ฉันเริ่มมโนว่าอยากเรียนฟรี เที่ยวฟรี มีเกียรติยศศักดิ์ศรีจากพวงมาลั้ยยยยย ฉันควรจะทำยังไงต่อไปดี
(หมายเหตุ : เด็กรุ่นใหม่อาจจะงงกับชื่อเรื่อง“เกียรติยศศักดิ์ศรีจากพวงมาลั๊ย” คืออะไร? คือมันเป็นท่อนหนึ่งจากเพลงชื่อ หางเครื่อง ประกอบละครเรื่อง“หางเครื่อง” ออกอากาศ เมื่อปี 2530 นำแสดงโดยคุณชนาภา(นา) นุตาคม สนใจเข้าไปหาฟังพร้อมประวัติการแต่งได้ที่ )
ที่จั่วหัวเป็นเพลงนี้มาเพราะเพลงนี้เริ่มต้นด้วยคำร้องที่ว่า
“สิ่งที่ฉันคิด สิ่งที่ฉันฝัน สิ่งที่ฉันเฝ้ารอหรือสิ่งที่ฉันพอใจ
สิ่งที่ฉันเห็น สิ่งที่ฉันสัมผัส สิ่งที่ฉันลิ้มลองหรือสิ่งที่ฉันทำไป
จะต้องเป็นจริงได้ ฉันต้องโด่งดังไกล แต่ไฉน..ใครๆเห็นเป็นภาพลวงตา”
คือ มันเหมาะสมมากกับพวกที่ต้องการจะไขว่คว้าอะไรแบบ “ว้อนน่าบี” “wanna be” (บางคนออกเสียงว่าพวก “วัลลาบี้” อันนั้นคือจิงโจ้ขนาดเล็กชนิดหนึ่ง)ซึ่งฉันเองก็มีความว้อนนาบี เล็กๆ จึงปากกัดตีนถีบไป St.Martins แต่ยังไม่ถึงกับขนาด “ชั้นต้องโด่งดังไกล” (แม้บางครั้งใครๆอาจจะเห็นเป็นภาพลวงตาบ้างอยู่เหมือนกัน)
สำหรับตัวเราเองเล็งไว้ว่าจะพยายามตะครุบทุนสำหรับพัฒนาบุคลากรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นทุนที่สนับสนุนให้บุคลากรของธรรมศาสตร์ไปเรียนภาษาที่ต่างประเทศในระยะเวลาได้ตั้งแต่1 เดือนครึ่ง – 4 เดือน ในวงเงินทุนอยู่ที่ 250,000 บาทนั่นหมายความว่าผู้สมัครทุนจะไปเรียนที่ไหนก็ได้ในโลกที่สอนภาษาอังกฤษ(และกรรมการทุนอนุมัติให้ไป) แต่มีวงเงินทุนให้เท่านี้ถ้าสมมติเราไปอยู่ในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายสูงส่วนต่างที่เกิดขึ้นทางผู้รับทุนก็ต้องรับผิดชอบเองเราก็วางแผนว่าเราจะไปเรียนภาษาเป็นหลัก ส่วนคอร์สระยะสั้นที่ St.Martins นั้นเดี๋ยวค่อยไปสมัครเรียนเพิ่มเอาเอง เพราะถ้าใช้เงินทุนก้อนนี้จ่ายก็คงจะไม่ได้เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขทุนที่ว่าด้วยการเรียนภาษาเป็นหลักวิธีการสมัครก็คือ ช่วงประมาณ เดือนธันวาคม ของทุกปี ทางกองการเจ้าหน้าที่เขาจะมีประกาศทุนมาพร้อมรายละเอียดเงื่อนไขและใบสมัครต่างๆ เราก็กรอก ไป แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อกลับมาแล้วต้องดำเนินการจัดทำโครงการอะไรซักอย่างให้หน่วยงานเกิดประโยชน์โภชน์ผลจากการที่เราเอาเงินหลวงไปเรียนบ้างสำหรับเราเองก็ไม่ได้ต้องคิดอะไรมากในส่วนของการดำเนินโครงการเพราะถึงยังไม่ไปก็มีภาระหน้าที่รอเราอยู่แล้วว่าจะต้องทำโดยเฉพาะภาระหน้าที่ในด้านเกี่ยวกับงานวิเทศสัมพันธ์ของคณะ(แต่ไม่ใช่หน้าที่หลักของเรา) คือ งานเนี่ยมันต้องทำอยู่แล้วใช่ไหม ? จะได้ไปหรือไม่ได้ไปเราก็ต้องทำงาน เพราะฉะนั้น Why not? ก็ไปซะเลยสิ หมดเรื่องหมดราว คริ คริ! สรุปว่าในการขอทุนนั้นในใบสมัครขั้นต้นที่เราต้องมีคือ
1.กลับมาจะต้องทำงานใช้ทุนอะไรบ้าง?
2.จะไปเรียนที่ไหน?
3.ต้องใช้งบประมาณ เท่าไร ค่าอะไรบ้างจงเขียนแจกแจงมา?
เตรียมสัมภาษณ์
ทุนนี้ไม่มีการสอบข้อเขียนจะเป็นแค่เพียงการสอบสัมภาษณ์ เท่านั้น โดยจะมีกรรมการทุนของทางมหาวิทยาลัย ประมาณ10 กว่า ชีวิตนั่งล้อมคุณอยู่ในห้องสัมภาษณ์ กรรมการทุน ก็เช่นรองอธิการบดีฝ่ายทรัพยาการมนุษย์ ผู้ช่วยอธิการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ อาจารย์ นู่น นี่นั่น มากมาย เขาก็จะยิงคำถามใส่เรา เช่น ให้แนะนำตัวซิ จะไปไหน ไปทำอะไร ไปทำไมฯลฯ วานตอบ วิธีการฝึกฝนการตอบคำถามนางงามของเราก็คือ
1.ให้เพื่อนสมมติตัวเองว่าเป็นกรรมการ
แล้วลองถามเราเป็นภาษาไทย หรือ ภาษาอังกฤษ ก็ได้ แต่เราต้องตอบเป็นภาษาอังกฤษโดยที่เราไม่ต้องไปกะเกณฑ์เพื่อนว่าแกจะต้องถามฉัน อย่างนั้น อย่างนี้นะปล่อยเพื่อนถามเลยฟรีสไตล์ เพราะคำว่ากรรมการน่ะนะเราก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ใช่ไหม ? เพราะฉะนั้นปล่อยเพื่อนให้แสดงตามบทบาทไปเลยค่ะ เรามีหน้าที่ฝึกฝนตอบคำถามแบบฉลาดๆแบบมารีญาก็พอ
2.สร้างความคุ้นเคยกับการฟังและพูดภาษาอังกฤษ
อันนี้ จริงๆแล้วเนี่ย ในปัจจุบัน มีคุณครูที่สอนภาษาอังกฤษ online ฟรีตาม youtube มากมาย เราก็แค่เขาไปหัดฟังบ่อยๆให้มันเคยชินรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ก็ไม่เป็นไร อย่าไปคิดอะไรมาก อย่าไปเครียดคิดซะว่าสร้างความเคยชินเฉยๆ คือ ภาษาอังกฤษเนี่ย มันเป็น “ทักษะ”ต้องอาศัยการใช้บ่อยๆ การฝึกฝนบ่อยๆ มันถึงจะได้เองถ้าเราอยากว่ายน้ำเป็นแต่เราไม่ลงน้ำ เราจะว่ายได้ไหม? ถ้าเราอยากหาผัวแล้วเราไม่หาจะหาได้ไหม ?(บางคนบอกได้เพราะอยู่เฉยๆผู้ชายก็มาเอง) ถ้าเราอยากฟังและพูดภาษาอังกฤษได้แต่เราไม่ฟังภาษาอังกฤษเลย ใน 24 ชั่วโมงของชีวิตเนี่ยไม่ได้ยินภาษาอังกฤษสักประโยค ไม่พูดออกมาซักคำเดียว แล้วเราจะพูดได้ไหม ?
อยากแนะนำเว็บไซต์ที่เข้าไปฟังบ่อยๆก็มี EngVid
เข้าไปดูๆได้ที่
และเว็บเรียนภาษาอังกฤษ ของ BBC
http://www.bbc.co.uk/learningenglish/
(แค่นี้แหละฟังอาไรกันมากมาย บาย)
3.พูดคนเดียวพูดคนเดียวนั้นหมายถึง นึกอะไรก็เป็นภาษาอังกฤษตลอดไม่ว่าจะนึกอะไรอยู่ในใจอยู่ก็ตาม เพียงแต่ไม่ได้พูดออกเสียงออกมา (อ้าว ! แบบนี้ก็คือไม่ใช่การพูดคนเดียวน่สิ มันคือการคิดเป็นภาษาอังกฤษต่างหาก) ทุกอย่างค่ะทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็น
“เย็นนี้จะไปกินอะไรดี”
“แหม ! หมั่นไส้จัง”
“เฮ้ย ! อยากไปเที่ยวที่นี่จัง”
“แม่ง นั่งคาน”
“เฮ้ย ! ปวดตด”
“ชิหายละ”
“กับข้าวร้านนี้แหลกไม่ล่ายเลย”
จริงอยู่ว่าเราอาจจะไม่รู้ทุกคำหรอกว่า บางคำ หรือบางประโยคนั้นเขาพูดกันอย่างไร ในเบื้องต้นให้ลองนึกๆดูก่อน ลองพูดมั่วๆดูก่อนเสร็จแล้วให้เอาความอยากรู้นั้น โยนไปข้างหน้าเหมือนก้อนหินนำทาง แล้วไปเสร์ชกูเกิ้ลเว็บที่สอนภาษาอังกฤษดูเอาจะมีคุณครูหลายคนเขียนให้ความรู้เอาไว้ จำพวกประโยคสามัญต่างๆหรือแม้กระทั่งคำแสลง พอเรารู้แล้วก็จำมาพูดในครั้งต่อไป แต่ขอเน้นว่า อย่าไปเปิด translate ประเภทแปลภาษาทุกครั้งเพราะว่ามันจะแปลตรงตัวมากเกินไปเชื่อได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เช่น ฉันเขียนรายงานประจำเดือน (I write a monthly report) ซึ่งวุ้นแปลภาษาโดเรม่อนอาจจะแปลว่า I write a menstruation ก็ได้
หรือว่าฉันรู้สึกน้อยใจ มันไม่น่าจะใช่ I feel a little heart (ฮ่า ๆ)แต่มันควรจะอ่านบทความที่อาจารย์เขายกตัวอย่างและอธิบายเพิ่มเติมให้แบบเว็บไซต์ของ อาจารย์อดัมก็ดีค่ะ เว็บแบบประมาณนี้
www.ajarnadam.tv/blog/sulk#signup1
อันนี้ไม่ได้ค่าโฆษณาจากอาจารย์อดัมเลยนะแต่คิดว่าแกเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่เข้าใจคนไทยและสำนวนไทยดีมากๆคนนึง
กลับมาที่ห้องสัมภาษณ์ต่อ
จากการที่เราเตรียมตัวไปสัมภาษณ์ไปหลายต่อหลายกลเม็ดวิธีสรุปว่า คำถามก็ไม่ได้ยากอะไรมากคนไทยพูดภาษาอังกฤษกับคนไทยก็เป็นที่ค่อนข้างแน่นอนว่าสำเนียงฟังง่ายคำถามที่สำคัญที่สุดกลับไม่ใช่คำถามนางงามแต่อย่างใด แต่กลับเป็นความห่วงใยของอาจารย์ท่านหนึ่งที่เปรยๆขึ้นมาว่า
“อารีรัตน์แน่ใจเหรอว่าจะไปอังกฤษ แพงนะ เงินทุนก็ได้น้อย เอ ! ทางเราพอจะถัวเฉลี่ยส่วนต่างจากคนอื่นที่ใช้เงินไม่หมดแบ่งให้เขาไปได้บ้างมั้ยนะ?”
จึ่ก ! (เสียงทิ่มแทงใจ)
จึ่กในที่นี้ไม่ใช่ภาษาอังกฤษยากจัง ไปเรียนไม่ไหวแน่แต่จึ่กว่า เรานี่เป็นพวกรายได้ต่ำแต่รสนิยมสูง ไปที่แพงแน่ใจแล้วเหรอว่ามีปัญญาจ่ายอันที่จริง เราก็ไม่ได้มีปัญญาอะไรหรอกแต่พยายามทำตัวเป็นสายน้ำที่ไหลเชี่ยวถ้าตัวเราไม่แน่ใจว่าจะไปแล้วใครจะมาแน่ใจกับเรา จึงตอบไปว่า “แน่ใจ” ส่วนอีกเสียง“จึ่ก” ที่ดังในใจอีกจึ่กนึงนั้น เป็นเสียงแห่งความซาบซึ่งอยู่ลึกๆ โธ่ ! อาจารย์ อุตส่าห์เป็นห่วงหนูความเมตตา ข้าฯขอรับไว้ด้วยใจ
หลังออกจากห้องสัมภาษณ์ ฉันก็นั่งร้องไห้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณลานปรีดี ไม่ใช่ร้องไห้เพราะว่ากลัวสอบตก แต่ร้องไห้ เพราะว่า “ฮือๆ ได้แน่เลยกู”คือกลัวได้ พอได้แล้วกลัวลำบาก กลัวต้องฝ่าฟันอะไรอีกเยอะ กลัวไม่มีตังค์จ่ายกลัวเรียนไม่รอด กลัวตอบคำถามต.ม.ไม่ถูก กลัวเพื่อนไม่คบ กลัวหนาว ฯลฯ
แต่ถ้าปล่อยให้ความกลัวครอบคลุมอยู่ไปตลอดเราก็จะไม่ได้ไป St.Martins นะ!
สถานที่ที่ชีวิตนี้ไม่เคยเห็น ไม่เคยไปอะไรจะมามีอิทธิพลขนาดนี้ ฉันหยุดร้องไห้แล้วก็เริ่มตั้งหน้าแผ้วถางทางต่อไป
ว่าด้วยวิธีหาที่เรีนน
วิธีหาที่เรียนมี 2วิธี คือ 1.หาด้วยตัวเอง 2.ให้เอเจนซี่หาให้
วิธีที่ 1 แบ่งเป็น 2 แบบคือ
แบบที่1 มุ่งตรงสู่มหาวิทยาลัยในดวงใจ
แบบที่2 คลิ๊กหาไปเรื่อยๆเหนื่อยก็พัก
วิธีที่ 2 ง่ายมาก เราไปหาเอเจนซี่แนะแนวการศึกษาที่ดูน่าเชื่อถือสักแห่งหนึ่งบอกเขาว่าเราอยากเรียนอะไร อยากไปประเทศไทน แจ้งงบประมาณที่มีที่เหลือเดี๋ยวทางเอเจนซี่จะช่วยจัดการให้เอง โดยถ้าเราไม่โดนหลอกเสียก่อนเราจะไม่ต้องเสียเงินให้เอเจนซี่เลยแม้แต่บาทเดียว แต่ทางเอเจนซี่จะมีรายได้จากมหาวิทยาลัยปลายทางที่ส่งเด็กไปแต่ถ้าหากเราโดนหลอก เราก็จะโดนเก็บค่าดำเนินการถูกแพงแล้วแต่เขาจะเรียกขอแนะนำว่าตกลงกันให้ดีๆก่อน เอาให้แน่จะเก็บหรือไม่เก็บถ้าเขาจะเก็บแล้วเราสมยอมก็แล้วไป ถ้าบอกแต่แรกว่าไม่เก็บแต่ตอนหลังมาเก็บอันนี้ไม่ต่างจากการขู่กรรโชกทรัพย์ วิธีการคือไม่ต้องกรรโชกกลับแค่เจรจากับเขาดีๆ หรือว่าหนูขอไม่จ่ายค่ะ จบมั้ยคะ? เพราะแต่แรกที่คุยกันไม่ได้บอกว่าจะเก็บนี่คะ
สำหรับเราก็ทำทุกวิธถีทางที่กล่าวมาข้างต้น
วิธีที่ 1 แบบที่ 1เพราะว่ามีสถานที่ที่อยากไปอยู่แล้ว
วิธีที่ 1 แบบที่ 2 ก็ต้องทำเนื่องจากว่าทางแหล่งทุนให้ส่งรายละเอียดคอร์สที่ต้องการไปเรียนมาประมาณ 2-3 ที่ก็คล้ายก็สอบเข้ามหาวิทยาลัย มันก็ต้องมีเลือกอันดับ 1 อันดับ 2 อันดับ 3 อันดับ 4 เผื่ออกหัก เผื่อว่าสถานที่ที่เราอยากไปเขาเกิดไม่เปิดรับนักศึกษาในช่วงระยะเวลาที่เราต้องการไปอย่างน้อยๆ จะได้มีสถานที่สำรองไว้ สำหรับเราอันดับ 1 ยังคงเป็น UAL เหมือนเดิมส่วนจะเป็นแคมปัสไหนนั้น ก็ต้องลุ้นว่า Short Course ที่สมัครไปนั้น เปิดคอร์สหรือไม่ถึงจะได้รู้ทีหลังว่าเราต้องหิ้วร่างไปเรียนที่แจ่งไหนของลอนดอน ส่วนอันดับที่ 2 นั้น ใช้เวลาหาอยู่เป็นอาทิตย์ ไม่รู้จะไปไหนดี คือ
จะไปไหนก็ได้ที่ไม่ใช่โรงเรียนสอนภาษาแต่เป็นสถาบันสอนภาษาหรือคอร์สระยะสั้นที่อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัย,
ไปไหนก็ได้ที่จ่ายค่าเทอมไหว,
ไปไหนก็ได้ที่ไม่หนาวมาก,ไปไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ออสเตรเลีย,
หรือจะไปออสเตรเลียก็ได้แต่ต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่ติด Group of 8,
ไปไหนก็ได้แต่ไม่ไปนิวซีแลนด์กลัวจับสำเนียงเขาไม่เข้าใจ (กลัวไปเอง)
อย่างนี้เขาเรียก “ไปไหนก็ได้”เหรอวะ เงื่อนไขเยอะซะจริง" ฉันนึกด่าตัวเอง
ฉันสับสนกับที่สำรองมากฉันก็เลยหาไปเรื่อยๆ และแล้วก็พบที่ที่น่าสนใจ
ไปนี่ดีก่า University of Portland
อยู่มลรัฐโอเรก้อนมีคอร์สภาษาระยะสั้นด้วย เคยอ่านหนังสือเจอเขาบอกว่า พอร์ทแลนด์เป็นดินแดนต้นกำเนิดHipster ถ้าเราอยากฮิปเราต้องไปรับกลิ่นไอความฮิปเป็นเมืองเก๋ๆที่ผู้คนเขาขี่จักรยานกัน (แต่ได้ข่าวว่าเราขี่จักรยานไม่เป็น) แล้วดูเสื้อผ้ายี่ห้อPortland ที่วางขายตามโรบินสัน สิ ดูเรียบๆ เท่ๆให้กลิ่นไอของท่าเรือดีนะ ใช้สี Navy Blue สีโปรดเป็นสีหลักด้วย คือ ฉันเป็นคนประหลาดอย่างหนึ่งถ้าลองปักใจอะไรนิดหนึ่งแล้ว เห็นผลเล็กๆฉันก็สามารถยกมาเป็นเหตุผลสำคัญได้ แต่เพื่อนเพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ชื่อว่านายเจมส์ ฟรีแมน บอกว่า
“อย่าไปเลย มันหนาวเกินไปสำหรับเธอ พวกขี้ยาก็เยอะ เมืองไม่น่าสนุก ไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าที่ควรเอาเป็นว่าอย่ามาเลยอเมริกา (อ้าว!) ส่วน LA ก็โอเคนะแต่ อย่ามาเลยนะ ขอร้อง ไปอังกฤษเหอะ”
อ้าวเฮ้ยเจมส์! เอ็งเป็นคนอเมริกันยังไม่อยากให้ไปอเมริกาฉันก็เลยเชื่อเจมส์ บทจะเชื่อคนง่าย ฉันก็เชื่อนางง่ายๆซะแบบนี้แหละเป็นอันจบไปสำหรับเมือง Portland
หรือไปนี่ดีก่า ฉันเริมหาข้อมูลเพิ่มเติม The University of Queensland
อยู่ที่เมืองบริสเบนมลรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ติด Group of 8 ด้วย เอาไปเล่าให้ครูกอล์ฟฟัง ครูกอล์ฟก็เห็นดีด้วย เพราะครูกอล์ฟก็จบจากมหาวิทยาลัยหนึ่งในควีนส์แลนด์เหมือนกันครูกอล์ฟ คือใคร ? ครูกอล์ฟ คือคุณครูสอนร้องเพลงของเราที่เป็นทั้งครู เป็นทั้งกัลยาณมิตร ถ้าครูกอล์ฟ บอกว่าดีเราก็ต้องเชื่อครูกอล์ฟ ครูกอล์ฟบอกว่าไปสิ จะได้ขึ้นเรือเข้าไปในตัวเมืองเป็นเรือที่ดีมาก จอดตรงท่าด้วย ไม่โยกเยกไปมา ด้วยความที่นั่งเรือข้ามฟากท่าพระจันทร์-วังหลังมาตลอดชีวิตระบบจอด มันไม่ตรงเป๊ะ มันจะกระเพื่อมไปมาเป็นปกติของเรือข้ามฟากและจะมีเจ้าหน้าที่คอยจับเรือให้จึงอยากรู้ว่าเรือที่จอดตรงเป๊ะและไม่กระเพื่อมมันเป็นยังไง โอเค งั้นตกลง เลือก UQ เป็นอันดับ 2 เพราะอยากไปขึ้นเรือที่ไม่กระเพื่อม
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in