วันนี้เราจะมาพูดถึง จุดหมายคือท้องฟ้า You're My Sky The Series ซีรีส์ BL กีฬาที่จะพาทุกคนไปสำรวจความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างโค้ช-นักกีฬา รุ่นพี่-รุ่นน้อง และเพื่อนร่วมทีม นอกจากนั้นยังมีประเด็นสำคัญที่สอดแทรกเอาไว้เพื่อรอให้เราไปค้นเจออีกด้วย
จุดหมายคือท้องฟ้า หรือ You're My Sky The Series ดัดแปลงมาจากนิยายที่มีชื่อเดียวกันของ Karnsaii ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ผลิตโดย World Y Entertainment ได้ผู้กำกับอย่าง คุณแซนด์ ธรรมรงค์ เสริมฤทธิรงค์ จาก Dune Creative House ที่กำกับหนังสั้นในตำนาน 'The Gifted (2015)' มาทำงานร่วมกับผู้เขียนบท #saveกัสจัง เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาของมหาวิทยาลัยไชยกรณ์ 'จุดหมายคือท้องฟ้า You're My Sky The Series' ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 22.45 น. ที่ช่อง ONE 31 และสามารถดูย้อนหลังได้ 1 ชั่วโมงหลังออนแอร์จบ ที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง WeTV
เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อ 'ธร' เข้ามาเรียนในคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาของมหาวิทยาลัยไชยกรณ์ ตามสัญญาที่เขาได้ให้ไว้กับ 'ฟ้า' พี่ชายคนสนิทที่มีความฝันว่าจะเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลด้วยกันตั้งแต่เด็ก ๆ แต่พวกเขาก็ต้องแยกย้ายกันไป เพราะเหตุผลบางอย่าง ธรจึงตัดสินใจมาเรียนที่นี่ เพราะหวังว่าจะได้เจอฟ้า และจะได้กลับมาเล่นบาสด้วยกันเหมือนเดิม
เมื่อถึงวัน Warm Up หรือวันรับน้องของคณะวิทย์กีฬา ธรก็ต้องผิดหวัง หลังจากได้รู้ว่าฟ้าไม่ได้เล่นบาสเกตบอลอีกต่อไปแล้ว ชมรมบาสของที่นี่ ไม่มีคนเก่งอยู่เยอะเหมือนแต่ก่อน งบการจ้างโค้ชมาสอนก็ไม่ได้มีมากมาย แถมไปแข่งงานไหนก็แพ้เขาไปซะหมด นักศึกษาหลายคนเลยหมดกำลังใจที่จะเล่นต่อ แต่เรื่องราวยังไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่อธรไม่ยอมแพ้และตัดสินใจที่จะสร้างทีมบาสเกตบอลของคณะขึ้นมาใหม่ และตั้งเป้าหมายฝึกซ้อมกับสมาชิกในทีมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันวิทย์กีฬาสมาพันธ์
? ตัวอย่างซีรีส์ จุดหมายคือท้องฟ้า You're My Sky The Series ?
จบการเกริ่นแนะนำซีรีส์ไปแล้ว หลังจากนี้เราจะขอพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจและฉากที่ประทับใจในเรื่องบ้าง อยากเฉลยแล้วว่า จุดหมายคือท้องฟ้า You're My Sky The Series ให้อะไรบ้าง นอกจากเรื่องของความสัมพันธ์
หลายครั้งที่งานรับน้องสำหรับนักศึกษาปี 1 เป็นเรื่องน่าอึดอัดและลำบากใจที่จะเข้าร่วม เพราะความแตกต่างระหว่างอำนาจการต่อรอง (Power dynamics) และระบบอาวุโส (Seniority) ที่กดทับคนอายุน้อยกว่า แล้วยิ่งรุ่นพี่มาออกคำสั่งหรือบังคับให้ทำอะไรที่ไม่อยากทำ ก็จะทำให้พวกเขายิ่งต่อต้านกิจกรรมไปกันใหญ่ แต่ในฉากงาน Warm Up หรืองานรับน้องในจุดหมายคือท้องฟ้า Ep.1 กิจกรรมไม่ได้ดำเนินไปด้วยบรรยากาศที่อึดอัด แถมยังเป็นการรับน้องแบบสร้างสรรค์ ช่วยสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับคนที่เข้าร่วม
ประเด็นใหญ่ ๆ ที่น่าสนใจสำหรับอีพีนี้ คือฉากที่กองสันทนาการกำลังร้องเพลงแจวแอบชอบ แล้วแสนก็ดันลุกขึ้นไปแจวแสดงตัวต่อหน้าทุกคนว่าตัวเองกำลังแอบชอบรุ่นพี่อยู่ (ซึ่งจริง ๆ จะไม่ลุกก็ได้นะ เพราะบรรยากาศไม่ได้เป็นไปในเชิงบังคับ แต่ก็เนอะ แสนก็บอกไว้แล้วว่าเดี๋ยวโลกไม่จำ55555) ถึงแม้สุดท้ายเพลงแจวจะวนไปตกอยู่ที่คำถามว่าแสนแอบชอบพี่อ้ายหรือเปล่า แต่กองสันฯ ก็ไม่ได้บังคับให้แสนตอบ แถมยังบอกกับทุกคนอีกว่า "ก็ปล่อยให้มันเป็นเรื่องของเขา อย่าไปลุกล้ำ privacy" ซึ่งประโยคนี้นี่แหละที่น่าสนใจ เพราะเราไม่มีสิทธิ์ไปคาดคั้นเอาคำตอบจากใคร ถ้าเขาไม่อยากบอก แม้แต่กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จนไปถึงเรื่องส่วนตัวอย่างการแอบชอบก็ตาม
จุดหมายคือท้องฟ้านำประเด็นนี้มาเล่าผ่านทีมบาสเกตบอล ตั้งแต่การที่โค้ชบิ๊กติดประกาศรับสมัครลูกทีม โดย "ไม่จำกัดเพศ" ใน Ep.4 และยังหยิบประเด็นของสมาชิก LGBTQIAN+ Community ที่ได้รับความเจ็บปวดจากการไม่ยอมรับของสังคมมาเล่าให้เราฟังใน Ep.9 ผ่านตัวละคร "ฟลุ๊ค" ว่าตอนที่เธอ*เล่นบาสเกตบอลในสมัยมัธยม เธอเคยเสียใจมากที่เลือกถอยออกมาจากทีมเพราะกลัวเพื่อนร่วมทีมรู้สึกอึดอัดที่เธอเป็นคนในคอมมิวนิตี้ ซึ่งมันสร้างแผลใหญ่ในใจให้เธอมาตลอด จนกระทั่งมาเจอใบประกาศรับสมัครสมาชิกทีมบาสที่ "ไม่จำกัดเพศ" ฟลุ๊คจึงรู้สึกดีใจมาก เพราะมันหมายความว่าเธอจะได้รับการโอบกอดและการต้อนรับที่ดีจากทีมนี้
นอกจากนั้น Ep.4 ยังมีฉากที่ 'ฟลุ๊ค' ได้มีการขออนุญาตโค้ชว่าสามารถพูดคำว่า "ค่ะ" ได้หรือไม่ และโค้ชยังบอกอีกว่า "ตามสบายเลยครับ" จริงๆ ไม่ควรมีใครจะต้องขออนุญาตใครเพื่อใช้คำลงท้ายหรือสรรพนามที่ตัวเองอยากใช้ แต่เพราะในบริบทสังคมไทยที่ผู้ใหญ่บางคนยังยึดติดว่าคำเหล่านั้นต้องใช้ให้ตรงกับเพศกำเนิดอยู่ ก็เข้าใจได้ว่าทำไมจุดหมายคือท้องฟ้าต้องมีฉากนี้เข้ามา ภาษากับเพศถือเป็นประเด็นใหญ่อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญเหมือนกัน ถ้าจะให้พูดก็คงยาว แต่ขอทิ้งท้ายไว้ว่า 2022 แล้ว ถ้าเริ่มที่จะเลิกผูกติดภาษากับเพศได้ก็คงดีเนอะ!
"การพัฒนาความสัมพันธ์ของตัวละคร" เราขอใช้คีย์เวิร์ดนี้ ให้ครอบคลุมทั้งสามเส้นเรื่องเลย เพราะในแต่ละเส้นก็ถือว่ามีการถ่ายทอดการพัฒนาความสัมพันธ์ ความเป็นไปของนิสัยและความรู้สึกตัวละครได้ค่อนข้างน่าสนใจ
เริ่มที่ความสัมพันธ์ของพี่ฟ้า-ธร ตอนแรกต้องขอยอมรับเลยว่าเราค่อนข้างกลัวกับการเล่าเรื่องที่มีตัวละครที่รู้จักกันตั้งแต่เด็ก แล้วในอนาคตจะต้องกลายมาเป็นคู่รักกัน เพราะมันมีประเด็นเรื่องการถ่ายทอดความสัมพันธ์ของผู้เยาว์ (minor-minor) ให้ออกมาในเชิงโรแมนติก ด้วยการใช้เทคนิคการถ่ายทำต่าง ๆ เพลงประกอบ หรือบทพูด ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราเคยดูและผู้ผลิต (ด้วยความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ) ก็ดันเอาประสบการณ์ของผู้ใหญ่ไปเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของเด็ก ๆ ให้ออกมาในแนวโรแมนติก ทั้ง ๆ ที่มันไม่ควร
แต่พอได้ดูจุดหมายคือท้องฟ้า ตั้งแต่อีพีแรกที่เล่าถึงที่มาที่ไปของความสัมพันธ์ ก็ต้องบอกว่าเราประทับใจมาก เพราะทีมงานไม่ได้มีการใส่ซาวด์โรแมนติก ไม่ได้ใช้มุมกล้อง หรือไม่ได้ใช้องค์ประกอบอื่นที่ทำให้คนดูมองความสัมพันธ์ระหว่างธรและฟ้าในตอนเด็กว่าเป็นความรักเชิงโรแมนติก (Romantic Love) แต่ความสัมพันธ์ที่สื่อมาถึงเราเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ของพี่ชาย-น้องชายที่สนิทกัน เป็นรักบริสุทธิ์ (Platonic Love) พี่ฟ้าที่อยากจะช่วยน้องให้เลิกเสียใจที่ตัวเองเล่นอะไรก็ไม่เก่งซักอย่าง และธรที่ตั้งพี่ฟ้าเป็นไอดอลในการเล่นบาสเกตบอล พาร์ทนี้ก็ต้องขอชื่นชมทีมงานมาก ๆ ที่ใส่ใจและให้ความสำคัญในรายละเอียดของประเด็น minor-minor ??
ในเส้นเรื่องของพี่อ้าย-แสน เราค่อนข้างประทับใจในพัฒนาการของตัวละคร 'พี่อ้าย' ที่ในช่วงแรก พี่อ้ายเป็นคนค่อนข้างเงียบ ปิดกั้นตัวเอง แล้วก็ค่อนไปทางขี้รำคาญเลยด้วยซ้ำ แรก ๆ ที่รู้จักกับแสนก็มีเรื่องให้ทะเลาะกันตลอด แต่พอเนื้อเรื่องดำเนินมาถึง Ep.5 ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทำให้ได้ใกล้ชิดกับแสนมากขึ้น พี่อ้ายก็เริ่มที่จะเปิดใจและเล่าเรื่องของตัวเองให้แสนฟัง ทั้งเรื่องความฝัน และเรื่องการวางแผนชีวิตในอนาคต
ซึ่ง Ep.5 นี่แหละ ที่ทำให้พี่อ้ายกลายมาเป็นตัวละครโปรดของเรา เพราะเราได้เห็นว่าพี่อ้ายมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีความมุ่งมั่นและความตั้งใจที่จะทำตามความฝัน ซึ่งมันทำให้เราชื่นชมและคอยเป็นกำลังใจให้ตัวละครนี้มาก ๆ (แน่นอนว่าเราเชียร์ให้พี่อ้ายไปญี่ปุ่น ^^) แต่พอมาถึง Ep.7 พี่อ้ายที่เคยมีความมุ่งมั่นและตั้งใจเรียนเพื่อจะขอทุนไปเรียนต่อ กลับลังเลที่จะไม่ไปซะงั้น ซึ่งเหตุผลของความลังเลก็จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากแสนนั่นแหละ เมื่อความรักบังเกิด มันก็ยากที่จะทำใจมองข้ามล่ะนะ แถมแสนก็ยังเป็นสุดยอด Supportive boyfriend อีก แสน-อ้ายค่อนข้างเป็นความสัมพันธ์ที่เฮลตี้และน่ารัก เพราะเวลามีเรื่องอะไรทั้งสองคนก็จะคุยกันเพื่อหาทางแก้ตลอด ไม่เคยปล่อยปัญหาให้ค้างไว้นาน
สุดท้ายคือความสัมพันธ์ของวี-พี่โดม (ฉันปวดหัวกับคู่นี้มากนะ) ความสัมพันธ์ที่ผิดมาตั้งแต่แรก และไม่ควรเริ่มขึ้นมาด้วยซ้ำ
การนอกใจแฟนของ 'โดม' และการแอบชอบแฟนพี่สาวตัวเองของ 'วี'
ในพาร์ทนี้เราชอบที่จุดหมายคือท้องฟ้าเขียนบทให้เราเห็นตัวละครมือที่สามรู้สึกเป็นทุกข์ และทรมานกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น สังเกตได้จากในอีพีแรก ๆ ที่วีดูเป็นคนสดใส เป็นหนุุ่มป๊อบที่มีรอยยิ้มอยู่ตลอด แต่พอมาเจอกับโดม ก็ทำให้วีกลายเป็นคนอมทุกข์เข้าไปทุกที ๆ ถึงแม้จะมีบางฉากที่มุมกล้องและเพลงประกอบจะ romanticize การนอกใจในแบบที่ทำให้คนดู "อุ้ย เขามองตากัน เขาสกินชิปกันด้วย" หรือทำให้คนดู เชียร์ ความสัมพันธ์นี้ไปบ้าง (รู้ใช่มั้ยว่าไม่ควรเชียร์ .อินเซิร์ทหน้าพี่แพน)
แต่ก็ถือว่ายังพอปิดตาข้างนึงมองผ่านไปได้ เพราะนอกจากตัวละครจะเป็นทุกข์แล้ว ยังมีฉากที่ตัวละครขอหยุดความสัมพันธ์ทั้งหมด เพราะคิดและตระหนักได้ว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้น มันผิด ซึ่งก็เป็นอีกฉากจากซีรีส์เรื่องนี้ที่เราประทับใจมากเหมือนกัน
ถ้าใครมีโอกาสได้ติดตาม หรือได้ดูซีรีส์ BL ไทยบ่อย ๆ ก็จะคุ้นกับการเอาตัวละครมาทำหน้าที่บางอย่างในลักษณะที่ไม่สร้างสรรค์และถือเป็นการเหยียดเพศ ผลิตซ้ำจนเป็นภาพจำของเพศนั้นในสื่อ แต่ จุดหมายคือท้องฟ้า You're My Sky The Series ได้ออกจากกรอบการผลิตซ้ำนี้ และนำเสนอตัวละครเหล่านั้นในด้านที่มีมิติมากขึ้น เช่น
- การผลิตซ้ำตัวละครผู้หญิงมารับบทเป็นตัวร้าย ที่จะเข้าไปทำลายความสัมพันธ์ของตัวละครหลัก แต่กับจุดหมายคือท้องฟ้า เราเจอตัวละคร 'อิงฟ้า' ที่ไม่ได้มาเพื่อแย่งทัพฟ้า แต่มาเพื่อทำให้ทัพฟ้ารู้ใจตัวเอง และไม่ได้มาเพื่อทำลายความสัมพันธ์ของใคร แต่มาเพื่อรักษามิตรภาพความเป็นเพื่อน
- การเขียนให้ตัวละครสมทบที่อยู่ใน LGBTQIAN+ Community เป็นได้แค่ตัวตลก ที่มาเพื่อเอนเตอร์เทนบรรยากาศภายในเรื่อง จากประเด็นนี้ ในจุดหมายคือท้องฟ้า เราจะเจอตัวละคร 'ฟลุ๊ค' ที่เป็นสมาชิกของ Community เธอ*มีเส้นเรื่องเป็นของตัวเอง มีความฝัน และมีความมุ่งมั่นในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เธอบอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดที่เธอต้องเจอ และไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวโจ๊กของเรื่อง
ประเด็นต่อมาที่เรายกให้อยู่ในหัวข้อการนำสังคมของซีรีส์นี้ คือ การขอ Consent หรือการขอความยินยอม ประเด็นนี้จะอยู่ในฉากที่แสนนอนห้องเดียวกัน และอยู่บนเตียงเดียวกันกับพี่อ้าย ในวันที่ต้องลงพื้นที่ชุุมชน ด้วยความรู้สึกที่เก็บไว้มานาน และการได้เข้าใกล้กันมากขนาดนี้เป็นครั้งแรก ทำให้แสนขอพี่อ้ายจูบ แต่ก็ไม่ได้เป็นการพูดเชิงบังคับ แสนยังรีบพูดเปลี่ยนประเด็นด้วยการบอกว่า 'แต่ไม่เป็นไรหรอก ช่างมัน ดึกแล้วพี่' ซึ่งเป็นการให้เกียรติและเว้นช่วงให้พี่อ้ายได้ปฏิเสธ
การขอ Consent หรือการขอความยินยอมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ควรถูกสื่อหยิบมานำเสนอตั้งนานแล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นการแตะเนื้อต้องตัวแบบไหน ทุกคนควรมีการถามความยินยอมจากอีกฝ่ายก่อน ไม่ควรมองว่าการสกินชิปหรือการใส่ฉากเซอร์วิสมาดื้อ ๆ ไม่มีปี่มีขลุ่ย มันเป็นเรื่องปกติ และไม่ควรมองข้าม หรือมองว่าการขอ Consent เป็นการ Overacting เพราะทุกคนควรได้รับการเคารพและการให้เกียรติอย่างเท่าเทียมกัน
ประเด็นสุดท้ายของการนำสังคมที่จุดหมายคือท้องฟ้าใส่มาให้เราได้เห็น คือการ Come out of closet หรือเรียกสั้น ๆ ว่าการ Come out เป็นการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตน ซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละคน ที่จะตัดสินใจเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ ซึ่งในจุดหมายคือท้องฟ้าเล่าเรื่องนี้ผ่านตัวละคร 'วี' ที่มาให้คำปรึกษาแสนเรื่องที่พี่อ้ายยังไม่อยากบอกคนอื่นว่ากำลังคุยกันกับแสนอยู่
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in