เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สาระที่ดองจนออกดอกChadang
รีวิว กล้าที่จะถูกเกลียด


  • กล้าที่จะถูกเกลียด
    ผู้เขียน คิชิมิ อิชิโร และ โคะกะ ฟุมิทะเกะ
    สำนักพิมพ์ WE LEARN



    คำถามก่อนอ่าน 

    1.ทำไมถึงหยิบ กล้าที่จะถูกเกลียด ขึ้นมา

    - จำได้ว่า ระบายเรื่องบางอย่างกับเพื่อนสนิท แล้วเขาก็แนะนำว่า อ่านดูนะ หลังจากนั้น หนังสือเล่มนี้ก็ถูกดองแล้วดองอีก อ่านก็ไม่จบสักที...สามปีผ่านไป ในที่สุดก็อ่านจนจบ...อาจจะเพราะจังหวะ เวลา และอะไรหลาย ๆ อย่าง เลยรู้สึกว่าการได้มาอ่านหนังสือเล่มนี้ ในช่วงเวลานี้ มันเหมาะสมแล้ว เพราะถ้าอ่านก่อนหน้านี้ ไม่แน่ เราอ่าจจะไม่เข้าใจมันได้ทั้งหมด ดังนั้นอยากแนะนำเล็ก ๆ ว่าตอนอ่าน อย่ารีบร้อน นะคะ ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทบทวนไปพร้อม ๆ กับตัวละครชายหนุ่ม ที่นำพวกเราไปพบนักปรัชญา เพื่อหาคำตอบของปัญหาชีวิตเขา ซึ่งนั่นอาจะเป็นปัญหาชีวิตเดียวกับที่พวกเราอาจพบเจออยู่ก็ได้

    2. หนังสือเล่มนี้บอกอะไรถึงน่าอ่าน
    - ถ้าให้สรุปสั้น ๆ คือ...ถ้าเบื่อแล้วกับการทำตามความคาดหวังของใคร หรือมองหาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำอยู่มันคือสิ่งที่อยากทำจริงไหม และต้องการอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง เล่มนี้มีแนวคิดที่น่าสนใจ ให้ได้หยิบมาเรียนรู้และทบทวนค่ะ


    ความรู้สึกหลังอ่าน

            กล้าที่จะถูกเกลียด เป็นหนังสือแนวปรัชญา-จิตวิทยา ที่บอกเล่าผ่านตัวละครสองตัวสนทนากัน โดยเป็นบทสนทนาถาม และตอบ ทำให้สามารถขบคิด และทำความเข้าใจไปพร้อมกับตัวละครที่นำเรื่องได้ง่าย 
             คำถามหลัก ๆ ที่ถูกไล่ลำดับเพื่อให้เราอ่านไปพบคำตอบคือ 

    เราจะเปลี่ยนตัวเองได้อย่างไร

           และคำตอบเป็นคำที่ง่ายแต่ทำยากอย่าง 

                                                            จงปลุกความกล้าในตัวคุณ

          แน่นนอนว่านักเขียนไม่ได้แค่ถามมาตอบไปเท่านั้น เขาได้ยกตัวอย่าง และบอกวิธีการเอาไว้ในเล่มแล้ว โดยวิธียึด และถูกนำเสนอเป็น แนวคิดและทฤษฎีของนักจิตวิทยาแนวปัจเจกบุคคลอย่างแอดเลอร์ ซึ่งเป็นแนวคิดตรงข้ามกับแนวคิดและทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์อย่างมาก เช่น

    หากฟรอยด์กล่าวว่า แผลใจส่งผลให้ตัวตนของเราเป็นอย่างปัจจุบัน
    แอดเลอร์ก็ได้กล่าวว่า ไม่ใช่เลย นั่นเป็นสิ่งที่เราหลอกตัวเอง 

    สิ่งสำคัญไม่ใช่อดีต ให้เราได้รับอะไรมา จนเป็นตัวเรา
    แต่เราต้องมองว่าตัวเราวันนี้ วินาทีนี้ มีอะไรอยู่บ้าง และสามารถจะนำไปใช้อะไรต่อไปได้ 

    เราจะเป็นคนแบบไหน ให้นิยามชีวิตได้ว่าอย่างไร

    ‘ตัวเรา’ เท่านั้นที่เป็นคนกำหนด

          สำหรับเราถือว่านักเขียนได้ย่อยสิ่งต่าง ๆ ไว้อย่างดีเลยค่ะ เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ และน่าปรับมาใช้กับชีวิตประจำวัน แน่นอนว่านี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายแนวคิดที่ตัวเรานำไปใช้ได้ อาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่รู้สึกคุ้มค่าที่ได้รู้ค่ะ

         ส่วนเล่มสองของหนังสือกล้าที่จะถูกเกลียด จะมีคำถามแบบไหนที่ตัวละครชายหนุ่มนำกลับมาถามนักปรัชญาหลังนำแนวคิดนี้ออกไปปฏิบัติ หากมีโอกาสอ่าน (จบ) เราคงได้นำมาเล่าค่ะ


    ภาพปกจาก b2s
    By Chadang

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in