เราคงเคยผ่านตากับบ้านหลังเก่าที่หน้าบ้านมีเสาสูงเรียงกัน ดูน่าเกรงขาม พื้นที่รอบบ้านกว้างใหญ่ ในภาพจำของบางคนอาจมองผ่านร่มเงาของต้นไม้ใหญ่และภูมิประเทศแบบหนองน้ำในรัฐหลุยส์เซียน่าทางตอนใต้ของอเมริกาในอดีต
แม้จะไม่เคยไปเที่ยวทางใต้ของสหรัฐอเมริกา แต่เราก็คงเคยเห็นบ้านลักษณะนี้มาไม่น้อยจากโลกแห่งป็อปคัลเจอร์ ตั้งแต่บ้านใน Gone With the Wind ไปจนถึงหนังดังอย่าง 12 Years A Slave หนังสยองขวัญที่ใช้เดียวกับบ้านสไตล์นี้ว่า Antebellum ไปจนถึงกลุ่มนักร้องเพลงป็อปวง Lady Antebellum ที่ถูกฟ้องร้องจนต้องเปลี่ยนชื่อวง
ทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนมีนัยยะสำคัญถึงประวัติศาสตร์ของคนผิวสีและการค้าทาสในอเมริกา ซึ่งผูกโยงไปกับความโหดเหี้ยมของเจ้าของทาสคนผิวขาว ผู้เป็นเจ้าของบ้านที่มีสถาปัตยกรรมน่าเกรงขามนี้ที่เรียกว่า Antebellum
คำว่า Antebellum เป็นภาษาละตินที่แปลว่า “ก่อนสงคราม” นั้นหมายถึงคำนี้เป็นอีกคำหนึ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยนักวิชาการในภายหลัง ช่วงก่อนสงครามกลางเมืองในอเมริกา สงครามที่ต่อสู้กันระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ฝ่ายที่ยกเลิกและไม่ยกเลิกการค้าทาส สงครามที่สิ้นสุดการค้าทาสอย่างถูกกฏหมาย
สิ่งหนึ่งที่ชาวผิวขาวเหล่านี้นำเข้ามาด้วยคือวัฒนธรรมการค้าทาสที่มีมานานในยุโรป สินค้าอย่างอ้อย ยาสูบ กาแฟ มะกอก และฝ้าย เป็นสินค้าที่สามารถปลูกได้ในดินแดนทางตอนใต้ของอเมริกาและขายได้ราคาดีในยุโรป ในสมัยที่ยังไม่มีเครื่องจักร ครอบครัวเหล่านี้ขยายฐานการผลิตด้วยการซื้อทาสจากแอฟริกาที่ถูกซื้อขายในยุโรป ในราคาคนละราว ๆ 300 ดอลลาร์ มากน้อยตามความสามารถของทาสคนนั้น พวกเขาถุกนำเข้ามาในอเมริกาเพื่อใช้เป็นแรงงานเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต ทาสเหล่านี้ถูกปฏิบัติราวกับสัตว์ มีที่กินที่นอนแค่พอไม่ให้ตาย ไม่มีสิทธิ์เสียงใด ๆ และจะถูกนายเอาไปทำอะไรก็ได้
บ้านสไตล์แอนเทเบลลัมจะมีลักษณะเด่นเหมือนกันคือเสาดอริกขนาดใหญ่อย่างน้อย 6 ต้นตรงชานหน้าบ้าน นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า การดึงสถาปัตยกรรมสไตล์กรีกโบราณกลับมาใช้ เป็นการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในศิลปะวิทยาการของยุโรปอันเป็นรากเหง้าของเจ้าของบ้าน ใต้เสามหึมานั้นคือระเบียงหน้าบ้านที่ทอดยาวตลอดด้านต่าง ๆ ของบ้านใช้เพื่อพักผ่อนและนั่งคุมทาสในไร่ทำงาน
แม้ว่าจะชูจุดเด่นในสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก แต่ลักษณะเด่นอื่น ๆ ของบ้านเอนเทเบลลัมนั้นจัดอยู่สถาปัตยกรรมสไตล์จอร์เจียน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในยุโรปในขณะนั้น เราจึงจะได้เห็นหน้าต่างจอร์เจียนที่สูงจากเพดานจรดพื้นมีบานพับทึบด้านนอกเรียงรายรอบตัวบ้าน คล้ายกับพระราชวังบิกกิ้งแฮมขนาดย่อม เหนือประตูหน้าบ้านแต่ละหลังจะมีรายละเอียดงานแกะสลักหรือกระจกสีประดับอยู่ รวมไปถึงโถงบันไดหน้าบ้านที่โอ่โถงงดงาม
ตรงข้ามกับกลุ่มบ้านไม้ที่เรือนคนงาน ที่มักจะจับกลุ่มอยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก สภาพของกระท่อมคนงานไม่ต่างจากคอกม้า มีเตาผิงอยู่ตรงกลางเพื่อไม่ให้ทาสหนาวตายเท่านั้น
ตัวอย่างบ้านสไตล์เอเทเบลลัมที่มีชื่อเสียงที่สุดคงจะหนีไม่พ้น Oak Alley Plantation ที่งดงามด้วยต้นโอ๊คโค้งตัวเรียงรายที่ถนนหน้าบ้าน เจ้าของเดิมของบ้านหลังนี้คือ ฟรองซัว-แกเบรียล “วัลคูร์” แอม (François-Gabrielle “Valcour” Aime) มหาเศรษฐีน้ำตาลแห่งภาตใต้ เจ้าของฉายาพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งหลุยส์เซียน่า ด้วยพื้นที่ไร่อ้อยราว 100,000 เอเคอร์ พร้อมโรงงานแปรรูปมากมาย ด้านหนึ่งเขาใช้เงินไปกับการช่วยเหลือคนจน ให้เงินสนับสนุนในการสร้างโรงเรียน อีกด้านหนึ่งก็เป็นเจ้าของทาสกว่า 233 คนตลอดชีวิตของเขา
อเมริกาเคยมีคฤหาสถ์เอเทเบลลัมหลายร้อยแห่งกระจายอยู่ใน 20 รัฐทางใต้ เมื่อสงครามกลางเมืองมาถึง บ้านเหล่านี้กลายเป็นเป้าหมายหลักในการโจมตีของฝ่ายเหนือ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของศัตรูและเพื่อปลดปล่อยทาสด้วย ทำให้บ้านเหล่านี้ถูกปล้นและเผาทิ้งไปจำนวนมาก มีเพียง 20% เท่านั้นที่ยังหลงเหลืออยู่ บ้างก็ถูกทิ้งให้รกร้างหลังจากครอบครัวอพยพหนีไป
ในปี 2005 เฮริเคน Katrina ทำลายรัฐทางใต้ของอเมริกาเสียหายไปอย่างมาก หนึ่งในข้อถกเถียงของคนในตอนนั้นคือ บ้านเหล่านี้ควรได้รับการซ่อมแซมหรือไม่ ตัวอย่างเช่น คฤหาสถ์ Grass Lawn ในมิสซิซิปปี ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง แต่การเรี่ยรายเงินเพื่อซ่อมแซมถูกต่อต้านอย่างหนัก เพราะคฤหาสถ์หลังนี้มีอดีตที่เป็นสัญลักษณ์ของการข่มขี่มนุษย์ฝังอยู่ แต่บ้านหลังนี้ก็ได้รับการอนุญาตให้ฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง เพราะความงามที่ปฏิเสธไม่ได้ของบ้านสไตล์นี้ รวมไปถึงคุณค่าอันเป็นหมุดหมายของเวลา
บ้าน Grass Lawn ได้รับการซ่อมแซมเสร็จในปี 2012 ปัจจุบันเป็นบ้านให้เช่าสำหรับจัดงานแต่งงานและกิจกรรมต่าง ๆ แม้จะบ้านอีกหลายหลังที่ถูกทำลายในพายุและไม่ได้รับการซ่อมแซม แต่บ้านที่เหลืออยู่จำนวนไม่น้อยก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนเข้าไปศึกษา
ถึงแม้ตอนนี้จะไม่มีการค้าทาสแล้ว แต่ปัญหาเรื่องการเหยียดสีผิวยังคงดำเนินไป บ้านเหล่านี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงจากสองมุมมองทั้งยกย่องและรังเกียจไม่ต่างจากตอนสงครามกลางเมือง เมื่อเวลาผ่านไป แม้บ้านหลายหลังจะ Gone with wind ไปแล้ว แต่อคติทางสีผิวก็ไม่ได้หายไปไหนเลย
---
Source:
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in