มาเป็น CSI กันเถิด ตอนที่ 6: ของเหลวในร่างกายและการเก็บตัวอย่างเลือด
คาบนี้มีเรื่องน่าตื่นเต้น อาจารย์กำลังจะสอนสัญญาณไฟไหม้ดัง 5555555 การเรียนที่นี่นั่นคุณจะได้ยินเสียงสัญญาณไฟไหม้บ่อยมาก ไม่ว่าจะซ้อมหรือ False Alarm เจอบ่อยมากจริงๆ ค่ะ บ่อยขนาดที่อาจารย์พูดว่านี่ครั้งที่สองของวันแล้ว (ฮา) แต่ไม่ว่าจะจริงหรือปลอมพอสัญญาณดังเราต้องลงจากตึกค่ะ ยังดีที่ห้องบรรยายอยู่ชั้น 1 ลงบันไดชั้นเดียวยังชิวๆ ห้องปฏิบัติการอยู่ชั้น 8 ค่ะ (ดีนะ ตอนที่ต้องไปแล็บ ลิฟท์ใช้การได้แล้ว)
คราวนี้เลยย้ายมาฟังบรรยายอีกตึก ว่าด้วยเรื่องของเหลวในร่างกาย
ก่อนอื่นเรามารู้จัก Forensic Biology (งานพิสูจน์ทางชีววิทยา) กันก่อน มันครอบคลุมหลายอย่างมากเช่น เลือด น้ำลาย รังแค ปัสสาวะ อุจาระ น้ำอสุจิ ช่องคลอด เนื้อเยื่อ เส้นผม เส้นใย ถุงยางอนามัย/สารหล่อลื่น โพรงจมูก เหงื่อ เซลล์ผิวหนัง DNA เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีประเภทที่เรียกว่า Unusual Biological Evidence ได้แก่
พฤกษศาสตร์ / มานุษยวิทยา / โบราณคดี / กีฏวิทยา (แมลง) / ทันตวิทยา / เรณูวิทยา (หิน) / การผูกเงื่อน (Knots) / Diatomology (อันนี้ไม่รู้จะแปลไทยยังไงดี แต่มันเชื่อมโยงกับการจมน้ำ / ศพจมน้ำน่ะค่ะ) และอื่นๆ อีกมากมาย
สำหรับของเหลวในร่างกายที่อาจารย์พูดถึงในคลาสก็มี เลือด / การวิเคราะห์รูปแบบเลือด / น้ำอสุจิ / น้ำลาย และ DNA
เริ่มกันที่เลือด เมื่อเราเข้าไปถึงที่เกิดเหตุแล้วเจอเลือด สิ่งแรกที่มันบอกเราคือมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น นอกจากนี้เลือดอาจช่วยเล่าลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ (ตามรอยเลือดไปเรื่อยๆ เช่นเหยื่อพยายามคลานหนี เราก็จะเห็นรอยเลือดเป็นทางว่าหนีไปตรงไหน ทิศทางใด มีหยุดที่ใดบ้าง เป็นต้น) หลักฐานชิ้นสำคัญของเลือดคือ DNA ซึ่งมันใช้ในการจับคู่ผลที่ตรงกัน หรือใช้ในการตัดผู้ต้องสงสัยออกได้
DNA แบบ Full Profile จะมีอัตราส่วน 1 ในพันล้านคน!!!
กลับมาเรื่องเลือดต่อ การตรวจสอบเลือดนั้นอย่างแรกเลยคือ...มันใช่เลือดจริงไหม??
อาจารย์เล่าให้ฟังว่าตอนลงที่เกิดเหตุ มีตำรวจแจ้งว่าตรงนี้เป็นเลือดนะ อาจารย์ดูแล้วก็แย้งว่ามันไม่ใช่ แล้วพอตรวจสอบก็พบว่าไม่ใช่เลือดจริงๆ เป็นสีหรืออะไรสักอย่าง แต่อาจารย์ก็บอกว่าเขาเคยพลาดเรื่องเลือดไปครั้งเดียว มันเหมือนจะไม่ใช่ แต่มันดันใช่งี้
การทดสอบจะมีสามแบบด้วยกัน จะดูที่การเปลี่ยนสี
- Kastle Mayer (KM) ตัวนี้ทำปฏิกิริยาแล้วจะได้ผลเป็นสีชมพู
- LeucoMalachite Green (LMG) ชื่อก็บอกแล้วเนาะ จะทำปฏิกิริยาแล้วได้สีเขียว
- Hemastix® (Tetramethylbenzidine) ส่วนมากจะใช้ทดสอบเลือดในปัสสาวะ
ตอนเข้าแล็บก็ได้ลองทดสอบเลือดค่ะ แต่ก่อนที่เราจะนำสารพวกนี้ไปทดสอบกับเลือดในที่เกิดเหตุ เราต้องทดสอบกับตัวอย่างเลือดที่เรารู้แน่ชัดว่าเป็นเลือด (เพื่อเช็คว่าสารที่เราจะใช้นั้น ใช้การได้ตามปกติ) อย่างตอนเข้าแล็บอาจารย์จะมีแผ่นที่เขียนว่าเป็นเลือดม้าอยู่ค่ะ เราเอากระดาษเล็กๆ มาถูกเลือดนิดนึงแล้ว ถ้าได้ผลตามปกติ เปลี่ยนเป็นสีเขียว (อาจารย์ใช้ LMG) แสดงว่าสารเราทำงานได้ตามปกติค่ะ
การทดสอบก็ง่ายมาก แตะตัวอย่างเลือดมานิดนึง หยด LMG ลงไป ตรงนี้จะต้องยังไม่เปลี่ยนสีนะคะ พอเราใส่ H2O2 มันจะกลายเป็นสีเขียวค่ะ ถ้าเปลี่ยนสีคือเลือด ถ้าไม่เปลี่ยนคือไม่ใช่
ถามว่าเป็นเลือดมนุษย์ใช่ไหม? อันนี้ต้องไปวิเคราะห์กันอีกทีค่ะ มันบอกได้แค่ว่าเป็นเลือดหรือไม่ใช่เลือดเท่านั้น เขาจะใช้คำว่า Apparent Blood
แล้วถ้าสถานที่เกิดเหตุมันสะอาดเอี่ยมอ่องแบบคนร้ายทำความสะอาดไปแล้วเราจะเช็คอย่างไร???
เราใช้สารเคมีมาช่วยอีกเช่นเคย ได้แก่ Luminol / Blue Star / Fluorescein ตอนเข้าแล็บอาจารย์พาเข้าห้องมืดละฉีด Luminol ให้ดูค่ะ มันเห็นเป็นสีฟ้าๆ ขึ้นมาเลย แต่อยู่ไม่นาน อาจารย์บอกว่าในที่เกิดเหตุเขาจะฉีด Luminol แล้วก็รีบถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน
การวิเคราะห์เลือดนั้นเราดูกระทั่งว่าเป็นเลือดสด เลือดแห้ง เพราะมันจะบอกได้ว่าเหตุเกิดนานแล้วหรือเพิ่งเกิด ดูลักษณะเลือด เป็นหยด เป็นฝอย หรือรอยแบบเลือดสาด ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องจดบันทึกพร้อมทำถ่ายรูปไว้
Blood pattern สามารถบอกอะไรเราได้เยอะมาก ตั้งแต่จัดเริ่มต้นของรอยเลือด ระยะห่างระหว่างรอยเลือดกับเป้าหมาย ทิศทางของเลือด บอกน้ำหนัก/แรงของการโจมตีได้ ตำแหน่งของผู้เคราะห์ร้ายและผู้ร้าย การเคลื่อนไหวของผู้เคราะห์ร้ายและผู้ร้าย จำนวนการตีหรือการยิงที่ใช้ รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงเลือดแปลกปลอม (เช่น เลือดมันไปในทางเดียวกันตลอด แต่มีอีกรอยที่สวนทาง คนละทาง คนละรูปแบบ เป็นต้น)
การจำแนกประเภทของรอยเลือด
- Single drops เป็นหยดๆ
ตัวอย่างเลือกที่หยดลงบนกระจก กระดาษ วอลล์เปเปอร์
การหยดของเลือดในแต่ละองศาก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน ข้อมูลตรงนี้จะบอกองศาการปะทะได้ ตอนเข้าแล็บได้ลองหยดเลือด วัดค่ากันจริงๆ ด้วย
เอามาเทียบกันได้ด้วยว่าเลือดในที่เกิดเหตุเกิดจากการปะทะที่องศาเท่าไร (มันจะบอกได้ว่าคนร้าย / ผู้เคราะห์ร้าย อยู่ตำแหน่งไหน อย่างไร)
- Impact Spatter รอยสาดกระเซ็น
- Cast-off มันจะเป็นรอยที่เกิดจากอาวุธน่ะค่ะ อย่างหวดค้อนลงไปเนี่ย เลือดมันจะติดค้อนด้วย แล้วเลือดจากค้อนมันก็จะสร้าง pattern ของมันที่ต่างจากรอย impact
- Arterial damage stain รอยจากเส้นเลือดใหญ่มันจะพุ่งกระฉูดมาก เพราะหัวใจสูบฉีดเลือด พอหัวใจเต้นช้าลง รอยเลือดมันก็จะพุ่งไม่แรงเท่าตอนแรก
- Expirated Blood อันนี้คือเลือดจากปาก / จากจมูก / จากปอด / จากบาดแผล (กระอักเลือด เฮือก)
- Physiologically Altered Bloodstains
- Contact Stains (พวกรอยเปื้อน รอยปาดต่างๆ นานา)
ต่อไปคือเรื่องของน้ำอสุจิ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับคดีข่มขืน หลายคนคงเคยได้ยินว่าให้รีบแจ้งความไม่ควรอาบน้ำ แม้ว่านั่นอาจเป็นความคิดแรกก็ตาม สาเหตุที่ไม่ควรทำแบบนั้นเป็นเพราะน้ำอสุจิจะติดอยู่นานมาก และมีโอกาสที่จะได้ DNA สาวไปถึงตัวคนร้าย
Persistence ของน้ำอสุจินั้น มีดังนี้
ช่องคลอด อยู่ได้ถึง 7 วัน
ทวาร อยู่ได้ถึง 3 วัน
ปาก อยู่ได้ถึง 2 วัน
ผิวหนัง ขึ้นอยู่กับรอยขีดข่วน/การชะล้าง (อาจารย์บอกว่าถ้าใช้ฟองน้ำ หรือใยขัดตัวก็อาจมีน้ำอสุจิหลงเหลือที่นั่นได้ มันเลยเป็นเรื่องสำคัญว่าหลังเกิดเหตุแล้วทำอะไรไปบ้างเพราะบางทีสามารถตามไปเก็บหลักฐานได้)
เสื้อผ้า จนกว่าจะซัก
ต่อไปคือเรื่องน้ำลาย ก็จะมาจากการออรัล เลีย จูบ กัด ก้นบุหรี่ หมายฝรั่ง หลงเหลือในเครื่องดื่ม (จุดนี้อาจารย์บอกว่าทุกครั้งที่เราดื่มน้ำในแก้วมันจะมีน้ำลายของเราปนไปในนั้นตลอด) อาหารที่กินเหลือ อัตราความสำเร็จไม่แน่นอน ส่วน DNA นั้นมาจากเซลล์ในปากไม่ใช่น้ำลาย
สุดท้ายคือเรื่อง DNA เป็นหลักฐานที่หนักแน่นเพราะ DNA ของแต่ละบุคคลมีลักษณะเฉพาะ (ยกเว้นแฝดเหมือน identical twins) โอกาสที่จะตรงกันมี 1 ในพันล้าน
การเทียบ DNA นั้นจะต้องตรงกันทุกช่อง ตามภาพประกอบ
กลับมาเรื่องเลือดดีกว่า เพราะแล็บในคาบนี้คือการเก็บตัวอย่างเลือดค่ะ
อย่างแรกที่อาจารย์ให้ทำคือลองหยดเลือดลงบนกระดาษเพื่อดูองศาของเลือด คาบนี้เป็นคาบที่เราต้องสวมทั้งเสื้อกาวน์ แว่นตา และถุงมือ
อาจารย์มีเลือดจริงกับเลือดปลอมให้เลือกค่ะ อ.บอกเลือดจริงมันเป็นเลือดเก่า เพราะงั้นมันก็จะมีกลิ่นหน่อยๆ ออยล์ใช้เลือดจริงนี่แหละค่ะ เอามาหยดบนกระดาษ สามหยด เพื่อหาค่าเฉลี่ยของแต่ละองศา (ไม่ได้ถ่ายเลือดที่หยดมาแต่หน้าตาแต่ละองศาเหมือนภาพประกอบด้านบนเลย)
เมื่อเลือดแห้งแล้วเราก็จะมาวัดขนาดของหยดเลือดกัน วัดความกว้างและความยาว (วัดถึงตรงจุดตัด) เพื่อนำมาหาองศาของการปะทะ
สูตรของมันคือ sin-1 (x/y) = degree (x คือความกว้าง y คือความยาวของหยดเลือด)
นี่คือตารางที่ได้ (ท้ายๆ เหมือนมันเออเร่อ น่าจะเป็นที่วัดความยาวผิดนี่แหละค่ะ เพราะมันเริ่มวัดยากขึ้นเรื่อยๆ แง)
จากนั้นก็มาเก็บตัวอย่างเลือด อย่างที่แนะนำไปตอนต้นว่าเราต้องตรวจสอบก่อนว่ามันใช่เลือดจริงๆ ไหม (อาจารย์ลองตรวจสอบกับเลือดปลอมให้เห็นก็พบว่ามันไม่เปลี่ยนสีค่ะ)
ตัวอย่างเลือดที่เก็บเป็นเลือดแห้งบนกระเบื้องสีขาว เราจะเก็บสามหลอดด้วยกันโดยแต่ละหลอดมีความแตกต่างกัน ก่อนเก็บเราต้องเขียนรายละเอียดบนหลอดก่อนเพื่อกันความสับสน จะใส่ตัวย่อชื่อของเราพร้อมเลขหลักฐานซึ่งเป็นเลขเดียวกันหมด ในนี้ออยล์ใช้ OT2 จากนั้นก็เขียนว่าเป็นหลอดเก็บอะไร เก็บวันไหน จากที่ไหน จากนั้นก็ลงชื่อ แต่ละหลอดเป็นดังนี้
หลอดที่ 1 Batch Control ตัวนี้คือการเก็บน้ำเปล่า (คอตตอนบัตมันต้องไปจุ่มน้ำเปล่าก่อนถึงมาถูๆ เลือด)
หลอดที่ 2 Background Control อย่างกรณีนี้คือบริเวณพื้นผิวกระเบื้องรอบๆ รอยเลือด (จุ่มน้ำเปล่าแล้วไปถูๆ บนกระเบื้องรอบๆ รอยเลือด)
หลอดที่ 3 Apparent Blood ซึ่งก็คือตัวอย่างเลือดที่เราจะเก็บนี่แหละค่ะ
ทุกหลอดต้องซีลด้วยเทป Biohazard ก่อนจะนำมาบรรจุในซองหลักฐาน (ปิดแล้วแกะไม่ได้เลยต้องตัดปลายอย่างเดียว ป้องกันได้ดีมาก) แปะคำว่า Biohazard ที่ซองเช่นกัน
หน้าซองก็จะเขียนแบบนี้ ฝั่ง Contunuity คือการบอกว่าหลักฐานชิ้นนี้ส่งต่อไปที่ไหนบ้าง ใครรับไป ถ้ามีการตัดซองเพื่อเอาหลอดไปวิเคราะห์ ซองเปล่าอันนี้ก็จะใส่ไว้ในซองใหม่ด้วย
อันนี้คือด้านหลัง ให้เห็นว่ามีสามหลอดอยู่ด้วยกัน
สำหรับคลาสเลือดก็จบลงเพียงเท่านี้ คราวหน้าน่าจะเป็นตอนสุดท้ายแล้วค่ะ จะเป็นเรื่อง Intelligence กับ Digital Recovery
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in