เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First Storyspongecream
เหล่าคนโรแมนติกทั้งหลายเอ๋ย ไปฟังดนตรีกันดีกว่า

  • ฮั่นแน่ หลงเข้ามาเพราะหัวเรื่องหรือเปล่า เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสไปชมการแสดงคอนเสิร์ต Fabulous Finale ที่จัดโดยวง Thailand Philharmonic Orchestra ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลมาค่ะ วันนี้เราอยากพาทุกคนไปตามรอยประสบการณ์ดูคอนเสิร์ตของเราตั้งแต่ต้นจนจบเลย แล้วไอความ "โรแมนติก" ที่ว่ามันอยู่ตรงไหน ต้องตามอ่านกัน หวังว่าจะสนุกกันนะคะ :)


    ในเทอมนี้เราได้เรียนวิชา Music Appreciation ซึ่งมีการมอบหมายให้นิสิตไปชมงานแสดงดนตรีเพื่อมาเขียนแบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้อ่าน ประกอบกับที่ตัวเองมีความสนใจในดนตรีคลาสสิคเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยเลือกไปดูคอนเสิร์ตออเคสตร้าที่จัดในช่วงนั้น โชคดีมากที่ได้มาเจอกับงาน Fabulous Finale ที่หยิบยกคอนแชร์โตชิ้นเอกของ Rachmaninoff (รัคมานินอฟ) และผลงานของ Tchaikovsky (ไชคอฟสกี้) มาบรรเลง เราเองที่ชอบดนตรียุคโรแมนติกเป็นพิเศษอยู่แล้วเลยเลือกไปงานนี้แบบไม่ลังเลเลย ยังแอบคิดในใจว่าถ้าเล่นเพลงของ Chopin (โชแปง) สักเพลงคงต้องพิเศษมากแน่ๆ (ใช่ค่ะ เป็นติ่งโชแปง)  

              (แปะภาพประกอบว่าชอบโชแปงขนาดไหน คือถึงขั้นตามไปถ่ายรูปกับอนุสาวรีย์โชแปงที่บ้านเกิดเขา @โปแลนด์มาแล้ว! 5555 ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบทความนี้แต่อย่างใด)


             กลับมาที่เนื้อหาหลักของเรากันดีกว่า หลายๆ คนอาจมองว่าดนตรีคลาสสิคเป็นเรื่องไกลตัว และอาจจะรู้สึกว่าคอนเสิร์ตพวกนี้คงต้องมีราคาแพงแน่ๆ แต่ความจริงแล้วในประเทศไทยเรามีงานแสดงดนตรีประเภทนี้ค่อนข้างบ่อย หาชมได้ไม่ยากนัก และที่สำคัญมักมีส่วนลดครึ่งราคาสำหรับนิสิต-นักศึกษาด้วยนะคะ โดยงาน Fabulous Finale ในครั้งนี้ก็จัดขึ้นโดยวง Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) ที่เป็นหนึ่งในผู้จัดงานดนตรีคลาสสิคเจ้าสำคัญของไทยเลยล่ะค่ะ ซึ่งครั้งนี้เรากับเพื่อนอีกคนได้เลือกไปบัตร 800 บาท แน่นอนว่าได้ส่วนลดสำหรับนิสิตเหลือ 400 บาทเท่านั้นเอง ฮี่ๆ 

             ที่ผ่านมา คอนเสิร์ตหรือการแสดงดนตรีคลาสสิคที่เราเคยไป มักจัดที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หรือจัดตามงานของสถาบันภาษา หรือหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันเกอเธ่ แต่ในครั้งนี้ตัวงานจัดที่ อาคารมหิดลสิทธาคาร คอนเสิร์ตฮอลล์ขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐมค่ะ เรียกว่าไกลไม่ใช่เล่นเลยสำหรับชาวสยามอย่างเรา ในครั้งนี้เราเลือกเดินทางโดยนั่งรถไฟฟ้า BTS ไปลงที่สถานีบางหว้า แล้วต่อรถแท็กซี่ไปถึงที่เลยค่ะ (ค่ารถประมาณ 180 บาท ใช้เวลาประมาณ 45 นาที) ความจริงทางมหาวิทยาลัยมีรถ shuttle bus ชื่อ SalayaLink (ศาลายาลิงค์) คอยรับส่งจากสถานีไปถึงตัวอาคารเลยนะคะ แต่เนื่องจากว่าต้องรอทุก 30 นาที พวกเรากลัวจะไปกันไม่ทัน ขาไปก็เลยตัดสินใจนั่งแท็กซี่กันไปก่อน



             นี่เป็นครั้งแรกของเราค่ะที่ได้มาถึงม.มหิดลศาลายา พูดได้เต็มปากเลยว่าประทับใจกับฮอลล์คอนเสิร์ตของเขาที่งดงามและยิ่งใหญ่มาก และด้วยความที่งาน Fabulous Finale ในครั้งนี้นับเป็นคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของTPO ในฤดูกาลนี้แล้ว งานนี้จึงมีแขกเหรื่อคนสำคัญในแวดวงดนตรีคลาสสิคมากันเป็นจำนวนมากเลยค่ะ



    พอได้เข้ามาในตัวฮอลล์แล้วยิ่งประทับใจกับสถาปัตยกรรมภายในที่ออกแบบได้ดูเรียบหรูมีระดับเป็นอย่างมาก โซนที่เรานั่งนั้นแทบไม่มีผู้ชมท่านอื่นเลย แถมยังเป็นมุมที่เห็นนักดนตรีได้อย่างครบถ้วนชัดเจนอีกด้วยโชคดีมากเลยค่ะ ติดอยู่อย่างเดียวคือหนาวมาก อย่าลืมเตรียมเสื้อกันหนาวไปกันนะคะทุกคนT_T



             ก่อนตัวคอนเสิร์ตจะเริ่ม เรามาพูดถึงโปรแกรมการแสดงกันบ้างดีกว่าโดย conductor หรือผู้อำนวยเพลงในค่ำคืนนี้คือคุณ Alfonso Scarano ผู้อำนวยเพลงชาวอิตาเลียนที่มีผลงานประพันธ์เพลงออเคสตร้า และประสบการณ์ชนะการแข่งขันอำนวยเพลงมามากมายนับไม่ถ้วนและในส่วนของศิลปินเดี่ยวเปียโนในคืนนี้คือคุณ San Jittakarn ศิลปินชาวไทยมากฝีมือที่พึ่งได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งขันดนตรีระดับโลก Geneva International MusicCompetition ในวัยเพียง 26 ปี ไม่แปลกใจที่ผู้คนกล่าวขานว่าเขาเป็นอัจฉริยะทางดนตรีที่น่าจับตามองอีกคนหนึ่งในวงการเลยทีเดียวค่ะ 

             และในส่วนของเพลงที่จะบรรเลงในค่ำคืนนี้มีดังต่อไปนี้ค่ะ

    • Thai Traditional Music Khap Mai
    • Sergei RACHMANINOFF Piano Concerto No. 2 in C minor, Op. 18
    • Pyotr Ilyich TCHAIKOVSKY
      Romeo and Juliet Fantasy Overture
      Capriccio Italien, Op. 45
      1812 Overture, Op. 49

             สำหรับบทเพลงแรกในคอนเสิร์ตครั้งนี้ คือ “ขับไม้บัณเฑาะว์” บทเพลงทำนองเก่าในสมัยอยุธยา โดยประพันธ์ขึ้นมาเป็นเพลงเดี่ยวสำหรับซอสามสาย เป็นบทเพลงที่แสดงถึงอารมณสงบศักดิ์สิทธิ์ ทว่าในครั้งนี้ได้ฟังการบรรเลงจากวงออเคสตร้าขนาดใหญ่ ชวนให้รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่และเมื่อขับกล่อมด้วยเครื่องดนตรีตะวันตกแล้ว ยิ่งเสริมความเป็นสากลให้กับดนตรีไทยโบราณมีเสน่ห์ขึ้นไปอีกแบบนึงเลยค่ะ

             จะเห็นได้ว่าคอนเสิร์ตนี้หยิบงานประพันธ์ของศิลปินคนสำคัญในยุคโรแมนติกมาถึง 2 ท่านเลย โดยบทเพลงต่อไปคือ Piano Concerto No. 2 หรือเปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 2 ที่ประพันธ์โดย Sergei Rachmaninoff (เซอร์เกย์ รัคมานินอฟ) ศิลปินชาวรัสเซียที่เติบโตมาในครอบครัวฐานะดีและได้รับการศึกษาทางด้านดนตรีมาตั้งแต่สมัยเด็ก ทว่าชีวิตทางด้านดนตรีของเขาก็ไม่ได้ราบรื่นนะคะ เพราะตอนที่เขาได้นำบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 1 อันเป็นความภาคภูมิใจของเขามาบรรเลงสู่สาธารณชนครั้งแรกเขาถูกวิจารณ์อย่างหนักและสูญเสียความมั่นใจอย่างมาก :/ ถึงขั้นต้องได้รับการบำบัดรักษาทางจิตเลยทีเดียว แต่หลังจากได้รับการรักษาอย่างดีเขาก็กลับมามีความมั่นใจเต็มเปี่ยมและได้ประพันธ์คอนแชร์โตหมายเลข 2 ออกมา ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับเสียงตอบรับที่ดีเป็นอย่างมากค่ะ

     

                                                                 Sergei Rachmaninoff
     ______________________________________________________________________________________
             “รู้อะไรเกี่ยวกับรัคมานินอฟบ้างอ่ะ เล่าให้ฟังหน่อย”
             “เหอะ รู้แค่เขาเป็นนักเปียโนที่มือใหญ่มาก”
             “อะไรเนี่ย5555555”  
             ข้อมูลจากเพื่อนเราเองค่ะ ไม่รู้เชื่อถือมากน้อยได้แค่ไหน โปรดใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูล555 แต่จากในรูปมือเขาก็ไม่ใหญ่นะ...
      ______________________________________________________________________________________

             ทุกคนรู้จัก คอนแชร์โต (concerto) กันมั้ยคะ? คอนแชร์โตเป็นดนตรีที่มีชื่อเล่นว่าเป็น “การประชัน-ตอบโต้กัน” ระหว่างผู้แสดงเดี่ยว 1 คนที่บรรเลงร่วมกับวงออเคสตร้ากันค่ะซึ่งใน คอนแชร์โตหมายเลข 2 ของรัคมานินอฟนี้ แบ่งออกเป็น 3 movements (ท่อน) ด้วยกันค่ะ  




             โดยท่อนแรกเป็นจังหวะ Moderato (เร็วปานกลางเริ่มจากการบรรเลงคอร์ดที่ดูลึกลับด้วยระดับเสียงเบา แล้วค่อยเพิ่มความดังขึ้นจนเต็มที่ แล้วสอดแทรกด้วยท่วงทำนองเสียงต่ำ ทุ้ม อบอุ่นอ่อนหวาน ด้วยเครื่องดนตรีกลุ่มไวโอลิน วิโอลา และคลาริเน็ต มีไฮไลท์สำคัญคือการเล่นเปียโนแบบ กระจายคอร์ด (Arpeggio) เรียกชื่อแบบนี้อาจไม่เห็นภาพ เพื่อนๆ เคยอึ้งเวลาเห็นนักเปียโนเก่งๆ ดีดเปียโนแบบกระจายนิ้วรัวๆ แบบที่มองนิ้วบนแป้นตามแทบไม่ทันมั้ยคะ นั่นแหละค่ะ Arpeggio ซึ่งในเพลงนี้คุณสันต์ก็ได้บรรเลงออกมาอย่างไม่มีที่ติ ตอนชมอยู่นี่มองตามแทบไม่ทันเลยค่ะ จะไหวไปไหนคะเนี่ยยยย

             เมื่อเข้าสู่ท่อนสอง กลายเป็นจังหวะ Adagio Sostenuto (ช้าอย่างมั่นคงสม่ำเสมอ) ท่อนนี้เราประทับใจเป็นพิเศษ เพราะรู้สึกว่ามันช่างฟังดูอ่อนหวาน ทว่าก็เศร้าและโดดเดี่ยวเหลือเกิน ยกความดีความชอบให้คลาริเน็ตที่คลอเคล้าโดยเปียโนอย่างเข้ากัน พอผ่านไปสักพักก็เข้าสู่ช่วง Cadenza (การบรรเลงเดี่ยวโดยไม่มีวงบรรเลงคลอ) เรียกได้ว่าเป็นช่วงอวดฝีมือเลยค่ะ เพราะเราได้เห็นลีลาการบรรเลงของนักเปียโนอย่างเต็มที่ก่อนหน้าที่คิดว่าได้อึ้งไปแล้ว คราวนี้ได้อึ้งเต็มๆ อีกรอบค่ะ

             และในส่วนท่อนสุดท้ายเป็นจังหวะ Allegro Scherzando (เร็ว ลีลาชวนขบขันน่าประหลาดใจ) เริ่มต้นด้วยการบรรเลงในลีลาเพลงมาร์ชที่ครึกครื้นเร้าใจ นำโดยเปียโน กลุ่มฟลุต คลาริเน็ต และเครื่องสาย ก่อนจะย้อนกลับมาแนวทำนองหลักที่ช้าและสง่างามในช่วงจบลงไปอย่างหนักแน่น ยิ่งใหญ่และอลังการมากค่ะ 


    Pyotr Ilyich Tchaikovsky

             สำหรับอีก 3 บทเพลงที่เหลือนั้นล้วนแล้วแต่เป็นงานประพันธ์ของ Pyotr Ilyich Tchaikovsky (ปีเตอร์ อิลยิช ไชคอฟสกี) ศิลปินและนักประพันธ์ชาวรัสเซีย อีกหนึ่งคนสำคัญแห่งยุคโรแมนติกนั่นเองค่ะสำหรับใครที่ไม่คุ้นชื่อไชคอฟสกี อาจจะเคยได้ยินบัลเลต์ชื่อดังเรื่อง The Nutcracker (เดอะ นัตแครกเกอร์) มาก่อน เรื่องนี้ก็ได้ไชคอฟสกีนี่แหละค่ะเป็นผู้ประพันธ์เพลงให้




             โดยบทเพลงแรกของไชคอฟสกีในค่ำคืนนี้คือ Romeo and Juliet Fantasy Overtureหรือบทโหมโรงแฟนตาซีจากวรรณกรรมชื่อดังก้องโลกอย่าง “โรเมโอแอนด์จูเลียต” โดย วิลเลียม เชคสเปียร์ สำหรับบทเพลงนี้ อย่าโดนหลอกเอาเชียวนะคะ! เพราะเขาจะเริ่มต้นด้วยจังหวะช้านุ่มนวล อ่อนหวานแบบเพลงสวดคอราล (Chorale) เป็นสัญลักษณ์ถึงความศักดิ์สิทธิ์น่าเคารพของบาทหลวงลอเรนซ์ ผู้สนับสนุนความรักของโรเมโอและจูเลียต ทว่าเมื่อบรรเลงทำนองนี้ไปได้ไม่นานจะเข้าสู่ช่วงแนวทำนองหลักที่สุดแสนจะรวดเร็ว! ดุดัน! และเสียงดังอึกทึกสุดๆ! นี่แหละค่ะของจริง! โดยท่อนนี้ไชคอฟสกีต้องการสื่อถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งและการทะเลาะกันอย่างรุนแรงระหว่างตระกูลคาปูเล็ตส์ (Capulets) และตระกูลมองตากิวส์ (Montagues) ในเรื่อง บอกเลยค่ะว่าฟังแล้วเหนื่อยมาก เพราะมันอึกทึกมากจริงๆ (ในทางที่ดีนะคะ5555) แล้วจึงตามมาด้วยแนวทำนองรองที่บรรยายความรักอันอ่อนหวานของหนุ่มสาวทั้งสอง ก่อนจะสลับมายังความผูกพยาบาทระหว่างสองตระกูลอีกครั้ง เรื่องราวดำเนินมาถึงส่วนท้ายที่ให้ความรู้สึกสะทึกขวัญด้วยเสียงกลองทิมปานีตีกระหน่ำ บรรยายภาพโศกนาฏกรรมความรักของคนทั้งคู่เรียกได้ว่าเป็นบทเพลงที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย เต็มอิ่ม ครบรสจริงๆ ค่ะ

            



             บทเพลงที่สองของไชคอฟสกีคือ Capriccio Italien, Op. 45 หรือคาพริซโซอิตาเลียน ลำดับที่ 45 เป็นผลงานดนตรีที่ได้รับแรงบันดาลใจอันสำคัญจากการได้ไปท่องเที่ยวในอิตาลี โดยไชคอฟสกีได้หยิบยกทำนองเพลงพื้นบ้านของอิตาลี มาผนวกรวมเข้ากับดนตรีตามท้องถนน เกิดเป็นผลงานที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา ส่วนตัวรู้สึกว่าถ้าเปรียบกับวรรณกรรมของไทย บทเพลงนี้ก็เหมือนกับเป็น “นิราศ” บทหนึ่งซึ่งบอกเล่าความประทับใจของกวีที่มีต่อการเดินทางครั้งนั้น โดยในเพลงนี้ก็ได้มีการใช้เครื่องดนตรีเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงความทรงจำที่ได้รับจากอิตาลีในครั้งนั้นอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทรัมเป็ตในช่วงแรกที่สื่อถึงแตรปลุกจากโรงทหารใกล้ที่พักของไชคอฟสกีในทุกเช้า โอโบและกลุ่มเครื่องสายที่นำเสนอเพลงเต้นรำพื้นบ้าน เล่นในจังหวะช้าเร็วสลับกันไปจนจบเพลงเป็นบทเพลงที่เน้นสื่อสารความประทับใจแบบฉับพลันทันที ฟังแล้วรู้สึกสดชื่นมีชีวิตชีวา และแนวทำนองหลักก็ฟังแล้วครื้นเครงชวนให้อารมณ์ดี น่าจะเป็นบทเพลงที่ถูกใจคนทุกเพศทุกวัยเลยค่ะ




              และบทเพลงสุดท้ายของค่ำคืนนี้คือ 1812 Overture หรือบทโหมโรง 1812 เรื่องราวตลกร้ายเบื้องหลังบทเพลงนี้คือ ตัวไชคอฟสกีเองไม่ได้ชอบผลงานของเขาเลย! ออกจะเกลียดมันด้วยซ้ำค่ะ เพราะเขารู้สึกว่ามันอื้ออึงและหนวกหูมาก โดยเขาได้รับข้อเสนอให้แต่งเพลงนี้เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่กองทัพรัสเซียสามารถต่อสู้เพื่อปกป้องการรุกรานจากกองทัพของนโปเลียนในปี 1812 ได้ เพลงนี้เปิดด้วยแนวทำนองเพลงสวดเก่าแก่โดยเชลโลและวิโอลา คลอเคล้าด้วยโอโบอย่างอ่อนหวาน ก่อนที่เครื่องเป่าทองเหลืองจะเข้าร่วมอย่างน่าตื่นเต้น และเพิ่มความดังจนถึงที่สุด มีการใช้เครื่องดนตรีต่างประเภทกันเพื่อสื่อถึงกองทัพฝรั่งเศสและกองทหารรัสเซีย หลังจากดนตรีสับสนอลหม่านได้สักพักจะเปลี่ยนเป็นบรรเลงเพลงพื้นบ้านรัสเซียสลับกับเพลงชาติฝรั่งเศส เปรียบถึงการสู้รบของกองทัพทั้งสอง มีเสียงยิงปืนใหญ่กึกก้องก่อนจะจบด้วยทำนองเพลงชาติรัสเซียอย่างยิ่งใหญ่ หนักแน่น และอลังการในตอนจบ ส่วนตัวรู้สึกว่ามันอึกทึกจริงตามที่ไชคอฟสกีว่าไว้นั่นแหละค่ะ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกไม่ชอบนะ คิดว่าถ้าได้เล่นในฮอลล์กลางแจ้งใหญ่ๆ ตามที่ไชคอฟสกีมุ่งหมายไว้ตอนประพันธ์ขึ้น คงเป็นประสบการณ์ที่เต็มอิ่มมากแน่ๆ

     


             จบกันไปแล้วค่ะสำหรับบทเพลงทั้งหมดของค่ำคืนนี้ หลังจากการแสดงทั้งหมดจบลง ผู้ชมทั้งฮอลล์ต่างก็พากันลุกขึ้นปรบมือ Standing Ovation กันเกรียวกราวอย่างยาวนาน นับว่าเป็นการปิดฉากการแสดงของ TPO ในฤดูกาลนี้ได้อย่างสวยงามสมศักดิ์ศรีจริงๆ ค่ะ ดีใจมากที่มีโอกาสได้มาฟังบทประพันธ์ดีๆ จากศิลปินยอดฝีมือมากมาย แถมสำหรับเราเองก็นานแล้วด้วยที่ไม่ได้มาคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิค คิดว่าหลังจากนี้จะพยายามหาเวลาไปชมให้บ่อยขึ้น แต่อาจจะไปที่ใกล้ๆ แทน ศาลายานั้นแสนไกล T-T และบทความนี้ก็แสนยาวขอบคุณทุกท่านที่ร่วมอ่านกันมาจนถึงจุดนี้นะคะ (จะมีมั้ยนะ) ส่วนตัวไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องดนตรีเป็นพิเศษ ถ้ามีข้อผิดพลาดตรงไหนต้องขออภัยมาด้วยนะคะ

    ขอบคุณค่ะ :-)

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
opalllllllll_ (@opalllllllll_)
แค่เห็นรูปปกก็ได้ยินเสียงเลยค่ะ
nongbbiyak (@nongbbiyak)
ไปมาเหมือนกันครับ ดีมากจริงๆ
fatesyfly (@fatesyfly)
??