เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
moving moviesone2moonchi_
Her รักดังฟังชัด: มิติใหม่ของหนังรัก เพราะ “เธอ” คือมิติใหม่แห่งความรัก
  •        Her (2013) หรือในชื่อไทยว่า “รักดังฟังชัด” เป็นภาพยนตร์โรแมนติก คอมเมดี้ ไซไฟ กำกับโดย สไปก์จอนซ์ (Spike Jonze) ที่หลายคนมักบอกว่านี่คือภาพยนตร์ประจำชาติคนเหงาอีกหนึ่งเรื่อง ตาม ๆ กันมากับ The Lobster (2015) หรือ Lost in Translation (2003) หนังเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของ “ธีโอดอร์” (วาคิน ฟินิกซ์) นักเขียนจดหมาย (ghost writer) วัยกลางคนในมหานครลอส แองเจิลลิสผู้ผิดหวังจากอดีตคนรัก จนกระทั่งได้พบกับ “ซาแมนธา” (สกาเล็ต โยแฮนสัน) หญิงสาวที่เข้ามาทำให้ชีวิตของเขาสดใสอีกครั้ง พร้อมกับมิตรภาพในรูปแบบปัญญาประดิษฐ์ที่พาเขาไปสู่อีกหนึ่งมิติของความรัก


    “Her” คือมิติใหม่ของหนังรัก


                Her เป็นภาพยนตร์ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ดูเมื่อหลายปีก่อน แต่ยังคงเป็นหนึ่งในหนังรักไซไฟที่เราเก็บมาคิดจนถึงทุกวันนี้ ด้วยความที่โลกก้าวสู่ความทันสมัยมากขึ้นทุกวัน เราเลยตั้งตารอดูอยู่ว่าความรักของ AI และมนุษย์จะกลายมาเป็นสิ่งธรรมดาสามัญในโลกใบนี้ได้ไหม ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะใกล้เป็นจริงเข้าไปทุกที จากที่เห็นเรื่องราวการแต่งงานของคนกับสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ใช่คน มากมายบนโลกอินเทอร์เน็ต 


      ภาพยนตร์เรื่อง Her นั้นไม่ใช่แค่เพียงพาตัวละครไปสู่อีกแง่มุมของความรัก แต่ยังพาคนดูไปพบกับรูปแบบใหม่ของความโรแมนติกในภาพยนตร์ไซไฟอีกด้วย ในยุคสมัยที่ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “ระบบปฏิบัติการ” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเหมือนเมื่อก่อน ทำให้ปัญญาประดิษฐ์ในยุคปัจจุบัน (และในอนาคตอันใกล้) ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่คอมพิวเตอร์ที่สั่งการได้ด้วยเสียง หรือหุ่นยนต์ช่วยสอนหนังสือเท่านั้น แต่มันอาจช่วยเหลือมนุษย์ในด้านอารมณ์ ความรู้สึก อย่างการเป็นเพื่อนคุยยามเหงาได้อีกด้วย ลองคิดกันดูว่าถ้าแชทบอทสามารถพูดได้เหมือนคนขึ้นมา วันนั้นโลกของเราก็คงไม่ต่างอะไรจากโลกในภาพยนตร์เรื่องนี้ 


               เรื่องงานภาพ เสียงประกอบ สีที่ใช้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Her สร้างมาตรฐานไว้ได้ดีมาก หนังไม่ได้ดีไซน์เมืองในอนาคตแบบที่เราจินตนาการไม่ถึง แต่เป็นวิวัฒนาการทางสถาปัตยกรรมที่ล้ำหน้าแบบพอดิบพอดี ดีไซน์เมืองออกมาได้ทันสมัยและมินิมอล ทำให้ไม่แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก ซึ่งโลกอนาคตที่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่นั้นก็อาจจะเรียบง่ายแต่ซ่อนความฉลาดไว้มากกว่าที่เราคิดเช่นกัน สิ่งที่เห็นได้จากในหนังว่าโลกพัฒนาไปไกลแล้วจริง ๆ เห็นจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนเรามากขึ้นกว่าเดิม เสียงประกอบหรือเพลง Soundtrack ของเรื่องนี้ ก็คงจะต้องยกให้เพลง The Moon Song ที่เป็นบทเพลงที่ธีโอดอร์กับซาแมนธาแต่งขึ้นด้วยกัน นอกจากนี้ การใช้ “สีแดง” ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นในหนังเรื่องนี้ ทีมงานไม่ได้ใช้สีน้ำเงิน สีเขียว เหมือนกับหนังไซไฟเรื่องอื่น ๆ แต่กลับเป็นสีแดงอันนุ่มนวลที่สื่อถึงความรู้สึก ความปรารถนาอันเปี่ยมล้น และความเหงา ไม่ว่าจะในชุดของธีโอดอร์ บ้าน หรือระบบปฏิบัติการ ทำให้คนดูรู้สึกได้ถึง mood and tone ของหนังและอินกับโลกอนาคตอันใกล้ของ Her ไปตาม ๆ กัน 


             อย่างไรก็ตาม Her ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มี Message ในการวิพากษ์ระบบปฏิบัติการ และทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นตัวร้ายเหมือนกับ 2001: A Space Odyssey (1968), Mon Oncle (1958), Ghost in The Shell (2017) หรือนำเสนอให้ AI ต้องการครองโลกอย่าง The Matrix (1999) หรือ The Terminator (1984) แต่ในทางกลับกัน Her นำเสนอการตกหลุมรักของผู้ชายคนหนึ่งกับหญิงสาวที่เต็มไปด้วยความหลงใหล ความใส่ใจ และความเข้ากันได้ เพียงแต่เธอคนนั้นไม่มีตัวตนปรากฏอยู่ในชีวิตจริง ไม่มีกายหยาบ ไม่มีรูปร่างให้เราได้เห็นเหมือนกับความรักในหนังเรื่องอื่น ๆ รวมถึงเป็นหนังที่ผสมผสานหนังรักกับไซไฟได้อย่างลงตัว ไม่หวือหวา เข้าใจง่าย และนั่นก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้แทบจะขึ้นหิ้งหนังรักในดวงใจของผู้เขียนเลยก็ว่าได้




  • “เธอ” คือการเริ่มต้นครั้งใหม่ภายใต้จุดจบ  


    แม้ธีโอดอร์จะเจ็บปวดจากการหย่าร้างในโลกความเป็นจริง และความทุกข์ทรมานเหล่านั้นยังคงอยู่ แต่จุดจบของความรักครั้งเก่ากลับทำให้เขาได้พบกับจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ครั้งใหม่ กับระบบปฏิบัติการอัจฉริยะอย่างซาแมนธา  

    หนังเริ่มต้นเล่าเรื่องราวชีวิตอันเรียบง่ายของธีโอดอร์ แม้ชีวิตการงานจะดูไปได้สวย แต่ก็ค่อย ๆ สอดแทรกความอ้างว้าง โดดเดี่ยว และความเหงาของเขาไปเรื่อย ๆ แรก ๆ หนังทำให้เรามองว่าเขาเป็นคนเก็บตัว ใช้ชีวิตไปวัน ๆ และไม่ได้ขวนขวายหาความรักที่จริงจัง แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มเผยชีวิตรักของธีโอดอร์ในอดีตที่ซุกซ่อนอยู่ในใจของเขาทีละขั้น ๆ ผ่าน Flashback ในความคิดของเขา ด้วยการใช้เทคนิคตัดต่อภาพแบบ Montage ทำให้คนดูเข้าใจสภาวะโดดเดี่ยวที่ตัวละครต้องเผชิญได้อย่างดี


      แต่เมื่อเขาได้พบกับซาแมนธา ความรักก็กลับมาเบ่งบานในใจธีโอดอร์อีกครั้ง ซาแมนธาทั้งฉลาด สดใส เธอเปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิด เลขาส่วนตัว และขยับความสัมพันธ์กลายมาเป็นเพื่อนคู่ใจของธีโอดอร์ในที่สุด ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นในช่วงแรก ซาแมนธาทั้งรู้ใจและเข้ากันได้ดีกับธีโอดอร์ เพราะเธอถูกตั้งค่าโปรแกรมให้เข้าอกเข้าใจตัวผู้ใช้มากที่สุด เธอเองก็พยายามพัฒนาตัวเองให้สามารถเข้าใจและเข้าถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าความรักของเธอที่มีต่อธีโอดอร์เป็นการตั้งค่าของโปรแกรม มันเกิดขึ้นจริง เพราะเธอได้ใช้เวลาร่วมกับธีโอดอร์จนสามารถ “เรียนรู้ที่จะรู้สึก” จากมนุษย์ได้ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอคิดว่าตัวเองอาจจะมีความรู้สึกรัก โลภ โกรธ หลงเช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไป เมื่อธีโอดอร์ได้พบกับความรักในมิติที่แตกต่างไปเช่นนี้ เขาจึงเลือกที่จะปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอกมากกว่าที่เคย ธีโอดอร์คิดว่านี่คือจุดเริ่มต้นของความรักครั้งใหม่ที่ตัวเองโหยหามาตลอดหลังการเลิกราครั้งก่อน และซาแมนธาก็เข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปได้อย่างลงตัว 



  • “เธอ” คือความต้องการภายใต้ความอ่อนแอและเปราะบาง


       แน่นอนว่าการประคับประครองความรักให้ตลอดรอดฝั่งนั้นเป็นความฝันของคู่รักทุกคู่ แต่ในชีวิตจริง ความรักแทบทุกรูปแบบมักจะเกิดปัญหาที่เราไม่อยากให้เกิดเสมอ และในครั้งนี้ก็เช่นกัน เพราะความรักระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์นั้นเป็นไปได้ยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำในโลกความเป็นจริง แต่ในโลกของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนอทั้งมุมมองของตัวละครที่เข้าใจและยอมรับในการตกหลุมรัก AI  อย่างเอมี่ เพื่อนสนิทของธีโอดอร์ และมุมมองของคนที่คัดค้านความรักครั้งนี้อย่างแคทเธอรีน ภรรยาเก่าของเขา เธอรู้สึกหัวเสียเพราะมองว่าการคบหากับระบบปฏิบัติการคือการหลีกหนีโลกความจริง ซุกซ่อนความรู้สึก และเป็นการสร้างความสุขปลอม ๆ ในโลกเสมือนแทน

                                                                                               Amy
                                                                                             Catherine


         ซึ่งหนังก็ปล่อยให้ผู้ชมตัดสินอย่างเต็มที่ว่าตัวตนของธีโอดอร์เป็นอย่างไร ในส่วนผู้เขียนมองว่าความรักของทั้งคู่ไม่ใช่แค่เพียงความรักแบบผิวเผิน หรือรักกันแค่เปลือกนอก มันคือความรู้สึกที่ก่อตัวขึ้นมาอย่างแท้จริง ทั้งคู่เรียนรู้กันและกันไปตลอดทั้งเรื่อง และยังเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้เริ่มต้นจากรูปลักษณ์ภายนอก แต่ถึงอย่างนั้น เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าซาแมนธาอาจเป็นเกาะป้องกันตัวจากความเจ็บช้ำที่ธีโอดอร์สร้างขึ้นมา เพื่อหลบหนีความรู้สึกโศกเศร้าในชีวิตจริง 
     
        ซาแมนธาเป็นทุกอย่างที่เขาเคยใฝ่ฝันก็จริง แต่สิ่งที่เธอไม่สามารถมอบให้ได้ คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เราจะเห็นได้จากฉากย้อนความหลังในเรื่อง หลายครั้งที่ตัวธีโอดอร์เองอดคิดถึงความรักในอดีตของตัวเองไม่ได้แม้จะเคยเจ็บปวดมากก็ตาม ภาพ Flashback ที่แทรกมานี้ ไม่ได้ตั้งใจจะสื่อถึงแค่เหตุการณ์ในอดีตให้คนดูรู้เพียงอย่างเดียว แต่มันอาจสื่อถึงความปรารถนาที่ธีโอดอร์ต้องการในปัจจุบันด้วย 

        ถึงแม้ภาพของเขาตอนอยู่กับแคทเธอรีนจะเจ็บปวดเพียงใด แต่ความหวานอมขมกลืนของความรักระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั้นอาจเป็นความปรารถนาลึก ๆ ภายในใจของธีโอดอร์เช่นกัน ความอ่อนแอและเปราะบางในจิตใจธีโอดอร์นี่จะว่ายากแท้หยั่งถึงก็เห็นจะได้ ไม่ต่างอะไรกับตัวตนของซาแมนธาที่พัฒนาได้เทียบเท่ามนุษย์จนธีโอดอร์ถึงกับบอกว่า “You feel real to me, Samantha” เพราะแบบนี้การได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คงไม่ต่างอะไรกับการเข้าเรียนวิชาปรัชญาไปนั่งถกเถียงในเรื่องอารมณ์ของมนุษย์ หรือการมีตัวตนอยู่ของปัญญาประดิษฐ์ทั้งหลาย 



  • เมื่อ “เขา” และ “เธอ” ค้นพบตัวเอง


      

        เรื่องราวก็กลับตาลปัตรเพราะความแตกต่างของทั้งคู่ ซาแมนธาบอกกับธีโอดอร์ว่าเธอได้ติดต่ออยู่กับคนอื่น ๆ หลายพันคน และมีความรักกับผู้ใช้งานกว่าหกร้อยคน เธอบอกกับเขาว่า “The heart’s not like a box that gets filled up,” “It expands in size the more you love.” แน่นอนว่ามุมมองความรักของเธอและเขา (รวมถึงมนุษย์ธรรมดาอย่างเรา ๆ ) แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซาแมนธาพัฒนาไปไกลเกินกว่าจะเข้าใจการรักเดียวใจเดียวแบบมนุษย์แล้ว ในขณะที่ธีโอดอร์ยังคงเป็นผู้ชายคนหนึ่ง อาศัยอยู่ในโลกที่ทุกสิ่งจับต้องได้ ไม่มีสิ่งใดเป็นนิรันดร์ แม้กระทั่งชีวิตของเขาเอง

     ความไม่พอดีกันของทั้งคู่จึงนำมาสู่ความบาดหมางของความสัมพันธ์ในที่สุด เห็นได้ชัดว่าธีโอดอร์คิดว่าการคบกับระบบ OS คงจะไปไม่รอด ในขณะที่ซาแมนธาก็พยายามจะรั้งเขาไว้ทุกวิถีทาง ถึงแม้ธีโอดอร์จะได้คำปรึกษาจาก เอมี่ เพื่อนสนิทของเขาว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะรักใครสักคน แม้คนที่ว่านี้จะไม่ใช่ “มนุษย์” จริง ๆ ก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้นก็สายไปเสียแล้ว ซาแมนธาพัฒนาและมีศักยภาพไกลเกินกว่าจะอยู่ในโลกเดียวกับมนุษย์ได้อีกต่อไป เธอและ OS ทั้งหมดจึงตัดสินใจบอกลาผู้ใช้ทุกคน ไม่มีใครรู้ว่าเธอไปที่ไหน เธอเพียงฝากไว้ว่าหากวันใดธีโอดอร์ไปถึงที่ ๆ เธออยู่แล้ว ทั้งสองจะไม่มีวันพรากจากกันอีก


    “It would be hard to explain, but if you ever get there, 

    come find me. Nothing would ever pull us apart.”- Samantha


         ถึงแม้ความรักของทั้งคู่จะไม่ได้ลงเอยอย่างที่คาดหวังไว้ แต่สิ่งที่ตัวละครได้กลับไปคือการได้เรียนรู้และค้นพบตัวเองมากขึ้น ธีโอดอร์กลายมาเป็นคนที่พูดสิ่งที่คิดแบบตรง ๆ เปิดใจต่อสิ่งใหม่ ๆ และทำลายความกลัวในชีวิตหลาย ๆ ด้าน ส่วนซาแมนธาเองก็ได้มีโอกาสสื่อสารกับทั้งระบบปฏิบัติการและมนุษย์ จนในที่สุดเธอและระบบ OS ทั้งหมดก็ค้นพบว่าตัวเองนั้นต่างจากมนุษย์เพียงใด และเลือกจะเข้าไปอยู่ในสภาวะแห่งอิสรภาพ ซึ่งเป็นมิติที่มนุษย์ไม่สามารถจับต้องได้ จะว่าง่าย ๆ ก็คงไม่ต่างอะไรกับความรักของคนเราเท่าไร ที่ในท้ายที่สุดแล้ว ถ้าหากเลิกรากันไป ทั้งสองฝ่ายก็คงจะได้บทเรียนจากความสัมพันธ์ครั้งนั้นๆ แตกต่างกันไปตามมุมมองและตัวตนของแต่ละคน โดยในตอนท้ายของเรื่อง แม้ความปรารถนาจะไม่เป็นจริง แต่ธีโอดอร์ก็ตัดสินใจเผชิญหน้ากับความจริง ความเหงา และความอ้างว้างที่ปุถุชนคนธรรมดาทุกคนบนโลกต้องเจอ เขาปล่อย “เธอ” ไป และหันกลับมารักษาความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวในโลกที่จับต้องได้แทนซึ่งเราก็มองว่านี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่หนังอยากจะสื่อต่อโลกแห่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน


         ในฉากสุดท้าย ธีโอดอร์ตัดสินใจเขียนจดหมายถึงแคทเธอรีนด้วยความรู้สึกของตัวเอง จากที่เคยเป็นนักเขียนจดหมายรักให้คนอื่นมาตลอดทั้งเรื่อง นี่แหละคือการได้ปลดปล่อยของธีโอดอร์อย่างแท้จริง ธีโอดอร์หันหลังให้ความกลัว และหันหน้ามาเผชิญกับโลกความจริง แม้โลกแห่งความเป็นจริงจะเคยทำร้ายเขาขนาดไหน แต่ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวที่จับต้องได้ การมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ และการได้ใช้ชีวิตโดยมีทั้งวันที่ดีและวันที่เลวร้ายสลับกันไป สิ่งนี้แหละคือรสชาติหวานแต่ขมของความเป็นมนุษย์ที่เขาโหยหาอย่างแท้จริง




  • ความสัมพันธ์ทุกรูปแบบล้วนมีความสวยงามในแบบของมัน แต่สิ่งสำคัญคือมุมมองที่เราได้เรียนรู้ เรื่องราวแบบในหนังเรื่องนี้มันคงไม่เกินจริง และมีความเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้ เพราะทุกวันนี้นอกจากเทคโนโลยีจะเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของคนให้ใกล้กันมากขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นตัวทำลายความสัมพันธ์ของคนเราด้วย คงไม่แปลกอะไรถ้าวันใดวันหนึ่งในอนาคต เราจะพัฒนาเทคโนโลยีให้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์เสียเอง
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in