เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Lost in Translationview0326
อยู่กับภาษาอังกฤษทุกวัน
  • มีหลายคนเคยมาถามเกี่ยวกับวิธีเรียนและฝึกภาษาอังกฤษ ด้วยความที่ไม่รู้จะเรียบเรียงตอบยังไงดี เลยลองนั่งเขียนออกมาเป็นข้อๆ ให้ลองพิจารณากัน แต่จะขอบอกไว้ตรงนี้ก่อนว่า เราไม่คิดว่าบทความนี้จะเหมาะกับคนที่ต้องการฝึกพูดสักเท่าไหร่ จะเน้นการอ่านทำความเข้าใจและการเขียนมากกว่า แต่ถ้ามีคนเอาวิธีการเหล่านี้ไปปรับใช้แล้วคิดว่ามีประโยชน์ เราก็ยินดีและขอบคุณมากๆ

    เวลาคนมาถามว่า "ทำยังไงถึงเก่งภาษาอังกฤษ" เราก็ไม่รู้จะให้คำตอบแบบไหนนะ เพราะส่วนตัวไม่คิดว่าตัวเองเก่งจนสามารถไปแนะนำใครได้ด้วยซ้ำ คนชอบมาถามหาวิธีที่เร็วและง่ายที่สุด ซึ่งเราไม่มีวิธีแบบนั้นเลย  แต่นี่เป็นวิธีที่เราใช้เองมาตลอดตั้งแต่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษ เป็นวิธีการที่ใช้เวลามากๆ คือ "อยู่กับภาษาอังกฤษทุกวัน" ในแต่ละวันก็จะทำความคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษด้วยวิธีเหล่านี้;;;

    1. ทำความคุ้นเคยกับพจนานุกรม

    วิธีนี้จะได้ผลดีกับคนที่มีความสนใจภาษาอังกฤษอยู่แล้ว เพราะเมื่อเราสนใจสิ่งที่จะตามมาก็คือความอยากรู้ และนำไปสู่การค้นคว้า เคยมีเพื่อนที่เก่งภาษาอังกฤษมากๆ (ในความคิดเรา) ก็เป็นคนที่ใช้พจนานุกรมตั้งแต่เด็กๆ เหมือนกัน ส่วนตัวเชื่อว่าพจนานุกรมเป็นอุปกรณ์พื้นฐานของคนเรียนภาษาทุกภาษา การทำความคุ้นเคยกับมันจึงสำคัญมากๆ

    วิธีของเราเริ่มต้นจากเวลาเห็นคำศัพท์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะจากป้ายตามทาง จากการ์ตูน หรือไปได้ยินที่ไหนมา แล้วสงสัยว่าคำนี้แปลว่าอะไร ก็ต้องจำเอาไว้ เพราะสมัยก่อนไม่มีพจนานุกรมที่สะดวกเหมือนตอนนี้ เช่น แบบที่เป็น application ในโทรศัพท์ ทำให้ต้องจำคำนั้นเอาไว้แล้วไปหาความหมายทีหลัง ตอนเด็กๆ ทุกวันที่กลับมาถึงบ้านจะเปิดพจนานุกรมแล้วอ่านเล่น นั่งนึกว่ามีคำไหนที่เราสงสัยแล้วยังไม่รู้ว่าความหมายบ้าง แล้วก็เปิดหาไปเรื่อยๆ พอเบื่อก็ไปเล่นอย่างอื่น ถ้าอยู่บ้านแล้วเกิดนึกได้ว่าอยากรู้คำไหนก็จะเปิดพจนานุกรมทันที ตอนนี้เราก็ยังมีนิสัยนี้อยู่ แต่เปลี่ยนเป็นหาความหมายออนไลน์จากมือถือแทน

    ข้อสรุปของข้อแรกก็คือ สงสัยความหมายคำศัพท์ที่ผ่านหูผ่านตาแทบจะตลอดเวลา แล้วจึงไปค้นคว้า

    2. เลือกใช้พจนานุกรมให้ถูกจุดประสงค์

    ข้อที่สองก็ยังไม่พ้นเรื่องพจนานุกรมอยู่ดี อย่างที่เน้นไว้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมาก เริ่มแรกเข้าใจว่าไม่รู้จะเลือกพจนานุกรมที่เหมาะสมยังไง ส่วนตัวแนะนำให้ไปเปิดเลือกเองเลย ชอบเล่มไหนก็ซื้อมาก่อน เมื่อรู้สึกว่าเล่มเก่าไม่พอแล้วค่อยขยับขยายก็ได้

    พจนานุกรมเล่มแรกของเราเป็นเล่มเล็กแบบ English - Thai ราคาน่าจะประมาณ 50 บาท และไปเลือกเอง จุดประสงค์ของการซื้อพจนานุกรมเล่มแรกก็แค่เพื่อให้รู้ว่าแต่ละคำแปลว่าอะไรอย่างคร่าวๆ ต่อมาก็ให้รู้หน้าที่ในประโยคของแต่ละคำ (Part of Speech) ถ้าจุดประสงค์แค่นี้ เราใช้เล่มเล็กๆ ก็ยังพอได้ใช้อยู่ ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้เราชินกับพจนานุกรม

    ระหว่างนั้นให้ลองอ่านภาษาอังกฤษจากหนังสือเรียน หนังสือที่เรียนพิเศษ ในโซเชียลมีเดีย เนื้อเพลง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เริ่มเป็นประโยค จากแหล่งไหนก็ได้ อย่าให้แค่มันผ่านตา ทำไปเรื่อยๆ จะสังเกตเห็นเองว่าการวางคำในประโยคจะมีรูปแบบของมัน และจะมีปัญหาเกิดขึ้นในระยะนี้คือ เราจะงงเวลาเจอคำเดียวกันในคนละประโยคแต่รู้สึกว่าพอแปลออกมาแล้วความหมายน่าจะต่างกัน เนื่องจากคำศัพท์หลายๆ คำจะมีมากกว่า 1 ความหมาย ตอนนี้อย่าท้อ อย่างง เพราะมันเป็นตอนที่เราต้องเปลี่ยนไปใช้พจนานุกรมเล่มใหญ่ขึ้น ละเอียดขึ้น หรือแม้กระทั่ง English - English dictionary

    ส่วนตัวเราพจนานุกรมเล่มที่สองเป็น Oxford English - English dictionary แต่เป็นเล่มเล็ก (น่าจะเล็กสุด) ราคาตอนนั้น 99 บาท จะละเอียดขึ้นมาก คือ แต่ละคำระบุหลายความหมาย หลายหน้าที่ในประโยค (Part of speech) และมีตัวอย่างประโยคให้เรานึกภาพออกว่าเวลามันอยู่ในประโยคจริงๆ แล้วลักษณะประมาณไหน เวลาหาความหมายให้อ่านจากพจนานุกรมให้มากที่สุดเท่าที่เราอยากจะอ่าน ถ้าอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจหรืออยากอ่านนิดเดียวก็ไม่เป็นไร ถ้าวันหลังเราติดคำนี้อีก เราจำไม่ได้ เราจะกลับมาเปิดพจนานุกรมแล้วหาความหมายที่ตรงกับบริบทนั้นเอง การจำคำศัพท์หนึ่งคำเราอาจต้องเห็นคำนั้นในประโยคหลายๆ ครั้ง ซึ่งเราคิดว่าเป็นการจำคำศัพท์ที่เป็นธรรมชาติแต่ใช้เวลานานมากที่สุด

    ข้อดีที่จะข้ามไปก็ได้ของ English - English dictionary คือ มีตัว phonetics ให้เรารู้ว่าการออกเสียงที่ถูกต้องเป็นยังไง เน้นพยางค์ไหน (Stress) ระยะนี้อาจต้องซื้อเล่มที่บอกวิธีอ่าน phonetics คร่าวๆ ไว้ในหน้าที่เปิดหาง่ายให้เราไม่ท้อในการเปิดหาความหมายไปซะก่อน ซึ่งถ้าไม่ได้ตั้งใจจะเรียนสายภาษาก็ไม่จำเป็นต้องอ่านให้ออกก็ได้ มันมีประโยชน์ แต่ถ้าไม่รู้ ก็ยังมีวิธีอื่นให้ฝึกออกเสียงจาถูกเหมือนกัน

    สรุปก็คือเราต้องเลือกใช้พจานุกรมให้เหมาะสมกับข้อมูลที่เราต้องการ บางครั้งพจนานุกรมเล่มใหญ่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป หรือแม้กระทั้ง Online dictionary เอง เราก็ควรเลือกเว็บไซต์ที่มีรูปแบบที่เราชอบ มีเนื้อหาครอบคลุมตามที่เราต้องการ เพราะพจนานุกรมเปรียบเสมือนคู่มือของแต่ละภาษา ถึงแม้ว่าเราจะเก่งขึ้นแล้ว บางครั้งก็ยังจำเป็นต้องอาศัยพจนานุกรมเพื่อตรวจความถูกต้องอยู่

    3. อ่านเนื้อหาที่น่าสนใจ

    ถ้าเป็นเด็กๆ ทางโรงเรียนจะหาเรื่องที่น่าสนใจและไม่ยากตามระดับชั้นมาให้อ่านอยู่แล้ว เช่น เรื่องเกี่ยวกับดาราศาตร์ ประวัติศาสตร์ หรือสัตว์โลก และหนังสือสำหรับเด็กก็จะเขียนให้น่าอ่านอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องไปหาบทความมาอ่านเอง ตามเว็บไซต์ต่างๆ หรือหาอ่านตามเว็บสำนักข่าวก็ได้ จะมีบทความสั้นๆ อยู่ หรือคนไม่ชอบแนววิชาการก็อาจจะอ่านนิยาย แฟนฟิคชั่น หรือข่าวบันเทิงของดาราที่ชอบก็ได้ แต่ไม่ว่าเราจะอ่านอะไร ให้สังเกตการใช้คำไปด้วย ถ้าไม่เข้าใจก็เปิดพจนานุกรม จะเปิดตอนไหนก็แล้วแต่ชอบ อาจจะไม่เข้าใจแล้วเปิดเลย อ่านเสร็จแล้วเปิดทีเดียว หรือเปิดเฉพาะคำที่อยากรู้จริงๆ ก็ได้

    จุดประสงค์ของการอ่านนี้เพื่อให้เราชินกับโครงสร้างและการใช้คำของภาษา แรกเริ่มไม่ต้องไปตั้งความหวังก็ได้ว่าเราจะเข้าใจทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ หรือจำคำศัพท์ใหม่ๆ ได้ทุกคำ เอาแค่รู้ว่าพูดถึงอะไรก่อนก็ได้ในช่วงแรก สิ่งที่เราจะบอกคือ การอ่านเป็นสิ่งที่ทำให้เราคุ้นเคยกับภาษาอื่นๆ ได้ดี ให้เราอ่านไปก่อน อ่านไปเรื่อยๆ ความเข้าใจจะตามมาเอง และยิ่งอ่านเรื่องที่เราสนใจและมีข้อมูล การทำความเข้าใจจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเลย

    ที่เน้นให้อ่านก็เพราะมีอาจารย์ที่เคารพสอนมาและจากประสบการณ์ก็เห็นด้วยกับท่านที่ว่า การที่เราจะพูดภาษาอะไรก็ตามออกมา สิ่งที่ควรจะมีก่อนนั้นไม่ใช่ความรู้ทางภาษา แต่เป็นเนื้อหาที่เราจะพูด ถ้าเรามีเนื้อหาที่จะสื่อสารนั่นคือแก่นแท้ ภาษาเป็นเพียงเครื่องมือช่วยให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่เราคิด การอ่านเป็นวิธีการที่ดีในการเติมวัตถุดิบสำหรับการพูดซึ่งก็คือเนื้อหาความรู้ และมีผลพลอยได้เป็นความเข้าใจธรรมชาติของภาษาจากการค่อยๆ ซึบซับวิธีการเรียบเรียงประโยค

    ::ข้อแถม::
    4. ใช้ภาษาอังกฤษในการค้นคว้า

    สองข้อสุดท้ายนี้ให้เป็นข้อแถมก็แล้วกัน เพราะไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นวิธีที่จำเป็นและได้ผลจริงหรือเปล่า แต่เป็นวิธีที่เราใช้อยู่เป็นประจำ คือ การค้นหาความรู้โดยใช้ภาษาอังกฤษ  ซึ่งจริงๆ ก็คล้ายๆ กับข้อสาม อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ เวลาเราอยากรู้เรื่องอะไรให้หาจากแหล่งข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษก่อน เชื่อว่าทุกคนน่าจะมีเวลาท่องอินเตอร์เน็ตกันทุกวันอยู่แล้ว ให้พิมพ์ภาษาอังกฤษไปเลยเวลาท่องอินเตอร์เน็ต

    สมมติเราเป็นคนชอบดูหนัง เรานึกอยากรู้ประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ ให้หาในกูเกิ้ลว่า "History of film" หรืออยากรู้ว่าหนังเรื่องนี้เริ่มฉายปีไหนก็พิมพ์ "Kill Bill release date" หรือเราเกิดไม่รู้ว่าเมืองนี้อยู่ประเทศอะไรก็พิมพ์ "Where is Barcelona?" หรือถ้านึกเป็นประโยคไม่ออกก็พิมพ์ "Barcelona country" เมื่อเราพิมพ์คำค้นหาแบบนี้ ข้อมูลที่ปรากฏขึ้นมาจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ทำให้เราต้องอ่านภาษาอังกฤษไปโดยปริยาย แต่มันดีตรงที่เป็นเรื่องที่เราอยากรู้พอดี และเป็นธรรมดาเวลาท่องอินเตอร์เน็ตแบบนี้เรามักจะไม่อ่านแค่คำตอบ แต่เราจะเข้าไปอ่านข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นมาด้วย ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ลองอ่านให้จับใจความที่ต้องการได้คร่าวๆ แล้วค่อยไปหารายละเอียดภาษาไทยทีหลังก็ได้ ถ้าอ่านไปเรื่อยๆ เราจะเข้าใจมากขึ้นเอง

    5. จัดสิ่งแวดล้อมให้มีภาษาอังกฤษมากที่สุด

    วิธีสุดท้ายนี้จะทำให้เราซึมซับภาษาอังกฤษเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ถ้าสิ่งรอบตัวมีให้เลือกว่าเวอร์ชั่นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกภาษาอังกฤษไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ให้กำหนดค่าเป็นภาษาอังกฤษ หรือเวลาจดโน้ตกันลืมของตัวเองก็จดเป็นภาษาอังกฤษ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะทำให้เราชินและได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน




    เราเชื่อว่าการฝึกภาษาอังกฤษไม่มีรูปแบบที่ตายตัวหรือวิธีที่รับประกันได้ว่าจะประสบความสำเร็จ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะจริงจังกับการฝึกฝนมากแค่ไหน เราคิดว่าถ้าเรามีสิ่งที่อยากได้จริงๆ และจริงจังกับการทำให้ได้สิ่งนั้นมา สุดท้ายมันก็จะมาอยู่ในมือเรา การเรียนภาษาอังกฤษก็เหมือนกัน ถ้าเราคิดว่าเราจะเข้าใจมันให้ได้ การนั่งนึกว่าเมื่อไหร่จะได้ ไม่ช่วยอะไร ความเข้าใจและความรู้ต้องแลกมาด้วยการทำงาน ซึ่งก็คือการฝึกฝน การจัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้มีภาษาอังกฤษมากที่สุด หรือที่เราเรียกว่า "อยู่กับภาษาอังกฤษทุกวัน" อาจต้องใช้เวลายาวนาน แต่เราเชื่อเสมอว่าสุดท้ายเราจะได้ความเข้าใจนั้นมา ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จกับการฝึกภาษาอังกฤษ =]
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in