เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
คนบ้าอะไร .. คุยกับดอกไม้Yariiiinda Cafe
เพื่อนไม่ใหม่ ชื่อดอกผักพาย
  • สวัสดี..
    เธอชื่อ "ผักพาย" เหรอ ?
    ...
    ไม่ตอบ
    แต่คนกรุงเทพเขาเรียกเธอว่าอย่างนี้
    (กระซิบ) อย่าบอกใครนะ เราเรียกเธอว่า "ผักก้านจอง" มาตลอดเลย เพิ่งมารู้ว่าเธอชื่อนี้ตอนเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯนี่แหละ

    ตลกดีเนาะ .. เรารู้จักกันมาตั้งแต่เกิด แต่เหมือนไม่รู้จักกัน

    เราชอบกินขนมเส้น แล้วขนมเส้นที่เรากินทุกถ้วยก็จะมีกิ่ง-ก้าน-ใบ-ดอกของเธออยู่ หลายคนเขาไม่ชอบเธอ เขี่ยทิ้ง แต่เราชอบนะ

    แม่ชอบบอกว่าเราเป็นเด็กไม่กินผัก แม่แซะบ่อย ๆ ว่าเราจะกินไม่ได้เวลามีสำรับอาหารที่ประกอบด้วยผักเยอะ ๆ มันก็อาจจะจริงของเขา เพราะเรามักจะเขี่ยทิ้งเป็นส่วนใหญ่ แต่รู้ไหม เราไม่เคยเขี่ยเธอทิ้ง เธอก็เป็นผัก เรากินเธอ เราจะเป็นเด็กไม่กินผักได้ไง แม่น่ะเห็นเรามาตั้งแต่เกิด แต่ไม่รู้จักเราเลย!

    นึกย้อนกลับไปตอนเราเรียนอยู่ชั้น ป.๑ ครูเคยให้เราเรียนจากหนังสือนิทานเด็กที่ชื่อ "ฟักทองของหนูนิด" จำไม่ได้ว่ามันเป็นบทเรียนวิชาอะไร พอจำได้ราง ๆ ว่าเป็นนิทานที่สอนให้เด็กกินผัก ในเรื่องพูดถึงผักหลายอย่าง แล้วก็จำไม่ได้อีกนั่นแหละว่ามีผักอะไรบ้าง สิ่งที่เราจำได้เกี่ยวกับวิชานั้นคือ ภาระงาน ครูจะแจกกระดาษให้เด็กทุกคนลอกนิทานลงไปทั้งภาพและตัวหนังสือ ทีละหน้า ทีละหน้า ครูชมว่าเราเป็นคนเก่ง ครูให้เราเป็นผู้ช่วย มีหน้าที่ไปขยายนิทานขึ้นบนกระดานดำให้เพื่อน ๆ ได้ลอกตาม เรามีความสุขมาก ถึงแม้ว่าเราจะได้ทำงานที่ชิ้นใหญ่กว่าคนอื่น เพราะทำบนกระดานดำเสร็จ เราก็ต้องมานั่งลอกงานลงบนกระดาษของตัวเองอีกที แต่เราไม่เคยคิดน้อยใจที่ต้องทำงานมากกว่าคนอื่น เราภูมิใจด้วยซ้ำ

    ตอนนี้เรากลายมาเป็นครู ป.๑ ผอ.เขาบอกว่าเราเป็นคนเก่ง ทำอะไรได้หลายอย่าง เขาให้เรารับผิดชอบงานเยอะแยะไปหมด แต่ทำไม เราไม่เห็นจะภูมิใจเหมือนตอนเป็นนักเรียน ป.๑ เลย มันกลายเป็นความรู้สึกน้อยใจซะงั้น เราแอบคิดอยู่ตลอดว่าขณะที่คนอื่นได้ทำกันไม่กี่อย่าง งานเรากลับล้นมือไปหมด

    คำว่า "คนเก่ง" ตอนเป็นนักเรียน ป.๑ กับ ตอนเป็นครู ป.๑ ทำไมมันให้ความรู้สึกต่างกันจัง

    ดอกผักพาย : เขารู้ไหมว่าเธอน้อยใจ ?
    ฉัน : จะรู้ได้ไง เราไม่เคยพูด เราแค่แอบคิดอยู่ในใจ
    ดอกผักพาย : แล้วเราไม่พูด เขาจะรู้ จะเข้าใจได้ไงว่าเรารู้สึกนึกคิดอะไร
    ฉัน : เออ นั่นสิเนาะ เริ่มงงตัวเองแล้วเนี่ย
    ดอกผักพาย : ถ้าอยากให้เขารู้ ก็พูดสิ พูดออกไป บอกออกไปเลย
    ฉัน : หึ! ไม่เอา ไม่เคยพูดอะไรแบบนี้ ไม่ชอบพูด ไม่คิดจะพูดด้วย!!
    ดอกผักพาย : ก็เป็นซะอย่างนี้! พอเขาสั่ง เธอก็ทำ ไม่พูด ไม่บ่น ไม่ปฎิเสธ เขาก็เลยคิดว่าเธอยังภูมิใจแบบเดียวกับตอนเป็นเด็ก ป.๑
    ฉัน : โห ตอนนี้เราโตแล้วนะ ตอนนั้นเราภูมิใจแบบเด็ก ๆ ตอนนี้เราน้อยใจแบบคนโตแล้ว!
    ดอกผักพาย : มีด้วยเหรอ น้อยใจแบบคนโตแล้ว
    ฉัน : มีสิ ก็เห็นคนที่โตแล้วเขาบ่นน้อยใจฟ้า น้อยใจฝน น้อยใจโชคชะตาชีวิตกันเต็มไปหมด
    ดอกผักพาย : แหม คนเรานี่ ไม่น่าโตเลยเนาะ
    ฉัน : เรื่องแบบนี้มันห้ามกันไม่ได้ กินข้าวกินน้ำทุกวัน มันก็โตของมันเอง เป็นเรื่องธรรมดาที่เราบังคับให้มันเดินหน้า-ถอยหลังตามใจไม่ได้
    ดอกผักพาย : แต่เธอรู้ไหม มันมีบางอย่างที่เรา บังคับให้มันเดินหน้า-ถอยหลังตามใจได้
    ฉัน : ไหนว่ามาซิ
    ดอกผักพาย : ความคิดเราไง ถ้าแค่คิด ยังไม่ได้ทำอะไร เราจะเดินหน้า ถอยหลัง รีสตาร์ทใหม่สักกี่รอบก็ได้
    ฉัน : อืม แล้วไงต่อ (เริ่มพูดมากน่ารำคาญแล้วนะเธอเนี่ย)
    ดอกผักพาย : ถ้าตอนนี้ คิดแบบผู้ใหญ่แล้วมันไม่โอเค เธอรีสตาร์ทกลับไปคิดแบบเด็ก ป.๑ ใหม่ ดีไหม มันอาจจะโอเคขึ้น หรือถ้ามันยังไม่ทำให้ปัญหาเบาลง ก็กลับไปเริ่มมันตั้งแต่เป็นทารกที่เพิ่งออกจากท้องแม่โน่นเลย
    ฉัน : หือ.. ได้เหรอ?
    ดอกผักพาย : ได้สิ กลับไปทำเหมือนเราเป็นทารก อยากร้องก็ร้อง ไม่ต้องแคร์ว่าคนทั้งโรงพยาบาลเขาจะรำคาญ อยากได้อะไรก็คว้า ไม่ต้องกลัวว่าจะเจ็บมือ คิดอะไรก็พูดออกไป ให้เขารู้ เลิกขังตัวเองไว้ในมาดของผู้ใหญ่ มันจะได้เลิกคลุมเครือ
    ฉัน : นั่นสิเนาะ บางทีเราก็ชอบคิดว่า เราโตแล้ว คนโตแล้วไม่ควรพูดอย่างนั้น คนโตแล้วไม่ควรแสดงออกอย่างนี้ ปัญหามันอยู่ที่คำว่า 'มาดของผู้ใหญ่' นี่เอง ขอบคุณมากที่พูดคำนี้ออกมา อ้อ.. ขอโทษด้วยที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเธอชื่อผักพาย
    ดอกผักพาย : อันนี้ก็มาดผู้ใหญ่ที่ควรจะทิ้งได้แล้ว จะรู้เร็ว-รู้ช้าไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ต้องรู้สึกผิดกับทุกเรื่อง การที่เธอเพิ่งมารู้เรื่องบางเรื่องเอาตอนโตแล้วไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ต้องอาย
    ฉัน : โอเค โอเค

    มาดของผู้ใหญ่ นี่มันตัวปัญหาจริง ๆ เล้ย.. ทำให้เขาไม่รู้จักฉัน ทำให้เราไม่รู้จักกัน ทำให้ฉันไม่รู้จักตัวเอง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in