เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Amazing ThailandTeeraphat Janejai
การละเล่นจริง
  • สมัยที่เราเรียนประถมกัน ช่วงพักเที่ยง หลังจากที่เรากินข้าวเสร็จแล้ว ก็ถือเป็นเวลาของกิจกรรมการละเล่นต่างๆ ถ้าไม่นับการละเล่นกลุ่มกีฬาอย่างฟุตบอล บาสเก็ตบอล แชร์บอล แบดมินตัน

    กิจกรรมที่เราคุ้นเคยและน้อมนำมาเล่นกันอยู่เสมอๆ ก็คงไม่พ้นการละเล่นไทยที่สุดแสนคลาสสิก มีทั้งจากยุคเก่ากลางใหม่ มีทั้งแบบออริจินัล และแบบอะแด๊ปให้เข้ากับสภาพแวดล้อม 

    แต่ไม่น่าเชื่อนะครับว่าการละเล่นสมัยเด็กๆ ที่เราก็เล่นเรียกเหง่ื่อกับเพื่อนไปวันๆ นั้น แท้จริงแล้วมันมีเบื้องลึกเบื้องหลังอยู่ 

    เพราะเมื่อผมโตขึ้น ได้เจอเหตุการณ์ต่างๆ พฤติกรรมจากผู้คนมากหน้าหลายตา ผมกลับพบภาพซ้อนทับกับตอนที่ผมเป็นเด็กที่ยังเล่นเกมพวกนั้นเมื่อตอนพักเที่ยงของทุกวัน 

    ...หรือว่าจะมีองค์กรลับแบบอิลูมิเนติที่คิดค้นเกมพวกนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นแบบฝึกหัดลากเส้นต่อจุดเพื่อให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ในตอนที่เราโตก็ได้ 

    เราที่เป็นเราอยู่ตอนนี้อาจไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเรา เพราะเราถูกควบคุมตั้งแต่เริ่มต้นเล่นแปะแข็งวิ่งไล่จับครั้งแรกแล้ว

    (คนอ่าน : ...กูไปซักผ้าต่อดีกว่า มึงพูดเหี้ยอะไรของมึงงงง)

    จ..ใจเย็นครับ จะเข้าเรื่องแล้ว 

    ไล่เรียงกันไปทีละเกมนะครับ แล้วมาดูว่าคุณเห็นความเชื่อมโยงแบบที่ผมเห็นหรือเปล่า

    (หมายเหตุ - ชื่อเกมยึดตามความทรงจำน้อยๆ ของผมในวัยเด็กนะ ถ้าไม่ตรงกับของคุณก็เรื่องของคุณ, อ้าว..) 


    บอลลูนด่าน


    แบ่งเป็นสองทีม ทีมหนึ่งเป็นด่าน อีกทีมก็ต้องแหกด่าน โดยใช้เส้นรอยต่อบนแผ่นปูนหรือจะเอาอิฐมอญมาตีเส้นบนถนนก็ได้ แล้วแต่ภูมิประเทศในพื้นที่นั้น

    อีทีมแหกด่านก็ต้องวิ่งไปจนถึงด่านสุดท้าย แล้วก็วิ่งกลับมาที่จุดเริ่มต้น โดยห้ามโดนอีทีมที่เป็นด่าน ซึ่งยืนประจำบนเส้นและเคลื่อนที่ได้เฉพาะบนเส้นเอามือฟาดโดนตัว 

    คือ จริงๆ มันแค่แปะตัวอีกฝ่ายเกมก็จบแล้ว แต่เด็กๆ ส่วนใหญ่กลัวว่าจะแตะโดนนิดหน่อยจะไม่เอกฉันท์ พวกเลยซัดหลังเพื่อนดังๆ จะได้ไม่ต้องขอดูภาพช้ารีเพลย์ (มันมีกล้องด้วยมั้ง) 

    (อนึ่ง เกมนี้มีหลายเวอร์ชั่น เช่น บอลลูนจังหวัด บอลลูนนู้น บอลลูนนี่ แต่วิธีการเล่นจะคล้ายกัน เพียงมีการกำหนดตัวอักษรภาษาไทยหนึ่งตัว ซึ่งจะใช้เป็นโค้ดลับในการผ่านแต่ละด่าน เช่น ก. ถ้าเป็นบอลลูนจังหวัดก็ต้องหาชื่อจังหวัดที่ขึ้นต้นด้วย ก.) 


    (อสอง - ซึ่งหนูๆ ก็ไม่ควรกำหนดตัวอักษรจำพวก ฑ. มณโฑ ฮ.นกฮูก เพราะอาจโดนอีทีมแหกด่าน เปลี่ยนมาแหกหน้าหนูๆ แทน) 

    แต่กลับไม่เห็นมีใครบอกเลยว่าตอนโตจะยังมีบอลลูนด่านให้เล่นอยู่ทั่วประเทศ จำนวนคนเล่นไม่จำกัด ทีมด่านก็เยอะ แถมมีชุดยูนิฟอร์มทีมเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีด้วย ทีมแหกด่านก็เยอะนะ แต่ก็มีทั้งที่แหกได้ แหกไม่ได้ 

    พวกแหกไม่ได้นี่รู้สึกว่าเขาจะมีรถกระบะรับตัวไปไหนก็ไม่รู้...  

    แล้วนึกจะเล่นก็เล่นแบบไม่บอกกล่าวด้วยนะ ต้องระมัดระวังตัวเอง 

    กฏกติกา จะว่าคล้ายกับที่เล่นตอนเด็กก็ไม่เชิง เพราะบางด่านก็แค่กั้นหลอกๆ ส่องไฟฉายเฉยๆ บางด่านถ้าจะผ่านไปได้ก็ต้องโชว์ใบขับขี่ บางด่านก็ต้องเป่า บางด่านรถยนต์ผ่านได้เลยแต่มอไซค์โดนรวบ 

    บางด่านก็ไม่รู้ยังไง เห็นทีมแหกด่านพับกระดาษเล็กๆ ใส่มือทีมด่านก็ผ่านได้เลย

    แต่ที่ไม่เหมือนกับตอนเด็กๆ ก็คือ ทีมด่านกับทีมแหกด่านไม่เคยสลับฝั่งเล่นบ้างเลย แบบนี้จะสนุกได้ไงเนอะ 


    มอญซ่อนผ้า

    จับกลุ่มสัก 4-5 คน นั่งหันหน้าเข้าหาวง มีมอญยืนถือผ้าเช็ดหน้าอยู่รอบนอกวง 1 คน (คนไทยก็เล่นได้ ไม่ต้องเป็นมอญ) (คนอ่าน - กูรู้โว้ยยย)

    นั่นแหละ ก็ร้องเพลงมอญซ่อนผ้ากันไป ระหว่างนั้นเจ้ามอญน้อยก็เดินไปรอบๆ วง แล้วก็เนียนๆ ทิ้งผ้าเช็ดหน้าไว้ที่ด้านหลังใครสักคน ถ้าเดินจนครบรอบแล้วอีนั่นไม่รู้ ก็หยิบผ้าเช็ดหน้านั้นมารัดคอแม่งเลย.. อ่ะ ไม่ต้องขนาดนั้นเนอะ แค่หยิบมาตีหลังเพื่อน ก็ถือว่าอีคนนั้นต้องมาเป็นมอญถือผ้าแทน 

    แต่ถ้ารู้ตัว คนที่นั่งก็ต้องลุกออกจากวง หยิบผ้าเช็ดหน้าไล่ฟาดมอญ คนที่เป็นมอญก็ต้องวิ่งหนีรอบวงแหวนรอบนอกตะวันออก หนีไปทางถนนกาญจนภิเษก 

    แล้วก็วิ่งตรงไปจนถึงอยุธยาแวะกินกุ้งเผาไปเลยโว้ยยยยย ไม่ต้องไปไกลขนาดนั้นครับ แค่วิ่งรอบวงแล้วมานั่งแทนที่อีคนนั้นก็เป็นอันจบเกม 

    ทีนี้พอมาเล่นตอนโต บางคนอาจจะจำกติกาและวิธีเล่นเลอะเลือนไปบ้าง เพราะเวลาไปเล่นในร้านอาหาร ร้านเหล้า หรือในผับ นั่งเป็นวงอยู่ด้วยกันดีๆ พอน้องมอญที่เป็นเด็กเสิร์ฟวางใบเสร็จที่หน้าเราเท่านั้นแหละ 

    "เฮ้ย เดี๋ยวกูขอไปเข้าห้องน้ำแปปนึงนะ" พวกเล่นลุกออกจากวงหมดเลย 

    มึงเล่นกันเป็นป่ะเนี่ย 


    โบราณเรียกชื่อ, โมราเรียกชื่อ หรือ โอฬารเรียกชื่อ

    ไม่ว่าจะใช้ชื่อไหนก็เล่นเหมือนกันนั่นแหละ ใช้ลูกปิงปองเป็นอุปกรณ์หลัก วิธีเล่นก็คือ คนที่ถือลูกปิงปองจะโยนลูกปิงปองขึ้นไปเหนือศรีษะพร้อมกับเรียกชื่อคนใดคนหนึ่งในวง 

    ไอคนที่ถูกเรียกก็ต้องวิ่งมารับลูกปิงปองให้ทัน โดยอณุญาตให้ลูกปิงปองตกถึงพื้นได้ไม่เกิน 2 หรือ 3 ครั้งตามแต่กำหนด 

    ถ้ารับทัน ก็เรียกคนต่อไป แต่ถ้ารับไม่ทันก็ต้องขึ้นแท่น (บางที่ต้องรับไม่ทัน 3 ครั้งถึงจะขึ้นแท่น) 

    จุดไคลแมกซ์ของเกมนี้ก็คือช่วงขึ้นแท่นนี่แหละ โดยคนที่ขึ้นแท่นต้องยืนหันหน้าเข้ากำแพงหรือต้นไม้ใดๆ เท้าชิด ขาชิด 

    ส่วนอีเพื่อนที่เล่นด้วยกันทั้งหมด ก็ยืนต่อแถวยิ้มเยาะเตรียมประหารคนขึ้นแท่นด้วยการปาลูกปิงปองด้วยความเร็วและรุนแรงประหนึ่งเป็นพิชเชอร์คนละหนึ่งครั้งถ้วน (พิชเชอร์ คือ คนที่เป็นผู้ปาลูกในกีฬาเบสบอล) 

    ซึ่งผลที่เกิดขึ้นกับคนที่โดนขึ้นแท่นคือ ขาเป็นดวงกลมจ้ำๆ แสบชิบหาย

    แต่แค่แสบขาคงไม่สาสมกับความผิด (ผิดอะไรวะ แค่รับลูกปิงปองไม่ทัน...) ก็ยังมีการเพิ่มกฏอีก 

    "ลอดห้า คาสิบ กระดุกกระดิกพันห้า หันมาด่าแก้ผ้า" แปลเป็นไทยคือ ถ้าปาลูกปิงปองลอดขาไปได้ เพิ่มอีก 5 ที ถ้าลูกปิงปองไปคาอยู่ตรงระหว่างขาได้เพิ่มเป็น 10 ที ถ้าอีคนขึ้นแท่นกระดุกกระดิกหลุกหลิกคิดหนี เพิ่มเป็น 1,500 ครั้ง (แม่งไม่ต้องเรียนคาบบ่ายเลยมั้งกว่าจะปาครบ) 

    และถ้ามีการหันมาด่าเพราะเจ็บปวด จะโดนจับแก้ผ้า... ซึ่งตั้งแต่เล่นมาก็ยังไม่เคยเห็นช็อตนั้นสักที 

    ด้วยความที่เป็นเกมยอดนิยมในยุค 90 ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเฟสบุ๊กส่วนมากเติบโตมาด้วยกฏกติกาและการลงโทษแบบนี้ 

    อย่างที่เห็นในโซเชียลหลายๆ ครั้งว่าคนบางคนก็ไม่ได้ทำผิดร้ายแรงอะไร (ผิดจริงๆ หรือเปล่าก็ไม่รู้) แต่กลับถูกจับขึ้นแท่นประจาน มีคนมารอประหารนับหมื่นนับแสน แต่สิ่งที่ทุกคนถือนั้นไม่ใช่ลูกปิงปอง 

    แต่เป็นความเห็น คำพูด คำด่าที่พร้อมจะทำให้ชีวิตของผู้ที่อยู่บนแท่นนั้นเจ็บปวดเสียยิ่งกว่าโดนลูกปิงปองปาใส่น่องร้อยล้านเท่า 

    ซึ่งน่าเสียดายที่เราให้ความเคารพกับกฏที่ว่า 'ห้ามกระดุกกระดิก ห้ามหันมาด่ากลับ' มากกว่านึกถึงใจเพื่อนร่วมโลกที่ยืนอยู่บนแท่น

    จนทำให้เขาไม่มีโอกาสแม้แต่จะหันมาขอโทษหรือแก้ต่างความผิดให้ตัวเองเลย


    แม้ว่าเขาจะไม่ได้อยากเล่นเกมนี้มาตั้งแต่แรกก็ตาม 















Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in