เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือ The Storied Life of A.J.Fikry บุ๊กเนิร์ดนิสัยเสียกับร้านหนังสือในเกาะอลิซSENNELIER
The Storied Life of A.J.Fikry บุ๊กเนิร์ดนิสัยเสียกับร้านหนังสือในเกาะอลิซ

  • ผู้เขียน แกเบรียล เซวิน
    ผู้แปล อภิญญา ธโนปจัย
    สำนักพิมพ์ แพรว

                เรื่องนี้เคยเป็นกระแสอยู่พักนึงเมื่อปีที่แล้ว อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องราวหนังสือ คนทำหนังสือ ร้านหนังสือ คือมักจะขายดีตลอด ตลาดคงรักสิ่งนี้ หรือไม่ก็เป็นเพราะพี่เน็ตกับพี่โจ้แห่ง Readery ที่ป้ายยาเก่งเหลือเกิน เราได้มีโอกาสอ่านเล่มนี้ไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งก็อ่านไป 2 รอบ แล้วคือแบบตอนนั้นรู้สึกชอบมาก อินมาก คือแบบเหมือนตกหลุมรักร้านหนังสืออีกครั้ง และเพิ่งมาอ่านรอบ 3 เมื่อสองวันก่อน เรากลับรู้สึกว่าความรู้สึกของเราที่มีต่อหนังสือเล่มนี้เปลี่ยนไป

                หลากเรื่องในชีวิตของชายที่รักหนังสือ เป็นเรื่องราวของ “ฟิกรี้” เจ้าของร้านหนังสือไอแลนด์บุ๊กส์บนเกาะไกลปืนเที่ยง ที่ทั้งเกาะมีร้านหนังสือของเขาเพียงแค่ร้านเดียว เขาเป็นชายที่หมดอาลัยตายอยาก และหาเรื่องให้ตัวเองตายเร็วขึ้นทุกวัน นับตั้งแต่สูญเสียภรรยาไป หนำซ้ำสมบัติที่มีค่ามากที่สุดในร้าน “เทเมอร์แลนด์” มีมูลค่ามากถึงสี่แสนดอลลาห์ได้ถูกขโมยไป แถมยอดขายหนังสือก็แย่ที่สุดนับตั้งแต่เปิดร้านมา จนเขารู้สึกว่าต่อให้หลังปิดร้านไป ก็ไม่มีใครจะเข้ามาขโมยอะไรในร้านหนังสืออยู่แล้ว ซึ่งเขาก็เลิกลงล็อคร้านหลังปิดร้านไปเสีย แต่เรื่องราวกลับผิดคาด แทนที่ของจะหาย เขากลับเจอเด็กน้อยถูกทิ้งไว้ในร้านหนังสือของเขาแทน ซึ่งความคิดเรื่องไม่ลงล็อคร้านดูงี่เง่าไปไปเลยหลังจากเจอเหตุการณ์นี้ เด็กน้อยผู้หญิงวัยสองขวบแสนน่ารัก เธอชื่อว่า “มายา” แถมแม่ของเด็กยังเขียนจดหมายไว้เสร็จสรรพเลยว่ายกเด็กน้อยคนนี้ให้เขา ซึ่งฟิกรี้รู้ทันทีเลยว่า เขาไม่สามารถที่จะรับเลี้ยงเด็กคนนี้ได้ ด้วยเหตุผล เขาจงใจที่จะตายในเร็ววัน เขาไม่มีประสบการณ์อะไรเลยเกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กหรือสิ่งมีชีวิตอื่นมาก่อน และเหตุผลอื่นอีกอย่างคือ เขาจน
      
                เหมือนโชคชะตาจะเล่นตลก ไปๆมาๆ เขาก็ต้องเลี้ยงแม่หนูน้อยนี่เอง เพียงเธอพูดแค่ “ รักเธอ” กับเขา ก็เหมือนกับว่าชีวิตของฟิกรี้จะขาดแม่หนูน้อยนี้ไปไม่ได้แล้ว เรื่องราวของมายากระจายไปทั่วเกาะ ทำให้บรรดาแม่ๆทั้งหลาย (รวมถึงลูกของพวกเธอ) ต่างเข้ามาแวะเวียนร้านหนังสือของฟิกรี้บ่อยๆ ผู้ประสงค์ดีทั้งหลายต่างเอาของเกี่ยวกับเด็กและวิธีเลี้ยงเด็กที่ไม่มีในอินเทอร์เน็ตมาสอนเขา และยังซื้อหนังสือติดไม้ติดมือไปด้วย ทำให้ยอดขายร้านหนังสือเริ่มกระเตื้องขึ้นมา จนพัฒนาต่อเป็นกลุ่มถกหนังสือของบรรดาพวกแม่ๆกัน


               เรื่องน่าแปลกใจของหนังสือที่บรรดาแม่บ้านชื่นชอบอ่าน มักเป็นเรื่องที่นางเอกไปมีชู้ แต่เรื่องที่ชอบมากที่สุดมักเป็นเรื่องสามีของตัวเอกประสบอุบัติอย่างร้ายแรง และจะยิ่งชอบมากขึ้นหากสามีของตัวเอกตาย ซึ่งเราว่ามันเป็นตลกร้ายมากๆ ใครจะไปคาดคิดถึงรสนิยมของแม่บ้าน มันทำให้เราสงสัยว่าถ้าเป็นเมืองไทย พวกบรรดาแม่ๆจะอ่านหนังสือแนวไหนกัน


               ฉากที่เราชอบมากที่สุดและประทับใจมากที่สุดคือ ฉากในหน้า 66 มันเป็นฉากงานเปิดตัวของมายา ซึ่งฟิกรี้ไม่ใช่คนเคร่งศาสนา เขาจึงไม่จัดเป็นพิธีศีลจุ่มแต่จัดเป็นงานเปิดตัวหนังสือแทนทั้งที่เขาเกลียดงานเปิดตัวหนังสือจะตาย ซึ่งเป็นวันเปิดนั้นอยู่ก่อนหน้าฮาโลวีนไม่กี่วัน ฉากที่มายาใส่ชุดเดรสสีชมพูฟูฟ่องท่ามกลางเด็กคนอื่นๆที่ใส่ชุดฮาโลวีน ทำให้ฟิกรี้รับรู้ถึงความรู้สึกบางอย่างที่เขาคิดว่ามันตายด้านไปกลับมาใหม่อีกครั้ง มันเป็นความรู้สึกที่เขาอยากจะหัวเราะหรือไม่ก็ต่อยกำแพง เขารู้สึกเมาหรือไม่ก็แน่นท้อง ตอนแรกฟิกรี้นึกว่ามันคือความสุข แต่ไม่ใช่เลยมันคือ “ความรัก” และเขาก็รู้สึกรำคาญกับเจ้าก้อนความรู้สึกนี้ ขนาดสิ่งที่เขาเกลียดในตอนแรกอย่างเจ้าเอลโม่ (มายาชอบ) กลับกลายเป็นว่าเขาซื้อจานกระดาษหน้ารูปเอลโม่มาอยู่ในงานโดยที่เขาไม่ตะขิดตะข่วงใจ ความรักนี่ทรงอานุภาพจริงๆ (ฮ่าๆ)



               เรื่องราวในบทต่อๆไปจะเป็นเรื่องราวของฟิกรี้ มายา และผู้คนที่มายังร้านหนังสือแห่งนี้ เราชอบการที่นิยายเล่มนี้มีมุมมองของตัวละครหลายๆตัวนอกจากตัวเอก มันทำให้เห็นภาพรวมของเนื้อเรื่องทั้งหมด ไม่น่าเบื่อและทำให้เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของตัวละครอื่นมากขึ้น แม้กระทั่งตัวละครที่เรามองว่านิสัยห่วยแตกมากที่สุดในเนื้อเรื่องจากมุมมองของตัวละครอื่น กลับกลายเป็นว่าพอถึงบทที่ถ่ายทอดของตัวละครตัวนี้ เรากลับมีความรู้สึกเห็นใจเล็กๆแทนที่จะเป็นการสาปส่ง มันคงเป็นความพิเศษอะไรบางอย่างที่ขัดเกลาความรู้สึกของคนอ่าน
      
              สิ่งที่เราไม่ชอบมากที่สุดในเล่มนี้คงเป็นตอนจบของนิยาย พอกลับมาอ่านซ้ำ เรารู้สึกว่าตอนจบมันมีความค้างคาหรือไม่ก็อาจเป็นเพราะเราไม่ชอบตอนจบจริงๆก็เป็นได้ ซึ่งมันก็เป็นคหสต. ปีที่แล้วเราชอบ ปีนี้ไม่ชอบ ไม่แน่พอเรากลับมาอ่านปีหน้าอาจมีความเห็นอะไรเพิ่มเติมมากกว่านี้ก็ได้ ใครจะรู้
             
             รวมๆแล้ว เราว่านิยายเล่มนี้เหมาะกับคนที่ชอบเรื่องราวที่อบอุ่นหัวใจ คอนิยายญี่ปุ่น-เกาหลี น่าจะรักเรื่องนี้ เนื้อเรื่องไม่ได้มีความหวือหวา โลดโผนอะไรมากมาย มันเป็นเรื่องธรรมดาๆ ร้านหนังสือธรรมดาๆ คนธรรมดาๆ แต่ด้วยความธรรมดานี่แหละที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของนิยายเล่มนี้


    สรุปคะแนนโดยภาพรวม

    • ความสนุก 3.5/5
    • ภาษา 5/5
    • ความน่าติดตาม 4/5


    ภาพประกอบทั้งหมดโดยผู้เขียน

    สามารถติดตามบทความอื่นๆของผู้เขียนได้ที่ https://emergencywrite.blogspot.com/






เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in