โตเกียวรอบที่ 5 ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน
ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ใกล้สถานีเมจิโระ
/
2 กันยายน, และต่อจากนี้อีก 11 เดือน 2 วัน
โตเกียว (อีกแล้ว) คือเมืองที่เราจะไปใช้ชีวิตอยู่เกือบ ๆ ปี เป็นครั้งแรกที่ไปอยู่คนเดียว เป็นครั้งแรกของชีวิตนักเรียนแลกเปลี่ยน แต่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้ไปที่นี่ ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสได้ไปซัมเมอร์แคมป์ ไปเที่ยวคนเดียว ไปเที่ยวกับเพื่อน และไปเรียนระยะสั้น 2 เดือน แน่นอนว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่จะได้ใช้เวลานานที่สุดในเมืองที่เราตกหลุมรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เขตที่เราได้มาอยู่คือเขตเนริมะ ได้ยินชื่อเป็นครั้งแรกก็ตอนอ่านนามบัตรของหอพักนี่แหละ พอลองไปค้น ๆ ดูก็พบว่าเป็นเขตที่น่าสนใจอยู่เมื่อกัน คร่าว ๆ ก็คือเขตนี้เป็นเขตที่
- อยู่ติดจังหวัดไซตามะ ใช้เวลานั่งรถไปไซตามะน้อยกว่านั่งรถเข้าม. แถมไปคาวาโกเอะแค่ 30 นาที เร็วกว่าเพื่อนที่อยู่จ.ไซตามะเองซะอีก
- มีพื้นที่สีเขียวติดอันดับท็อปของโตเกียว พื้นที่การเกษตรไม่เป็นรองใคร
- เขตที่อยู่อาศัย ประชากรเยอะเป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 23 เขต
- เขตเดียวกับบ้านโนบิตะ
- ทั้งเขตมีชาไข่มุกแค่ร้านเดียว
แน่นอนว่าภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติย่อมแตกต่างกัน พอเราได้มาสัมผัสจริง ๆ แล้วก็พบว่าแถวหอเราจะว่าเจริญก็ไม่ใช่ จะว่าห่างไกลก็ไม่เชิง พอเราลงจากรถไฟที่สถานีเฮวะได (Heiwadai - นั่งรถไฟใต้ดินสาย Fukutoshin/Yurakucho มาชานชลาเดียวกันแค่สลับกันมา) ก็จะเจอกับห้างที่เหมือนกับบางลำพูบางโพ แต่ยังเปิดทำการอยู่, ซุปเปอร์มาเก็ต, ร้านสหกรณ์ (จริง ๆ มันคือซุปเปอร์ที่ขายของถูกมาก ๆ) , ร้านอาหารญี่ปุ่น, ร้านอาหารจีน, ร้านอาหารครอบครัว (Family Restaurant) 2 ร้าน, Mos burger, ร้านขายเบนโตะ, ร้านข้าวหน้าเนื้อMatsuya, McDonald's, ร้านกาแฟ, ร้านหนังสือ, ร้านตัดแว่นและเครื่องช่วยฟัง, ร้านซักรีด 3 ร้าน, ร้าน 100 เยนCando, แผงขายหวย, ร้านปาจิงโกะ, ร้านขายหลอดไฟพานาโซนิค, Lawson, FamilyMart
โผล่ขึ้นมาจากสถานีปุ๊บก็จะเจอแบบนี้
ซึ่งทั้งหมดนี่อยู่ใกล้สถานีรถไฟ แต่ไม่ใกล้หอเราเลยแม้แต่น้อย ตอนมาถึงวันแรกเราก็เผลอดีใจจนได้มารู้ว่าสถานีที่ใกล้ที่สุด ไม่ได้แปลว่าจะอยู่ใกล้จริง ๆ
สรุปรวม ๆ เกี่ยวกับที่อยู่เราได้ว่า
- เดินจากสถานีไปหอใช้เวลาประมาณ 15 นาที 600-700 เมตร
- ร้านอาหารเยอะ ซุปเปอร์เยอะ ร้านสะดวกซื้อเยอะ แต่ทั้งหมดนี่ไม่ได้อยู่ใกล้หอ
- ระหว่างทางมีโรงเรียนประถม
- มีแปลงผัก
- มีโรงเลื่อยไม้
- มีกวดวิชา
- มีคลินิกทันตกรรม คลินิกตา คลินิกกระดูกและข้อ คลินิกหนูน้อย
- ที่ใกล้ที่สุดคือคลินิกอายุรกรรมตรงข้ามหอ (คั่นด้วยถนน 1 เลน เดิน 3 ก้าวถึง)
- และร้านจ่ายยาที่อยู่ติดรั้วข้าง ๆ
ทุกวันตอนเริ่มออกเดินทาง - บ้าน บ้าน บ้าน ไปเรื่อย ๆ
ทุ่งแห่งเนริมะ เปลี่ยนผักปลูกไปเรื่อย ๆ ตามแต่ละฤดู
มาพูดถึงมหาวิทยาลัยกันหน่อย
หลายคนถามว่าเรามาด้วยทุนอะไร จะว่าทุนก็ไม่เชิง เรายื่นเรื่องผ่านโครงการมหาวิทยาลัยคู่สัญญา ติดต่อทางฝ่ายที่ดูแลเรื่องไปแลกเปลี่ยนของมหาลัย (ตรงนี้เกรดเฉลี่ยสำคัญนะจ๊ะ) เขียนใบสมัคร รอทางญี่ปุ่นติดต่อมา แล้วก็เตรียมตัวไปได้เลย ไม่ยากแต่วัดใจว่าจะอดทนจนผ่านไปถึงขั้นตอนสุดท้ายได้ไหม อย่างตอนเรากว่าทางญี่ปุ่นจะติดต่อมาก็ปาไป 2-3 เดือนก่อนบิน ช้ากว่ามหาลัยอื่นพอสมควรเลย
ไหน ๆ ก็พูดถึงมหาลัยแล้ว ขอเล่าเกี่ยวกับมหาลัยญี่ปุ่นที่เราไปฝากเนื้อฝากตัวมาหน่อยก็แล้วกัน
เราเลือกไปมหาวิทยาลัย Gakushuin ซึ่งเป็น 1 ใน 6 มหาลัยเอกชนชั้นนำในโตเกียวที่เรียกกันว่า GMARCH อันประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัย Gakushuin (学習院大学), มหาวิทยาลัย Meiji (明治大学) , มหาวิทยาลัย Aoyama Gakuin (青山学院大学), มหาวิทยาลัย Rikkyo (立教大学), มหาวิทยาลัย Chuo (中央大学) และมหาวิทยาลัย Hosei (法政大学)
ที่นี่รู้สึกว่าจะมี 2 แคมปัส โดยแคมปัสเมจิโระที่เราไปอยู่คือแคมปัสหลัก ด้านในนอกจากมหาลัยแล้ว ยังมีโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม โรงเรียนม.ต้น-ม.ปลายชายล้วน สนามบอล สนามเทนนิส ลานซ้อมขี่ม้า พิพิธภัณฑ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย พื้นที่กว้างและร่มรื่นมากกกกกกกกกกกก ในมหาลัยปลูกต้นซากุระไว้เยอะ เราจะได้เห็นซากุระบานช่วงฤดูใบไม้ผลิและใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วงด้วย แฮปปี้สุด ๆ
ซากุระตรงหน้าประตูมหาลัยและป้ายโฆษณาชมรม (เดือน 4)
ต้นไม้โรยผงชีสหน้าตึกมินามิ1 (เดือน 11)
ใบไม้เหลืองระหว่างทางไปห้องสมุด (แต่ถ่ายเฉย ๆ ไม่ได้ไปห้องสมุด)
นอกจากสภาพแวดล้อมที่เริ่ดแล้ว อิมเมจของมหาลัยก็เริ่ดไม่แพ้กัน เพราะว่าที่นี่เป็นมหาลัยที่เหล่าราชวงศ์ญี่ปุ่นเข้ารับการศึกษากัน (เรามารู้เพราะเพื่อนมาบอกหลังจากเลือกมหาลัยไปแล้ว) ตอนนั้นก็เกร็ง ๆ คิดว่าจะต้องหรูหรา คุณหนูไฮโซ แล้วฉัน,ผู้พูดเคโกะ (敬語 - คำสุภาพ) ไม่ได้,จะทำยังไงดี พอได้มาจริง ๆ เลยรู้ว่าปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว นักศึกษาที่นี่เป็นคนธรรมดาทั่วไป คนญี่ปุ่นเขาเป็นคนยืนยันเองนะ แต่ก็แอบกระซิบมาว่าที่รวยจริงก็มี แต่ไม่ใช่พวกมหาลัยหรอก พวกเด็กอนุบาลต่างหาก ทำเอาเรานึกย้อนไปถึงตอนมาสำรวจมหาลัยครั้งแรก First impression กับเด็กอนุบาลที่นี่ก็คือ เราเดินสวนกับกลุ่มคุณแม่ที่มารับลูก แต่ละคนใส่ชุดสีดำทั้งตัวกับเครื่องประดับนิดหน่อย เน้นสร้อยมุก ถือกระเป๋าใบเล็ก ลุคภริยาทูตก็ว่าได้
ขอเล่าต่ออีกสักหน่อย ที่นี่มีคณะแค่ 5 คณะเท่านั้น ได้แก่ คณะอักษรศาสตร์ (文学部), คณะวิทยาศาสตร์ (理学部), คณะเศรษฐศาสตร์ (経済学部), คณะนิติศาสตร์ (法学部) และคณะอินเตอร์ International Social Sciences (国際社会学部) รวม ๆ แล้วจำนวนนักเรียนไม่มาก เช่นเดียวกับนักเรียนแลกเปลี่ยนที่จะมีเทอมละประมาณ 30-40 คน เน้นฝั่งยุโรปและจีน (ที่มาเรียนเอาปริญญา 4 ปี) เป็นส่วนใหญ่ มหาลัยน่ารัก เด็กนิสัยดี ครูมีคุณภาพ facilityแสนเริ่ด ที่สำคัญเรียนคาบละชั่วโมงครึ่งเท่านั้นเอง!!
ตึกชูโอ บ้านหลังที่ 2 - ห้องน้ำสะอาด มีทิชชู่ มีบันไดเลื่อน
ห้องเรียนที่เรารัก แสงธรรมชาติ และวิวป่ากลางกรุง
ศึกประชันคิ้วท์บอยระหว่าง Gakushuin U. vs Keio U. vs Tokyo U. ในงานโอเพ่นเฮ้าส์
วิชาเรียนที่เราเลือกในเทอมแรกจะมี ภาษาญี่ปุ่นสำหรับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งเขาจะแบ่งเป็น 3 เลเวลเท่านั้น ได้แก่ ระดับต้น (初級) ระดับกลาง (中級) และระดับสูง (上級) ประเมินด้วยข้อสอบของทางมหาลัยที่ให้ทำในวันปฐมนิเทศ เราไปถามเพื่อนที่อยู่มหาลัยอื่นแล้วพบว่าบางที่แบ่ง 6 เลเวล บางที่แบ่ง 8 เลเวล เรียกว่าเรียนกันเข้มข้นตรงจุดมาก ๆ ย้อนกลับมาที่กคชอ.ที่เรารักนั้น ใน 1 เลเวลจะแบ่งย่อยออกเป็น 4-5 วิชา แต่ละวิชาจะขึ้นอยู่กับเซนเซ (先生 - ครู) ว่าจะสอนอะไรบ้าง อย่างระดับสูงที่เราได้ (โปรดอย่าคิดว่าเราเก่ง) จะมี- วิชาอ่านจับใจความ - ใช้หนังสือที่มีบทความพูดถึงเรื่องสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เรียนศัพท์จากบทความ ไวยากรณ์นิดหน่อย มีให้ดูวิดีโอแล้วเติมคำในช่องว่าง คือมันหลากหลายมาก ๆ จนไม่รู้จะจำกัดความวิชานี้ว่ายังไง เอาเป็นว่าเซนเซน่ารัก ชอบมีขนมแจกและเม้าท์ก่อนเริ่มเรียน 30 นาที
- วิชาอ่าน - เซนเซจะหาบทความมาให้เราอ่านสัปดาห์ละเรื่อง และมีควิซคำศัพท์ในสัปดาห์ถัดไป เคยมีสัปดาห์นึงที่ในควิซมีคำถามว่า 'ก่อนเรียนนักเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่อง...ไหม' แล้วเราตอบไปว่า 'ไม่รู้' แล้วเซนเซให้ถูก งงมะ งง หรือจะเป็นคำถามของสัปดาห์ที่เรียนเรื่องไดโนเสาร์ว่า 'รู้จักภาพยนตร์หรือการ์ตูนเรื่องไหนบ้างที่มีไดโนเสาร์', สัปดาห์ที่เรียนเรื่องชื่อนามสกุลของชาวเยอรมันว่า 'ชื่อของนักเรียนมีความหมายว่าอะไร' หรือ 'ให้วาดรูปมังกรตามที่จินตนาการ' ของสัปดาห์ที่เรียนเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับมังกร
- วิชาพรีเซนท์ - ใน 1 เทอมเราจะต้องรับหน้าที่เป็นครู 1 ครั้ง โดยให้พรีเซนท์เรื่องอะไรก็ได้ 20 นาที เรื่องอะไรก็ได้ที่ว่านี่คือเรื่องอะไรก็ได้จริง ๆ บังเทิงมาก ๆ เพราะมีตั้งแต่เรื่องอุด้ง เกมจีบสาว สตรีทแดนซ์ นิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น ปัญหาขยะในจีน สัตว์อนุรักษ์ใกล้สูญพันธุ์ พงศาวดารอะไรสักอย่าง ไปจนถึงระบบการศึกษาในเยอรมนี ส่วนเราพรีเซนท์ภาษาไทย101 เสียงตอบรับดีเกินคาดมาก ๆ เพราะคนในห้องเล่นด้วย พูดแล้วก็ประทับใจ อ๋อ คนในคลาสนี้มี 22 คน เป็นคนจีน 18 ไต้หวัน 1 ฮ่องกง 1 ไทย 1 ออสฯ 1 และ 20 คนเป็นผู้ชาย เกร็งมากช่วยด้วย
- วิชาทำสรุป - วิชานี้เราชอบมากที่สุด เพราะเซนเซจะให้ดูคลิปข่าวและแจกสคริปต์ให้ จากนั้นเราต้องเขียนสรุปใจความสำคัญให้อ่านรู้เรื่องภายใน 2-3 นาที เรียนไปเป็นนักทำต้นฉบับเลกเชอร์ที่แท้จริง
(วิชาทำสรุป) งานแรก ๆ ยังไม่กล้าเขียนอะไรมาก - สรุปเนื้อหาบทสัมภาษณ์จากรายการทีวี
(วิชาทำสรุป) เทอมหลังก็จะเริ่มใส่ตาราง ลูกศรต่าง ๆ เพราะเซนเซบอกใส่เลย ยิ่งอ่านง่ายยิ่งดี
(วิชาพรีเซ้นท์) เทอมหลังเราทำเรื่องการทำนาย แล้วได้ใบคอมเมนท์จากเพื่อนในคลาส
แปลจากบนลงล่าง: ทำนาย / ทำนายให้หน่อยได้ไหมครับ?/ ลายมือของฉัน
นอกจากวิชาของเด็กแลกเปลี่ยน เราก็ได้ไปลงวิชาอื่น ๆ ร่วมกับเด็กญี่ปุ่นอีก 3 วิชา ก็คือวิชาหัวข้อต่าง ๆ เกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น วิชาภาษาอังกฤษอ่าน และวิชาภาษาอังกฤษพูด วิชาหัวข้อฯ เป็นอีกวิชาที่น่าประทับใจดี ในแต่ละสัปดาห์ครูที่สอนจะมาจากคนละสาขาวิชากัน เราจะได้เรียนตั้งแต่เรื่องภาษาศาสตร์อังกฤษ-ญี่ปุ่น เคมีเบื้องต้นคณิตศาสตร์สมัยใหม่ องค์กรไม่แสวงผลกำไร ปัญหาโรฮิงญา เขตการค้าเสรี ศิลปะจากหมึกและพู่กัน ฯลฯ ทั้งหมดเรียนเป็นภาษาอังกฤษโดยครูญี่ปุ่น และต้องส่งเปเปอร์ก่อนจบเทอม เป็นวิชางง ๆ ที่ไม่คาดคิดว่าจะได้มาเรียนที่นี่
เปเปอร์ที่นั่งปั่น 3 วันก่อนส่ง เรื่ององค์กรไม่แสวงผลกำไร กับ เปรียบเทียบภาษาศาสตร์
ส่วนวิชาภาษาอังกฤษ เราเรียนกับครูที่มาจากแคนาดา ครูน่ารักและช่วยเหลือดีมาก ๆ เทอมถัดมาเราเลยลงวิชาของเขาอีก และได้ลิ้มรสงานกลุ่มกับคนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก (พัง) ก่อนมาเราจะมีความคิดว่าคนญี่ปุ่นพูดภาษาอังกฤษฟังยาก แต่พอมาถึงก็พบว่าบางคนพูดเก่งกว่าเราอีก หลายคนไปแลกเปลี่ยนมา หลายคนไปอินเทิร์น อย่างมีเพื่อนคนนึงไปแลกเปลี่ยนที่แคนาดามา เราอยากรู้เหตุผลเลยถามว่าทำไมถึงเลือกไปแคนาดาล่ะ เขาบอกก็เพราะยังไม่เคยไปมาก่อน เออ ก็ง่ายดี ทีนี้เขาก็ถามเรากลับว่าทำไมถึงมาญี่ปุ่น เราก็บอกว่าเราเรียนภาษาญี่ปุ่นที่มหาลัย เขาก็ไม่เข้าใจสุด ๆ ว่าทำไมเลือกเรียนภาษาญีี่ปุ่นเพราะมันก็ใช้สื่อสารได้แค่ที่ญี่ปุ่นเท่านั้น (ดิฉันมาไกลเกินกว่าจะถอยแล้วค่ะ)
สไลด์คาบสุดท้ายก่อนจากกันของทีชเชอร์แสนน่ารัก
อีกวิชานึงที่ท้าทายสุด ๆ ก็คือวิชามาเก็ตติ้งตอนเทอม 2 ครั้งนี้เรียนเป็นภาษาญี่ปุ่นและโซโล่ สนุกสุด ๆ ไปเลย โชคดีที่เราเคยลงวิชาเลือกนี้ที่มหาลัยฝั่งไทยแล้วเลยพอถูไถไปได้ เราได้พบกับ Culture Shock อย่างนึงก็คือ ทันทีที่ครูถาม นักเรียนครึ่งห้องยกมือตอบ!!! เป็นภาพที่ไม่ได้เห็นแน่นอนในประเทศเรา ตอนแรกก็ว้าวสุด ๆ แต่มารู้ทีหลังว่าถ้าใครยกมือตอบจะได้การ์ดคะแนนที่ไว้เก็บเป็นคะแนนการมีส่วนร่วมในห้องก็เลยพอเข้าใจได้ แต่ก็ยังประทับใจไม่หายอยู่ดี
สิ่งที่เราชอบอีกอย่างคือ ที่มหาลัยนี้จะมีคาบ SA (Student Assistant) ให้กับเด็กแลกเปลี่ยน ครั้งละ1 ชั่วโมง สูงสุดไม่เกิน 2 ครั้ง/สัปดาห์ ทางศูนย์ภาษาเขาจะให้เด็กเอกภาษาและวรรณคดีญี่ปุ่น คณะอักษรฯ มาเป็นคนช่วยเราเรื่องการเรียนต่าง ๆ หรือว่าจะมาเม้าท์มอยเฉย ๆ ก็ได้ เทอมแรกเราได้เพื่อนคนนึงที่น่ารักมากและทำงานพาร์ทไทม์เยอะมาก ช่วยตรวจสคริปท์พรีเซ้นท์ หรือแม้แต่ช่วยหาที่เที่ยวก่อนเราไปเกียวโต ส่วนเทอมหลังเราได้เพื่อนคนใหม่มาช่วย เห็นว่าอยู่ชมรมคาบุกิ แถมยังเม้าท์เก่งสุด ๆ เด็กที่นี่ทุกคนที่เจอนิสัยดีกันหมดเลย
นอกจาก SA แล้วก็ยังมีกิจกรรมอีกเยอะแยะมากมายให้เด็กต่างชาติเข้าร่วม เช่น Chat room ที่ให้เด็กญี่ปุ่นมานั่งเม้าท์เล่น ๆ กับเราช่วงพัก, ทัศนศึกษาฟรี ไปเช้าเย็นกลับ, สัปดาห์เรียนรู้วัฒนธรรมต่าง ๆ อย่างชงชา พับกระดาษ เขียนพู่กัน และอื่น ๆ อีกเล็ก ๆ น้อย ๆ
มาสคอตของมหาลัยที่มาเดินโชว์ตัวช่วงสอบปลายภาค
บอร์ดประมวลรูปกิจกรรมเขียนพู่กัน - ผลงานเราด้านบนเหนือรูปภาพ อ่านว่า อามะเอบิ แปลว่า กุ้งหวาน
โดยรวมเราว่ามหาลัยของเราค่อนข้างมีอะไรให้ทำเยอะ มีโอกาสให้เจอกับเพื่อนญี่ปุ่น และช่วยให้เราลืมเรื่องเครียด ๆ จากชีวิตการศึกษาปีที่ผ่านมาไปได้อย่างดีมาก ๆ ถือเป็นที่ที่ทำให้เรากลับมามีแพชชั่นให้ภาษาญี่ปุ่นอีกครั้งเลยก็ว่าได้
ชีวิตในม.ก็ประมาณนี้ แล้วค่อยไปสำรวจโตเกียวกันหลังเลิกเรียน
/pc./
รับสมัครนักกีฬาพายเรือในงานแข่งเรือของม. นี่แหละช่องทางแจ้งเกิดของชิปเปอร์อย่างเรา
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in