“บางคนขึ้นมาบอกว่าให้ด่วนจี๋ แล้วแรงคนสองขาเท่านี้ ให้ปั่นเต็มมี่เต็มเกลียว ถ้าถีบไม่ทันเขาก็พลับฉุนเฉียว เอะอะ บ๊ะให้บาทเดียว ช่างไม่เหลียวมาเวทนา”
การสัญจรโดยสามล้อถีบเป็นที่นิยมมากเพราะรวดเร็วที่สุดในยุคนั้น สามารถซอกซอนได้ทั่วพระนคร อีกทั้งยังทำให้ผู้โดยสารที่นั่งดูมีสง่าราศรี จนกระทั่งความนิยมเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ สามล้อถูกตราหน้าว่าล่าช้า กีดขวางถนน และขัดต่อความศิวิไลซ์ ทำให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีแนวคิดจะยกเลิกการใช้รถสามล้อถีบในพระนครและธนบุรี ส่งผลให้เสน่ห์ โกมารชุล แต่งเพลงสามล้อแค้น มีเนื้อหาเสียดสี ล้อสังคมสังคมอย่างตลกขบขัน กล่าวถึงความทุกข์ยากของคนถีบสามล้อ โดนกดขี่ราคา ถูกผู้โดยสารระบายอารมณ์ใส่ ทั้งค่าเช่าค่าซ่อมสามล้อที่พุ่งทะยานสวนทางกับรายได้อันน้อยนิด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการท้าทายอำนาจรัฐบาลเผด็จการ ผ่านบทเพลงแสนอันตรายหลายบทเพลงต่อมา
เพลงผู้แทนควาย แทนคำว่าควายคือประชาชนที่โดนขูดรีดเอารัดเอาเปรียบจากรัฐบาล จนทำได้เพียงสาปส่งด้วยความแค้นให้คนโกงกินมันวอดวาย แม้จะเห็นการคอรัปชั่นก็ทำได้เพียงปิดตาปิดหูและปิดปาก เพื่อป้องกันตนเองจากความตาย กล่าวถึงข้าวที่เก็บเกี่ยวไม่พอกิน แต่กลับส่งออกไปขายต่างประเทศ การระบายความอัดอั้นของ เสน่ห์ โกมารชุล ผ่านบทเพลงนั้นถูกส่งต่อไปให้คำรณ สัมบุณณานนท์ ท้าทายอำนาจรัฐบาลเผด็จการ
คำรณ สัมบุณณานนท์ เริ่มต้นชีวิตศิลปินจากการประกวดร้องเพลงตามงานวัด เมื่อชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นเขาได้รับการเรียกขานว่า “นักร้องอันตราย” อันตรายจากเนื้อเพลงที่สะท้อนสังคมอย่างตรงไปตรงมาด้านความเป็นอยู่ของชนชั้นรากหญ้า ที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ไม่เกรงกลัวผู้มีอำนาจจนกล้าหาญที่จะนำชื่อพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจผู้โด่งดังในสมัยดังกล่าวมาจารึกไว้ในบทเพลง “อสูรกินเมือง” ซึ่งกล่าวถึงการปราบปรามผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล
“...ผมจะขอกล่าวสมัยนายเผ่าเป็นผู้กว้างขวาง มีอิทธิพลทุกอย่างพันศักดิ์ก็ยังเป็นอัศวิน ผู้แทนสมัยนั้นถูกฆ่าฟันตายด่าวดิ้น เพราะขัดหนทางโกงกินของพวกกังฉินในพรรคกินเมือง...”
เพลงมนต์การเมือง กล่าวถึงการหาเสียงของนักการเมือง ที่วาดฝันไว้อย่างสวยงามถ้าได้เข้าไปนั่งในสภา ประชาชนจะชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น ทว่าความเป็นจริงความฝันนั้นก็ยังถูกแช่แข็งไว้ อีกทั้งยังมีการแย่งชิงอำนาจ การทุจริต โดยใช้ข้ออ้างว่ารักชาติ ในตอนท้ายของเพลง ได้ขอให้ประชาชนเลือกคนดีเข้ามาในสภา
ทั้งเสน่ห์ โกมารกุล และคำรณ สัมบุณณานนท์ เป็นนักร้องที่มีอิทธิพลอย่างมากในยุคนั้น บางเพลงถูกสั่งห้ามออกอากาศผ่านวิทยุนักร้องถูกคุกคามสารพัด โดยเฉพาะคำรณที่ต้องเข้าออกคุกหลายครั้งจากการร้องเพลงและถึงขั้นถูกตั้งข้อหากบฎแผ่นดินจนต้องเลิกร้องเพลงไปในที่สุด แม้ช่วงเวลาที่โลดแล่นของเสน่ห์และคำรณจะผ่านมาแล้วกว่า 70 ปี สังคมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ทว่าเพลงวิจารณ์และยั่วล้อรัฐบาลยังคงมีอยู่ และบทลงโทษผู้ที่ท้าทายอำนาจก็ยังมีอยู่ต่อไป
Podcast : https://drive.google.com/file/d/1tRs_l5VeI9pTe4agwhfBQfY8vK4cLlhd/view?usp=share_link
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in