จากวิกฤติการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันทำให้การใช้ชีวิตของทุกคนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งต้องมีการรักษาความสะอาดมากขึ้นกว่าเดิม ล้างมือบ่อยๆ ใส่แมสปิดปาก และทำ social-distancing ซึ่งทำให้การเดินทางไปซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้ากลายเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหรือลดลง เพื่อป้องกันการติดโรค บางส่วนต้องทำงานจากที่บ้าน (WFH)
ผลกระทบจากโรคโควิดนี้มีทั้งด้านบวกและลบ ในด้านลบนั้น มีหลายๆธุรกิจขาดทุนจากผลประกอบการที่ไม่เพียงพอ จนถึงกับต้องล้มเลิกกิจการไป หรือนักลงทุนในหุ้นที่ต้องพบกับตัวเลขสีแดงเป็นแถบในพอร์ตการลงทุน ส่วนในด้านดีนั้น โควิดนี่คงจะเป็นโอกาสเติบโตของหลายๆธุรกิจ อย่างธุรกิจออนไลน์ช็อปปิ้ง เดลิเวอรี่ส่งอาหาร ส่งพัสดุ อย่างเช่น shopee, lazada, grab
การมีเทคโนโลยี ช็อปปิ้งออนไลน์ จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด เพียงแค่เลือกสินค้า กดสั่งซื้อ รออยู่ที่บ้านและชำระเงิน ก็ได้รับสินค้าตามต้องการโดยไม่ต้องเดินทางไปพบปะผู้คนแล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้คนไทยเคยชินกับการซื้อสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้นจนกลายเป็น new normal
แอพพลิเคชั่นช็อปปิ้งอย่าง shopee หรือ Lazada ก็มียอดขายที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่เกิดโรคไวรัส รวมไปถึงร้านค้าเจ้าของธุรกิจก็ได้เพิ่มช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้าไปยังผู้บริโภคเพราะความจำเป็นจากการล็อคดาวน์ ไม่สามารถเปิดขายหน้าร้านได้ตามปกติ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการจำหน่ายสินค้าแบบ omnichannel ซึ่งคือการประสานทุกช่องทางการขายไว้ด้วยกัน ทั้งหน้าร้านแบบ offline เว็บไซต์ โทรศัพท์มือถือ และโซเชียลมีเดีย เป็นรูปแบบวิธีการใหม่และโอกาสที่จะเข้าถึงลูกค้าที่มากขึ้น อีกทั้งโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์นั้นสามารถเข้าถึงทุกที่ทุกเวลา 24 ชม. ลูกค้าได้รับประสบการณ์การซื้อสินค้าที่ประทับใจขึ้น สะดวกขึ้น สามารถเลือกได้ว่าจะใช้บริการผ่านช่องทางใด
จากข้อมูลของ TMB Analytics หรือศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ในช่วงสถานการณ์ covid-19 มีการประเมินมูลค่าของการค้าขายผ่านช่องทาง e-commerce ในปี 2563 เติบโตเพิ่มขึ้น 19% จากสถานการณ์ปกติที่ไม่มีโรคระบาดที่น่าจะมีการขยายตัวประมาณ 9% ธุรกิจที่แต่เดิมไม่ได้มีการปรับตัวมาอยู่บนโลกออนไลน์ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจเพื่อความอยู่รอดในช่วงสถานการณ์ covid-19 นี้
และจากผลสำรวจโดย Googletrend ในประเทศไทยมีผลการใช้คำค้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่สะท้อนความสนใจในการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงสถานการณ์ covid-19 เช่น สินค้าออนไลน์, ซื้อของออนไลน์, online delivery, online shopping
แต่ในความเป็นจริงการสั่งสินค้าออนไลน์ก็ไม่สามารถทดแทนการไปซื้อสินค้าเองที่ร้านค้าได้แบบ 100% เพราะผู้บริโภคจะไม่ได้เห็น ทดลองและสัมผัสสินค้าจริงจนกว่าจะสั่งซื้อและสินค้ามาส่งที่บ้าน ต้องตัดสินใจซื้อสินค้าจากรูปภาพและรายละเอียดที่มีในเว็บไซต์เพียงเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้บริโภคพบจากการสั่งสินค้าออนไลน์เช่นกัน โดยอ้างอิงจากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center - EIC) พบว่าการส่งสินค้าคืนผู้ขายในธุรกิจ e-commerce มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อัตราการคืนสินค้าเฉลี่ยประมาณ 30% โดยมาจากสาเหตุ เช่น สินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา ความผิดพลาดจากการสั่งซื้อสินค้าโดยไม่ได้ทดลองก่อน
อ่านเพิ่มเติม ..
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in