เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
JJ’s Cambodian Culture Diaryjjjaypc
[บันทึกหน้า 12] พระทอง-นางนาค: มองนิทานพื้นบ้านคู่กับพิธีแต่งงาน
  • สัปดาห์นี้เป็นการนำเสนอโครงงานของแต่กลุ่ม กลุ่มเราทำสถาปัตยกรรมโคโลเนียลในพนมเปญ (หาข้อมูล 3 ภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส ไทย เลยทีเดียว) 


    แต่วันนี้เราไม่ได้มาบอกเล่างานของกลุ่มเรา แต่จะมาบอกเล่างานของสองกลุ่มที่เราได้ฟัง คือ บทบาทสตรีในนิทานพื้นบ้านเขมร กับ พิธีแต่งงานชาวกัมพูชา ซึ่งสิ่งที่สองกลุ่มนี้มีร่วมกันคือ ตำนานพระทอง-นางนาค


    กลุ่มแรกกล่าวถึงบทบาทของสตรีในนิทานพื้นบ้านเขมร แบ่งได้เป็น 3 บทบาท ได้แก่ 1.บทบาทในฐานะบุตรสาว 2.บทบาทในฐานะภรรยา 3.บทบาทในฐานะมารดา


    บทบาทของผู้หญิงในฐานะบุตรสาว แบ่งย่อยได้เป็น ผู้เคารพเชื่อฟังคำสั่งสอน ผู้ยึดถือพรหมจรรย์ ผู้เล่าเรียนเพื่อสืบทอดความเป็นกุลสตรี ผู้กตัญญูและตอบแทนบุญคุณ

    บทบาทของผู้หญิงในฐานะภรรยา แบ่งย่อยได้เป็น ผู้ปรนนิบัติ ผู้เคารพและเชื่อฟัง ผู้สนับสนุนส่งเสริมและให้คำปรึกษา ผู้จัดการทรัพย์สิน

    บทบาทของผู้หญิงในฐานะมารดา แบ่งย่อยได้เป็น ผู้ปกป้องดูแล ผู้อบรมสั่งสอนและเลี้ยงดูลูก ผู้เลือกคู่ครอง (สายธาร ทิมทับ, “บทบาทของผู้หญิงในนิทานพื้นบ้านเขมร”)


    สรุปได้ว่า บทบาทของผู้หญิงต้องขึ้นอยู่กับผู้อื่นและสังคมเสมอ เป็นลูกที่ดี เป็นเมียที่ดี เป็นแม่ที่ดี เพราะผู้หญิงมีบทบาทสำคัญที่สุดในสถาบันครอบครัว ผู้หญิงต้องเป็นกุลสตรี รู้งานบ้านงานเรือน เป็นแม่ผู้เสียสละ เป็นเมียที่ซื่อสัตย์ ไม่นอกใจ กล่าวคือ เป็นผู้หญิงในอุดมคติ ซึ่งในความเป็นจริงก็แตกต่างกันไป แต่บทบาทของผู้หญิงในนิทานเหล่านี้เป็นความคาดหวังต่อสังคมที่มีต่อผู้หญิง ถ้าผู้หญิงไม่ทำตามความคาดหวังนั้นก็จะมีบทบาทลงโทษดังเช่นในนิทานพื้นบ้านเหล่านี้


    มีนิทานพื้นบ้านอยู่สองเรื่องที่เราจำได้และสนใจคือเรื่อง งูเก็งก็อง (อ่านได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/6284e1de8476f6450f186482) 

    กับ พระทอง-นางนาค (อ่านได้ที่ https://www.silpa-mag.com/culture/article_4911 , https://www.mahatsachan.com/ตำนาน/13392)


    บทบาทของผู้หญิงในนิทานเรื่องงูเก็งก็อง มีนางเอ็ดที่เชื่อฟังทำตามคำสั่งแม่ แม้ไม่เห็นด้วยที่แม่เป็นชู้กับงูหรือกลัวงูก็ตาม นางนีที่เป็นแม่รับบทผู้หญิงไม่ซื่อสัตย์หรือผู้หญิงที่นอกใจ จริง ๆ แล้วนิทานเรื่องงูเก็งก็องน่าจะเป็นนิทานที่บอกเล่าต้นกำเนิดของงูที่มีหลายสายพันธุ์ ดังเช่นการกำเนิดมนุษย์หลากหลายชาติพันธุ์ แต่เปลี่ยนจากการแพร่หลายของมนุษย์เป็นการแพร่หลายของงูแทน


    เราจำได้ว่ารากฐานวัฒนธรรมเขมรให้ความสำคัญกับงูหรือนาคซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิง (งูเก็งก็อง นางนาค) นับว่าน่าสนใจมากเพราะแถบแม่น้ำโขงเรานับถือพญานาคกัน แต่ไม่เห็นพญานาคที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงตรง ๆ มาก่อน เราที่เป็นคนอีสาน คนสกลนครที่มีตำนานผาแดงนางไอ่ (มีพญานาคเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดไปแล้ว) และเรียนวิชานิทานพื้นบ้าน ยังไม่เคยเชื่อมโยงนาคกับผู้หญิงเลย ออกจะเป็นผู้ชายเพราะในทฤษฎีวรรณกรรมมองงูเป็น phallic สัญลักษณ์ของผู้ชาย


    เราสืบค้นและเจอบทความนี้มา ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะเป็นการเชื่อมโยงนาคไทย-ลาว กับ มอญ-เขมร เข้าด้วยกัน ก่อนบวชนาคเป็นพุทธอย่างที่เราเชื่อมโยงนาคกับพุทธศาสนาในปัจจุบัน


    เอกสารโบราณไม่ได้บอกว่านาคตัวผู้หรือนาคตัวเมีย แต่ร่องรอยในตำนานหรือนิทานปรัมปราของภูมิภาคอุษาคเนย์นี้มักให้ความสำคัญ “นางนาค” เช่น พระร่วงลูกนางนาค พระทองกับนางนาค กษัตริย์เขมรกับลูกสาวพญานาค ฯลฯ ทำให้น่าเชื่อว่านาคที่ขุดแม่น้ำโขงเป็นนาคตัวเมีย

    ถ้าจะว่ากันแบบสุด ๆ ก็อาจรวมถึงนิทานไทยสมัยใหม่เรื่อง “แม่นาคพระโขนง” กับนิทานเขมรสมัยใหม่เรื่อง “งูเก็งกอง” ด้วยก็ได้ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, “(นาง) นาคแม่น้ำโขง เชื่อมโยงเครือญาติ ‘ไทย-ลาว‘ กับ ‘มอญ-เขมร’ ”)


    ตำนานเรื่องพระทอง-นางนาค จะสัมพันธ์กับหัวข้อของกลุ่มถัดไปคือ พิธีแต่งงานชาวกัมพูชา ในพิธีแต่งงานของคนกัมพูชาจะมีการเลียนแบบตำนานพระทองนางนาค โดยให้เจ้าบ่าวเดินเกาะสไบเจ้าสาว เจ้าบ่าวรับบทเป็นพระทอง เจ้าสาวรับบทเป็นนางนาค เหตุที่พระทองจับสไบนางนาคเป็นเพราะว่าต้องการจะตามนางนาคไปเมืองบาดาลซึ่งมนุษย์ไปไม่ได้ (เดาว่าหายใจไม่ออกเป็นหลัก) ตามรูปปั้นนี้เลย คู่กับรูปงานแต่งงาน


    วงเวียนพระทองนางนาค, สีหนุวิลล์, ประเทศกัมพูชา ที่มา: Statue_of_Preah_Thong_and_Neang_Neak.png

    เจ้าบ่าวจับสไบเจ้าสาว ที่มา: https://www.silpa-mag.com/culture/article_4911 


    พระทอง-นางนาคเป็นตำนานการเกิดชนชาติเขมรแต่เป็นในสมัยอาณาจักรฟูนัน นางนาคหรือพระนางโสมาเป็นปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรฟูนัน พระทองหรือพราหมณ์โกณฑิณยะ บ้างก็ว่าเป็นอินเดีย บ้างก็ว่าเป็นจามปา ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ ซึ่งมีสัญลักษณ์คือพระทองที่เป็นคนนอก ส่วนใหญ่แล้วถือเป็นการรับและผสานวัฒนธรรมอินเดีย อย่างที่รู้กันว่าเขมรได้รับอิทธิพลจากอินเดียเข้มข้น ความน่าสนใจคือศาสนาฮินดูเป็นปิตาธิปไตย ศาสนาผีซึ่งเป็นศาสนาท้องถิ่นเป็นมาตาธิปไตย หลังจากนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นกลาย ๆ ของการเปลี่ยนสู่ปิตาธิปไตยในยุคแรก


    สรุปได้ว่า พระทอง-นางนาคเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งในวัฒนธรรมเขมร โดยเป็นทั้งตำนาน นิทาน พงศาวดาร ประวัติศาสตร์ บทเพลง ละครรำ สู่พิธีแต่งงาน


    แหล่งอ้างอิง

    ปฐมพงษ์ สุขเล็ก. “พิธีแต่งงานชาวกัมพูชา ความสัมพันธ์กับตำนานเขมรโบราณ ‘พระทอง-นางนาค’ ”, 2566, สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_4911.

    สุจิตต์ วงษ์เทศ. “(นาง) นาคแม่น้ำโขง เชื่อมโยงเครือญาติ ‘ไทย-ลาว‘ กับ ‘มอญ-เขมร’ ”, 2565, สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_95580.


    อ่านเพิ่มเติม

    สายธาร ทิมทับ. “บทบาทของผู้หญิงในนิทานพื้นบ้านเขมร”. วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, ปี 15, ฉบับที่ 2, พฤศจิกายน 2020, น. 48-74, https://so03.tci-thaijo.org/index.php/eJHUSO/article/view/248327.

    วรรณะ สอน และ ราชันย์ นิลวรรณาภา. “โปรลึง-เมียดา ธึบ-ปะ-ไต (ព្រលឹងមាតាធិបតេយ្យ): จิตวิญญาณมาตาธิปไตยในนิทานพื้นบ้านเขมร”. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ปี 42, ฉบับที่ 1, มิถุนายน 2020, น. 129-45, 
    https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jasu/article/view/243027.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in