ปรมาจารย์ลัทธิมาร (陈情令) ภาพยนตร์ชุดธีมพีเรียดจีน เล่าเรื่องราวชีวิตของปรมาจารย์ ‘เว่ยอู๋เซี่ยน’ ผู้ที่สูญเสียพลังวิทยายุทธ์ทำให้ต้องหันหน้าเข้าฝึกฝนวิชามาร วิชาซึ่งสังคมประณามว่าเป็นวิชานอกรีต เพื่อปกป้องคนสำคัญ ชั่วชีวิตหนึ่งเขาเผชิญกับเสียงติฉินนินทา ผู้คนใส่ร้ายมากมาย บ้างต้องการกำจัดเขาเพราะคิดว่าเขาเป็นอันตรายต่อยุทธภพ ท่ามกลางมรสุมชีวิตจากการที่ครอบครัวและคนรอบกายหันหลังให้ สหายต่างสำนัก ‘หลานวั่งจี’ ผู้เคยเป็นอริกันกลับยืนอยู่ข้างๆเขาเสมอมา
เพลง 无羁 (ไร้พันธนาการ) เป็นเพลงประกอบ (OST-original soundtrack) เรื่องปรมาจารย์ลัทธิมาร (陈情令) ร้องคู่ duet โดยนักแสดงที่รับบทตัวละครเอกสองคน (เซียวจ้าน-หวังอี้ป๋อ) โดยบทเพลงขับขานเรื่องราวของมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างหลานวั่งจีและเว่ยอู๋เซี่ยน ที่ไม่ถูกพันธนาการ ด้วยข้อจำกัดทางสถานะ สังคม หน้าที่หรือเพศ สอดคล้องกับชื่อเพลง ตัวเอกทั้งสองใช้เพลงนี้เป็นเพลงแทนใจ นอกจากตัวเอกทั้งสองและผู้ชมแล้ว ไม่มีใครรู้จัก เคยฟัง หรือเข้าใจความหมายแฝงที่อยู่ในเนื้อเพลง
ในภาพยนตร์ เว่ยอู๋เซี่ยนมีเครื่องดนตรีประจำตัวเป็นขลุ่ย หลานวั่งจีใช้ฉินบรรเลงเพลงนี้ร่วมกัน องค์ประกอบด้านดนตรี ความหมาย ภาพประกอบใน Music video ลงตัวไร้ที่ติ สะท้อนเอกลักษณ์ของยุคสมัยจีนโบราณ ในเนื้อหาส่วนภาพยนตร์เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครผ่านดนตรีขลุ่ยและฉินอยู่แล้ว ดังนั้นเพลงนี้เป็นบทเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีประเภทดังกล่าวบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเรื่อง เปิดตัวด้วยรสชาติของความทุกข์ที่เว่ยอู๋เซี่ยนต้องเผชิญ ‘ท่วงทำนองอันแสนระทมของเสียงขลุ่ยดังแว่วมา’ ดนตรีประกอบอ้อยอิ่ง เป็นทำนองช้าเร้าอารมณ์โศก และค่อยๆเร่งจังหวะขึ้น เข้มข้นขึ้น เนื้อเพลงเริ่มแฝงการให้กำลังใจ เสมือนการได้มีหลานวั่งจีอยู่เป็นเพื่อนยามเจอความทุกข์ ผ่านความเป็นความตายไปด้วยกัน ‘ไม่ว่าอยู่ที่ใด ก็จะร่วมขับขานบทเพลงไปด้วยกัน’ เห็นได้ว่าเว่ยอู๋เซี่ยนเผชิญความลำบากมามาก จากที่เขาฝึนฝนวิชามาร จนไม่ได้รับการยอมรับจากคนในยุทธจักร เป็นที่มาของท่อน ‘ถูกหรือผิดล้วนเป็นอดีต’ ‘คำสรรเสริญและกล่าวหา สิ่งที่ได้มาและสูญเสียไป จะวัดได้อย่างไร’ มาจากที่หลานวั่งจีถามอาของตนผู้เป็นเจ้าของสำนักว่า ‘โลกนี้ถูกหรือผิด ขาวหรือดำ วัดจากที่ไหน’ สื่อถึงความในใจของหลานวั่งจีที่มองเห็นความดีในตัวเว่ยอู๋เซี่ยน ปักใจไม่เชื่อว่าลัทธิมารเป็นรีตที่ผิด ไม่ถือสาสิ่งที่อีกฝ่ายเคยทำพลาด ไม่ยึดติด สะท้อนตัวตนที่มั่นคงในมิตรภาพ นำ้เสียงของนักร้องแฝงไปด้วยความหนักแน่น สื่อความหมายว่าทั้งหลานวั่งจีและเว่ยอู๋เซี่ยนรู้สึกมั่นใจและแน่วแน่ที่จะก้าวไปข้างหน้า แม้จะต้องพบเจอกับอุปสรรคใดๆ ก็ไม่หวั่นใจ หากทั้งคู่ยังมีกันและกัน
มิตรภาพที่แน่นแฟ้นของเพื่อนทั้งสองคน ที่ถึงแม้จะยืนอยู่กันคนละฝั่ง (เซียน-มาร) ไม่ว่าจะเจออุปสรรคใดๆ ก็พร้อมที่จะเข้าใจและปกป้องอีกฝ่ายเสมอนั้น ตราตรึงใจผู้ชม ให้แง่คิดเรื่องมิตรภาพที่เป็นอมตะทุกยุคทุกสมัย ในเพลงมีการใช้เครื่องดนตรีผสมผสาน แต่เน้นใช้ขลุ่ย พิณ เปียโนคลอไปเรื่อยๆตลอดเพลง เน้นที่เครื่องสาย ปรากฏวงสตริงเล่นคลอพื้นหลัง เสียงเครื่องดนตรีจีนที่เป็นเอกลักษณ์ยิ่งทำให้ผู้ฟังเข้าถึงความรู้สึกของตัวละครเซียนในยุทธภพ หลานวั่งจีและเว่ยอู๋เซี่ยนมักจะบรรเลงเพลงนี้เสมอเมื่อนึกถึงกันและกัน อาทิเช่น ฉากแรกที่หลานวั่งจีเริ่มบรรเลงบทเพลงนี้ คือ ฉากที่ทั้งสองคนได้ติดอยู่ในถ้ำด้วยกัน และเว่ยอู๋เซี่ยนช่วยเหลือหลานวั่งจีที่บาดเจ็บและเป็นเพราะเว่ยอู๋เซี่ยนเป็นคนจิตใจดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้หลานวั่งจีเกิดความรู้สึกดีๆและอยากเป็นเพื่อนกับเขา และฉากสุดท้ายที่บทเพลงนี้บรรเลงขึ้น คือ ตอนจบที่ทั้งสองต้องแยกไปตามทางของตัวเอง เนื้อเพลงสะท้อนให้เห็นถึงการร่วมทุกข์ร่วมสุขและร่วมฝ่าอุปสรรคที่เข้ามาไปด้วยกันของตัวละครทั้งสอง เมื่อได้ยินเพลงนี้ ณ ที่ใด ทั้งคู่ก็จะมีความหวังว่าจะได้กลับมาเจออีกคร้ัง ซ้ำแล้วการเปิดเพลงประกอบนี้ในภาพสุดท้ายก่อนปิดเรื่องที่ตัวละครได้กลับมาพบกันอีกครั้งทำให้ผู้ชมรู้สึกโล่งใจที่เรื่องราวทั้งหมดจบลงด้วยดี อีกทั้งเว่ยอู๋เซี่ยนได้เป่าขลุ่ยเป็นทำนองจากบทเพลงนี้ในช่วงแรกของภาพยนตร์ยามนึกถึงช่วงเวลาต่างๆที่เคยมีร่วมกันกับหลานวั่งจี เมื่อผู้ชมได้รับฟังบทเพลงนี้ประกอบไปกับฉากในเรื่อง ทำให้เรามีเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครทั้งสองที่มีอย่างลึกซึ้งมากขึ้น
กล่าวได้ว่า บทเพลง 无羁 หากเปรียบก็เปรียบเหมือนผู้นำสารที่ถ่ายทอดรสชาติสุขเคล้าทุกข์ของตัวละครออกมาในรูปแบบของเสียงเพลงมาถ่ายทอดสู่ประสาทสัมผัสของผู้ฟัง เป็นส่วนประกอบของภาพยนตร์ที่ขาดไปไม่ได้ ผู้ชมเมื่อนึกถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของพวกเขาก็จะคิดถึงท่วงทำนองของเพลงนี้ขึ้นมาอย่างเสียไม่ได้ ไม่ใช่แค่หลานวั่งจีและเว่ยอู๋เซี่ยน ที่หวนรำลึกถึงความทรงจำดีๆในเรื่องเมื่อบรรเลงเพลงนี้ ผู้ชมที่คอยลุ้นเรื่องราวอยู่ที่หน้าจอ ก็จดจำเรื่องราวดีๆ ทุกครั้งที่ได้ยินเพลงไร้พันธนาการนี้เช่นกัน ว่าแล้วก็เปิดทีวีแล้วร่วมกัน ‘ต้มกาสุราแห่งทุกข์สุขของช่วงชีวิตและความตาย เซ่นแก่ช่วงเวลาอันเยาว์วัย’ ไปพร้อมกันเถอะ
Spider-Man: Into the Spider-Verse เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันซุปเปอร์ฮีโร่จากค่าย Sony ที่เข้าฉายเมื่อปี 2018 สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้แตกต่างจากภาพยนตร์แอนิเมชันซุปเปอร์ฮีโร่เรื่องอื่น ๆ และเป็นที่ชื่นชอบของนักวิจารณ์ถึงขนาดชนะรางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมจากหลายงานประกาศรางวัลด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Golden Globe Awards, Critics' Choice Awards หรือแม้กระทั่ง Academy Awards หรือรางวัลออสการ์ คือการออกแบบและกำกับภาพที่ใช้สไตล์เหมือนหนังสือการ์ตูนแบบตะวันตก ประกอบกับซาวนด์แทร็กอันเป็นเอกลักษณ์ เราจะยกตัวอย่างฉากฉากหนึ่งจากในภาพยนตร์มาเพื่อวิเคราะห์ว่า ทำไมภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ถึงเป็นที่พูดถึงและได้รับการยกย่องจากผู้ชมทั่วโลกขนาดนี้ ซึ่งฉากที่จะกล่าวถึงอาจเรียกว่าเป็นฉากไคลแมกซ์ของเรื่องเลยก็ว่าได้
ก่อนจะเข้าสู่การวิเคราะห์ เรามาพูดถึง Background ย่อ ๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้กันก่อน ตัวละครหลักของเรื่องเป็นเด็กชายอายุ 15 ปีชาวลาตินที่มีเชื้อสายแอฟริกัน ชื่อว่าไมลส์ โมราเลส ไมลส์เป็นเด็กนักเรียนธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในจักรวาลเดียวกันกับสไปเดอร์แมน จนกระทั่งวันหนึ่งสไปเดอร์แมนได้เสียชีวิตลง ทางฝั่งไมลส์เองก็ได้ถูกแมงมุมตัวหนึ่งกัดเข้าทำให้ไมลส์มีพลังพิเศษ ไมลส์จึงได้กลายเป็นสไปเดอร์แมนคนต่อไป พื้นหลังของตัวละครไมลส์นี้เองที่เกี่ยวเนื่องกับซาวนด์แทร็กของภาพยนตร์ ซาวนด์แทร็กทุกเพลงจากภาพยนตร์เรื่องนี้จัดอยู่ในแนวเพลงฮิป-ฮอป เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่เรื่องอื่นแล้วเรียกได้ว่าแปลกมาก เพราะไม่เคยมีภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่เรื่องใดใช้ซาวนด์แทร็กเป็นเพลงฮิป-ฮอปล้วนมาก่อน (ยกเว้นภาพยนตร์เรื่อง Black Panther ที่เข้าฉายเมื่อปีเดียวกัน ซึ่งมีตัวละครหลักมีเชื้อสายแอฟริกันเช่นเดียวกัน) ปกติแล้วเรามักจะได้ยินซาวนด์แทร็กที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกฮึกเหิม อลังการ น่าเกรงขาม โดยใช้เครื่องเป่าผสมกับเครื่องสายมากกว่า ส่วนสาเหตุที่เรากล่าวว่าพื้นหลังของไมลส์มีความสำคัญต่อซาวนด์แทร็กของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เพราะว่า เพลงแนวฮิป-ฮอปนั้นแต่เดิมแล้วถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่อาซัยอยู่ในมหานครนิวยอร์กในยุค 1970 (และนิวยอร์กก็เป็นเซ็ตติ้งหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้เช่นกัน) การใช้เพลงแนวฮิป-ฮอปล้วนในภาพยนตร์ที่มีตัวละครหลักเป็นคนเชื้อสายแอฟริกันจึงถือได้ว่าเป็นการเคารพเจ้าของดั้งเดิมของแนวเพลงดังกล่าว โดยสลัดภาพซาวนด์แทร็กภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่แบบเดิมไปเสียจนหมด ความกล้าที่จะแตกต่างนี้เองที่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการชื่นชมอย่างมากจากทั้งนักวิจารณ์และผู้ชมทั่วไป นอกจากนี้เพลงฮิป-ฮอปยังสื่อถึงความกระตือรือร้นของตัวละครไมลส์ซึ่งยังถือได้ว่าเป็นวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่งอยู่ โดยซาวนด์แทร็กของภาพยนตร์เรื่อง Spider-Man: Into the Spider-Verse ได้ศิลปินที่เชี่ยวชาญด้านเพลงฮิป-ฮอปอยู่แล้วมาร่วมร้องและแต่งเพลงประกอบให้ถึง 13 เพลงด้วยกัน
เพลงที่เราเลือกที่จะมานำวิเคราะห์วันนี้ไม่ใช่เพลงที่ดังที่สุดอย่าง Sunflower ของศิลปิน Post Malone และ Swae Lee แต่เป็นเพลง What’s Up Danger ที่ใช้ประกอบฉากสำคัญอย่างฉากกระโดดจากตึกสูงของไมลส์ที่เป็นตัวละครหลัก ที่ขณะนั้นได้เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อก้าวสู่การเป็นฮีโร่อย่างเต็มรูปแบบ เราจะมาอธิบายกันให้ได้ทราบว่า นอกเหนือจากการเป็นเพลงประกอบฉากฉากหนึ่งในภาพยนตร์แล้ว เพลง What’s Up Danger มีบทบาทสำคัญอย่างไรและซ่อนความหมายอะไรที่เกี่ยวข้องกับฉากดังกล่าวไว้บ้าง
อย่างแรกที่เราสังเกตได้จากเพลงในฉากเปิดตัวสไปเดอร์แมนจากแต่ละมิติคือทุกแต่ละสไปเดอร์แมนจะมีเพลงประกอบที่เข้ากับคาแร็คเตอร์ของตัวละครนั้น ๆ อย่างเช่น สไปเดอร์แฮมที่มาจากโลกการ์ตูนจะเปิดตัวด้วยเสียงเพลงสนุกสนานตามแบบของการ์ตูน สไปเดอร์แมนนัวร์จากโลกฟิล์มนัวร์ก็มีเสียงเพลงเปิดตัวเป็นเพลงแจ็ส เป็นต้น ในส่วนของตัวละครหลักอย่างไมลส์ก็เช่นกัน ในฉากหลังจากการตัดสินใจครั้งใหญ่และนำไปสู่การเปิดตัวก้าวสู่การเป็นฮีโร่อย่างเต็มตัวของไมลส์มีการใช้เพลง What’s Up Danger จากศิลปิน Blackway และ Black Caviar ที่เป็นเพลงฮิป-ฮอป แนวเพลงที่พัฒนาโดยคนแอฟริกัน-อเมริกันมาใช้ประกอบ เพลง What’s Up Danger ที่ถูกนำมาใช้ในฉากดังกล่าวนี้ เป็นเพลงแนวฮิป-ฮอปที่มีจังหวะหนักแน่น มีการใช้ดนตรีสังเคราะห์ต่าง ๆ มาสร้างสรรค์เป็นเพลง โดยเฉพาะ Synthetic base กับ Synthetic drum ที่เพิ่มความดุดันของเพลงมากขึ้นไปอีก ทำให้นอกจากเพลงจะมีความเป็นฮิป-ฮอปแล้วยังสามารถรักษากลิ่นอายของความแข็งแกร่งตามแบบฉบับเพลงประกอบภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ไว้ได้ด้วย
จุดเด่นที่การที่ภาพยนตร์เรื่อง Spider-Man: Into the Spider-Verse ปฏิเสธที่จะใช้เพลงจากวงสตริงหรือออเคสตร้าที่นิยมนำมาใช้สำหรับภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ทั่วไป แล้วเลือกนำเพลงแนวฮิป-ฮอปอย่าง What’s Up Danger มาใช้เป็นหนึ่งใน Theme Song หลักของเรื่องก็เป็นเพราะความต้องการที่จะเชื่อมโยงแนวเพลงให้เข้ากับตัวละครภายในเรื่อง อย่างที่เราทราบกันดีกว่า ไมลส์ ตัวละครหลักในเรื่องนี้เป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน การเลือกใช้เพลงแนวฮิป-ฮอปที่ริเริ่มด้วยชาวแอฟริกัน-อเมริกันจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะทำให้ผู้ชมเข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังของตัวละครมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการเน้นย้ำความเป็นตัวตนของตัวละครโดยไม่ต้องนำเสนอผ่านเรื่องราวในภาพยนตร์ แต่แสดงออกอย่างแนบเนียนผ่านการใช้เพลงแนวที่ตัวละครหลักมีความเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่งนั่นเอง นอกจากนี้แล้ว ประวัติศาสตร์ของเพลงแนวฮิป-ฮอปนั้นยังถือกำเนิดขึ้นในมหานครนิวยอร์กซึ่งตรงกับเมืองที่เป็นเซ็ตติ้งหลักของภาพยนตร์เรื่อง Spider-Man: Into the Spider-Verse อีกด้วย ตรงนี้ยิ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ของตัวละครกับเพลงที่นำมาใช้ประกอบภาพยนตร์ด้วยว่าเพลงนี้สามารถบ่งบอกความเป็นมาของตัวละครได้อย่างคร่าว ๆ โดยไม่ต้องใช้วิธีที่ซับซ้อนมากมายเลย
นอกจากลักษณะของแนวเพลงที่มีความโดดเด่นและแตกต่างของเพลง What’s Up Danger ในฐานะหนึ่งในเพลงหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วนั้น เนื้อเพลงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เพลงนี้ควรค่าขึ้นไปอีกสำหรับการเป็นเพลงประกอบฉากที่เรียกได้ว่าสำคัญที่สุดของเรื่องอย่างฉากที่ไมลส์ทิ้งตัวจากตึกสูงและก้าวสู่การเป็นสไปเดอร์แมนครั้งแรก ฉากดังกล่าวนี้มีความสอดคล้องกับเนื้อเพลงในหลาย ๆ ด้าน
“'Cause I like high chances that I might lose (lose)
I like it all on the edge just like you, ayy
I like tall buildings so I can leap off of 'em
I go hard wit' it no matter how dark it is”
เนื้อเพลงนี้กล่าวถึงความรู้สึกที่กล้าได้กล้าเสีย แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงแค่ไหนก็ตาม สังเกตว่ามีการพูดถึงการกระโจนออกจากตึกสูงในเนื้อเพลงนี้ด้วย ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของเพลงและฉากในเรื่อง ร่วมถึงเนื้อเพลงที่กล่าวเกี่ยวกับความกล้าที่จะเสี่ยงก็ตรงกับความรู้สึกของไมลส์ในฉากดังกล่าวเช่นกัน เพราะฉากนี้เป็นฉากแรกที่ไมลส์ต้องการทดสอบความสามารถและความพร้อมของตนเองในการที่จะเป็นสไปเดอร์แมน และเลือกที่จะขึ้นมาเสี่ยงชีวิตด้วยการกระโดดตึกสูงโดยไม่เคยทดสอบความสามารถของตนที่ไหนมาก่อน ไมลส์มุ่งมั่นที่จะดึงศักยภาพของตนเองออกมาให้ได้ในสถานการณ์ที่คับขันที่สุดอย่างการกระโดดตึกในครั้งแรกของการใส่ชุดสไปเดอร์แมน และเขาสามารถทำได้ในท้ายที่สุด
“Like, what's up, danger? (Danger)
Like, what's up, danger? (Danger)
D-don't be a stranger
What's up, danger?”
ท่อนเพลงด้านบนนี้เป็นท่อนที่มีการร้องซ้ำ ๆ ตลอดทั้งเพลง เนื้อเพลงกล่าวถึงการทักทายความอันตราย และบอกอีกว่าอย่าเป็นคนแปลกหน้ากันเลย เนื้อเพลงในที่นี้กล่าวแทนความรู้สึกของไมลส์ว่าเขาต้องการเข้าใกล้ความอันตรายและความเสี่ยงให้มากขึ้น ต้องการที่จะคุ้นเคยและรู้จักกับมัน ไมลส์เลือกที่จะเผชิญหน้ากับความอันตรายซึ่งต่างจากคนทั่วไปที่ปกติแล้วมักจะหลีกหนีสถานการณ์ที่อันตราย แต่ไมลส์ต่างจากคนทั่วไปด้วยความรับผิดชอบในหน้าที่ฮีโร่ของเขา นอกจากนี้แล้วการใช้คำพูดทักทายความอันตรายในที่นี้ยังบอกได้อีกว่าตัวไมลส์เองก็ไม่ได้คุ้นเคยกับความอันตรายมามากนัก เขาก็กำลังเผชิญหน้ากับมันเป็นครั้งแรกเช่นกัน และยังสามารถตีความได้อีกว่าการที่ไมลส์ทักทายความอันตรายที่เป็นสิ่งนามธรรม ไม่ใช่คนจริง ๆ เป็นเพราะแท้จริงภายในใจของไมลส์เองเพราะไม่ได้คุ้นกับสถานการณ์ที่อันตรายแบบนี้เลยต้องการพูดอะไรบางอย่างให้เหมือนกับว่าความอันตรายนั้นเป็นเพื่อน หรือเป็นบุคคลที่เขาสามารถทำความรู้จักสนิทสนมด้วยได้เพื่อลดความกังวลในใจของเขานั่นเอง
เพลง Everytime ประกอบซีรีส์เกาหลีเรื่อง Descendants of the sun ขับร้องโดย Chen วง exo และ Punch โดยที่ในบทเพลงมีเสียงของchen เป็นหลัก โดยที่ Punch เป็นเสียงคอรัส จังหวะและทำนองของเพลงค่อนข้างเร็วและสนุก เมื่อฟังแล้วทำให้รู้สึกมีความสุขไปกับบทเพลงที่ฟังสบายๆ
เนื้อเรื่องของเรื่อง Descendant of the Sun เกี่ยวกับว่าพระเอกเป็นทหารที่เก่งและมีความสามารถมาก และนางเอกเป็นหมอชื่อดัง ทั้งสองต้องไปประจำอยู่ที่ประเทศอุรุก ที่กำลังมีสงครามอยู่ เนื้อเพลงจึงสื่อถึงความรู้สึกของยูชีจินที่มีต่อคังโมยอน จากเนื้อเรื่องที่ยูชีจินรับบทเป็นทหาร อยากปกป้องคังโมยอนจากอันตรายที่เกิดขึ้นที่อุรุก จากที่เนื้อเพลงท่อนที่ร้องว่า 세상 끝이라도 (เซซัง คือทีราโด) ผมอยากจะคอยปกป้องคุณ 지켜주고 싶은 너 (ชีคยอจูโก ชีบึน นอ) จนกว่าโลกจะสลายไป สื่อให้เห็นถึงความรักของยูชีจินที่มีต่อคังโมยอน หรือเนื่อเพลงที่ร้องว่า 날 떠나지 말아요 (นัล ตอนาจี มาราโย) อย่าทิ้งผมไปไหนเลยนะ 가끔은 알 수 없는 미래라 해도 (คากือมึน อัล ซู ออบนึน มีแรรา แฮโด) ถ้าหากเราไม่สามารถเห็นอนาคตได้ 날 믿고 기다려줄래요 (นัล มิดโก คีดารยอจุลแรโย) คุณจะเชื่อใจและรอผมใช่มั้ย สื่อให้เห็นว่ายูชีจินต้องการบอกให้คังโมยอนอดทนรอตนกลับมา เพราะว่างานของยูชีจินมีความอันตราย ไม่แน่นอน และเป็นความลับ ทำให้บางครั้งอาจหายไปโดยไม่ได้บอกกล่าว
โดยเพลงนี้จะถูกหยิบขึ้นมาใช้ในฉากที่พระเอกกับนางเอกอยู่ในสถานการณ์ที่ผ่อนคลายขึ้น หลังจากที่พึ่งผ่านเรื่องราวที่หนักๆมา บางครั้งอาจจะยกมาแค่ทำนองของเพลงก็ได้ เช่นตอนที่คังโมยอนและยูซีจินต้องกระโดดลงทะเลจากหน้าผา แล้วคังโมยอนไม่ได้สติจากการจมน้ำ ยูซีจินช่วยให้คังโมยอนฟื้นขึ้นมา พอคังโมยอนได้สติ เพลงจึงเปิดคลอขึ้นมาเพื่อสื่อว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว
ภาพยนตร์เรื่อง Call Me by Your Name เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการพบกันของเอลิโอ (Elio) หนุ่มน้อยวัย 17 ที่ต้องยกห้องนอนของตนให้กับโอลิเวอร์ (Oliver) นักศึกษาปริญญาเอกชาวอเมริกันที่ต้องมาอาศัยอยู่กับครอบครัวของเอลิโอตลอดช่วงฤดูร้อนนั้น ท่ามกลางฉากหลังคือเมืองอิตาลีในปี 1983
Call Me by Your Name ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่หยิบยกบรรยากาศฤดูร้อนมาเป็นฤดูแห่งรัก หนังได้ใช้ไออุ่นแดดมาช่วยฉายภาพวัยเยาว์อันสดใสและความรักที่สุกงอม ให้ฤดูร้อนนั้นกลายเป็นฤดูร้อนที่ยากจะลืมเลือน ชวนให้คนดูตกหลุมรัก หนังค่อย ๆ แสดงให้คนดูได้เห็น ถึงตัวละครทั้งสองที่ค่อย ๆ ตกเข้าไปอยู่ในภวังค์แห่งรักซึ่งกันและกัน ชโลมให้ทุกอณูของเรื่องเต็มไปด้วยแรงปรารถนา ราวต้องมนตร์สะกด
หลายครั้งที่เหตุการณ์ในภาพยนตร์ไม่ได้เล่าถึงเหตุผลหรือจุดคลี่คลายของเหตุการณ์นั้น ๆ แต่เลือกที่จะเผยให้คนดูได้เห็นเพียงฉากสั้น ๆ หลาย ๆ ฉากที่ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่ฉากเหล่านี้นี่เองที่เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่มาต่อเล่าเรื่องราวของคนสองคนตั้งแต่ตอนที่เพิ่งเริ่มรู้จักกัน ลองหยั่งเชิงกันไปมา โกรธเคืองกันด้วยความไม่เข้าใจ ค่อย ๆ เปิดเผยความรู้สึกภายในใจต่อกันทีละน้อย ไปจนถึงการตกหลุมรักจนหมดหัวใจ
แต่ Call Me by Your Name ก็หาได้เป็นเพียงหนังรักที่หวานเคลิ้มชวนชื่นใจไม่ เพราะฤดูกาลย่อมมีการเปลี่ยนผันไปตามความเป็นจริง มีเข้ามาและจากไป เช่นเดียวกันกับความรักของทั้งคู่ที่เมื่อถึงเวลาก็ต้องจบลงไปพร้อมกับช่วงเวลาฤดูร้อนในปีนั้น Call Me by Your Name จึงเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจที่มาเปิดโอกาสให้คนดูได้หวนระลึกถึงฤดูกาลรักแรกของตนเองอีกครั้ง ว่าถึงแม้มันจะทั้งหอมหวานและเจ็บปวด แต่เราก็ไม่ควรเร่งรีบที่จะลืมเลือนมันไป เพราะการลืมความเจ็บปวดที่มาจากรักเหล่านั้น ก็หมายถึงการลืมไปด้วยว่าหัวใจของเรานั้น รักเป็น
และหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญในการช่วยทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลมกล่อมขึ้นมาได้ก็คือบทเพลงประกอบภาพยนตร์ของ Sufjan Stevens นักแต่งเพลงชาวอเมริกันที่ได้สร้างสรรค์บทเพลงใหม่สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาถึงสองบทเพลง หนึ่งในนั้นคือ Visions of Gideon
เพลง Visions of Gideon ของ Sufjan Stevens นี้ได้เล่นบรรเลงขึ้นในฉากสุดท้ายของเรื่อง ตอนที่เอลิโอนั่งร้องไห้หน้าเตาผิงหลังจากคุยโทรศัพท์กับโอลิเวอร์และได้รับรู้ข่าวที่ทำให้รู้สึกใจสลาย เพลงบรรเลงขึ้นพร้อมกับ End Credits เหมือนเป็นการบอกลาจากเอลิโอต่อผู้ชม ต่อโอลิเวอร์ และต่อช่วงชีวิตหนึ่งของเอลิโอเอง โดยเป็นการถ่ายโคลสอัพใบหน้าของเอลิโอที่กำลังร้องไห้ ทำให้ผู้ชมสามารถเห็นใบหน้าสื่ออารมณ์ของเอลิโอได้ชัดเจน และสัมผัสถึงความเจ็บปวดของตัวละครได้มากขึ้น โดยมีเสียงไฟเผาไหม้จากเตาผิงคลอ ทำให้มีความสมจริงราวกับผู้ชมได้ไปนั่งอยู่ในฉากกับตัวละคร และเสียงไฟนี้เหมือนเป็นเสียงแตกสลายในใจของเอลิโอ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเสียงที่ชวนให้รู้สึกสงบเหมือนมีความอบอุ่นคอยปลอบประโลม ระหว่างที่กำลังร้องไห้ เอลิโอมีหลุดยิ้มบางคราวราวกับได้หวนนึกถึงความทรงจำเก่า ๆ ที่ทำให้มีความสุข เป็นช่วงเวลาที่เอลิโอและโอลิเวอร์ได้ใช้เวลาร่วมกันในช่วงฤดูร้อนปี 1983 นั้น
เนื้อเพลง Visions of Gideon มีการกล่าวถึงกิเดโอนหรือกิเดียน ชาวยิวซึ่งเป็นผู้ที่พระเจ้าให้หมายสำคัญในการนำทัพชาวอิสราเอลจำนวน 300 คนไปตีค่ายกองทัพของพวกมีเดียนที่มีจำนวนกว่าแสนคน เดิมทีกิเดโอนเป็นผู้ที่ไม่มีความกล้าหาญ พระเจ้าจึงได้มอบภาพนิมิตแสดงชัยชนะในการสู้รบ เพื่อเป็นการบอกให้เชื่อใจพระเจ้าและเป็นการเพิ่มความกล้าหาญให้กิเดียนมั่นใจว่าตนสามารถนำทัพชาวอิสราเอลไปรบและได้รับชัยชนะกลับมาได้ และท้ายที่สุดกิเดียนก็สามารถรบชนะ ปลดปล่อยชาวอิสราเอลจากการถูกกดขี่ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ชาวอิสราเอลได้จริง ๆ
นิมิตแห่งกิเดียนนี้ มีความเกี่ยวโยงกับเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ กล่าวคือ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อศาสนายิวของเอลิโอและโอลิเวอร์แล้ว ยังเป็นการเปรียบกิเดียนกับเอลิโอ เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความกล้าที่จะยอมรับความรู้สึกรักของเอลิโอที่มีต่อโอลิเวอร์ และเป็นการเอาชนะความสับสนในใจของตัวเอง เหมือนเป็นการทำตามความคิดความรู้สึกที่เปรียบเสมือนเป็นภาพนิมิตแห่งกิเดียน แม้การรักเพศเดียวกันในสมัยนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ทั้งสองคนก็ได้ใช้เวลาในช่วงสั้น ๆ ร่วมกันในการพัฒนาความสัมพันธ์ เป็นเหมือนความสุขหลังได้รับชัยชนะ และเมื่อเอลิโอเรียนรู้ที่จะยอมรับความรู้สึกรักของตนแล้วโอลิเวอร์ก็ได้จากไปพร้อมจุดจบของความรักในครั้งนี้ของทั้งคู่ การจากไปของโอลิเวอร์ก็คือการจากไปของความรักของเอลิโอเหมือนกับพระเจ้าของกิเดียนที่ไม่เคยกลับมาปรากฏให้กิเดียนเห็นอีกเลยหลังจากได้รับชัยชนะจากสงครามไปแล้ว
เนื้อเพลงที่กล่าวว่า Is it a video? สื่อถึงภาพในหัวของเอลิโอที่บันทึกความทรงจำในช่วงเวลานั้นไว้ ซึ่งเกิดขึ้นจริงและชัดเจนเหมือนเป็นภาพวิดีโอที่ถูกอัดเอาไว้ แต่ทำได้เพียงย้อนระลึกถึง ราวกับเปิดดูวิดีโอที่เก็บไว้ แต่ไม่สามารถสัมผัสได้จริงอีกแล้ว และยังยากที่จะลบออกไปเพราะชัดเจนมากในความทรงจำ การซ้ำท่อนนี้ยังสื่อถึงความสับสนในใจของเอลิโออีกด้วย เป็นความรู้สึกของเอลิโอที่มีขณะที่หวนระลึกถึงช่วงเวลาที่ได้ใช้ร่วมกันกับโอลิเวอร์ เป็นการตั้งคำถามว่าภาพเรื่องราวที่เห็นนั้นเป็นเพียงความทรงจำ (ที่บันทึกในรูปแบบของวิดีโอ) หรือเกิดขึ้นจริง ๆ เพราะความรู้สึกและบรรยากาศทุกอย่างนั้นเหมือนจริงเหลือเกิน เหมือนได้สัมผัสกับบรรยากาศในความทรงจำนั้นอีกครั้ง อีกแง่หนึ่งคือเป็นความสับสนของเอลิโอที่มีมากมายถึงขั้นที่คิดว่า แท้จริงแล้วเรื่องราวทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงภาพในหัวของเอลิโอที่คิดไปเอง เหมือน Visions of Gideon ที่ก็เป็นภาพนิมิตแห่งความฝันที่อยู่ในหัวของกิเดียน ซึ่งสื่อถึงความชัดเจนในความคิดแต่ไม่สามารถจับต้องได้เช่นกัน
เพลง Visions of Gideon นี้ บรรเลงด้วยเปียโนเป็นเครื่องดนตรีหลัก ในท่วงทำนองช้าที่มีความทุ้มนุ่ม แทรกเสียงสูงฟุ้ง ๆ ชวนเพ้อฝัน และมีเสียงทุ้มหนักเป็นจังหวะราวกับต้องการกดลงไปในใจของผู้ฟัง เสริมความรู้สึกหน่วงในอก ยิ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกเศร้าและมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละคร เนื้อเพลงมีความเรียบง่ายแต่สื่อถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี การที่เพลงบรรเลงไปพร้อมฉากจบนี้ เป็นการชวนให้ผู้ชมได้คิดตามเนื้อเพลง คิดตามตัวละคร ย้อนกลับไปถึงเรื่องราวต่าง ๆ ก่อนหน้านั้น และเมื่อได้ฟังเพลงอีกครั้งก็เหมือนเป็นการชวนให้ผู้ฟังได้หวนนึกกลับไปถึงความรู้สึกบีบหัวใจในตอนท้าย ไปจนถึงความทรงจำที่สวยงามและเรื่องราวรักครั้งแรกของเอลิโอในช่วงฤดูร้อนปี 1983
เอาล่ะ หลังจากที่ได้อ่านตัวอย่างการเลือกใช้เพลงประกอบให้เข้ากับตัวซีรีส์และภาพยนตร์แล้ว คงจะเห็นภาพกันชัดมากขึ้นนะคะว่ารายละเอียดต่าง ๆ ที่ถูกใส่เข้ามาในเพลงอย่างบรรจงล้วนแต่สื่อความหมายที่สอดคล้องกับเรื่องราวทั้งนั้นเลย คราวนี้เวลาเราดูซีรีส์หรือภาพยนตร์เรื่องไหน ลองตั้งใจฟังเพลงประกอบดี ๆ หรือลองตีความเนื้อเพลงดู ไม่แน่อาจจะทำให้ตกหลุมรักซีรีส์หรือภาพยนตร์เรื่องนั้นมากขึ้นไปอีกก็ได้นะ :-)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in