เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ทาสข้ามศตวรรษ...Sleeping Slave
Steel Ball Run มีปัญหาอย่างไรในช่วงแรก? และมันกลับมาอย่างเกรียงไกรได้อย่างไร?


  • เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2024 ที่เพิ่งผ่านมานี้ "JoJo's Bizarre Adventure: Steel Ball Run" หรือ "โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ภาค 7" เพิ่งจะฉลองครบรอบ 20 ปี ไปเองครับ จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ผมจะหวนกลับมาสู่โลกการขี่ม้าข้ามทวีปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์นี้อีกครั้ง โดยผมจะขอไปสำรวจ SBR ในมุมที่เราไม่ค่อยจะพูดถึงกันมากนักในยุคนี้

    ในช่วงปีหลัง ๆ กระแสความนิยมของ SBR กลายเป็นภาคที่ได้รับเสียงตอบรับและความชื่นชมจากแฟน ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าแปลกใจ เพราะแฟนรุ่นเก่าที่ติดตามมังงะภาคนี้มาตั้งแต่แรก ๆ จะจำกันได้ดีว่า ม้นไม่ใช่ภาคที่ได้รับเสียงชื่นชมมาตั้งแต่แรก โดยเฉพาะในหมู่นักอ่านบ้านเรา SBR แทบจะเป็นมังงะนอกสายตา จนเรียกได้ว่าเป็นผลงานที่ค่อนข้าง Underrate ก็คงไม่ผิด ..แต่จู่ ๆ ในยุคหลัง ๆ ที่ผ่านมา SBR เริ่มจะถูกพูดถึงในด้านดีมากขึ้น ๆ อย่างรวดเร็ว เสียงชื่นชม และกระแสความ Hype ที่มากขึ้น เริ่มไปในทิศทางที่เกณฑ์ไปในแง่ดีมากขึ้น ๆ จนน่าแปลกใจ จากภาคที่ Underrate กลายเป็นภาคที่เราเริ่มจะรู้สึกว่า มันเริ่มจะ Overrate มากไปแล้ว (ฮาา)

    หลายคนบอกว่า SBR คือ "โจโจ้ภาคที่ดีที่สุด" ซึ่งส่วนตัวผมขอไม่ออกความเห็นเรื่องนี้นะครับ เพราะในแง่ความเป็นจริง คนมักจะบอกว่า "โจโจ้ภาคที่ตัวเองชอบที่สุด คือโจโจ้ภาคที่ดีที่สุด" เป็นธรรมดาที่เราจะยกสิ่งที่เราถูกใจมาก ๆ ให้เป็น The Best ในใจของเรา ฉะนั้นมันไม่มีบรรทัดฐานอะไรที่จะตัดสินได้ชัดเจนว่า อะไรดีสุด หรือว่าแย่สุด ประเด็นจริง ๆ คือ "เราชอบอะไร และไม่ชอบอะไร" เท่านั้น

    และสำหรับ SBR ส่วนตัวในมุมมองของผม มันคือมังงะที่อยู่ในขั้นทีเรียกว่า "ดี" ได้เต็มปาก แต่มันสมบูรณ์แบบ ถึงขนาดเป็นงานระดับ magnum opus ของ อ.อารากิ ฮิโรฮิโกะ เลยมั้ย? ถ้ามองแบบไม่อวยกัน ก็ "ไม่" ครับ SBR เป็นมังงะที่ดี แต่ไม่ได้ถึงขั้นเพอเฟ็กต์ มันยังมีจุดอ่อนบางประการที่เราคนอ่าน สามารถมองเห็นได้อยู่ เพียงแต่ในภาพรวม มันมีข้อดีเยอะ ที่ทำให้เราพอจะมองข้ามจุดอ่อนของมันไปได้ และสามารถอ่าน SBR ได้ในฐานะมังงะภาคที่สนุก เต็มไปด้วยช่วงเวลาดี ๆ ที่น่าจดจำ

    โดยข้อเสียใหญ่ ๆ ของ SBR มันเนื่องมาจาก การวาง Main Point ของพล็อต ที่ยังไม่ชัดเจนในช่วงแรก ทำให้เส้นเรื่องมันออกมาไม่ดีอย่างที่ควร ก่อนจะกลับมาอีกที กับพล็อตในช่วงแรก ไปจนถึงท้าย ที่เป็นจุดเปลี่ยนที่พลิกให้ SBR กลับมามีเส้นเรื่องหลักที่แข็งแรง อย่างที่ครจะเป็น

    ซึ่งนี่แหละคือหัวข้อที่ผมจะมาพูดถึงในบทความตัวนี้ครับ กับว่าด้วยเรื่อง "Steel Ball Run มีปัญหาอย่างไรในช่วงแรก? และมันกลับมาอย่างเกรียงไกรได้อย่างไร ในช่วงหลัง?"


    The Downfall: การเริ่มต้นแบบขลุกขลัก

    อย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับแต่โดยดีคือ SBR ค่อนข้างมีปัญหา ในช่วงแรกของพล็อตอันเนื่องมาจากการตัดสินใจในการวางพล็อตที่ยังไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเรื่อง การกำหนดทิศทางของเรื่อง และความน่าสนใจของพล็อต ..โดยผมมีข้อสังเกตหลัก 2 ข้อครับว่า ช่วงแรกของ SBR เกิดปัญหาอย่างไร ดังนี้..

    1) Main Plot ที่อ่อนเกินไป และไม่มีหลักให้ยึดอย่างชัดเจน

    พล็อตเรื่องช่วงแรกของ SBR จะยึดอยู่กับเรื่องราวของ ไจโร่ เซเปลี่ คนเดียวเป็นหลัก กับภารกิจรับมอบหมายหน้าที่มาจากผู้นำสูงสุดของราชอาณาจักรนีอาโปลิสของเขา ในการนำเงินรางวัลจากการแข่ง SBR Race ไปแลกกับการใช้กฏหมายนิรโทษกรรม เพื่อช่วยเด็กน้อยที่กำลังจะถูกประหาร ในความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ทำให้ไจโร่ต้องเผชิญหน้ากับผู้ก่อการร้ายจากบ้านเกิด ที่ต้องการจะทำรัฐประหารนีอาโปลิส ..เป็นพล็อตที่ฟังดูเหมือนจะดี แต่เอาเข้าจริง มันเป็นพล็อตที่อ่อนเกินไป ขาดความน่าสนใจ และใส่ความหวือหวาน่าสนใจลงไปได้ยากมาก พอกลับไปอ่านเนื้อหาช่วงนี่อีกที ณ ตอนนี้ มันรู้สึกได้จริง ๆ ครับว่า มันขาดความน่าสนใจไปมาก (ช่วง โอเยโคโมวา นี่คือชัดเจนเลยว่ามันจืดมากก มันซ้ำซาก เล่า stand fight ด้วยลีลาเดิม ๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่)

    2) การยังติดอยู่กับความเป็นโชเนนมังงะ ทำให้เนื้อเรื่องไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร

    ในช่วงแรก ตัวละครหลัก ๆ ของ SBR จะดูมีความคล้ายกับ setting ตัวละครสไตล์โชเนนมังงะอยู่มาก ด้วยการเปิดตัวตัวละครที่มีความเป็น "กลุ่ม" ให้เรารู้สึกว่า ตัวละครพวกนี้จะต้องมารวมทีมกันในอนาคต (นอกจากไจโร่กับโจนี่ ก็มีทั้ง ดิเอโก้ แซนด์แมน โพโกโรโก้ เมาเท่นทิม) ถ้าเป็นแนวคิดแบบโจโจ้ภาคก่อน ๆ ตัวละครเหล่านี้ก็น่าจะสามารถเป็น "กลุ่มตัวเอก" ของเรื่อง แบบแก๊งค์โจทาโร่ ของภาค 3 หรือ แก๊งค์บูจาราตี้ ของภาค 5 นั่นเอง.. ซึ่งถ้าว่ากันตรง ๆ มันเป็น setting ที่ค่อนข้างซ้ำซากครับ เราจะไม่รู้สึกว่า ทิศทางเรื่องราว มันมีอะไรใหม่ หรือน่าสนใจ มากไปกว่าภาคก่อน ๆ และเป็นอะไรที่เรา "พอเดาได้" ว่ามันน่าจะไปในเวย์ไหน

    ซึ่งเหตุผลก็เพราะ การต้องลงตีพิมพ์อยู่ใน โชเนนจัมป์ นี่แหละครับ ที่มันกลายเป็น "กรอบ" ที่ทำให้ อ.อารากิ ยังไม่สามารถทิ้งวิธีการเล่าเรื่องแบบเดิม ๆ ไปได้อย่างเด็ดขาด และยังมองว่า สไตล์การเล่าเรื่องแบบเดิม ๆ ก็น่าจะยังใช้ได้  (ซึ่งว่ากันแบบแฟร์ ๆ มันก็คงไม่ง่าย ในฐานะคนที่วาดโชเนนมังงะมาเป็น 20 ปี) ในมุมของคนอ่าน มันคือสูตรสำเร็จที่ซ้ำซาก ยิ่งบวกกับ Main Plot เรื่องผู้ก่อการร้าย ที่ก็ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจมากมาย ยิ่งกลายเป็นความน่าเบื่อหนักเข้าไปอีก

    ซึ่ง ณ จุดนี้ อ.อารากิ ก็น่าจะรู้ดีครับว่า ถ้ายังฝืนเล่าด้วยพล็อตนี้ต่อไปจริง ๆ มันคงไม่ดีแน่ ๆ ทำให้หลังจาก ตอนที่ 23 ตีพิมพ์ลงในโชเนนจัมป์ ฉบับเดือน ตุลาคม 2004 อ.อารากิ ก็ตัดสินใจที่จะทำการ "Soft-Reboot" เรื่องราวของ SBR ใหม่ และย้ายจากโชเนนจัมป์ รายสัปดาห์ ไปสู่ Ultra Jump รายเดือนแทน เพื่อเป็นการปรับวิธีการเล่าเรื่อง และวิธีการทำงานของตัวเองใหม่หมด ปรับ Mindset จากบรรยากาศเดิม ๆ ของโชเนนจัมป์ ใปหาผู้อ่านกลุ่มใหม่ ๆ นอกเหนือจากกลุ่มคนอ่านโชเนนมังงะ

    หลังจากการหายไป 6 เดือน SBR ก็กลับมาอีกครั้งบน Ultra Jump พร้อมกับไอเดียในการเล่าเรื่องใหม่ และถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างมากครับ เพราะการปรับ Main Plot ในครั้งนี้ มันทำให้ SBR กลับมาได้อย่างเกรียงไกร ทำให้มังงะได้รับเสียงชื่นชมมาจนถึงปัจจุบัน พลิกจากมังงะพล็อตซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไปเป็นมังงะพล็อตเรื่องเข้มข้น เส้นเรื่องแปลกใหม่และคาดเดาได้ยาก และที่สำคัญ "แนวคิดอันยิ่งใหญ่ที่เหนือกว่าทุก ๆ ความคาดหวังของทุกคน!"


    Rise Again: กลับมาผงาดอีกครั้งได้อย่างเต็มภาคภูมิ

    เหตุผล 2 ข้อ ที่บอกได้ว่า เพราะอะไร SBR ถึงสามารถกลับมาได้อย่างแข็งแรงและสง่างามได้ตั้งแต่ต้นจนจบ มีดังนี้ครับ..

    1) Main Plot ที่ชัดเจนและแข็งแรงมากขึ้น มีแก่นของเรื่องที่น่าสนใจมากกว่าเดิม

    จากพล็อตเรื่องง่าย ๆ เกี่ยวกับการต่อสู้กับผู้ก่อการ้าย กลายเป็นการเปิดพล็อตเกี่ยวกับ จุดประสงค์ที่แท้จริงขงการแข้งขันสตีลบอลรันเรซ ในการตามรวบรวม "ซากศพศักดิ์สิทธิ์" ที่กระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งทวีปอเมริกา เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง โดยมี รัฐบาลอเมริกา อยู่เบื้องหลัง ..มันเป็นพล็อตที่ดูง่าย ๆ ตามสูตร เกี่ยวกับการเดินทางเพื่อรวบรวมไอเท็มอะไรซักอย่าง แต่ด้วยเรื่องราวที่สามารถเชื่อมโยงและผูกเข้ากับแนวคิดอื่น ๆ ได้มากมาย ทำให้พล็อตตามหาซากศพ กลายเป็น Main Plot ที่แข็งแรงกว่าในช่วงแรกอย่างมาก เพราะพล็อตตามล่าซากศพ นำไปสู่รายละเอียดของเรื่องราวที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง แถมยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากันกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์จริง ๆ ของอเมริกา ได้อย่างแข็งแรง และไม่ได้ทำให้เรื่องราวที่กำลังเดินไปข้างหน้า ต้องติดอยู่กับสูตรสำเร็จเดิม ๆ เพียงแต่อย่างเดียวเท่านั้น

    2) เรื่องราวที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เชื่อมโยงกับ Main Plot ในช่วงแรกได้อย่างแนบเนียน

    ในการ Soft-Reboot ครั้งนี้คือ มันไม่ได้ทิ้งพล็อตเดิมในช่วงแรกไปโดยสิ้นเชิง พล็อตเรื่องของไจโร่ที่วางไว้ในตอนแรก ยังอยู่ แต่ถูกเล่าใหม่ ตีความใหม่ มองเรื่องราวในมุมใหม่ กลายเป็นการเล่าเรื่องในสไตล์หักมุม สู่การตั้งคำถาม ต่อทางเลือก และเส้นทางที่ตัวละครตั้งใจจะก้าวเดินว่า "สิ่งที่เราเลือกในตอนแรก มันถูกต้องแล้วหรือ?" แทนที่จะเป็นพล็อตสไตล์โชเนน ที่ตัวเอกยึดมั่นในเป้าหมายของตนอย่างไม่มีสั่นคลอน กลายเป็นว่า ตัวเอกต้องมาเผชิญกับความเป็นจริงของชีวิต ที่สร้างความสั่นคลอนให้กับความเชื่อของพวกเขาอย่างรุนแรง

    มันทำให้เรื่องราวของ SBR มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ตัวละครไม่ได้มาเป็นกลุ่มเพื่อนตั้งตี้ฮาเฮ ตามสูตรโชเนน แต่เป็นการถ่ายทอดตัวละคร ที่มีมิติด้านความคิด ที่แตกต่างกัน ในหลาย ๆ มุมมอง ตามเรื่องราวที่ดำเนินไป ไม่ติดอยู่กับแค่แนวคิดของตัวเองเพียงมุมเดียว ทั้งความทะเยอทะยานของ ดิเอโก้ แบรนโด, ความรู้สึกผิดบาปของ ฮ็อต แพนท์ส, หัวใจไร้เดียงสาที่ต้องไปอยู่ท่ามกลางความฉ้อฉลของ ลูซี่ สตีล, การถูกหลอกใช้ความฝันของ สตีเฟ่น สตีล, หรือแม้แต่แนวคิดการ "หยิบผ้าเช็ดปาก" ของ ฟันนี่ วาเลนไทน์

    ถ้าเป็นภาคก่อน ๆ เราคงจะไม่ได้ใส่ใจใน motive ของตัวละครแวดล้อมอื่น ๆ มากนัก เนื่องจากพล็อตมันต้องเกาะกับตัวละครหลักไว้ก่อน เรื่องราว background ของพวกตัวละครรอง ๆ มันเลยไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญ แต่ SBR มีพื้นที่มากพอ ที่จะสามารถนำเสนอเรื่องราว ในมุมอื่นได้มากกว่าเดิม

    เมื่อได้เส้นเรื่องหลักที่แข็งแรงมั่นคง ทำให้ SBR สามารถเล่าเรื่องได้น่าสนใจและ flow ไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบ และเป็นเหตุผลใหญ่ ๆ ที่ทำให้แฟน ๆ ชื่นชอบเนื้อเรื่องของมังงะภาคนี้ มาจนถึงตอนนี้ ..ผมเชื่อว่าแฟน ๆ SBR หลายคน คงลืมไปแล้วว่า พล็อตในช่วงรวมเล่ม 4 เล่มแรกของ SBR มันมีอะไรบ้าง ..แต่เรื่องราวตั้งแต่เล่ม 5 จนถึงเล่ม 24 เล่มสุดท้าย คือเส้นทางสุดเข้มข้นและเต็มไปด้วยความพีค ในแบบที่แฟน ๆ SBR จะประทับใจไม่มีทางลืมแน่นอน


    Toward to the right path: มุ่งสู่เส้นทางที่ถูกต้อง

    การเริ่มต้นอย่างขลุกขลัก ก่อนจะกลับมาอย่างสง่างาม ของ SBR สะท้อนถึงอะไร? อย่างหนึ่งที่เราสามารถมองให้เป็น case study ได้อย่างชัดเจนเลยก็คือ "ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก" และ "ทุก ๆ เรื่องราว สมควรได้รับโอกาสครั้งที่ 2" เสมอ.. ในตอนแรก มันอาจจะยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อมุมมองของคนอ่าน กระแสความนิยมที่เปลี่ยนไปในหมู่มวลชน อาจจะทำให้มันถูกชื่นชมในแง่ที่มันไม่เคยถูกชมมาก่อนก็เป็นได้ และสุดท้าย "กาลเวลา" จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์คุณค่าของมันในระยะยาวเอง.. 

    เช่นเดียวกับ Steel Ball Run ที่สามารถสร้าง "หมุดหมาย" สำคัญ ขึ้นมาในหัวใจของโจโจ้แฟนได้สำเร็จ ในทุกวันนี้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in