เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ติ่งให้ไกล ไปเรียนให้ถึงอังกฤษAki_Kaze
มาเป็น CSI กันเถิด ตอนที่ 2: การจดบันทึกและการบรรจุหลักฐาน
  • มาเป็น CSI กันเถิด ตอนที่ 2: การจดบันทึกและการบรรจุหลักฐาน

    คาบสองเป็นเรื่องของการจดบันทึกและการบรรจุหลักฐาน (Notetaking - Packaging)

    การบรรจุหลักฐานเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะถ้าเราเลือกใช้ package ผิดก็จะทำให้หลักฐานที่เราเก็บมาเสียหายจนไม่สามารถใช้ในชั้นศาลได้ หรือถ้าไม่มีการส่งต่อหลักฐานที่ดีหลักฐานอาจจะหาย เราอาจจะเคยได้ยินบ่อยๆ เรื่องหลักฐานหาย หลักฐานไปอยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่ห้องเก็บหลักฐาน
    ในห้องเรียนมีคนถามอาจารย์เรื่องนี้ขึ้นมาเหมือนกันเพราะตามข่าวบางทีได้ยินว่าจู่ๆ ก็ไปเจอหลักฐานที่โต๊ะของตำรวจคนนั้นคนนี้ มันก็เกิดข้อสงสัยว่าหลักฐานมันไปอยู่ที่นั่นได้ไง มีอะไรเบื้องลึกเบื้องหลังหรือเปล่า
    อาจารย์บอกเลยว่าของแบบนี้เกิดขึ้นได้จริงๆ แม้ว่ามันไม่ควรเกิด มันคือความผิดพลาดของมนุษย์นี่แหละค่ะ เนื่องจากวันๆ นึงเจ้าหน้าที่ต้องลงพื้นที่ทำคดีหลายคดีมาก บางครั้งเก็บหลักฐานมาเรียบร้อยแล้วแต่ต้องไปทำคดีอื่นต่อก็คิดว่าโอเค ไว้ก่อน เสร็จแล้วค่อยเอาไปเก็บเข้าที่ก็วางไว้ในลิ้นชัก แล้วมันก็เป็นแบบนั้นหลายครั้ง หลายวัน จนสุดท้ายก็ลืม เพราะงั้นมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงๆ แม้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิด
    อาจารย์เลยบอกว่าการทำตามขั้นตอนจึงสำคัญมาก ถ้าเราทำตามขั้นตอนเป๊ะๆ จะไม่มีใครสามารถแย้งหลักฐานชิ้นนี้ของเราได้ เพราะสิ่งสำคัญของงานนี้คือการนำหลักฐานที่เกี่ยวข้องในคดีไปใช้ในชั้นศาลให้ได้

    การปนเปื้อนเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง?
    มันเกิดจากการบรรจุหลักฐานที่ไม่ดีและการไม่ได้ผ่านการฝึกฝนที่เพียงพอ
    การบรรจุหลักฐานที่ไม่ดีเช่น ปิดซองหลักฐานไม่ดีหรือเลือก package ผิด ของเปียกไปใส่ในถุงกระดาษสีน้ำตาล ของมีคมใส่ในซองพลาสติก เป็นต้น
    หลักการง่ายๆ ของการบรรจุหลักฐานคือ
    1. ไม่มีอะไรเข้า ไม่มีอะไรออก
    2. การป้องกัน/รักษาของ
    3. สุขภาพและความปลอดภัย (อย่างหลอดเลือด ซองเลือดต้องแปะ biohazard)
    4. การเก็บหลักฐาน (สถานที่เก็บ)
    5. ความสมบูรณ์ (หน้าซองหลักฐานจะระบุข้อความไว้ว่ามันคืออะไร เก็บมาจากไหน ตรงนี้ต้องอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย เผื่อต้องมานั่งทำงานตอนตี 2 อารมณ์เบลอๆ ก็สามารถเข้าใจหน้าซองหลักฐานได้) 
    อีกเรื่องที่อาจารย์ย้ำคือเราต้องเอาซองเก็บหลักฐานไปที่หลักฐาน ไม่ใช่ถือหลักฐานมาเก็บใส่ซอง
    ซองหลักฐานที่เราเคยเห็นๆ กันก็จะมีพวก ซองพลาสติกใส Polythene Bags มันจะมีแบบเป็น zip seal (เหมือนพวกซองยา) กับ tamper eveident (จะมีรูปให้ดูตอนเก็บตัวอย่างเลือดนะคะ) ซองนี้มันจะป้องกันได้ดีมากเพราะปิดแล้วแกะไม่ได้เลย ต้องตัดปลายซองอย่างเดียว หน้าซองก็มีระบุเลยว่าต้องเขียนอะไรลงไปบนนั้นบ้าง ซองพวกนี้เหมาะกับการเก็บตัวอย่างประเภทหลอดใส่เลือด (Blood swabs), Fibres (เส้นใยต่างๆ นานา)
    ถุงกระดาษสีน้ำตาล จะใช้เก็บพวกเสื้อผ้า รองเท้า ของที่เปื้อนเลือดแห้ง
    กล่องก็จะใส่พวกแก้ว พวกปืน ของที่ต้องเอาไปเก็บลายนิ้วมือ
    หลอดพลาสติกก็จะใส่พวกกระสุนปืน ก้นบุหรี่ อาวุธ หลอดฉีดยา
    ถุงไนลอน ใส่พวกเศษซากที่โดนไฟไหม้
    Anti-static / Faraday bags ใส่พวกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน 

    หลังเล็กเชอร์จบอาจารย์ก็พาไปแล็ปเพื่อให้ลองบรรจุหลักฐานกันจริงๆ เป็นถุงมือให้เก็บใส่ซองน้ำตาล ซึ่งเราเองก็ต้องสวมถุงมือก่อนด้วย การเก็บหลักฐานใส่ซองนั้น อาจารย์บอกว่าอย่าเปิดปากถุงกว้างๆ เด็ดขาด ห้ามเป่าเพื่อให้ปากถุงกว้างด้วยเพราะมันอาจปดเปื้อนได้ เราต้องค่อยๆ คลี่ปากถุงและเก็บหลักฐาน (ถุงมือ) ใส่ซองให้เร็วที่สุด จากนั้นก็ต้องพับปากถุงสองทบก่อนปิดเทป เทปก็ต้องปิดทุกมุมทุกด้าน แล้วบันทึกหน้าซองคร่าวๆ ว่าเป็นอะไร ใครเก็บ เก็บจากไหน ป้องกันฉลากหลุด 
    ตัวฉลากก็จะมีรายละเอียดพร้อมว่าเราต้องกรอกอะไรบ้าง ตามภาพเลย (ส่วนที่เซ็นเซอร์คือลายเซ็นค่ะ สังเกตว่าต้องเซ็นหลายที่มาก ตามข้อต่อต่างๆ)
    ป.ล. อาจารย์บอก Officer in case ใส่ชื่อใครไปก็ได้...อิอิ



    หลังจากเก็บหลักฐานเรียบร้อยแล้ว อาจารย์ก็พาไปที่ห้องปฏิบัติการอีกแห่ง มีรถยนต์หลายคันรอให้พวกเราตรวจสอบ (เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปมา นึกไม่ทัน)
    อาจารย์แจกเอกสารมาให้สองแผ่น (เอกสารออยล์กรอกไว้ไม่ครบนะคะ ใบกรอกครบเป็นใบจากที่เกิดเหตุ (ในตอนต่อไป) ที่ส่งอาจารย์ไปแล้ว)



    ใบ Crime Scene Report Form (CSRF) เป็นบันทึกที่สำคัญมากกกก มันจะบ่งบอกว่าเราได้ทำอะไรบ้างในที่เกิดเหตุ เก็บหลักฐานอะไรมาบ้าง เอกสารตัวนี้จะช่วยในการเขียนคำให้การตอนขึ้นศาล เราไม่จำเป็นต้องเขียนทุกอย่างในคำให้การ แต่ทุกอย่างที่เราระบุในคำให้การต้องมีอยู่ใน CSRF

    ขั้นตอนการตรวจสอบที่เกิดเหตุมีดังนี้
    1. Visual
    2. Photography
    3. Forensic
    4. Powdering / fingerprint

    ในใบมีคำว่า MO (Modus Operandi) เป็นหัวข้อที่เขียนยากเหลือเกิน มันเป็นการเขียนผ่านมุมมองของคนร้าย ว่าเขามาถึงที่เกิดเหตุได้อย่างไร เข้าไปในที่เกิดเหตุได้อย่างไร ทำอะไรในที่เกิดเหตุบ้าง แล้วออกไปได้อย่างไร ซึ่งมันอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ มันคือสิ่งที่เราเห็นจากที่เกิดเหตุ (จะมีตัวอย่างให้เห็นในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนไปที่เกิดเหตุค่ะ)
    ไฟล์ MO จะเป็นบันทึกของขั้นตอน วิธีการอย่างเป็นระบบ ที่ออกแบบมาให้เราได้เห็นรูปแบบ พฤติกรรม นิสัย และร่องรอยของคนร้าย เรานำไปใช้ในการค้นหาผู้ต้องสงสัย หรือเชื่อมโยง crimes ต่างๆ เข้าด้วยกัน 

    ตอนตรวจสอบรถยนต์อาจารย์บอกว่ายังไม่เน้นเรื่อง MO อาจารย์อยากให้เราดูว่าในรถมีหลักฐานอะไรให้เราเก็บได้บ้าง อาจารย์ให้จับกลุ่มช่วยกันตรวจสอบค่ะ อย่างแรกที่เห็นเลยคือรอยนิ้วมือบนหน้าต่างรถยนต์ (ใช้แสงไฟฉายช่วยจะมองได้ดีขึ้น) พอเปิดประตูรถก็จะเห็นพวกก้นบุหรี่ รอยรองเท้าเปื้อนเลือดบนกระดาษหนังสือพิมพ์ รอยเลือดแห้งบนพวงมาลัยและหลังคารถ (จริงๆ แล้วเราจะระบุว่าเป็นรอยเลือดไม่ได้จนกว่าจะตรวจสอบ) เป็นต้น

    เป็นอีกคลาสที่สนุกเช่นเคย...และงง งงกับการเขียน MO นี่แหละค่ะ ฮ่าๆๆๆ
    คราวหน้ามาต่อกันด้วยเรื่องการถ่ายภาพในที่เกิดเหตุ ได้ลองถ่ายกันจริงๆ ในสถานที่จำลอง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
a week before valentine (@wirunyupha.chia)
อ่าน MINDHUNTER อยู่แล้วอินเรื่องเขียน MO ค่ะ 5555555555 โอย น่าสนุกอะะะ