เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Look a Breathe (Series 1 - 2)nimon
#324 มั่น ภูริทัตโต (7 O’CLOCK)


  •      วันนี้เป็นวันมาฆบูชา หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งเหตุการณ์สำคัญคือ 

         1. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ที่เป็นพระอรหันต์ซึ่งทรงอภิญญา ๖ และบวชโดยเอหิภิกขุอุปสัมปทา (การบวชโดยพระพุทธเจ้าบวชให้) ได้มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย 

        2. และพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมเทศนาที่ชื่อ โอวาทปาฏิโมกข์ (ละชั่ว ทำดี และทำจิตใจให้ผ่องใส) ซึ่งหลักธรรมนี้ คือ หัวใจพระพุทธศาสนา



         หากเมื่อศึกษาธรรมแล้ว เราจะพบว่า ศาสนาเราแตกต่างจากศาสนาอื่นตรงที่เริ่มต้นจากละชั่ว เพราะพระพุทธเจ้าท่านทรงมีความเมตตาต่อมนุษย์มากว่า ถ้าหากเราไม่ทำความชั่วเลย ความดีจะมาอัตโนมัติและจิตใจผ่องใสจากการไม่ทำชั่วเลย



         หลายครั้งที่เราได้ยินพุทธศาสนิกชนกล่าวว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าถึงยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ยากเกินไป หากเราลงมือปฏิบัติ คือ เราพบคำสอนของพระพุทธเจ้า



         วันนั้นในช่วงหนึ่งของชีวิต มีเพื่อนถามว่า แกคิดยังไงกับพวกคนที่เอาคำสอนศาสนามาเล่าตลกหรือพวกที่ชอบเอาพระสงฆ์มาเล่นตลก เราก็ตอบว่า 



    “พระพุทธเจ้าเปรียบมนุษย์เป็นบัวสี่เหล่า

    ดังนั้น ถ้าถามเราคือ 

    ไม่ต้องไปติเตียนเขา ดูแค่ตัวเองก็พอ

    อย่าทำตัวเราไปเป็นบัวเหล่าเดียวกับเขาเลย”


    เรื่องย่อ (จากเราเอง)


    รูปภาพนี้ กายกับใจสัมพันธ์กันด้วยพุทโธ

         เรื่องราวในครั้งนี้ เราไม่ขอเล่าลงรายละเอียดของชีวประวัติของหลวงปู่มั่น เพราะเนื่องจาก ได้มีการเล่าประวัติไปในครั้งก่อนแล้ว ดังนั้น วันนี้ จะมากล่าวถึงคำสอนของหลวงปู่มั่นในเล่มนี้ค่ะ เผื่อให้เพื่อนๆสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันค่ะ

         1. มุตโตทัย

         2. บทธรรมบรรยาย

         3. วิธีเจริญกรรมฐานภาวนา ๔๐ วิธี


    มุตโตทัย



         เราคิดว่า หลายคนเคยอ่านหนังสือเล่มนี้กันแล้วค่ะ หนังสือมุตโตทัยเป็นหนังสือเล่มบางที่หลวงพ่อวิริยังค์คุยตอบปัญหาธรรมกันกับหลวงปู่มั่น และไม่ว่าใครอ่านก็จะพบว่า สามารถหลุดพ้นได้จากความทุกข์อย่างแน่นอน เพียงแค่เราตั้งใจปฏิบัติสักอย่างใดอย่างหนึ่งของท่าน อย่างเช่น 


    “ฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า”

    ถ้าบุคคลใดไม่ทรมานตนให้ดีก่อนแล้ว 

    และทำการจำแนกธรรมสั่งสอนไซร้ ก็จักเป็นผู้มีโทษ


         เราใช้หลักธรรมนี้ในการฝึกฝนตน อย่างเช่น เวลาทำานแล้วเกิดอารมณ์ไม่พอใจ อารมณ์โกรธ เราพยายามนั่งเฉยๆก่อน แล้วค่อยๆดูลมหายใจเข้าพุธ ออกโธ เพื่อทำอานาปานสติ ก่อนที่จะคลายโกรธ หรือไม่งั้น เราดูอารมณ์ของตัวเองให้เห็นเป็นเกิด ดับ อารมณ์เหล่านั้นก็จะหายไป


    บทธรรมบรรยาย



         อย่างที่กล่าวข้างต้นของเรื่องมุตโตทัยว่า เราสามารถนำหลักธรรมสักหลักธรรมที่เหมาะกับเรามาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ก็จะเห็นผลประโยชน์ของธรรมเหล่านั้น รวมถึงของบทธรรมบรรยายด้วย อย่างเช่น


    “เนกขัมมธรรม”

    บำเพ็ญศีลให้สมบูรณ์ รักษาทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย 

    รู้ประมาณในโภชนะ (การบริโภค)

    ประกอบตามซึ่งธรรมผู้ตื่นอยู่ คือ 

    สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔

    สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ 

    พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อัฏฐังคิกมรรค ๘ 

    นิพพานคามินีปฏิปทา มีศีลสังวร เป็นต้น


         เราใช้หลักธรรมที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสติสัมปชัญญะมาใช้บ่อยสุด คือ เมื่อไหร่ที่เราสติหลุด ปล่อยความโลภ โกรธ หลง เข้าครอบงำ จิตใจเราเต็มไปด้วยความทุกข์ใจจากการตัดสินใจผิดหรือทำผิด แต่ถ้าเรามีสองอย่างสมบูรณ์ เราเลือกไปในทางที่ถูก


    วิธีเจริญกรรมฐานภาวนา ๔๐ วิธี



         สุดท้าย หลายคนก็คงจะมีคำถามว่า แล้วควรปฏิบัติอย่างไร ในเล่มนี้มีวิธีการปฏิบัติที่หลวงปู่มั่นแนะนนำหลากหลายวิธี ทุกคนลองหยิบสักหนึ่งอย่างมาทำดู อย่างของเราหยิบหนึ่งอย่างนั้นคือ


    “วิธีเจริญอัฏฐิกะอสุภกรรมฐาน”

    การพิจารณาซึ่งซากศพให้เหลือแต่กระดูกอย่างเดียว 

    จะพิจารณากระดูกที่ติดกันทั้งหมด

    ยังไม่เคลื่อนหลุดไปจากกันเลยก็ได้

    จะพิจารณาร่างกระดูกที่เคลื่อนหลุดไปจากกัน

    โดยมากยังติดกันอยู่บ้าง

    จะพิจารณาท่อนกระดูกอันเดียวก็ได้

    ตามแต่จะเลือกพิจารณา


         เราใช้หลักธรรมนี้ในการมองดูตนตามความเป็นจริง มีอยู่ครั้งหนึ่ง เราจำได้ว่า เราฝึกฝน จนเราเห็นตามความเป็นจริงว่า ตัวตนเราไม่มี ทุกอย่างมันคือ อนัตตา และชีวิตเราเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์คือ ทุกขัง อนิจจังและอนัตตา


    ———————————————


    กายกับใจนี้


         กายกับใจมันสัมพันธ์กัน โดยที่ความเป็นจริงของกายกับใจแยกออกจากกัน มันมีเกี่ยวข้องกันตรงที่ อารมณ์ข้องเกี่ยวสู่กาย อย่างเช่น เวลาโกรธ เราจะเห็นว่า กายของเราเกร็ง แต่เมื่อเราระลึกรู้แล้วหายโกรธ ความเกร็งนั้นก็จะหายไป ซึ่งสิ่งนี้คือความสัมพันธ์กัน โดยที่ในความเป็นจริง ทั้งสองสิ่งได้แยกออกจากกัน ดุจดั่งที่หลวงปู่มั่นบอกว่า ประเสริฐที่ได้ตน


    “อารมณ์ที่มากระทบใจ ถ้าเราไม่สามารถเอาชนะมันได้

    มันจะแว้งเข้ามากัดเรา”


    ———————————————


    อยู่มีเคียงกัน


         เมื่อเรารู้ว่า กายกับใจสัมพันธ์กันแล้ว ดังนั้น เราจะเอาอะไรมาปฏิบัติธรรมกันล่ะ ถ้าไม่ใช่สองสิ่งนี้ โดยเฉพาะใจของเราที่รู้เท่าทันอารมณ์ของเรา ทุกอารมณ์จะไม่สามารถปรากฎขึ้นมาได้อีก มันจะกลายเป็นเห็นถึงซึ่งความจริงในสิ่งนั้น แล้วในไม่ช้า เราพบกับความเป็นจริงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ถึงแม้ว่า เรายังไม่บรรลุนิพพาน แต่เราเชื่อว่า นิพพานมีจริง เมื่อลงมือปฏิบัติ


    “คำสอนของพระพุทธเจ้ามีจริง เพราะเมื่อรู้ที่ใจ ก็รู้ที่ธรรม

    และคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ตรงนั้น” 


    ———————————————


    ชีวิตตั้งมั่น


         วันนี้เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ หัวใจพระพุทธศาสนา ดังนั้น ถ้าหากชีวิตของเราที่เป็นพุทธศาสนิกชนตั้งมั่นในหลักคำสอนนี้ ไม่มีหนทางใดเลยที่เราจะพบความวิบัติ มีแต่หนทางที่เราพบกับความเจริญยอดยิ่งขึ้นไป


    “ละบาป บำเพ็ญบุญ ทำจิตใจให้ผ่องใส”


    ———————————————


    หนทางนั้นดี


         เมื่อเราเกิดเป็นมนุษย์ และเดินทางมาไม่ว่าจะสั้นหรือยาว ขอเพียงแค่อย่าประมาทในชีวิต ในการลดละเลิกความชั่ว เพราะไม่งั้น สิ่งที่เราทำอาจกลายเป็นนิสัย สันดาน และกรรมที่ตามตัวเราต่อไป และเราเริ่มทำชั่วง่ายขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น


    “อย่าทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว เลยจะดีกว่า”


    ———————————————



         ทุกคำสอนของพระพุทธเจ้าในวันนี้ที่ดูยาก เพราะเรายังไม่ยอมลงมือปฏิบัติธรรมกัน ดังนั้น วันนี้เป็นวันพระ อยากเชิญชวนทุกคนมาลองปฏิบัติธรรมกันดูเถิด แล้วทุกคนจะพบกับธรรมของพระพุทธเจ้า 


    “ถึงกระผมเป็นหมี ก็นุ่งขาว ห่มขาว บวชใจ

    วันนี้ กระผมขอลองปฏิบัติธรรม

    ดูสักครั้งในชีวิตหมีครับ”

    Look a Breathe

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in