ขนมฝรั่งกุฎีจีนเป็นขนมของชาวโปรตุเกสจึงได้ชื่อว่าเป็น “ขนมฝรั่ง” ส่วนคำว่ากุฎีจีนนั้นมาจากชื่อชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ที่ตั้งขึ้นเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่2 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พาชาวตะวันตก แขก และชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานพร้อมกับพระราชทานที่ดินให้กับชาวต่างชาติเหล่านี้ ชุมชนแห่งนี้จึงมีความหลากหลายของเชื้อชาติกล่าวคือ ชุมชนกุฎีกุฎีจีนแห่งนี้ เป็นชุมชน 3 ศาสนา ได้แก่พุทธ อิสลาม และคริสต์รวมถึงลัทธิเต๋าจากจีน จึงกลายเป็นชุมชนที่มีความเชื่อหลากหลาย จากบรรพบุรุษที่แตกต่างกัน
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมชุมชนแห่งนี้อยู่บ่อยครั้งเพราะเป็นชุมชนที่อยู่ไม่ไกลจากเมือง มีทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถเดินเล่นได้สบาย หากมาที่นี่ตอนเช้า วันอาทิตย์จะมีการประกอบพิธีสวดมนต์ของชาวคริสต์ที่วัดซางตาครู้ส ผู้เขียนเองเคยมาร่วมพิธีในเช้าวันอาทิตย์อยู่ครั้งหนึ่ง มีการสวดมนต์ร้องเพลงและมีดนตรีบรรเลง ไพเราะ เหมาะกับการมาพักจิตใจในวันหยุดสุดสัปดาห์จากชีวิตที่ยุ่งเหยิงของคนเมืองเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์กุฎีจีนให้แวะชมและศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชนกุฎีจีน ผู้คนในชุมชนก็เป็นมิตร ผู้เขียนจึงรู้สึกประทับใจ และอยากมาที่นี่บ่อยๆ นอกจากนี้อาหารที่จำหน่ายในชุมชนยังมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ตัวอย่างเช่น ขนมจีนแกงคั่วไก่ของลุงสวัสดิ์ ข้างๆวัดซางตาครู้ท อาหารสยาม-โปรตุเกสที่ร้านบ้านสกุลทอง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน และขนมฝรั่งกุฎีจีน ขนมที่มีจำหน่ายเฉพาะที่ชุมชนแห่งนี้
จากที่กล่าวมาข้างต้นผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงไม่เคยได้ยินชื่อขนมฝรั่งกุฎีจีนมาก่อน เพราะมันเป็นขนมที่มาจากชุมชนเล็กๆไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์จากสื่อมากนัก อย่างไรก็ตามในระยะเวลาไม่นานมานี้ คุณปิ่นทอง วงษ์สกุล ประธานชุมชนกุฎีจีน ได้มีการผลักดันให้ชุมชนกุฎีจีนกลายเป็นชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากชุมชนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชาวคริสต์ พุทธ และมุสลิม อีกทั้งการเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เมื่อมีการผลักดันชุมชนให้กลายเป็นชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดังกล่าว ชุมชนก็มีการพัฒนาภูมิทัศน์ให้สวยงามยิ่งขึ้น ขนมฝรั่งกุฎีจีนเองก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น ปัจจุบันมีสื่อโทรทัศน์ และคอลัมนิสต์จากหลายแห่ง ได้เข้ามาเที่ยวชมเพื่อเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนที่มีเสน่ห์แห่งนี้
การที่ผู้เขียนมาเยือนชุมชนแห่งนี้เป็นครั้งที่ 3 ก็เพื่อตั้งใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของขนมโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาของชาวโปรตุเกสนั่นคือ “ขนมฝรั่ง” ที่ได้ผ่านการผสมผสานกับความเป็นจีน ณ ชุมชนแห่งนี้ ด้วยการนำผลลูกไม้หวาน อย่างลูกเกดหรือไม่ก็ฟักเชื่อม มาตกแต่งหน้าขนมจนกลายเป็น“ขนมฝรั่งกุฎีจีน” อันเป็นชื่อที่รู้จักกันในปัจจุบัน
ร้านหลานแม่เป้าเป็นร้านทำขนมฝรั่งกุฎีจีนที่เปิดให้ผู้ที่สนใจมาเข้าชมกระบวนการผลิตได้อย่างใกล้ชิด ร้านตั้งอยู่ข้างๆวัดซางตาครู้ท โดยมีหลานแม่เป้าในที่นี่คือพี่เจ๊ก (นางผจงลักษณ์ มณีประสิทธิ์) ทายาทรุ่นที่ 5 เป็นเจ้าของร้าน พี่เจ๊กเล่าว่าบรรพบุรุษเป็นชาวโปรตุเกสที่มาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งกรุงแตกปีพ.ศ.2310 แล้วจึงมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ตั้งแต่ปีพ.ศ.2312 ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และเมื่อบ้านเมืองสงบ ตระกูลของพี่เจ๊กก็ได้ทำขนมฝรั่งกุฎีจีนสืบต่อเรื่อยมาจนปัจจุบัน รวมๆแล้วประมาณ 250 ปี คุณย่าของพี่เจ๊กชื่อ เป้า เป็นรุ่นที่3ของตระกูล จึงได้ชื่อร้านว่า”หลานแม่เป้า” เพราะเป็นร้านของรุ่นหลานนั่นเอง
ที่มา : http://kanomkudeejean.blogspot.com/2012/09/blog-post.html
เมื่อได้เดินทางมาพูดคุยกับพี่เจ๊ก ผู้เขียนจึงได้ลองชิมขนมฝรั่งนี้อีกครั้ง พี่เจ๊กยื่นขนมจากเตาอุ่นๆให้ผู้เขียน กลิ่นของมันหอมอบอวน ภายนอกของขนมมีลักษณะคล้ายขนมไข่ เพียงแค่ผู้เขียนคิดว่ามันคล้ายขนมไข่แล้วจึงเดาไปว่าขนมฝรั่งนี้จะต้องติดคอแน่ๆ เตรียมหาน้ำไว้ดื่มหลังรับประทานขนมแล้วแต่เมื่อลองชิมก็ต้องประหลาดใจ เพราะว่ามันละลายในปาก เนื้อขนมมีลักษณะกรอบนอกแต่ข้างในมีสัมผัสนุ่ม ละมุนลิ้น รสชาติหวานกำลังพอดี พี่เจ๊กบอกว่าในการทำขนมฝรั่งกุฎีจีนนี้มีวัตถุดิบหลักเพียงแค่ ไข่ น้ำตาล และแป้งสาลี สามอย่างเท่านั้น ไม่ใช้ผงฟู นมหรือเนยเลย สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ ขนมจะต้องอบด้วยเตาถ่านเท่านั้นเพราะเตาถ่านให้ความร้อนได้รวดเร็ว ขนมจึงจะฟูด้วยตัวของมันเอง
ในส่วนของการแต่งหน้าขนม พี่เจ๊กบอกว่าสมัยดั้งเดิมขนมฝรั่งจะไม่ใส่ลูกเกด ฟักเชื่อม แต่พอย้ายมาอยู่ตรงนี้ มีคนจีนอาศัยอยู่ เมื่ออยู่ร่วมกัน จึงได้มีนำวัตถุดิบของชาวจีนมาใช้แต่งหน้าขนมให้มีความน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น
ในยุคโลกาภิวัตน์หรือ Globalization เป็นยุคที่มีการติดต่อสื่อสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวางทำให้ร้านหลานแม่เป้ามีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย โดยการเปิดเพจ “
ผู้เขียนและพี่เจ๊กคุยกันมาพอสมควรจึงได้สัมภาษณ์ประเด็นที่ค่อนข้างจริงจังในเรื่องอนาคตของขนมฝรั่งกุฎีจีนว่าจะเป็นอย่างไร เพราะขนมมีแค่ที่ชุมชนแห่งนี้หากไม่มีใครเรียนรู้เพื่อสืบทอดกรรมวิธีการทำขนม ขนมฝรั่งกุฎีจีนขนมที่เป็นเอกลักษณ์ชุมชนนี้อาจจะหายไป เหลือไว้แค่เพียงชื่อ ผู้เขียนเริ่มจากการถามถึงการสืบทอดการทำขนมของร้านหลานแม่เป้าของพี่เจ๊กก่อนว่า...
“ร้านขนมแม่เป้ามีใครสืบต่อหรือยังคะ?”
“ยังเพราะจริงๆตอนแรกพี่ก็ไม่ได้จะสืบต่อหรอก พอคุณแม่หมดเนี่ยก็คือพวกพี่ก็เรียนจบปริญญาอะไรกันหมด ก็ไปทำงานออฟฟิศกันหมดแต่พอคุณแม่อายุเยอะมากแล้ว แล้วก็เลิกทำไป ก็เลิกทำไปนานพอสมควร แต่เห็นว่าตรงนี้มันน่าจะอนุรักษ์เอาไว้ ก็เลยออกจากงานมา ตัวพี่ กับพี่สาวพี่สาวลาออกจากงานมาก่อน แล้วก็มาทำตรงนี้และพี่ก็ลาออกเหมือนกันก็เพื่อที่จะมาสืบต่อตรงนี้”
“แล้วแนวคิดที่อยากจะอนุรักษ์คืออะไรคะคิดว่าอนาคตจะทำอย่างไรต่อไป?”
“ตรงนี้ที่ว่าที่อยากจะสืบต่อเพราะว่าถ้ารุ่นเราไม่เอาแล้วเนี่ย ของที่บ้านตรงนี้ของหลานแม่เป้ามันก็จะสูญหายไปก็เลยออกมาอนุรักษ์เอาไว้ ทีนี้ในอนาคตที่ว่าจะสืบต่อใช่มั้ย ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันเพราะว่ารุ่นลูกเนี่ยเค้าก็ยังเล็กอยู่ งานตรงนี้มันเหนื่อยมาก ความร้อน ความอะไรด้วยที่ว่า เราจะต้องอบขนมด้วยเตาถ่าน....เราก็ไม่รู้ว่ารุ่นต่อไปเค้าจะสืบต่อหรือเปล่าเพราะว่ามันกว่าจะได้ตรงนี้มา มันก็เหนื่อยพอสมควร แล้วในอนาคตเนี่ย อากาศก็ร้อนอะไรก็ร้อน มันก็ทำไม่ไหว”
เมื่อสัมภาษณ์ถึงตรงนี้ผู้เขียนก็คิดได้ว่าอะไรที่เคยมี ก็อาจจะไม่มีตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปคิดแล้วน่าเศร้าผู้เขียนจึงได้แต่ขอให้พี่เจ๊กมีกำลังใจและกายที่ดีเพื่อทำขนมฝรั่งกุฎีจีนนี้ต่อไปเพราะผู้เขียนชอบชุมชนกุฎีจีนมากและไม่ต้องการเห็นสิ่งที่เคยมีหายไปจากชุมชนขณะที่สัมภาษณ์อยู่นั้น ลูกชายของพี่เจ๊ก ชื่อว่า น้องตั๊น วัย 8 ขวบก็มาวนเวียนอยู่ระหว่างตัวผู้เขียนกับตัวพี่เจ๊กเมื่อสัมภาษณ์เสร็จสิ้น ผู้เขียนก็ได้ขอบคุณพี่เจ๊กที่สละเวลามาพูดคุยเนื่องจากตอนที่เข้ามาพี่เจ๊กกำลังนั่งจัดขนมใส่ห่ออยู่
“ตั๊นคิดยังไงกับขนมกุฏีจีนครับ?”
“มันนุ่มๆหวาน ๆ”
“กินมาตั้งแต่เด็กหรือเปล่าเนี่ย”
“ไม่ครับตอนนี้ เบื่อแล้ว เบื่อมากด้วย”
“เคยเอาไปให้เพื่อนกินหรือเปล่าครับเคยไปขายขนมช่วยแม่บ้างหรือเปล่า?”
“ก็เคยครับปิดเทอมนี้ น่าจะไปขายที่ตึกจอดรถ ที่ไหนก็ได้ ที่มันขายได้”
“มีความคิดที่จะทำต่อไหม?”
“ทำต่อครับ”
ผู้เขียนไม่ทราบว่าเด็กอายุแปดขวบคิดอย่างไรจึงตอบเช่นนั้น แต่คำตอบที่ได้ทำให้ผู้เขียนยิ้มออกมาเลยทีเดียว หลังจากบทสนทนานี้จบลงน้องตั๊นพาผู้เขียนไปเดินเล่นรอบชุมชนกุฎีจีนในฐานะมัคคุเทศก์น้อยของชุมชน ผู้เขียนซื้อขนมฝรั่งกุฎีจีนที่กุฎีจีนซอย3 เพื่อนำมาฝากเพื่อนๆ จำนวน 4 ถุง แล้วเดินทางกลับบ้านด้วยหัวใจที่ฟูฟ่องเป็นวันที่รู้สึกมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก
อ้างอิง
ประวัติขนมกุฎีจีน.(ม.ป.ป.). สืบค้นจาก
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in