เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First StoryAoy Chidchanok
สรุปเนื้อหาการงานอาชีพ (กลางภาค)
  •    การออกแบบและเทคโนโลยี    

     การใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์      

            เทคโนโลยีที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้หรือวิธีการที่มนุษย์ได้สร้างและพัฒนาขึ้นมา มีทั้งเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ และเทคโนโลยีที่มีโทษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงต้องรู้จักเลือกใช้อย่างสร้างสรรค์


    ความสำคัญของการเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์

            การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ เป็นการเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น มีความปลอดภัย เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น สะดวกสบายมากขึ้น ปราศจากโรคภัย อุบัติเหตุและหนี้สิน มีเงินออม รวมถึงสิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลายเนื่องจากมลพิษทางน้ำ เสียง กลิ่น หมอกและควัน

    แนวทางการเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ 

            การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์มีแนวทาง ดังนี้


    1. เลือกใช้เทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการได้ เช่น

    • เลือกใช้รถไฟฟ้าโดยสารไปทำงานแทนรถโดยสารประจำทาง เพื่อความสะดวกสบายและประหยัดเวลา
    • เลือกใช้เครื่องดูดฝุ่นและเครื่องซักผ้าในการทำงานบ้าน แทนไม้กวาดและกะละมัง เพื่อประหยัดแรงงานและเวลา
    • เลือกใช้วิธีการสร้างเด็กหลอดแก้วเพื่อการมีบุตร ในกรณีที่มีบุตรยาก

    2. เลือกใช้เทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย เช่น

    • เลือกใช้กล้องโทรทัศน์วงจรปิดในร้านค้าเพื่อป้องกันการโจรกรรม
    • เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีสายดินเพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด
    • เลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ มอก. และมีคู่มือหรือแผ่นพับแนะนำการใช้งานที่ถูกต้อง และปลอดภัยแนบมาด้วย เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้และอุปกรณ์ใช้งานได้ทนทานยาวนาน

    3. เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น เช่น

    • เลือกใช้รถยนต์ที่วิ่งขึ้นเนินเขาได้ดีสำหรับชาวเขาที่อาศัยอยู่บนภูเขาหรือท้องถิ่นทุรกันดาร
    • เลือกทำการเกษตรผสมผสานในท้องถิ่นที่มีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่มีพื้นที่การเกษตรน้อย
    • เลือกใช้วิธีการแกล้งดินเพื่อปรับปรุงพื้นที่ที่เป็นดินเปรี้ยวหรือดินเป็นกรด

    4. เลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น

    • เลือกใช้สารฆ่าแมลงที่สกัดจากพืชสมุนไพร
    • เลือกใช้ถุงพลาสติกชนิดย่อยสลายได้
    • เลือกใช้แก๊สธรรมชาติสำหรับเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนรถยนต์แทนน้ำมัน





  • การจัดการเทคโนโลยี


              การจัดการเทคโนโลยีเป็นแนวทางในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ไม่มีโทษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี 2 แนวทางที่น่าสนใจ ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีสะอาด


    พลังงานหมุนเวียน


              พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) คือ พลังงานที่ได้จากแหล่งพลังงานที่มีอยู่ในธรรมชาติและสามารถผลิตทดแทนได้ไม่มีวันหมด เช่น แสงอาทิตย์ น้ำ ลม ความร้อนใต้พิภพ ชีวมวล

              พลังงานหมุนเวียนมีประโยชน์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษจากการผลิตไฟฟ้า และเชื้อเพลิง รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้

              

              พลังงานหมุนเวียนมีด้วยกันหลายรูปแบบ ดังนี้


              1. พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่เกิดจากการใช้กระจกหรือแผงรับแสงแดด รวมแสงหรือดูดซับรังสีความร้อน เพื่อนำไปใช้ในการหุงต้มอาหารต้มน้ำให้เดือดและผลิตพลังงานไฟฟ้า


               2. พลังงานน้ำ เป็นพลังงานที่เกิดจากคลื่นในทะเล หรือกระแสน้ำที่เกิดจากภาวะน้ำขึ้น-น้ำลงในเขื่อนกักเก็บน้ำ หรือแม่น้ำลำธารซึ่งสามารถนำไปผลิตพลังงานไฟฟ้า ได้


               3. พลังงานลม เป็นพลังงานที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของลม ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยอาศัยกังหันลมที่หมุนและขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า


               4. พลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นพลังงานความร้อนภายในโลก ซึ่งทำให้น้ำใต้ดินมีอุณหภูมิสูงขึ้นเมื่อสูบน้ำที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นมาแล้วส่งจ่ายไปตามบ้านเรือนจะสามารถให้ความร้อนแก่บ้านเรือนหรือตัวอาคารได้ และไอน้ำที่เกิดจากแหล่งความร้อนเช่นเดียวกันนี้สามารถนำไปผลิตพลังงานไฟฟ้าได้


               5. พลังงานชีวมวล เป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่เกิดจากการเผาไหม้ หมัก กลั่น หรือสกัด จากซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ ขยะชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว กากตะกอนจากการบำบัดน้ำทิ้งด้วยวิธีทางชีววิทยา วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ฟางข้าว กากอ้อย กากมันสําปะหลัง กากปาล์ม ซังข้าวโพด กาบมะพร้าว เศษไม้ เศษยางพารา มาเป็นแก๊สชีวภาพ หรือแก๊สมีเทนไบโอดีเซลที่สามารถใช้ทดแทนน้ำมันเบนซินและดีเซลทั่วไปได้



    เทคโนโลยีสะอาด


              เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology หรือ CT) คือ การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้วัตถุดิบ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยก่อให้เกิดผลเสียต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตด้วยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า 4R ได้แก่รียูส (reuse) รีแพร์ (repair) รีดิวซ์ (reduce) และรีไซเคิล (recycle) ดังนี้


              1. รียูส (reuse) หรือใช้แล้วใช้อีก เป็นการลดใช้ทรัพยากรโดยการนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ในลักษณะเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรง เช่น กล่องพลาสติกมีฝาปิด กล่องและลังกระดาษ กล่องโลหะมีฝาปิด ถุงกระดาษแข็ง ถุงผ้า ถุงพลาสติกมีหูหิ้ว ขวดแก้ว กล่องไม้ ยางรัดของ


              2. รีแพร์ (repair) หรือซ่อมแซมใช้ซ้ำ เป็นการนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วและมีตำหนิมาซ่อมแซมหรือดัดแปลงให้นำกลับมาใช้ได้อีก เช่น กางเกงขายาวที่ปลายขามีรอยขาดนำมาตัดเย็บเป็นกางเกงขาสั้น เสื้อแขนยาวที่ปลายแขนมีรอยขาดนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อแขนสั้น กางเกงยีนปลายขาขาดชำรุดเป็นรูทั้งสองข้างนำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋า


              3. รีดิวซ์ (reduce) หรือการลดใช้ให้น้อยลง เป็นการลดการใช้ทรัพยากรหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้น้อยลง เพื่อให้มีของเสียหรือขยะน้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต หรือทำลายของเสีย และขยะได้อีกด้วย ดังตัวอย่าง ลดการใช้กระดาษด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อลดการตัดไม้มาทำกระดาษ ลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือโฟม


              4. รีไซเคิล (recycle) หรือหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นการนำผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษ แก้ว พลาสติก เห็ก อะลูมิเนียม ลวดทองแดง ที่ใช้แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ โดยผ่านกระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดเดิม หรือผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่

              การมีส่วนรวมในการรีไซเคิลสามารถทำได้โดยคัดแยกขยะแต่ละประเภท เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล

  •    งานช่าง   

    ความรู้ที่ใช้ในการสร้างชิ้นงาน


              การสร้างชิ้นงานของเล่นของใช้หรือของตกแต่งใดๆ ก็ตามต้องอาศัยความรู้ที่หลากหลาย เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ภาพฉาย กระบวนการเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้รวมกันเพื่อให้เกิดเป็นชิ้นงานที่มีความแปลกใหม่สวยงาม และมีประโยชน์ใช้สอยตามความต้องการ


    ความคิดสร้างสรรค์


              ความคิดสร้างสรรค์ (creative Thinking) เป็นความสามารถทางสมองของมนุษย์ที่คิดได้กว้างไกล หลายแง่มุม หลายทิศทาง นำไปสู่การคิดประดิษฐ์สิ่งของ และแนวทางแก้ปัญหาใหม่

            

              ความคิดสร้างสรรค์มี 4 ลักษณะ ดังนี้ 


              1. ความคิดริเริ่ม คือ ลักษณะของความคิดที่แปลกใหม่แตกต่างจากความคิดเดิมประยุกต์ให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นที่ไม่ซ้ำกับของเดิมและไม่เคยปรากฏมาก่อน


              2. ความคล่องในการคิด คือ ความสามารถในการคิดหาคำตอบได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว และมีปริมาณที่มากในเวลาที่จำกัด 


              3. ความยืดหยุ่นในการคิด คือ ความสามารถในการคิดหาคำตอบได้หลายประเภทและหลายทิศทางดัดแปลงจากสิ่งหนึ่งไปเป็นหลายสิ่งได้


              4. ความคิดละเอียดลออ คือ ความคิดในรายละเอียดเพื่อตกแต่งหรือขยายความคิดหลักให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น


              การสร้างชิ้นงานทุกชิ้น 5 สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ทั้ง 4 ลักษณะหรือลักษณะใดลักษณะหนึ่งมาช่วยในการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการได้จะทำให้ผลงานมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น




  • งานเขียนแบบ


    เครื่องมือที่ใช้ในการเขียนแบบ

              1. โต๊ะเขียนแบบ ใช้รองรับการเขียนแบบ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและแม่นยำ ขณะใช้งานสามารถเอียงเป็นมุมชันได้

              2. กระดานเขียนแบบ ใช้รองเขียนแบบงานขนาดเล็กและพกพาได้สะดวก

              3. บรรทัดฉากตัวที ใช้ในการเขียนเส้นตรงและเขียนเส้นตามแนวนอน โดยการใช้ด้านหัวของบรรทัดฉากตัวทีชิดกับขอบกระดาษด้านซ้ายของกระดานเขียนแบบ และใช้มือจับบรรทัดฉากตัวทีไว้ แล้วขีดเส้น

              4. บรรทัดฉากสามเหลี่ยม ใช้เขียนเส้นตรง เพื่อต่อจุดของการเขียนเส้น และเขียนเส้นที่เอียงทำมุม 15 , 30 , 45 , 60 , 75 , 90 องศา

              5. วงเวียน ใช้เขียนวงกลม ส่วนโค้ง และแบ่งระยะเป็นจำนวนห่างๆ กัน

              6. ดินสอเขียนแบบ ใช้ร่างแบบและเขียนแบบ โดยสามารถเลือกขนาดของเส้นที่ใช้ในงานเขียนแบบได้ด้วยการควบคุมแรงที่กดลงไป ไส้ดินสอที่ใช้สำหรับเส้นหนา ควรมีความเข้มตั้งแต่ 2H ถึง F ส่วนเส้นบางควรมีความเข้มตั้งแต่ 4H ถึง H

              7. ยางลบ ใช้ลบเส้นหรือภาพที่ไม่ต้องการออก โดยเลือกใช้ยางลบให้เหมาะสมกับวัสดุที่ใช้เขียนแบบ และออกแรงกดเบาๆ ขณะลบ เพื่อไม่ให้งานเขียนแบบเลอะหรือเสียหาย

              8. กระดาษเขียนแบบ ใช้ในการเขียนแบบ มีให้เลือกใช้หลายขนาด ไล่ระดับจากใหญ่ไปเล็ก ได้แก่ A0 A1 A2 A3  และ A4

              9. แผ่นแบบ ใช้เขียนรูปเรขาคณิต เช่น วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ห้าเหลี่ยม

    เส้นที่ใช้ในงานเขียนแบบ

    • เส้นเต็ม

                   เส้นเต็มหนา มีหน้าที่ ใช้เขียนเส้นขอบรูปภาพที่มองเห็น

    ________________________________________

                   เส้นเต็มบาง มีหน้าที่ ใช้เขียนเส้นรอบขอบโค้ง เส้นให้ขนาด เส้นแสดงลายตัด

    ________________________________________

    • เส้นประ

                   เส้นประหนา มีหน้าที่ ใช้เขียนเส้นขอบรูปใหญ่ที่มองไม่เห็น

    ---------------------------------------------------

                  เส้นประบาง มีหน้าที่ ใช้เขียนเส้นขอบรูปเล็กที่มองไม่เห็น

    ---------------------------------------------------

    • เส้นลูกโซ่ มีหน้าที่ ใช้เขียนเส้นศูนย์กลาง เส้นแสดงความสมมาตร

    ___ . ___ . ___ . ___ . ___ . ___ . ___ . ___ . ___

    • เส้นหัวลูกศร มีหน้าที่ ใช้เขียนแสดงทิศทางกำหนดตำแหน่งขนาดร่วมกับตัวเลขและตัวอักษร



    วิธีการเขียนแบบ

              1. การเขียนแบบด้วยมือเปล่า คือ การเขียนภาพสเก็ตซ์ ซึ่งเป็นการเขียนแบบร่างง่ายๆ ด้วยมือ เพื่อเป็นต้นแบบในการปรับปรุง ทดลอง และแก้ไข หรือเป็นต้นแบบเพื่อที่จะเขียนให้เรียบร้อยและถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง


              2. การเขียนแบบด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ คือ การนำแบบร่างหรือภาพสเก็ตซ์มาเขียนเป็นแบบเทคนิค เช่น ภาพสามมิติ ภาพฉาย โดยอาศัยเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ให้ถูกต้องตามมาตรฐาน มีความสวยงาม และอ่านแบบได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลให้การสร้างชิ้นงานทำได้ตามขั้นตอนถูกต้องและมีคุณภาพ



    ภาพที่ใช้ในการเขียนแบบ

    1. ภาพฉาย เป็นภาพลายเส้นที่บอกขนาดสัดส่วนต่างๆ ของชิ้นงาน ซึ่งส่วนใหญ่เขียนมาจากภาพของจริง โดยมองแต่ละด้านแล้วเขียนภาพออกมาตามที่มองเห็นในแต่ละด้านของชิ้นงาน


    2. ภาพออบลิค เป็นแบบภาพสามมิติอีกชนิดหนึ่งที่จะแสดงด้านหน้าตรงๆ ส่วนด้านข้างจะทํามุม 45 องศา เพียงด้านเดียว คือ ด้านขวามือ  เนื่องจากภาพออบลิคแสดงด้านหน้าได้ชัดเจนดีจึงนิยมเขียนภาพที่มีรายละเอียดด้านหน้ามากๆ


    3. ภาพไอโซเมตริก เป็นแบบภาพสามมิติที่จะแสดงการเขียนโดยใช้มุมทั้งสองข้างเท่ากัน คือ เป็นมุม 30 องศา โดยวัดจากเส้นระนาบ



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in