทศออสเตรียค่ะ 

    ข้อมูลทั้งหมดเราได้มาจากการไปเข้าชมพระราชวังต่าง ๆ ที่เล่าประวัติของเธอ รวมไปถึงหาอ่านเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตด้วย หากผิดพลาดประการใดขออภัยด้วยนะคะ

    ขอบคุณที่แวะเข้ามาอ่าน และขอให้เป็นวันที่ดีค่ะ

    — themoonograph
    sunday. 11:52.
    august 18, 2019.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in