เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
RE:VIEVVน้ำนิ่งฯ
Kairo: เมื่อคนถูกโยกย้ายให้กลายเป็นผีเพราะความเดียวดาย
  •  

                ปลายศตวรรษที่ยี่สิบ คนทั่วโลกได้หวาดผวากับผีสาวผมยาวคลานจากจอโทรทัศน์ใน Ringu (1998, Hideo Nakata) จนทำให้กระแส J-Horror หรือภาพยนตร์สยองขวัญจากญี่ปุ่นได้รับความสนใจมากขึ้น ส่งผลให้ต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนี้เองนับว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญของประเทศญี่ปุ่นในการส่งออกภาพยนตร์แนวดังกล่าว ขณะเดียวกันก็เป็นยุคสมัยของการก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นผลให้ J-Horror มีการคาบเกี่ยวกันกับอุปกรณ์เทคโนโลยี อย่างใน Ringu เป็นคำสาปจากเทปวิดีโอคาสเซ็ตต์ หรืออย่างใน One Missed Call เป็นผีร้ายจากโทรศัพท์มือถือ

                ผลงานของผู้กำกับ Kiyoshi Kurosawa อย่าง Kairo ก็เป็นอีกเรื่องที่หยิบเอาเทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมาวิพากษ์ในแง่มุมที่ไม่เคยมี J-Horror เรื่องใดทำมาก่อน และเป็นภาพยนตร์ที่มีความหลากหลายในรูปแบบการนำเสนอที่ไม่เพียงจะเป็นเรื่องภูติผีแต่ยังผสมผสานแนวนิยายวิทยาศาสตร์และปรัชญาแบบปัจเจกชนนิยม (Individualism) สุดโต่ง

                ภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวสองเหตุการณ์ที่สุดท้ายแล้วมาบรรจบกัน เรื่องแรกเป็นเรื่องของ “มิชิ” หญิงสาวที่พบว่ามีบางอย่างผิดปกติกับเพื่อนรอบตัวของเธอ ส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องของชายหนุ่มที่ไม่สันทัดกับคอมพิวเตอร์ต้องพบกับเรื่องประหลาดเมื่อเขากำลังจะเชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ต

                แนวคิดปัจเจกชนนิยมแบบสุดโต่งว่าด้วยแท้จริงมนุษย์ตัดขาดออกจากกัน ไม่ใช่สัตว์สังคม ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันเลย ทุกสิ่งล้วนแล้วขึ้นกับตัวบุคคล ถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์ ส่งผลให้การออกแบบงานภาพและแสงชวนหดหู่ เวิ้งว้าง ด้วยการเว้นพื้นที่ว่างกับตัวละครหนึ่งตัวภายในหนึ่งเฟรม รวมไปถึงน้อยครั้งนักที่เราจะเห็นหรือได้ยินเสียงการพูดคุยกันเป็นหมู่คณะ ภาพที่ปรากฏส่วนใหญ่จึงเป็นภาพของตัวละครเดินไปไหนมาไหนเพียงไม่กี่คนโดยปราศจากการปฏิสัมพันธ์อย่างกลมเกลียว ถึงจะมีการปฏิสัมพันธ์ ตัวละครก็อิหลักอิเหลื่อในการพูดคุย เราจะไม่ได้เห็นความสนิทชิดเชื้อระหว่างความสัมพันธ์ของพวกเขาเลย



                ผี ในเรื่องถูกทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเดียวดายแปลกแยก ภาพยนตร์บอกกับเราผ่านการสนทนาของตัวละครหนึ่งว่า “อันที่จริงเราไม่เคยเชื่อมถึงกันได้เลย” กับ “ผีกับคนก็เหมือนกัน ต่างกันแค่ว่าเป็นหรือตาย” การมาของอินเทอร์เน็ตมีหน้าที่เชื่อมระหว่างบุคคลอย่างไร้พรมแดนแต่หลักความคิดที่ว่าคนไม่เคยเชื่อมถึงกัน เกิดมาตัวคนเดียวก็จำต้องตายด้วยตัวคนเดียว แข็งแรงมากเสียจนทำให้ตัวละครประสบความหวาดกลัวในการอยู่ตัวคนเดียว อีกทั้งเรายังสามารถอุปมาได้ว่าการหายตัวไปของคนค่อนประเทศท้ายเรื่องจนเหมือนเป็นโลกาวินาศนั้นคือผลข้างเคียงของอินเทอร์เน็ตที่ได้โยกย้ายการปฏิสัมพันธ์ของคนจากโลกความเป็นจริงไปสู่อีกโลกสมมติบนระบบคอมพิวเตอร์ที่คนสามารถจะเป็นใครหรือชื่ออะไรก็ได้ ทว่ายิ่งทำให้คนตัดขาดออกจากกันมากยิ่งขึ้นราวกับว่าเราดำรงอยู่กับ ผี

                ต่างคนต่างอยู่ แม้ว่าร่วมโต๊ะกันแต่เรากลับพูดคุยกันน้อยลง อินเทอร์เน็ตบังคับให้เราตัดปฏิสัมพันธ์จากโลกความจริงและหันไปสนใจกับโลกขนาดเท่าฝ่ามือ เราถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นผีร่อนเร่ไปมาในโลกไร้พรมแดน พูดคุยสนทนากันระหว่างบุคคลแต่ไม่ได้ผ่านตัวคนจริง ๆ

           Kairo เป็นผลงานภาพยนตร์สยองขวัญที่ไม่ได้จัดการกับคนดูด้วยการสร้างความน่ากลัวจากความอึกทึกครึกโครมหรือแรงอาฆาตของผีร้าย แต่เป็นการใช้ความน่าประหวั่นพรั่นพรึงจากการดำรงโดยตัวคนเดียว ความเป็นจริงที่ว่าเรานั้นเอกเทศและไม่มีทางที่จะเชื่อมถึงหากันได้เลย ไม่ว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีมาเอื้อให้กับเรามากเท่าใดก็ตาม


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in